ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์

ประชาคมอาเซียน

พม่า (Myanmar)

พม่า : เพื่อนบ้านที่เราไม่คุ้นเคย

พ.ต.เกรียงไกร แข็งแรง

ไทยกับพม่า : เพื่อนบ้านที่ไม่คุ้นเคย

ดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์ของพม่ามิได้กล่าวถึงไทยมากไปกว่าการรุกรานจากลัทธิล่าอาณานิคมซึ่งพม่าต้องตกเป็นเหยื่อเป็นระยะเวลานาน เป็นระยะเวลาที่ทุกข์ทนของพม่าเป็นระยะเวลาที่ต้องต่อสู้เพื่อเอกราช จากนั้นจึงเป็นเรื่องของการรวมชาติ โดยข้อเท็จจริงแล้วความขัดแย้งจนนำสู่สงครามระหว่างสองประเทศมีมูลเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ การมุ่งขยายเมืองท่าด้านตะวันตกฝั่งทะเลอันดามันของไทยซึ่งถือเป็นการทาบทับกับเขตอำนาจของพม่า และประเด็นความเชื่อในเรื่อง “ราชาธิราช” (ราชาแห่งราชา) ซึ่งกษัตริย์พม่ามักจะแสดงบุญญาธิการด้วยการรุกรานไทย ในแง่นี้คนพม่าจึงมิได้มีทัศนคติดังเช่น คนไทยที่มีต่อพม่าว่า พม่าคือศัตรูคู่ประวัติศาสตร์ของไทย ทัศนคติที่เป็นปรปักษ์ต่อพม่าเป็นมรดกที่ตกทอดมานับแต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาคราวหลัง (พ.ศ.2310) จนมีการขยายแนวคิดดังกล่าวถึงขั้นที่ว่าพม่าคือศัตรูพระพุทธศาสนา หรือมารอันเป็นตัวแทนฝ่ายอธรรม ผู้นำทางการเมืองและภูมิปัญญาของไทยนับแต่ยุคปฎิรูปประเทศให้ทันสมัยมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดโฉมหน้าใหม่ของพม่าในฐานะปัจจามิตรสู่ประชาชนโดยผ่านลงมาทางองค์กรและบุคคลากรของรัฐ สงครามระหว่างไทยกับพม่าได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือปลุกเร้าสำนึกความเป็นชาติและความรู้สึกชาตินิยม ความรู้สึกที่เป็นปรปักษ์กับพม่าที่สัมผัสหรือรับรู้ได้ในปัจจุบันจึงนับเป็นผลิตผลอันเกิดจากการใช้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้นำไทย นับแต่ยุคของการปฏิรูปประเทศเรื่อยมา มากกว่าจะเป็นผลที่สืบเนื่องโดยตรงจากสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งหลัง

โดยข้อเท็จจริงพม่าเป็นเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตติดต่อกับไทยมากที่สุด ด้านพม่านั้นพม่ามีพรมแดนติดต่อไทยมากเป็นอันดับสองรองจากจีน ซึ่งพม่าให้ความสำคัญในการดำเนินการทูตระดับทวิภาคีผ่านทางมณฑลยูนาน จีนช่วยพม่าสร้างถนนและสะพานหลาย แห่งตามแนวชายแดนพม่าเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า เช่น การปรับปรุงถนนพม่า (Burma Road) เชื่อมระหว่างมัณฑะเลย์ไปยังเมืองต่าง ๆ ในรัฐฉาน เช่น ลาเฉียว (Lashio) และมูเซ (Muse), สะพานข้ามแม่น้ำฉ่วยลี่ (Shweli) 2 แห่งเชื่อมเมืองชายแดนพม่าและจีน คือ เมืองมูเซของพม่ากับเมืองหวันติ้ง (Wanting) และหยุยลี่ (Ruili) ของจีนในปี 1992 สะพานเชื่อมหว่านติ้งกับจูกุ๊ก (Kyukok) ของพม่าในปี 1993 ความไม่คุ้นเคยกับพม่าของไทยในปัจจุบันนั้นน่าจะเกิดจากสาเหตุหลัก 2 ประการคือ การเข้ายึดอำนาจของเนวินในปี 1962 ได้มีการนำเอานโยบายสังคมนิยมวิถีพม่า (Burmese way to Socialism) เข้ามาใช้ รัฐบาลไทยขณะนั้นมีความหวาดระแวงต่อลัทธิคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมทำให้เกิดความไม่วางใจในการคบหาซึ่งมีผลกระทบในแง่นโยบายระดับทวิภาคี เช่นกรณีการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยของพม่าในฐานะรัฐกันชนในห้วงเวลานั้น เหตุผลอีกประการคือห้วงระยะเวลาของสังคมนิยมวิถีพม่านั้นได้ประกาศปิดประเทศทำให้พม่าขาดการติดต่อกับโลกภายนอกรวมถึงไทยไปช่วงระยะหนึ่ง

ปัจจุบันไทยมีการติดต่อกับพม่าได้หลากหลายช่องทางและวิธีการมากขึ้น ทั้งในระดับทวิภาคีเช่นการติดต่อค้าขายตามแนวชายแดน มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับพื้นที่ คณะกรรมการทางการทหาร ในระดับพหุภาคีไทยและพม่าต่างเป็นสมาชิกอาเซียน ปัญหานั้นผู้เขียนเห็นว่ามีเพียงประเด็นของการดำเนินนโยบายการทูตทั้งสองระดับให้สอดคล้องกันและเป็นเอกภาพ รวมถึงการสร้างทัศนคติต่อพม่าในทางที่ดีให้เกิดขึ้นกับคนไทย พม่านั้นมีศักยภาพในด้านทรัพยากรสูงที่สามารถจะแสวงประโยชน์ร่วมกับเพื่อนบ้านเช่นไทย ผู้มีพรมแดนติดต่อเป็นระยะทางยาวและต่อเนื่อง

- ภูมิหลัง : ประวัติศาสตร์พม่าจากมุมมองพม่า
- พม่าในปัจจุบัน
- ปัญหาภายในพม่าในปัจจุบัน
- ไทยกับพม่า : เพื่อนบ้านที่ไม่คุ้นเคย

อ้างอิง

  • กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์,พระราชพงศาวดารพม่า เล่ม 1, กรุงเทพฯ:ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์,2505.

  • พรพิมล ตรีโชติ,มิติชาติพันธุ์ในความสัมพันธ์ไทย-พม่า,มติชนสุดสัปดาห์,ฉบับอังคาร 21 พ.ย.38;น.29-30. ,ฉบับอังคาร 28 พ.ย.38;น.32-33.

  • ภาณุวัตร วรรณถาวร,เยือนแผ่นดินโลกมืดสัมผัสชีวิตและการต่อสู้ของชนกลุ่มน้อย ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่า,สยามรัฐรายวัน,ฉบับพฤหัสบดี 7 ธ.ค.38;น.22. ,

  • สัจจะไม่มีในหมู่โจรสงครามจึงเกิดขึ้นเพื่อทวงถามคำสัญญา, สยามรัฐรายวัน,ฉบับศุกร์ 8 ธ.ค.38;น.22.

  • ลิขิต ธีรเวคิน,ขอบข่ายและวิธีการศึกษารัฐศาสตร์,กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์สามศาสตร์,2529.

  • สุเนตร ชุตินธรานนท์,พม่ารบไทย:ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับพม่า,กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน,2539.

  • หม่องทิน อ่อง (แต่ง) เพ็ชรี สุมิตร (แปล),ประวัติศาสตร์พม่า,กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย,2519.

  • อัศวิน พินิจวงษ์,ปัญหาการปิดพรมแดนชายแดนไทย-พม่า และการระงับการก่อสร้าง สะพานมิตรภาพไทย-พม่า,สยามรัฐรายวัน,ฉบับศุกร์ 8 ธ.ค.38.

  • http://www.britanica.com;Myanmar. http://www.lonelyplanet.com;Burma.

  • http://www.travel-burma.com. http://www.web.amnesty.org;Amnesty International Report 2000-Countryreports; Myanmar.

ประวัติศาสตร์ประเทศพม่า
การเมืองพม่า
ข้อมูลประเทศพม่า
เปียงมนา เนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่
พระพุทธศาสนาในประเทศพม่า
พม่า : เพื่อนบ้านที่เราไม่คุ้นเคย
การแต่งกายพม่า

สาระความรู้ ข้อมูลอาเซียน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย