ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

อุเบกขา

อุเบกขา คือ ปัญญาอันสุดยอด

2

         เพื่อความกระจ่างชัดในเรื่องนี้ ผู้เขียนขอวิเคราะห์ศัพท์ที่มาของความหมายที่แท้จริงของคำว่า อุเบกขา พร้อมทั้งเหตุผล อื่น ๆ ประกอบให้เห็นคำแปลที่แท้จริงและที่ถูกต้องของอุเบกขา ดังนี้

คำว่า อุเบกขา มาจากคำว่า อุเปกฺขา ในภาษาบาลี ซึ่งเป็นคำที่ประกอบขึ้นมาจากคำสองคำ คือ อุป และ อิกข (อุป + อิกฺข)ทำตามหลักไวยากรณ์แปลงสระ อิ ไปเป็นสระ เอ มีรูปเป็น อุป + เ - กฺข และเมื่อนำไปรวมเป็นศัพท์เดียวกันแล้วก็จะมีรูปเป็น อุเปกฺข และเมื่อนำไปใช้ก็ใช้เป็นคำคุณศัพท์ (คุณนาม) ของปัญญา ในเวลาแจกรูปตามภาษาบาลี จะแจกรูปศัพท์ไปตามคำนามที่เป็นเจ้าของ คือ ปัญญา (เพศหญิง หรือ อิตถีลิงค์) จึงมีรูปเป็น อุเปกฺขา หรือ อุเบกขา ในภาษาไทยเรา

เฉพาะคำว่า อุป นี้มีความหมายว่า ใกล้ หรือ เข้าไปใกล้ๆ ส่วนคำว่า อิกฺข แปลว่า มองดู หรือ เฝ้าดู เมื่อรวมความหมายเข้าด้วยกันแล้ว คำว่า อุเปกขา ก็แปลว่า มองดูอยู่อย่างใกล้ ๆ หรือ เฝ้าสังเกตดูอยู่อย่างใกล้ชิด หรือ เฝ้าดูอยู่อย่างไม่ให้คลาดสายตา หรือ คอยจับตามองดูอยู่อย่างละเอียด หรือ เข้าไปเพ่งเล็งพิจารณาดูอย่างใกล้ชิด เป็นต้น

เพื่อให้หายสงสัยและกระจ่างละเอียดมากขึ้นกว่านี้ จะตั้งรูปวิเคราะห์และแปลตามแบบรูปวิเคราะห์ให้เห็นความหมายที่แท้จริง ดังนี้

รูปวิเคราะห์ของอุเบกขา คือ สมีปํ อิกฺขตีติ อุเปกฺขา (ปัญญา) แปลว่า ปัญญาใดย่อมมองดูอยู่อย่างใกล้ชิด เหตุนั้น ปัญญานั้น ชื่อว่า อุเปกขา (ปัญญาที่เฝ้าสังเกตดูอยู่อย่างใกล้ชิด) หรือ จะแปลว่า ปัญญาใดที่เฝ้าพิจารณาดูอยู่อย่างใกล้ชิด ปัญญานั้นชื่อว่า อุเปกฺขา (ปัญญาที่เฝ้าสังเกตพิจารณาดูอยู่อย่างใกล้ชิด(เพื่อความเห็นแจ้งในธรรมอย่างแจ้งชัด) อย่างนี้ก็ได้ หรือ จะตั้งรูปวิเคราะห์ว่า อิกฺขนสฺส สมีปํ = อุเปกฺขา (ปญฺญา ) แปลว่า ที่ใกล้แห่งการเฝ้าดู ดังนั้น อุเปกฺขา ชื่อว่า ปัญญาที่เฝ้าสังเกตดูอยู่อย่างใกล้ ๆ หรือ ปัญญาที่เฝ้าสังเกตการณ์ดูอยู่อย่างละเอียด หรือ ปัญญาที่เกิดจากการเฝ้าสังเกตการณ์พิจารณาอยู่อย่างสงบด้วยมีสติและสัมปชัญญะที่สมบูรณ์เต็มที่ (สติมา สัมปชาโน อุเปกขโก) ดังนี้ ก็ได้

จากรูปศัพท์และความหมายของศัพท์ที่แปลได้นี้ แสดงว่า อุเบกขาไม่ได้แปลว่า วางเฉย หรือ เฉยเมย หรือ นิ่งเฉยอย่างที่คนจำนวนมากเข้าใจกัน และแปลผิดตาม ๆ กันมาเช่นนี้หลายร้อยปี

คำว่า วางเฉย นิ่งเฉย เฉยเมย หรือ อยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ ไม่ทำอะไร ในภาษาบาลีท่านใช้คำว่า ตุณฺหี (อ่านว่า ตุณฮี) หรือ ตุณฺหีภาวะ ทั้งสองคำนี้ แปลว่า นิ่งเฉย วางเฉย เฉยเมย หรือ อยู่นิ่ง ๆ เหมือนกัน โปรดอย่าสับสน และควรเข้าใจเสียใหม่ พุทธธรรมจึงจะไม่ถูกบิดเบือน

เหตุผลอย่างอื่นอีกที่สำคัญซึ่งบ่งบอกว่า อุเบกขา ไม่ได้แปลว่า วางเฉย นิ่งเฉย ก็คือ อุเบกขาที่เป็นหัวข้อธรรมะข้อหนึ่งของโพชฌงค์ 7 ซึ่งเป็นข้อสุดท้าย เรียกเต็มศัพท์ว่า อุเบกขาสัม-โพชฌงค์ แปลว่า ปัญญาที่เป็นองค์ธรรมที่นำไปให้ตรัสรู้ได้อย่างถูกต้อง หรืออุเบกขาธรรมที่เป็นองค์ประกอบสำหรับการตรัสรู้ ถ้าอุเบกขาแปลว่า วางเฉย นิ่งเฉย เพ่งเฉย หรือ อยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ โดยไม่ทำอะไร แล้วอุเบกขาจะเป็นหัวข้อธรรมที่มีส่วนในการทำให้ตรัสรู้ได้อย่างไร?

นอกจากนี้แล้ว อุเบกขายังเป็นบารมี 10 ทัศที่สำคัญอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้าในขณะเป็นพระโพธิสัตว์ที่ได้บำเพ็ญบารมีให้เต็มเพื่อการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ครบสมบูรณ์ ถ้าอุเบกขาแปลว่า วางเฉย หรือ นิ่งเฉยจะเป็นบารมีสำหรับ พระโพธิสัตว์ที่จะมาตรัสรู้เพื่อนำความจริงมาเปิดเผยแก่มวลมนุษย์และเทวดาได้อย่างไร ถ้าเป็นเช่นนั้นคนที่นิ่งเฉยหรือวางเฉย เอาแต่วางเฉยในปัจจุบันนี้ ก็แสดงว่า พวกเขากำลังสร้างบารมีกันอยู่นะซิ? ซึ่งความจริงแล้วอุเบกขาไม่ใช่วางเฉยดังที่เราเข้าใจกัน

อุเบกขาเป็นธรรมฝ่ายปัญญา บางครั้งท่านจะใช้คำว่า ญาณ คือ ปัญญาต่อท้ายให้รู้อย่างชัด ๆ เช่นคำว่า สังขารุเปกขา-ญาณ หมายถึง ปัญญาที่เฝ้าสังเกตพิจารณาดูความเป็นไปของสังขารทั้งหลาย (คือ จิต เจตสิก และรูป) อยู่อย่างตั้งใจ นอกจากนี้แล้วอุเบกขายังเป็นธรรมที่เกิดขึ้นในฌาน 4 จนถึงฌาน 8 โดยเมื่อฌานที่เกิดอุเบกขาขึ้นแล้วผู้ปฏิบัติจะสามารถพิจารณาเห็นความเป็นจริงด้วยปัญญาที่เฝ้าสังเกตการณ์อยู่ในฌานนั้น ๆ อย่างมีสติและสัมปชัญญะอย่างพร้อมมูล

ในเรื่องนี้มีพระพุทธพจน์ที่ตรัสอธิบายถึงภาวะของผู้ได้ฌานและเฝ้าสังเกตเห็นความจริงในฌานนั้น ๆ โดยตรงเลยว่า

เมื่อเธอบรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุข อันเกิดจากวิเวกอยู่ เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย (ขันธ์ 5) คือ ร่างกาย (รูป) ความรู้สึก (เวทนา) ความทรงจำ (สัญญา) ความคิด (สังขาร) จิตใจ (วิญญาณ) ที่อยู่ในปฐมฌานนั้นโดยเป็นสภาวะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ภิกษุบรรลุถึงอากาสานัญจายตนฌาน เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย (ขันธ์ 4) คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่มีอยู่ในอากาสานัญจายตนฌานนั้น โดยเป็นสภาวะไม่เที่ยง มีภาวะเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

หรือพูดถึงเรื่องในการน้อมจิตไปเพื่อให้เกิดวิชชา 8 ของผู้ได้ฌาน 4 ว่า เธอเมื่อได้ฌาน 4 แล้วในขณะที่จิตเกิดอุเบกขาให้น้อมจิตไปเพื่อให้เกิดวิปัสสนาญาณได้ เธอก็สามารถเห็นแจ้งได้ว่า ร่างกายนี้ไม่เที่ยง มีการแตกทำลายไปเป็นธรรมดา เป็นอนัตตา

จากพระพุทธพจน์เหล่านี้ ล้วนแสดงให้เห็นว่า การที่ผู้ปฏิบัติเข้าฌานและยังอยู่ในฌานนั้น จิตไม่ได้นิ่งเฉยหรือแน่นิ่งอย่างที่เข้าใจกัน แต่ผู้เข้าฌานยังมีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์สามารถใช้ปัญญาที่ละเอียดสุขุมทำการเฝ้าสังเกตพิจารณาดูความเป็นไปของสิ่งที่เรียกว่า ขันธ์ห้าอยู่ ณ ภายในฌานนั้นๆ และ ยังสามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ด้วยปัญญาที่เรียกว่าภาวนามย-ปัญญา อีกด้วย ดังนั้น การเข้าฌานจึงไม่ใช่วิธีทำจิตให้นิ่งอยู่ เฉย ๆ โดยไม่เกิดประโยชน์อะไร จนทำอะไรไม่ได้

นอกจากนี้แล้ว ผู้ได้รูปฌานหรืออรูปฌานก็ตาม ที่มีอุเบกขาเกิดขึ้นในฌานนั้น ๆ เจตสิกที่สำคัญ คือ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ข้อมนสิการ ก็ยังทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์หรือสิ่งที่ปรากฏในฌานนั้น ๆ ได้อย่างแยบคายได้และละเอียดลึกซึ้ง หรือ ตัตรมัชฌัตตตา ความคงเส้นคงวาอยู่กับสิ่งที่เฝ้าสังเกตดูอยู่อย่างสม่ำเสมอในฌานนั้น ๆ ก็จะทำให้เข้าความจริงได้ หรือเจตสิกข้อสุดท้าย คือ ปัญญา ก็จะปรากฏตัวชัดขึ้นมาในองค์ฌานที่อุเบกขาปรากฏอยู่ร่วมกันทำหน้าที่ในการพิจารณาความจริงที่ปรากฏด้วย อาการทั้งหมดเหล่านี้ ล้วนแสดงว่า สภาวะจิต หรือ เจตสิกในฌานต่าง ๆ นั้น ไม่ได้นิ่งอยู่เฉย ๆ แต่กำลังทำการเฝ้าสังเกตวิจัยดูความเป็นไปของขันธ์ห้าอยู่อย่างใกล้ชิดและอย่างละเอียดลึกซึ้ง

ตามความหมายและเหตุผลที่แสดงมานี้ทำให้ทราบได้ชัดว่า อุเบกขาในฌานสมาธิเป็นปัญญาที่เฝ้าสังเกตพิจารณาดูสิ่งเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอยู่ในฌานนั้น ไม่มีส่วนใดเลยที่นิ่งเฉย อันจะทำให้พิจารณาข้อธรรมไม่ได้ ดังที่หลายคนเข้าใจผิด

การที่พวกเราแปลความหมายของอุเบกขาผิดไป จึงทำให้ทอดทิ้งวิธีการที่จะทำให้อุเบกขาเกิดในข้อนี้ไป อันส่งผลให้ไม่สามารถเฝ้าพิจารณาสังเกตดูความเป็นไปของขันธ์ต่าง ๆ หรือ ปรมัตถธรรมที่แท้จริงให้เข้าใจได้อย่างถ่องแท้ นอกจากนี้ ยังเข้าใจผิดไปจนถึงขั้นปฏิเสธการทำสมาธิด้วยวิธีได้ฌานนี้อีกด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้ปัญญาขั้นอุเบกขาเกิดขึ้น เพราะเหตุนี้เอง จึงทำให้การนั่งกรรมฐานไม่ก้าวหน้า หลับแล้วหลับอีกอยู่เช่นนี้ตลอดมา ทั้ง ๆ ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ผู้ทำสมาธิที่บรรลุผลแล้ว จะต้องเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ทั้งเข้าและออกจากสมาธิ มีความเป็นสุขทั้งในสมาธิและในการดำเนินชีวิตปกติ สามารถขจัดความง่วงนอนง่วงซึม (ถีนมิทธะ) ได้ แต่พฤติกรรมของผู้นั่งวิปัสสนาในเวลานี้ เท่าที่ปรากฏได้พบเห็นบ่อย ๆ กลับมีลักษณะตรงข้ามกับพระพุทธพจน์นี้ทั้งนั้นเลย

ปัจจุบันผู้ทำสมาธิที่มุ่งวิปัสสนาเพื่อการเห็นแจ้ง เพียงแค่นั่งสมาธิกำหนดวิปัสสนาไปได้ 15 นาทีก็หลับกันครึ่งห้องแล้ว ไม่เว้นแม้แต่อาจารย์ผู้สอน เมื่อสติสัมปชัญญะไม่มี ปัญญาจะเกิดได้อย่างไร? ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันการทำสมาธิแบบมุ่งวิปัสสนาโดยตรง ทั้ง ๆ ที่สภาวะจิตยังไม่นิ่งสงบพอ กิเลสนิวรณ์ต่างๆยังไม่สงบลง จึงล้มเหลวมากกว่าก้าวหน้า ยกเว้นท่านที่มีบารมีมาเต็มเปี่ยมแล้วเท่านั้น ที่พอจะได้พบเห็นและได้ยินอยู่บ้าง นอกนั้นก็ลูบ ๆ คลำ ๆ สมาธิไปวัน ๆ แล้วก็หันกลับมากระตุ้นกันให้เร่งทำบุญ (ปุญญาภิสังขาร) ทำทานเสียมากกว่า ที่จะต้องการได้บรรลุผลจริงจากกรรมฐานที่ทำ

การแปลความหมายของอุเบกขาผิด หรือ ทอดทิ้งปฏิเสธ ฌานสมาธิไป จึงเปรียบเสมือนว่า ในบ้านของเรามีทองคำแท่งอันงามบริสุทธิ์อยู่เป็นจำนวนมาก แต่เรากลับมองว่า นั่นเป็นเพียงก้อนหินก้อนกรวดไป หาค่ามิได้ จึงวางทิ้งให้นิ่งเฉยอยู่ในบ้านนั้นโดยไม่ได้นำมาทำประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกันก็ออกจากบ้านไปทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพื่อมุ่งมั่นที่จะได้เงินมาซื้อทองคำ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเข้าทำนองว่า ไก่ได้พลอยไม่รู้คุณค่าของพลอย แม้มีของดีอยู่กับตัวก็ไม่รู้ค่าของของดีนั้น และต้องเหน็ดเหนื่อยออกไปแสวงหาเพื่อได้ของดีมาทั้ง ๆ ที่มีอยู่กับตัว แต่ตัวเองไม่รู้

การแปลอุเบกขาว่า วางเฉย นิ่งเฉย หรือ เพ่งเฉย เป็นการแปลแบบไม่มีความหมายใด ๆ เลย ฟังแล้วไม่ได้ความรู้อะไรเพิ่มขึ้น และคำว่า วางเฉย นิ่งเฉย หรือ เพ่งเฉยพวกนี้ ก็ไม่มีส่วนใดเกี่ยวข้อกับศัพท์ของคำว่า อุเปกขา หรือ อุเบกขา นี้เลย การใช้ปัญญาเฝ้าสังเกตการพิจารณาดูอะไรอยู่นิ่ง ๆ อาจจะมีอาการ คล้าย ๆ กับอยู่เฉย ๆ แต่นั่นไม่ใช่อยู่เฉย วางเฉย หรือนิ่งเฉย ตรงกันข้ามกลับเป็นการใช้ความเงียบสงบที่เฝ้าสังเกตการณ์อยู่อย่างใช้ปัญญา คล้าย ๆ กับโค้ชนักฟุตบอลที่นั่งนิ่ง ๆ เฝ้าสังเกตดูลูกทีมกำลังลงแข่งขันอยู่ข้างสนาม การนั่งเฝ้าสังเกตของโค้ชไม่ได้หมายความว่า เขาวางเฉย หรือ เพิกเฉยไม่เอาธุระ แต่เขากำลังเฝ้าสังเกตดูความได้เปรียบเสียเปรียบของลูกทีมอยู่อย่างเข้มข้นต้องใช้ปัญญามากกว่าผู้ชมทั่วไป ที่ดูเพียงความสนุกสนาน ซึ่งการเฝ้าสังเกตดูของโค้ชนั้นทำให้เขาได้เห็นจุดบกพร่องที่จะต้องแก้ไขของทีมตนเองได้ด้วย



อาการของอุเบกขาที่ใช้ความเงียบสงบพิจารณาความจริงอย่างละเอียดอยู่เช่นนี้ มีอาการคล้าย ๆ กับโค้ชฟุตบอลที่กำลังนั่งนิ่งเฝ้าสังเกตหาจุดแก้ไขอยู่ ซึ่งอาการใช้ปัญญาอยู่อย่างเงียบ ๆ ของอุเบกขานี้ อาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดได้ว่า เป็นการวางเฉย แต่จริง ๆ กำลังใช้ปัญญาอย่างลุ่มลึกอยู่และเข้าใจได้ลึกซึ้งยิ่งกว่าปัญญาธรรมดาที่จะรู้ได้

พระพุทธองค์ทรงได้อุปมาความหมายของอุเบกขาที่ปรากฏในสมาธิว่า เหมือนกับนายช่างทองที่เฝ้าสังเกตตรวจดูทองของตัวเองอยู่ในขณะกำลังต้มหลอมอยู่ในเบ้าอย่างพินิจพิเคราะห์ เพื่อจะรู้ว่า ทองนั้นสุกได้ทั่วถึงหรือไม่ ถ้าสุกไม่ทั่วก็จะได้สูบลมเป่าไฟให้แรงขึ้นไปอีก หรือถ้าสังเกตเห็นว่า จะร้อนเกินไปก็จะได้พรมน้ำเข้าไปให้พอดี ทองจะได้สุกทั่วถึงและสุกดีได้ที่

การอุปมาด้วยโค้ชนักฟุตบอลหรือด้วยนายช่องทำทองนี้เป็นการอุปมาให้เห็นแบบง่าย ๆ แต่ถ้าจะเปรียบให้เห็นลึกละเอียดลงไปมากกว่านี้ และใกล้เคียงมากกว่านี้ ก็สามารถเปรียบเทียบได้กับการทดลองสังเกตของนักวิทยาศาสตร์ในห้องทดลอง โดยมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากเป็นอุปกรณ์ให้ เช่น กล้องจุลทรรศน์ และเครื่องมืออื่น ๆ อีกที่สามารถส่องเข้าไปมองดูจุดที่เล็กที่สุดได้ หาสมุฏฐานของสิ่งต่าง ๆ ได้ รู้ความเป็นไปในของสิ่งที่เป็นต้นเหตุของสิ่งต่าง ๆ ที่เราไม่สามารถสัมผัสด้วยตาเปล่าได้ การที่นักวิทยาศาสตร์จะรู้อะไรได้อย่างละเอียดเช่นนี้ ต้องอาศัยเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพมาก และมีความสะอาดบริสุทธิ์พอ ไม่ใช่ด้วยเครื่องมือที่เก่าจนขึ้นสนิมหรือผุผังแล้ว และต้องอาศัยความอดทนในการค้นคว้าสังเกตทดลองอยู่เป็นเวลานานกว่าจะได้ข้อสรุปในเรื่องนั้นๆ ได้

การค้นคว้าทางจิตก็เหมือนกัน การที่เราจะพบความจริงในสังขารร่างกายและจิตใจของตัวเองได้อย่างถูกต้อง ที่เรียกว่า ได้ปัญญาเห็นชอบนั้น จะต้องอาศัยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากเช่นกัน คือ จะต้องฝึกจิตให้บริสุทธิ์พ้นจากสนิมของใจ คือ นิวรณ์หรืออุปสรรคต่าง ๆ เสียก่อน จากนั้นจะต้องใช้เครื่องมือพิเศษ คือ ฌานสมาธิเป็นฐานสำคัญให้ในการที่จะเป็นอาวุธให้ปัญญามีที่ตั้งเป็นฐานปฏิบัติการณ์ในการเฝ้าสังเกตดูความเป็นไปของร่างกายและจิตใจได้ เมื่อจิตได้ฌานเป็นฐานให้แล้ว ปัญญาที่เป็นอุเบกขาจะปรากฏขึ้นมาเฝ้าสังเกตพิจารณาเห็นความจริงได้ โดยจะสามารถแยกแยะรู้เห็นการเกิดและการดับไปตามปัจจัยของร่างกายได้ว่า ร่างกายประกอบด้วยส่วนประกอบสำคัญต่าง ๆ มีอยู่ 28 อย่างด้วยกัน นี้คือส่วนที่เป็นรูป ในส่วนที่เป็นนามนั้นปัญญาอุเบกขาจะสามารถวิเคราะห์เห็นความเป็นจริงว่า นามมีการจำแนกออก 2 อย่าง คือ จิต กับ เจตสิก โดยจิตอย่างเดียวมีการเกิดดับติดต่อกันรวดเร็วมาก นอกจากนี้ยังสามารถแยกชนิดของจิตให้ละเอียดออกไปอีกว่า จิตนี้มีชนิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะมีความแตกต่างกันถึง 89 ชนิด หรือถ้าแยกให้ละเอียดลงไปอีกถึงจิตของพระอริยบุคคลด้วยแล้ว ก็จะละเอียดเพิ่มขึ้นอีกเป็น 121 ชนิด ในส่วนของเจตสิกนั้นเป็นสิ่งที่เกิดพร้อมกับจิต ดับไปพร้อมกับจิต อาศัยอารมณ์เดียวกันกับจิตในการเกิดและดับ เจตสิกนี้มีลักษณะเป็นคุณสมบัติหรือคุณลักษณะของจิตมี 52 ชนิดด้วยกัน

การที่จะสามารถรู้และแยกแยะให้เห็นความจริงได้ว่า ร่างกายและจิตใจ หรือนามรูป หรือขันธ์ห้า มีส่วนประกอบที่ละเอียดถึงขั้นนี้ จิตจะต้องมีกำลัง มีความบริสุทธิ์สะอาด และได้ฌานเป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพส่งให้เสียก่อน และที่สำคัญจะต้องมีปัญญาที่เฝ้าสังเกตพิจารณาอาการในฌานนั้นอย่างละเอียด จึงจะสามารถแยกแยะรู้ความจริงเช่นนี้ได้ เหมือนนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องอาศัยเครื่องมือ และอาศัยการสังเกตอย่างละเอียดนิ่งสงบมาก จึงจะรู้อะไรได้แม่นยำ

