วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>

แก่นเรื่องของพระอภัยมณี

การเดินทางผจญภัยเพื่อหาประสบการณ์
ความสำคัญของวิชาความรู้
ความว้าเหว่และการขาดความอบอุ่นภายในครอบครัว
ความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างพ่อแม่กับลูก

ความสำคัญของวิชาความรู้

แก่นเรื่องย่อยอีกแก่นหนึ่งที่ปรากฏชัดเจนจนอาจกล่าวได้ว่าเป็นแก่นเรื่องที่เกิดจากความตั้งใจของผู้แต่งอย่างแน่นอน ก็คือความสำคัญของวิชาความรู้ หรืออีกนัยหนึ่งคือความสำคัญของการศึกษา โดยการเดินทางไปเสาะแสวงหาครูอาจารย์ผู้มีวิชา วรรณคดีไทยน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากวรรณคดีอินเดีย ซึ่งในเรื่องพระอภัยมณีนั้น ผู้ที่เป็นอาจารย์มีอยู่ 3 ประเภท คือ

1. พราหมณ์
2. โยคี หรือ ฤษี
3. บาทหลวง

นอกจากครูผู้สอนจะมีความสำคัญในฐานะสั่งสอนวิชาการให้แล้ว ยังมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของศิษย์ เพราะครูอยู่ในฐานะที่ได้รับความยกย่องเคารพ เมื่อแนะนำหรือตักเตือนอย่างไร ผู้อื่นมักเชื่อฟังเสมอแม้จะไม่เต็มใจนัก เช่น นางละเวงไม่เต็มใจทำตามสังฆราช แต่ก็ต้องทำเพราะความเกรงใจ เป็นต้น

บทบาทของครูในเรื่องพระอภัยมณีนี้ สุนทรภู่ยึดเค้าจากวรรณคดีเก่า ทำให้บทบาทเหล่านั้นมีความเด่นน่าสนใจ และแปลกไปจากบทบาททำนองเดียวกันในเรื่องอื่น ๆ



นอกจากลักษณะที่น่าสนใจเกี่ยวกับบทบาทแล้ว สิ่งที่น่าศึกษาอีกอย่างหนึ่งคือวิชาที่กล่าวถึงในเรื่อง จะสังเกตได้ว่าวิชาที่กล่าวถึงมากที่สุดในเรื่องประเภทนี้ คือวิชาไสยศาสตร์และคาถาอาคมต่าง ๆ ซึ่งในสมัยก่อนเชื่อถือกันว่าเป็นเรื่องจริงและมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในการศึกษาของผู้ชาย วิชาเหล่านี้ถือเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกันตัวที่จำเป็นต้องเรียนรู้ ในเรื่องพระอภัยมณี วิชาไสยศาสตร์ก็ได้รับการกล่าวถึงบ่อยครั้ง เช่น การทำเสน่ห์ การใช้คาถาอาคม อำนาจลึกลับต่าง ๆ แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในเรื่องนี้ คือแนวความคิดของสุนทรภู่เกี่ยวกับการศึกษาวิชาความรู้ สุนทรภู่ได้เน้นให้เห็นชัดหลายครั้งว่า วิชาความรู้ที่ประกอบด้วยการใช้ความคิด ซึ่งได้รับการฝึกฝนให้เฉียบแหลมนั้นสำคัญกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมด ดังเช่นที่โยคีสอนสุดสาครว่า

“ รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี ”

ในเรื่องนี้ ตัวละครทุกตัวได้รับการศึกษาอบรมมาเป็นอย่างดีทั้งสิ้น บ้างก็มีความรู้ด้านการรบ บ้างก็ด้านเวทมนต์คาถา ดังเช่นนางสุวรรณมาลีก็ได้ร่ำเรียนวิชาการรบ เพราะอยู่ในฐานะลูกกษัตริย์ แสดงว่าแม้จะเป็นหญิงหรือชาย ก็มีความจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้เท่าเทียมกัน ตัวละครหญิงแทบทุกตัวในเรื่องพระอภัยมณีล้วนแต่มีวิชาความรู้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชายเลย

ความคิดของสุนทรภู่ในการที่แต่งให้พระอภัยมณีเรียนวิชาดนตรีแทนวิชาอย่างอื่น ๆ นั้น สันนิษฐานว่าเป็นเพราะสุนทรภู่มีวิชาสำคัญประจำตัวอยู่อย่างเดียวคือ วิชาการแต่งกลอน ฉะนั้นสุนทรภู่จึงแต่งให้ พระอภัยมณีมีวิชาปี่อย่างเดียว เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าวิชาศิลปะนั้นมีความสำคัญและมีคุณค่าไม่ด้อยกว่าวิชาอื่น ไม่ใช่แต่เพียงสอนวิธีเป่าปี่เท่านั้น พินทพราหมณ์ยังสอนเนื้อความหรือเนื้อหาของเพลงที่จะเป่าว่าจะเลือกเนื้อความและท่วงทำนองอย่างไร จึงจะได้ผลสมความต้องการ วิชาประจำตัวของพระอภัยมณีนั้นสามารถช่วยตัวพระอภัยมณีให้รอดพ้นจากที่คับขันได้ ในเรื่องปรากฏว่า พระอภัยมณีเป่าปี่ถึง 11 ครั้ง ครั้งสำคัญที่กล่าวได้ว่า เพลงปี่ช่วยให้รอดพ้นอันตรายนั้น ได้แก่ครั้งที่เป่าสังหารนางผีเสื้อ และครั้งที่สะกดทัพนางละเวงวัณฬาซึ่งเป็นการ คับขันจวนตัวอย่างยิ่ง แสดงว่าวิชาดนตรีนั้นช่วยตัวเองได้จริง แต่สิ่งที่ปรากฏแน่ชัดคือ สุนทรภู่มีเจตนาที่จะแสดงความสำคัญของวิชาความรู้ว่าจำเป็นยิ่งนักสำหรับทุกคน วิชานั้นจะเป็นอะไรก็ได้ แต่ต้องเรียนรู้จริงและใช้ได้จริง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย