ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
อุเบกขา
อุเบกขา คือ ปัญญาอันสุดยอด
อุเบกขาเป็นคุณลักษณะของปัญญาที่เกิดในองค์ฌานที่เฝ้าสังเกตพิจารณาดูอาการของจิต
เจตสิก และรูป หรือขันธ์ห้า หรือ
ปฏิจจสมุปบาทที่แสดงอาการความจริงออกมาในขณะที่จิตนิ่งสงบในระดับฌานสมาธิ
ตั้งแต่ระดับฌานที่ 4 ขึ้นไปจนถึงฌานที่ 8 ปัญญาขั้นอุเบกขานี้
จะพิจารณาเห็นความจริงของปรมัตถธรรมทั้ง 3 ข้อคือ จิต เจตสิก และรูป
หรือขันธ์ห้าโดยละเอียด
ในพระไตรปิฎกได้อธิบายถึงเรื่องนี้ไว้ชัดเจนมากว่า
ปัญญาที่พิจารณาดูขันธ์ห้าในฌานนั้น ทำให้ทราบความจริงว่า
ขันธ์ห้านั้นเป็นเหมือนโรคร้ายที่รักษาไม่หาย
เป็นเหมือนฝีหนองที่ทำให้เจ็บปวดทรมานอยู่ตลอดเวลา
เป็นเหมือนของคนอื่นที่ขอหยิบยืมมาใช้ และไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ
มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
เป็นภาระทุกข์อันหนักหน่วงที่ต้องคอยแบกรับภาระบำรุงรักษาไม่มีวันสิ้นสุด
และเป็นสิ่งไร้ความคงที่ ไม่มีความเป็นอมตะยืนยงเป็นนิรันดร
เพราะทั้งหมดเกิดขึ้นและดับไปตามเหตุปัจจัย
ปัจจุบันนี้ พวกเราแปลความหมายของคำว่า อุเบกขา ผิดไปอย่างมาก
โดยแปลอุเบกขาว่า วางเฉย นิ่งเฉย เพ่งเฉย หรือนิ่งอยู่เฉย ๆ
จึงทำให้ความหมายที่แท้จริงของอุเบกขาผิดเพี้ยนไปมาก
ซึ่งส่งผลทำให้คำสอนของศาสนาผิดไปด้วย
และซ้ำร้ายยังมองอุเบกขาและธรรมที่มีอุเบกขาเข้าไปเกี่ยวข้องนี้ว่า
เป็นส่วนที่ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่นิ่งเฉย ไม่ปรากฏผลใด ๆ
ทำให้หลายคนปฏิเสธไม่ยอมรับการใช้อุเบกขาไปเลย
นอกจากนี้ยังมีผู้ให้เหตุผลอีกว่า เมื่อวางเฉยแล้วก็ทำอะไรไม่ได้
ยกตัวอย่างการทำสมาธิแบบสมถกรรมฐานที่มีอุเบกขาเกิดขึ้นมาในฌานต่าง ๆ
หลายคนจึงปฏิเสธไม่ต้องการได้ฌาน
เพราะคิดว่าในที่สุดจิตจะไปนิ่งเฉยอยู่ในฌานนั้นแล้วเสียเวลาเปล่า
ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย
ดังนั้น
เพราะคำแปลนี้เองทำให้เมืองไทยเราในปัจจุบันได้ละทิ้งการทำสมาธิแบบที่ได้ฌานนี้
หันไปนิยมเจริญวิปัสสนาตามแบบพม่ากันมาก
แล้วยังหันกลับมาปฏิเสธสมถกรรมฐานหรือการทำสมาธิแบบได้ฌานว่า ไม่เกิดประโยชน์
ไม่ทำให้บรรลุธรรมได้ เพราะเมื่อได้ฌานแล้วจิตจะไปติดอยู่ในฌานที่เป็น
อัปปันนาสมาธิ จิตจะนิ่งอยู่เฉย ๆ โดยมีอุเบกขาความวางเฉยเกิดขึ้นมาร่วมในฌานนั้น
ดังนั้น การได้ฌานจึงเป็นการทำให้จิตไปนิ่งอยู่เฉย ๆ ไม่เกิดมรรคผลอะไร
ไม่สามารถเห็นแจ้งในธรรมได้
คำพูดนี้เราจะได้ยินบ่อย ๆ
และทุกสำนักกรรมฐานที่มีการสอนวิปัสสนาโดยมากจะพูดเช่นนี้
นอกจากนี้แล้วแม้ในเวลาสอนให้กำหนดวิปัสสนา อาจารย์จะเน้นอยู่เสมอ ๆว่า
ให้กำหนดเป็นปัจจุบันขณะ อย่ากำหนดอย่างนั้น อย่ากำหนดอย่างนี้
เดี๋ยวจะไปถูกสมถะเข้า ไม่ใช่วิปัสสนา และยังให้เหตุผลเพิ่มเติมอีกว่า
สมถะเป็นการเอาฌานกดทับกิเลสไว้
เมื่อออกจากฌานแล้วกิเลสจะงอกงามมากขึ้นเป็นหลายเท่า
ผลของฌานจะทำให้เกิดเป็นพรหมไปไม่ถึงนิพพาน เป็นต้น
แผนผังนี้ถือเป็นความเข้าใจผิดอย่างหนักของชาวพุทธในฝ่ายที่เรียกตนเองว่า ฝ่ายวิปัสสนา ฝ่ายที่รู้แจ้ง ฝ่ายผู้เน้นปัญญา หรือฝ่ายปฏิบัติที่มุ่งตรงไปสู่พระนิพพาน เพราะส่วนวิปัสสนาที่ทำลูกศรชี้ไปอีกทางหนึ่งนั้นเขาบอกว่า นั่นทางไปนิพพาน ส่วนที่ทางมาจากสมถกรรมฐานนี้ เป็นพวกที่ติดอยู่ในโลก เพราะเป็นพวกได้ฌานไปติดเรื่องฤทธิ์ ไปติดอยู่แค่อุเบกขาเลยทำให้ไม่เกิดปัญญา วิปัสสนาญาณจึงไม่เกิด ถ้าเป็นอย่างที่พวกนี้กล่าวพระพุทธเจ้าและพระสาวกมากมายที่ฝึกจิตมาจนได้ฌานได้ฤทธิ์จำนวนมากก็คงนิพพานไม่ได้เหมือนกัน ที่จริงแล้วสมถกรรมฐานนั้นเป็นเหตุ ส่วนวิปัสสนากรรมฐานนั้นเป็นผล ผู้ต้องการผลโดยไม่สร้างเหตุรับรองไม่ประสบผลแน่นอน ดังพุทธพจน์ว่า เย ธัมมา เหตุ ปะภะวา ...สิ่งทุกอย่างเกิดมาจากเหตุ ถ้าจะแก้ไขหรือต้องการผล ก็ต้องไปแก้หรือสร้างที่ต้นเหตุ จึงจะบรรลุผล