วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>
แก่นเรื่องของพระอภัยมณี
แก่นเรื่องใหญ่และแก่นเรื่องย่อย ( Main
theme and Sub-theme ) เป็นศัพท์วรรณคดีที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน
แต่ในวงการวรรณคดีไทยยังไม่มีศัพท์บัญญัติที่แน่นอนสำหรับคำนี้ โดยทั่ว ๆ ไป
มักใช้ว่า แก่นเรื่อง หรือ แนวเรื่อง เช่น หนังสือวรรณคดีและวรรณคดีวิจารณ์ ใช้ว่า
แนวเรื่อง แต่วิทยานิพนธ์ ใช้ว่า แก่นเรื่อง หนังสือวรรณคดีอื่น ๆ
ใช้ปะปนกะนทั้งสองคำ
แก่นเรื่องนั้น อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
แก่นเรื่องใหญ่ ( main theme )
หรือแก่นเรื่องหลัก ถือเป็นแก่นหรือแกนกลางของเรื่อง หมายความว่า
เรื่องทั้งหมดจะผูกพันเกี่ยวโยงกับแก่นเรื่องใหญ่นี้โดยตลอด
การดำเนินเรื่องตั้งแต่ต้นจะเริ่มต้นด้วยแก่นนี้เป็นจุดเรื่อง
และในที่สุดก็จะจบลงที่จุดซึ่งแสดงการคลี่คลายของแก่นเดียวกันนี้
แก่นเรื่องย่อย ( sub-theme )
หมายถึงแก่นหรือแกนกลางของพฤติกรรมหรือเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งดำเนินอยู่ในเรื่อง
แก่นเรื่องย่อยจะมีความผูกพันเกี่ยวโยงกับแก่นเรื่องใหญ่
แก่นเรื่องย่อยนี้จะมีจำนวนเท่าไรก็ได้
แล้วแต่ผู้แต่งต้องการจะสอดแทรกเรื่องอะไรเข้ามาโยงกับแกนเรื่องใหญ่
เมื่อพิจารณาแก่นเรื่องใหญ่ของเรื่องพระอภัยมณี จะพบว่า
ไม่มีแก่นเรื่องใดที่สำคัญและและชัดเจนพอที่จะระบุว่าเป็นแก่นเรื่องสำคัญ
พฤติกรรมและตัวละครจะทำหน้าที่เป็นแก่นของเรื่องให้เรื่องดำเนินติดต่อกันไปโดยตลอด
เป็นเสมือนเส้นด้ายที่ร้อยพฤติกรรมและตัวละครต่าง ๆ
ตามท้องเรื่องเข้าด้วยกันโดยไม่จำเป็นต้องมีแก่นเรื่องใหญ่ กล่าวคือ
ตัวพระอภัยมณีเป็นเสมือนด้ายที่ร้อยเอาตัวละครอื่น ๆ
และพฤติกรรมทั้งหลายในเรื่องไว้ด้วยกัน
เพราะตัวละครทุกตัวและเหตุการณ์ส่วนใหญ่จะต้องผูกพันเกี่ยวเนื่องอยู่กับตัวพระอภัยมณีทั้งสิ้น
เรื่องพระอภัยมณีประกอบด้วยแก่นเรื่องย่อยหลายแก่น
ซึ่งเป็นเครื่องอธิบายพฤติกรรมแต่ละอย่าง
แก่นเรื่องย่อยเหล่านี้เชื่อมโยงเข้าด้วยกันโดยอาศัยบทบาทของพระอภัยมณีเป็นตัวประสานเรื่อง
และทำหน้าที่เป็นแกนกลาง
จากการวิเคราะห์เรื่องพระอภัยมณีโดยละเอียด
ได้พบว่ามีแก่นเรื่องย่อยที่น่าสนใจอยู่ 4 แก่นด้วยกัน คือ
การเดินทางผจญภัยเพื่อหาประสบการณ์
ความสำคัญของวิชาความรู้
ความว้าเหว่และการขาดความอบอุ่นภายในครอบครัว
ความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างพ่อแม่กับลูก