สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
มนุษย์และความขัดแย้ง
หากมนุษย์เรามองให้ตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง
เราก็จะพบว่าแวดล้อมตัวเราก็จะมีมนุษย์คนอื่นๆ
ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพที่ใกล้เคียงตัวเราที่สุด และมีสิ่งต่างๆที่นอกเหนือจากนั้น
ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม ซึ่งเราจะเรียกรวมว่าเป็น
ธรรมชาติ ก็ได้ นี่เป็นการมองในมิติหนึ่ง ฉะนั้นจึงอาจสรุปได้ในระดับนี้ก่อนว่า
ในโลกที่เรารู้จักนี้หรือจะเอาถึงขั้นจักรวาลก็ได้ ก็มีเพียงตัวเรา ธรรมชาติ
และเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์กับเรา (ไม่แน่ใจว่าจะใช้คำว่านี้ได้กับทุกคนหรือไม่)
ในอีกมิติหนึ่งนั้น
ถ้าเราจะมองเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์ของเราให้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติด้วย
มนุษย์เราที่เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างนี้
ก็จะพบว่าตัวเราเองนั้นอยู่ท่ามกลางธรรมชาติรอบตัวเท่านั้น
ส่วนเรื่องว่าจะรู้สึกโดดเดี่ยวในสภาพแวดล้อมเช่นนั้นด้วยหรือไม่
ก็ขึ้นกับท่าทีที่เขาจะมีต่อธรรมชาติ
ในประเด็นนี้ ขยายความต่อไปอีกหน่อยได้ดังนี้ว่า
มนุษย์คนนั้นได้มองธรรมชาติด้วยสายตา และด้วยความเข้าใจอย่างใด
หากเขามองเห็นว่าธรรมชาติเป็นและมีเพียงมิติ ทางกายภาพ(สสาร)
และมนุษย์คนอื่นๆที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาตินั้น
เขาเองก็คงจะยอมรับในลักษณะลึกๆว่า ตัวของเขาเองก็เป็นสสารด้วย
แต่ถ้าเขามองว่าตัวของเขาเองนั้น นอกจากจะมีและเป็นมิติของกายภาพที่เป็นสสารแล้ว
ยังมีและเป็นมิติที่เป็นอสสารด้วย ซึ่งในที่นี้ขอใช้อีกคำว่า จิตวิญญาณ(อสสาร)
เขาก็คงต้องยอมรับความมีและความเป็นจิตวิญญาณของเพื่อนร่วมโลก
ของบรรดาสัตว์โลกทั้งหลาย และทุกสิ่งทุกอย่าง
ที่อยู่ภายใต้คำจำกัดความว่าธรรมชาติด้วย
อนึ่ง ภายใต้ความหมายของคำว่า จิตวิญญาณนั้น
ได้ครอบคลุมการยอมรับสิ่งที่เราเรียกว่า คุณค่า อันมีลักษณะของความเป็นนามธรรมด้วย
เราคงจะไม่ต้องอภิปรายกันตรงนี้ว่า
ด้วยสายตาที่มองดูและเข้าใจธรรมชาติที่แตกต่างกันเช่นนี้
จะทำให้ความรู้สึกและพฤติกรรมที่จะตามมาแตกต่างกันเพียงใด เราลองนึกเอาเองดูก็ได้
ว่าหากเราหันมองไปรอบตัวแล้วเห็นแต่วัตถุ คือสสาร กับหากมองไปรอบๆเห็นความหลากหลาย
คือวัตถุหรือสสารบ้าง และยังเห็นอสสารที่เป็นจิตวิญญาณบ้าง หรือแม้กระทั่งเห็นว่า
ในความที่เป็นสสารนั้นเอง ก็มีมิติของจิตวิญญาณอยู่ด้วย เราจะรู้สึกต่างกันแค่ไหน
ประเด็นสุดท้ายที่ขอกล่าวถึง คือข้อเท็จจริงว่า
ที่แวดล้อมตัวมนุษย์และธรรมชาติทั้งหลายอีกทีก็คือ เวลาและสถานที่
ซึ่งไม่มีใครและสิ่งใดๆที่จะปฏิเสธได้ ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะมองหรือเชื่อว่า
ความจริงของโลกหรือจักรวาลนี้อยู่ภายในกรอบของความมีและความเป็นสสาร
หรือภายในกรอบของความมีและความเป็นสสารและอสสาร ก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า
เวลาและสถานที่ ก็มีลักษณะที่เป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรม
นั่นเป็นไปในบริบทของมนุษย์เพียงคนเดียว
แต่ในความเป็นจริงของปัจจุบัน เรามนุษย์ทั้งหลายก็ได้มาพบว่าตัวเอง
เมื่อเกิดมาและเติบโตมาจนรู้ความนั้น ตัวเราก็อยู่ในสังคมแล้ว
ในสังคมที่เราอาจใช้คำว่า สังคมการเมือง แทนก็ได้ ในนิยามว่า
การมีปฏิสัมพันธ์ของบุคคลมากกว่า 2 หน่วยขึ้นไป มามีกิจกรรมร่วมกัน
เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายบางประการ ส่วนคำถามที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ว่า
ทำไมจึงเกิดมีสังคมการเมืองขึ้นนั้น ขอที่จะไม่กล่าวถึงในที่นี้
แม้ว่าจะเป็นคำถามสำคัญก็ตาม
เพราะแต่ละคำตอบจะนำไปสู่คำอธิบายเชิงอุดมการณ์ของแต่ละสังคมได้
ภายในสังคมการเมืองนี้เอง
สิ่งที่มนุษย์ทำให้ปรากฏไม่ว่าจะเป็นต่อเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์ของเขา
หรือต่อเพื่อนร่วมโลก หรือต่อสิ่งรอบตัวเขาอื่นๆ คือ พฤติกรรม
ก่อนเกิดมีพฤติกรรมนั้น มนุษย์ต้องผ่านการตัดสินใจ
เพราะมนุษย์มีคุณสมบัติที่จะคิดและเลือกได้ระหว่าง ความร้อน-ความหนาว
ความสุข-ความทุกข์ ความดี-ความเลว และความอยาก-ความไม่อยาก ฯลฯ (ในระดับนี้
ก็พอที่จะเห็นว่า มนุษย์มีสภาพ ความขัดแย้ง อยู่ประจำตัวแล้ว)
ประเด็นสำคัญอยู่ตรงว่า ก่อนที่มนุษย์จะตัดสินใจนั้น
ต้องมีกระบวนการต่างๆเกิดขึ้นภายในจิตใจของเขาก่อน
อาจเริ่มนับถอยหลังไปเริ่มตั้งแต่การรับรู้โลกและสิ่งรอบตัว
(หรือบางทีบางคนก็อยากจะเริ่มที่โครงสร้าง
หรือองค์ประกอบทางกายภาพภายในร่างกายของตัวมนุษย์เอง)
ติดตามมาด้วยการที่เราต่างก็มีภาพลักษณ์ต่อสิ่งต่างๆ
ตามที่ได้รับการกล่อมเกลาและหล่อหลอมมา
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาพลักษณ์ของเราเป็นไปต่างๆนานาคือ
การที่เราอยู่ในสิ่งแวดล้อม(สถานที่-ทางภูมิศาสตร์)
มีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์(สิ่งแวดล้อมทางเวลา)
และใช้ชีวิตในบริบททางวัฒนธรรม(ซึ่งเนื้อแท้ก็คือกรอบต่างๆ
รวมทั้งกรอบของการอยู่ร่วมกันที่มนุษย์ร่วมกันสร้างขึ้นมาเอง)
แน่นอนที่ทั้งสามสิ่งนี้อาจมองได้ในระดับต่างๆกัน ไม่ว่าจะเป็นในระดับปัจเจกบุคคล
ชุมชน สังคม ประเทศ ภูมิภาค หรือในระดับโลกก็ตาม
เมื่อพฤติกรรมของมนุษย์คนหนึ่งเกิดขึ้น
ก็จะส่งผลไปยังสิ่งที่อยู่รอบตัวเขาไม่ในทางใดก็ทางหนึ่ง
อันจะทำให้เกิดการรับรู้และตีความ
ตลอดจนการประเมินค่าต่างๆต่อไปจากเพื่อนมนุษย์คนอื่นที่อยู่ร่วมสังคม
หรือจากสิ่งอื่นใดก็ตามที่สามารถรับรู้ได้ (ที่ต้องระบุตรงนี้
เพราะข้อเท็จจริงที่ว่า หากเขาผู้นั้นเชื่อในการมีอยู่ของมิติทางจิตวิญญาณ
เขาก็จะต้องระวังต่อการรับรู้ของจิตวิญญาณนั้นด้วย
ซึ่งอาจส่งผลกระทบย้อนกับมายังตัวเขา หรือมายังสิ่งที่อยู่แวดล้อมตัวเขา)
และเมื่อมีผลกระทบเช่นนั้นเกิดขึ้น เขาก็ต้องมีการตอบสนอง ไม่ว่าจะเป็นในทางตอบรับ
หรือในทางปฏิเสธหลีกหนีก็ตาม และนี่ก็คือที่มาของปรากฏการณ์ทางสังคม
ซึ่งหากปรากฏการณ์นี้มีผลกระทบต่อคนหมู่มาก มันก็จะกลายเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองไป
ข้อเท็จจริงข้างต้นนี่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ต้องยอมรับก่อน กล่าวคือ
มนุษย์เราอยู่ระหว่างโลกของธรรมชาติทั้งที่เป็นสสารและโลกของวิญญาณที่เป็นอสสาร
หรือจะพูดให้ถูกต้องก็คือ
มนุษย์เราอยู่ระหว่างความเชื่อเรื่องการมีอยู่-ความเป็นจริงของโลกแห่งสสาร
และความเชื่อเรื่องการมีอยู่-ความเป็นจริงของโลกแห่งอสสาร
การที่จะเข้าใจมนุษย์และพฤติกรรมทางการเมืองของมนุษย์
ต้องทำความเข้าใจผ่านธรรมชาติและโลกทางวิญญาณด้วย
เมื่อมนุษย์ทำกิจกรรมเพื่อการดำรงชีวิตนั้น
ไม่มีจะมีความละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อนมากเพียงใด ล้วนเป็นกิจกรรมฝ่ายธรรมชาติ
ตามสัญชาติญาณหรือตามที่เคยเรียนรู้มา
แต่เมื่อมนุษย์มีกิจกรรมอื่นๆนอกจากนั้นก็เป็นไปได้ที่จะมีความหมายทางจิตวิญญาณอยู่บ้าง
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกัน
มนุษย์ก็ต้องพบกันความหลากหลายของจิต ความหลากหลายของความต้องการ ฯลฯ
บวกกับการที่ตัวเขาต้องตัดสินใจเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ตลอดเวลา
ก่อนที่จะให้คำตอบต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัว ในรูปของสิ่งที่เราเรียกว่า
พฤติกรรม ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ ความขัดแย้ง ทั้งในระดับภายในความรับรู้ของตนเอง
และในระดับที่ต้องช่างใจในผลที่จะเกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อมภายนอกตัวเขาเอง
และหากลองมาดูพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคม
พิจารณาดูปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
ไม่ว่าจะเป็นภายในกรอบของสังคมธรรมดา
หรือสังคมการเมือง(ในกรณีที่เรื่องนั้นๆมีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก)
หรือแม้กระทั่งภายในกรอบของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ(โดยผ่านตัวแสดงที่เรียกว่ารัฐ)ก็ตาม
เราจะพบว่าแท้จริง กรอบของลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้นแท้จริงมีเพียง 5
ลักษณะเท่านั้น กล่าวคือ
1. ความขัดแย้ง
2. การแสวงหาพันธมิตร
3. การเข้าไปก้าวก่าย
4. การค้า และ
5 การสงคราม ซึ่งจะได้ขยายความกันต่อไป
ลำดับความคิดที่นำเสนออย่างค่อนข้างยืดยาวนี้
คงทำให้เกิดความชัดเจนได้บ้างว่า มนุษย์และความขัดแย้งเป็นสิ่งคู่กัน
ไม่ต้องไปคิดกำจัดมันให้หมดไปจากโลก เป็นไปไม่ได้
ประเด็นที่เหลืออยู่ให้ต้องขบคิดต่อไป คือคำถามว่า
จะจัดการอย่างไรกับความขัดแย้งที่มีอยู่เหล่านั้น ?
เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของการอยู่ร่วมกันด้วยดีตามอุดมการณ์ที่สังคมต่างๆมีร่วมกัน
เราอาจมีกรอบได้หลายลักษณะ เช่น การศึกษาบทบาทของผู้มีอำนาจตัดสินใจ
(ในระดับบุคคล ต่ำกว่ารัฐ และในแนวทางจิตวิทยา) หรือศึกษาจากลักษณะของรัฐ
(ศึกษาในระดับรัฐ เช่นในแง่ของปัจจัยแห่งอำนาจรัฐ จากลักษณะภูมิรัฐศาสตร์
จากระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ระบอบการปกครอง เป็นต้น โดยดูกายภาพของประเทศ
ระบบการเมือง มิติทางจิตวิทยาและสังคม หรือปัจจัยอำนาจรัฐอื่นๆ ประกอบ)
หรือศึกษาจากระบบการเมืองโลก (ทั้งในระบบหลัก และระบบรอง
ซึ่งเป็นการศึกษาในระดับเหนือรัฐ)
แต่ในที่นี้ขอเสนอแนวทางพิจารณาการเมืองโลก จากระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์
เพื่อเป็นกรอบใช้พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่างๆ รัฐซึ่งมีปัจจัยอำนาจรัฐ
และในมิติอื่นๆที่ต่างกัน
โดยขอให้จินตนาการว่า โลกเป็นเสมือนเกาะใหญ่
มีสมาชิกชาวเกาะประมาณกว่า 2-300 คน แต่ละคนมีรูปพรรณสัณฐาน อุปนิสัย
ศักยภาพทางร่างกายและจิตใจที่ต่างกัน ยิ่งกว่านั้น แต่ละคนยังครอบครองที่ดิน
ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ และในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ต่างกันอีกด้วย
มีอาหารการกินเฉพาะตนมากไม่เท่ากัน ฯลฯ
ลักษณะความสัมพันธ์พื้นฐานของมนุษย์ที่เราสามารถนำมาเป็นกรอบพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐได้
มี 5 ประการ คือ
ความขัดแย้ง
การแสวงหาพันธมิตร
การเข้าไปก้าวก่าย
การค้า
การสงคราม