จากข้ออุปมาที่พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบเองก็ตาม จากที่เปรียบกับนักวิทยาศาสตร์ให้ดูนี้ก็ตาม ทำให้เราได้รู้ความหมายของคำว่า อุเบกขาได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และไม่ใช่หมายถึงการวางเฉยหรือเฉยเมยอย่างแน่นอน แต่เป็นการใช้ปัญญาชนิดที่ละเอียดกว่าปัญญาปกติเฝ้าสังเกตพิจารณาดูอยู่กับสภาวะจิตที่นิ่งสงบ ทำให้พิจารณาเห็นการเกิดดับของจิตเองได้ สามารถดับร่างกายจนไม่ต้องมีลมหายได้ สามารถดับจิตของตนเองได้ และเมื่อเข้าใจได้ชัดอย่างนี้แล้ว สามารถล่วงรู้ความจริงจนสามารถยกจิตอยู่เหนือโลกทั้งปวงได้ ที่เรียกว่า บรรลุโลกุตตรธรรม และนอกจากนี้ ด้วยอานิสงส์ของจิตที่มีพลังมากจนกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพมากนี้ จะสามารถล่วงรู้ความจริงเกี่ยวกับโลกและจักรวาลได้ทั้งหมด และยังมีอภิญญาอีกหลายอย่างเกิดขึ้นตามมาตามศักยภาพของจิตที่ถูกฝึกมากับกรรมฐานชนิดใดที่จะมีผลทำให้ได้อภิญญาอะไรบ้าง

สรุปว่า เพราะพวกเราแปลอุเบกขาผิดไป จึงทำให้ขาดปัญญาที่เฝ้าสังเกตดูความเป็นไปของปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก และรูปของเราไป นอกจากนี้ยังมีการปฏิเสธการทำสมาธิที่จะทำให้ได้อุเบกขานี้ด้วย จึงเท่ากับว่า ไม่ต้องการให้อุเบกขาเกิดขึ้น จึงเป็นเหตุทำให้ไม่มีการฝึกจิตเพื่อให้ได้ฌาน เมื่อฌานไม่มี ปัญญาที่จะเกิดขึ้นมาเฝ้าสังเกตพิจารณาดูปรมัตถธรรม หรือ ขันธ์ห้า จึงไม่เกิดขึ้น อันเป็นเหตุให้ขาดธรรมที่เป็นองค์ประกอบของการตรัสรูข้ออุเบกขาไป เมื่ออุเบกขาขาดไปทำให้โพชฌงค์ไม่ครบองค์ประกอบจึงทำให้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าไม่ได้

ในเรื่องนี้ มีพระพุทธพจน์บทหนึ่งที่จะให้คำตอบในเรื่องนี้ได้ดี คือ นัตถิ ฌานัง อะปัญญัสสะ นัตถิ ปัญญา อะฌายิโน แปลว่า ฌานย่อมไม่มีกับคนที่ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีกับคนที่ไม่มีฌาน เมื่อเราปฏิเสธฌานจึงทำให้ปัญญาไม่เกิด ดังนั้น การปฏิบัติธรรมของพวกเราจึงเป็นเพียงการเดินเวียนรอบพระพุทธธรรมอยู่อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่เข้าถึงแก่นธรรมจริง ๆ สักที เพราะความเข้าใจผิดนี้เอง เหมือนคนที่มีทองคำอยู่กับตัวกลับมองเห็นเป็นก้อนอิฐก้อนกรวดไปจึงไม่ได้รับประโยชน์จากทองนั้น

       ดังนั้น เพื่อความเจริญและก้าวหน้าในคำสอนของ พระพุทธองค์ เราจึงควรที่จะกลับมาสำรวจกันดูให้เข้าใจกันใหม่ และกลับมาพิจารณาดูให้ละเอียดแล้ว การปฏิบัติธรรมจะไม่ไร้ค่า และจะพบความสุขอันไพบูลย์ดังที่ต้องการ

 <<< ย้อนกลับ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย