สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
การแสวงหาพันธมิตร
เคยมีคนกล่าวว่า ถ้ามนุษย์อยู่คนเดียว ก็จะเรียกสถานการณ์นั้นว่า สันติภาพ
แต่ถ้ามี 2 คนอยู่ด้วยกันก็จะเป็นสถานการณ์ของความขัดแย้ง แต่ถ้ามี 3 คน
ก็จะเริ่มมีการเข้าข้างกัน หมายความว่า ที่ทั้งสามคนจะสามัคคีเป็นอันดีนั้นยาก
จะต้องมีการแบ่งฝ่ายเป็น 2 + 1 หรือไม่ก็กลายเป็น 3 ฝ่ายไปเลย อันนี้เป็นสัจธรรม
สัจธรรมอีกข้อคือ มนุษย์มีแนวโน้มที่จะแสวงหารูปแบบชนิดที่เรียกว่า Balance of
Power อยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อแก้ไขจุดอ่อนที่ตนมี (ในการต่อรองเพื่อผลประโยชน์)
ให้กลายเป็นจุดแข็ง หรืออย่างน้อยก็ให้อยู่ในฐานะที่พอจะต่อกร/ต่อรอง
อย่างไม่เสียเปรียบกับอีกฝ่ายได้
อนึ่งเมื่อมีการพูดถึงพันธมิตร ก็ย่อมจะตีความได้ด้วยว่า
ในกรณีนี้ต้องมีฝ่ายตรงข้าม อย่างที่เราเรียกว่า ศัตรู ได้ด้วย ในเรื่องนี้
จากประสบการณ์ มนุษย์มักทำผิดตรงที่
มักมองว่าฝ่ายที่เราเห็นชัดเจนว่าอยู่ตรงข้ามนั้นเป็นศัตรูสำคัญ
ส่วนที่ไม่แสดงตัวออกมา บางทีกลับมองว่าเป็นมิตรเสียด้วยซ้ำ
อีกอย่างมนุษย์เรามักให้ความสำคัญกับอดีตมากเกินไป แท้จริงในประเด็นมิตร-ศัตรูนี้
ต้องมองปัจจุบัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งไปในอนาคตด้วย
และต้องพิจารณาศักยภาพจากประเด็นของผลประโยชน์ว่า จากมิตรจะกลายเป็นศัตรู
หรือจากฝ่ายตรงข้ามจะกลายเป็นมิตรได้หรือไม่
และในกรณีนี้ต้องระลึกถึงสัจธรรมอีกข้อว่า ในทางการเมือง
ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร ที่แท้และถาวรคือ ผลประโยชน์ของเรา (ข้อให้ระลึกว่า
ผลประโยชน์นั้นไม่ได้ต้องอยู่ในรูปของวัตถุเสมอไป เป็นความรู้สึกมั่นคง
เป็นเกียรติภูมิก็ได้ ฉะนั้น ในประเด็นมิตร-ศัตรู จึงควรเป็นเรื่องประเภท
ระยะสั้น และต้องปรับเปลี่ยนได้ แต่ทั้งนี้ หากต้องการรักษามิตรภาพไว้
ก็ต้องจริงใจ (จริงใจไม่ได้หมายความว่าต้องเผยไต๋ทั้งหมด)
และมีมาตรการต่างๆมาสนับสนุน เรื่องพวกนี้ตบมือข้างเดียวไม่ดังอยู่แล้ว
การหักหาญน้ำใจจึงไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง
อย่างมากอาจเป็นไปตามลักษณะของความสัมพันธ์ที่มีทั้งแบบใกล้ชิด หรือห่างเหิน
และสุภาษิตไทยที่ว่า ไม้ล้มข้ามได้ คนล้มอย่าข้าม ก็ยังน่าจะใช้ได้ดี
มาตรการอื่นๆเพื่อรักษาพันธมิตร
(นอกจากตามแบบของความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกฯแล้ว) เช่น ข้อสนธิสัญญา ข้อผูกมัด
หลักประกัน การรวมกลุ่มประเทศ เป็นต้น สัญญาที่กระทำในรูปของทวิภาคี
ต้องนำไปพิจารณาประกอบด้วยว่า
ประเทศคู่สัญญาของเราได้ทำสัญญาทำนองเดียวกันนี้กับรัฐอื่นด้วยหรือไม่
และต้องประเมินว่า ในกรณีที่จะต้องมีการหักคำสัญญา
รัฐนั้นยินดีหรืออยู่ในเงื่อนไขที่จะบอกเลิกสัญญากับใครก่อน
ข้อสัจธรรมที่ขมขื่นอีกข้อคือ
จะไม่มีรัฐใดยอมเอาผลประโยชน์ของชาติเขาในระดับต่างๆไปเสี่ยงเพื่อผลประโยชน์ของชาติอื่นๆ
ด้วยความสำนึกทางศีลธรรม หรือเพียงเพื่อรักษาคำมั่นสัญญาเท่านั้น
ในกรณีที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกฯ
มนุษย์เรายังอยู่ภายใต้เงื่อนไขและสำนึกทางศีลธรรมมากว่า
(คนบางคนยังยอมตายเพื่อเพื่อนของตนได้)
(ตรงนี้มีการอภิปรายถึงความศักดิ์สิทธิ์และการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศ)
ประเด็นพิจารณาต่อมา การแสวงพันธมิตร โดยสาระแล้ว อาจเรียกได้ว่าเป็น
สมาคมเพื่อความมั่นคง
เพราะผลประโยชน์ที่สำคัญยิ่งยวดของรัฐก็คือความมั่นคงนั่นเอง
มาตรการดังที่ระบุแล้วก็เพื่อเป็นการเพิ่มความมั่นใจในมิติความมั่นคง
แต่เมื่อมีการผูกมัด หรือข้อพันธกรณี (และที่จริงในทุกพฤติกรรมที่สำคัญของรัฐ)
ก็ต้องได้รับการยอมรับจากประชาชน (ในทุกระดับ) ด้วย ปกติของการคบหานั้น
เราก็ต่างหวังว่าความสัมพันธ์จะอยู่ในระดับที่เท่าเทียมกัน แต่การอยู่ใน สมาคม
นานาชาติ (แม้ว่าการอยู่ในกลุ่มทางสังคมก็ตาม)
เนื่องจากแต่ละรัฐมีอำนาจรัฐที่ต่างกัน ที่คบกันก็เพื่อผลประโยชน์ในมิติต่างๆ
ชาติเล็กอาจต้องการหลักประกันด้านความมั่นคง
แต่ชาติใหญ่สนใจที่จะได้ช่องทางเข้าไปแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เหนือคู่แข่งคนอื่น
เมื่อมองโดยภาพรวมของสมาคมความสัมพันธ์เช่นนั้น
ชาติเล็กก็กลายเป็นหน่วยย่อยทางเศรษฐกิจของชาติใหญ่ไป
และชาติใหญ่ก็เป็นเสมือนศูนย์กลางของ จักรวรรดิ
ในเรื่องความมั่นคงของชาติเล็กต่างๆ คำถามว่า ในลักษณะของความสัมพันธ์เช่นนี้
มิติเรื่องเกียรติภูมิหายไปไหน ตอบว่า เมื่อผลประโยชน์เรื่องความมั่นคงเป็นหลัก
ก็ต้องยอมลดมุมมองด้านเกียรติภูมิ ซึ่งมาทีหลังลงไป แม้คนเราเอง ปากท้องมาก่อน
ความมั่นคงตามมา เกียรติภูมิยังมาทีหลัง
ความขัดแย้ง
การแสวงหาพันธมิตร
การเข้าไปก้าวก่าย
การค้า
การสงคราม