ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์

การศึกษาเพื่อสันติภาพ

โดย บิช็อบคาร์ลอส ฟิลิเป ซีเมเนส เบโล

วัฒนธรรม
สันติภาพคืออะไร
การศึกษาเพื่อสันติภาพ
ขอบเขตของการศึกษาเพื่อสันติภาพ

วัฒนธรรม

คำว่าวัฒนธรรมนั้นค่อนข้างจะซับซ้อนเนื่องจากมีหลากหลายนิยาม คำว่า culture ในภาษา อังกฤษมาจากภาษาละตินว่า ‘cultu’ อันมีรูปกริยาคือ ‘colere’ ซึ่งใช้ได้ในหลายนัย เช่น พลิกฟื้นผืนดิน(ให้อุดม) รังสรรค์งานเขียน สร้างมิตรภาพ เป็นต้น ซิเซอโรกล่าวไว้ว่า “วัฒนธรรม” นั้น หมายถึงการสร้างความเป็นมนุษย์ วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ทำให้คนเป็นคน ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการศึกษาที่คนเราได้รับ ในบริบทดังกล่าวนี้วัฒนธรรมจึงหมายรวมถึง การกระทำทุกอย่างเพื่อให้ตนพัฒนาขึ้น โดยการศึกษาจากมหาวิทยาลัย จากปัญญาชน และจากคติธรรม เมื่อคนเราได้รับการศึกษาโดยวิธีดังกล่าวนี้แล้วเขาก็พร้อมที่จะให้การศึกษา แก่ผู้อื่นเพื่อนำไปสู่ “วัฒนธรรมเพื่อสันติภาพ” ต่อไป

ศาสนจักรแคทอลิคให้นิยาม “วัฒนธรรมเพื่อสันติภาพ” ว่า หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่าง ที่คนเราใช้ในการพัฒนาศักยภาพทั้งทางกายภาพและทางปัญญาของตน มนุษย์ใช้การศึกษาและ การประกอบการงานเป็นเครื่องมือช่วยให้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาตนเองและสถาบัน เมื่อเวลาผ่านไปประสบการณ์และแรงบันดาลใจที่สั่งสมไว้จะก่อประโยชน์ต่อมนุษยชาติ โดยรวม

ปัจเจกบุคคลเหล่านี้มีอยู่ในหลากวัฒนธรรมทั่วโลก พวกเขาใช้วิธีต่าง ๆ กันเพื่อให้ ประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์ขนบธรรมเนียม ศาสนา กฎหมาย สถาบันยุติธรรม วิทยาศาสตร์ ศิลปะ และสุนทรียะ วัฒนธรรมหลายหลากเหล่านี้ดำรงอยู่และหลาย ไปทั่วโลกซึ่งเป็นผลจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ทำให้เกิดการสื่อสารและความร่วมมือระหว่างชาติในยุคโลกาภิวัฒน์เช่นปัจจุบันนี้ นอกจากแต่ละภูมิภาคและแต่ละประเทศจะมีวัฒนธรรมของตนเองแล้วมนุษย์ก็ยังมีวัฒนธรรม อันเป็นสากลซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เข้าใจและแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวของมนุษยชาติ ทั้งยัง ตระหนักและเคารพในธรรมเนียมที่แตกต่างกันของวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาคและแต่ละชาติ ด้วย ในบริบทของวัฒนธรรมสากลในยุคโลกาภิวัฒน์นี้แหละที่เราควรจะต้องสร้างสังคม ที่สันติและกลมเกลียวกันโดยอาศัยสันติภาพและความยุติธรรมเป็นเครื่องมือ

แม้จะมีการเรียกร้องให้พยายามสร้างสันติภาพและภราดรภาพในโลกแต่ก็ยังมีคน บางกลุ่มที่พยายามหว่านวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง ความรุนแรง และสงคราม ด้วยเหตุนี้มนุษย์โลกจำนวนมากจึงถูกทอดทิ้งให้เผชิญกับความหิวโหย ความยากจนและการ ไม่รู้หนังสือ ทุกวันนี้ผู้คนจำนวนมากทั้งหญิงและชายมีชีวิตอยู่อย่างไร้เสรีภาพทั้งทางสังคม และไร้เสรีภาพทางจิตใจ ความขัดแย้งทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ เชื้อชาติ และความคิด ยังคงมีอยู่ทั่วไป สงครามยังไม่ได้หมดไปโดยสิ้นเชิง ดังที่ได้กล่าวในที่ประชุมสภาวาติกัน ครั้งที่ 2 ว่าความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติและ กลุ่มสังคมภายในแต่ละประเทศยังคงมีอยู่มากมาย ความร่ำรวยและความยากจนเป็นผลพวงจาก ความทะยานอยากของกลุ่มคนที่ต้องการเผยแผ่ แนวความคิดของตน รวมทั้งความเห็นแก่ตัวของ คนบางคนที่กระหายอำนาจ สิ่งเหล่านี้ก่อ ให้เกิดความไม่ไว้วางใจและความเกลียดชังซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งโดยมีคนบริสุทธิ์เป็น เหยื่อสังเวย

ย่อมเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าศตวรรษที่ 20 เป็นศตวรรษแห่งสงครามโลกถึง 2 ครั้ง คือ สงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2457-2461) และสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482-2488) และยังมี ความขัดแย้งอีกนับครั้งไม่ถ้วนในเอเชียเช่น สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม ความรุนแรง ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน; ในตะวันออกกลางเช่น ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่ม ประเทศอาหรับ ในอิรัคและอัฟกานิสถาน เช่น ความขัดแย้งระหว่างชนพื้นเมืองกับประเทศ เจ้าอาณานิคม เช่น ฝรั่งเศสกับอัลจีเรีย โปรตุเกสกับประเทศอาณานิคมในทวีปแอฟริกา (อังโกลา โมแซมบิค กินีบิสเซา); ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเชื้อชาติและกลุ่มศาสนา เช่น ความขัดแย้งระหว่างอินโดนีเซียกับ ติมอร์ตะวันออก; สงครามในสเปน; ความขัดแย้ง ระหว่างชาวโปรเตสแตนท์กับชาวแคทอลิคในไอร์แลนด์; สงครามในบูรันดี ประเทศรวันดา; ไลบีเรีย ซูดาน เอริเทรีย และประเทศยูโกสลาเวียเดิม ยิ่งไปกว่านั้นศตวรรษที่ 20 ยังเป็นยุค ของสงครามเย็นด้วย ซึ่งเป็นต้นเหตุของการแข่งขันกันผลิตอาวุธ และการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ เป็นศตวรรษที่ปัญหาความแตกแยกเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งรวมถึงความแตกแยกระหว่างคนรวยกับ คนจน ระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศด้อยพัฒนา ระหว่างเหนือกับใต้ ระหว่าง ตะวันออกกับตะวันตก ระหว่างโลกที่ 1 กับโลกที่ 3 ระหว่างคริสเตียนกับอิสลาม ระหว่าง ฮินดูกับอิสลาม ระหว่างแคทอลิคกับโปรเตสแตนท์ และระหว่างประเทศทุนนิยมกับ คอมมิวนิสต์

การวิจัยในปีค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) โดยสถาบันการสืบสวนสอบสวนสันติภาพใน สต็อกโฮล์ม (SIPPRI) พบว่า ในปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) เพียงปีเดียวเกิดความขัดแย้งรุนแรง ถึงขั้นใช้อาวุธรวม 27 ครั้ง อันเป็นความขัดแย้งทางการทหารระหว่างรัฐบาล 2 รัฐบาลขึ้นไป หรือเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกองกำลังปฏิวัติ ซึ่งแต่ละครั้งนำมาซึ่งความสูญเสียของ ชีวิตมนุษย์นับพันคน

เบื้องหลังความขัดแย้งที่คุกคามต่อสันติภาพคือปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็่นเมล็ดพันธ์แห่งความ เกลียดชังอันนำไปสู่ความขัดแย้ง ปัจจัยเหล่านี้ได้แก่การสะสมอาวุธนิวเคลียร์ การเผชิญหน้า ระหว่างประเทศมหาอำนาจทางตะวันตกและทางตะวันออก ความไม่สมดุลทางอำนาจของ ประเทศในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ ประเทศในแถบซีกโลกเหนือซึ่งร่ำรวยและพัฒนาแล้ว มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ส่วนประเทศในแถบซีกโลกใต้กลับยากจนและ ด้อยพัฒนา ที่ซึ่งประชากรยากจน ว่างงาน ท้อแท้และขาดแคลน คนเหล่านี้อาจถูกชักจูงให้ เข้าร่วมกับองค์กรผู้ร้ายข้ามชาติ พวกคลั่งศาสนา และขบวนการก่อการร้ายได้โดยง่าย

แม้ในประเทศในแถบซีกโลกเหนือเองก็ยังมีความยากจนและความท้อแท้สิ้นหวังอยู่ เช่นกัน ตามสลัมของเมืองใหญ่ ๆ ของโลกซึ่งเป็นแหล่งเพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก อันได้แก่ มลภาวะและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัญหาที่ท้าทายสันติภาพระหว่างชาติ

นอกจากนั้นแล้วยังมีกลุ่มมาเฟียระหว่างชาติซึ่งมีกองกำลังส่วนตัว มีอำนาจครอบคลุม การค้ายาเสพติด การลักลอบค้าวัตถุดิบ การค้าอาวุธเถื่อน การค้ามนุษย์ ข้ามชาติและการฟอกเงิน ทั้งหมดนี้เป็นอันตรายต่อเสถียรภาพและความปลอดภัยของมนุษย์และของโลก

แม้จะทราบดีว่ามีความจริงอันโหดร้ายเหล่านี้อยู่แต่เราก็ไม่อาจจะหมดกำลังใจและ ปล่อยให้โลกต้องเผชิญกับหายนะไปตามบุญตามกรรม ในทางกลับกันเราต้องพายเรือทวน กระแสน้ำ นั่นคือใช้ความเข้าใจ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและความรับผิดชอบต่อส่วนรวม สร้างภูมิต้านทานใหม่ให้กับโลก โดยการสร้างวัฒนธรรมอย่างใหม่นี้ด้วยความรัก ความเห็นอกเห็นใจและสันติวิธี ดังที่ผู้อำนวยการองค์การสหประชาชาติคนก่อน, ดร. เฟรเดอริโก มาเยอร์ ซามอรา, ได้กล่าวไว้ว่า “ในการที่จะเปลี่ยนวัฒนธรรมสงครามไปเป็น วัฒนธรรมสันติภาพนั้น เราต้องเปลี่ยนแปลงค่านิยม ทัศนคติ และพฤติกรรมในอดีต แทนที่จะยึดถือคติ ของชาวโรมันที่ว่า ‘หากต้องการสันติภาพก็จงเตรียมพร้อมที่จะทำสงคราม’ เราต้องประกาศว่าหากต้องการสันติภาพจงเตรียมพร้อมเพื่อสันติ และจงพยายามสร้างสันติ ทุกวัน”

อย่างไรก็ดี เพื่อให้มนุษย์รู้จักรังสรรค์และเป็นเจ้าของวัฒนธรรมเพื่อสันติภาพดังกล่าว มนุษย์จำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพื่อสันติภาพและสิทธิมนุษยชน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย