ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>
จักรวรรดิไศเลนทร์
นักโบราณคดีได้ขุดค้นโบราณสถานบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ
ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ปัจจุบันก็คือประเทศปากีสถาน
พบเมืองโบราณขนาดใหญ่ก่อสร้างด้วยหินและอิฐดินเผาอย่างมีระเบียบแบบแผนทางสถาปัตยกรรมประกอบด้วยถนนหนทางคูระบายน้ำและระบบสุขลักษณะอย่างครบถ้วนฝังจมอยู่ใต้พื้นดิน
บริเวณโบราณสถานดังกล่าว ค้นพบศิลปวัตถุเครื่องมือเครื่องใช้จำนวนมาก
เป็นหลักฐานบ่งบอกให้ทราบอย่างชัดเจนว่า
เคยเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่โตมโหฬารและมีเคยมีความเจริญรุ่งเรืองในอดีตเมื่อหลายพันปีก่อน
เรียกกันว่า เมืองหารัปปา และ เมืองโมเหนจาดาโร
ต่อมาได้กลายเป็นชื่อของแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
สันนิษฐานว่าคงหมายถึง เมืองสุทัศน์
ในตำนานเทพปรกรณัมของชาวอินเดียที่กล่าวถึงเรื่องราวปรัมปรากล่าวถึงการสู้รบในเทพนิยายเรื่อง
เทวอสูรสงคราม
การรบพุ่งแย่งชิงเมืองสวรรค์ชั้นฟ้ากันอย่างหฤโหดจนไม่ทราบว่าฝ่ายใดเป็น เทพ
ฝ่ายใดเป็น อสูร
แต่เชื่อกันว่าคงหมายถึงการทำสงครามกันระหว่างชนชาวอินเดียผิวดำเจ้าของถิ่นฐานบ้านเมืองดั้งเดิมเรียกกันว่า
ทราวิต หรือ มิลักขะ
กับชนชาวอารยันผิวขาวรูปร่างสูงใหญ่แบบฝรั่งผู้บุกรุกมาจากทะเลสาบแคสเปียน
ในประเทศอิหร่าน ต่อมาได้กลายเป็นมหากาพย์บันลือโลกของอินเดียเรื่อง รามายณะ หรือ
รามเกียรติ์ ซึ่งบรรดาราชวงศ์กษัตริย์ทั้งหลายในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ต่างอ้างว่าปฐมราชวงศ์ของพระองค์สืบเชื้อสายมาจาก พระราม
กล่าวกันว่าชนชาวอินเดียพื้นเมืองผิวดำที่เรียกกันว่า ทราวิต หรือ
มิลักขะ สร้างสรรค์อารยธรรมอันรุ่งเรืองขึ้นในแผ่นดินชมพูทวีปมาหลายพันปี
ก่อนที่ชนชาวอารยันขาวยุคแรกจะบุกรุกเข้าไปแย่งชิงดินแดน
ชาวอินเดียผิดดำเคยมีความคิดความเชื่อในทางศาสนาเกี่ยวกับการเคารพบูชาธาตุในธรรมชาติ
คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ
นับถือว่าเป็นเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์มีอำนาจยิ่งใหญ่ในการสร้างสรรค์สรรพสิ่งขึ้นมาในโลก
ทวยเทพดังกล่าวสถิตอยู่ในวิมานบนสวรรค์และเหนือภูเขาหิมาลัยที่สูงเสียดฟ้า
จึงมีความคิดในการสร้างสรรค์เกี่ยวกับการนับถือบูชาระบบธาตุอยู่ก่อนแล้ว
ต่อมาชาวอารยันผิวขาวรูปร่างสูงใหญ่แบบฝรั่งจากประเทศอิหร่าน
ซึ่งมีความเจริญทางวัฒนธรรมและอารยธรรมสูงมีความคิดทางศาสนานับถือบูชา พระอาทิตย์
หรือ เทพสาวิตรี
ผู้ศักดิ์สิทธิมีอำนาจยิ่งใหญ่เหนือกว่าทวยเทพทั้งหลายทั้งปวงสถิตอยู่เหนือยอดภูเขามิตตระ
ผู้ทรงประทานแสงสว่างและความอบอุ่นให้แก่โลก สร้างสรรค์โลก
จึงสร้างเทวสถานขึ้นเพื่อกราบไหว้นับถือบูชา พระอาทิตย์ หรือ ไฟในสวรรค์
กล่าวกันว่าชนชาติอิหร่านในอดีตมีความรู้ในการใช้ไฟที่มีความร้อนสูงมาก
หลอมละลายแร่เหล็กและไล่เอากากออกไปได้
แล้วนำเอาเหล็กบริสุทธิ์มาประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้ที่แข็งแรงทนทานดียิ่งกว่าโลหะชนิดใด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถนำมาผลิตเป็นอาวุธภัณฑ์นานาประการ และสร้างสรรค์
ผานไถเหล็ก สำหรับใช้ในการทำไร่ไถนาในยุคเกษตรกรรมเริ่มแรก
พัฒนาการบ้านเมืองจนมีความเจริญรุ่งเรือง กลายเป็นชาติมหาอำนาจเหนือกว่า อียิปต์
แห่งลุ่มแม่น้ำไลน์ และ อัสซีเรีย ในลุ่มแม่น้ำยูเปรดิสไตกริส หรือ ประเทศอีรัค
ในปัจจุบันคำว่า อารยัน ซึ่งเป็นรากฐานที่มาของคำว่า อารยะ ซึ่งแปลว่า
ความเจริญ แท้จริงแล้วมาจากมีนัยความหมายของคำว่า ผานไถเหล็ก
ที่เกิดขึ้นในประเทศอิหร่านเป็นครั้งแรกในโลก
การสู้รบระหว่างชนพื้นเมืองผิวดำผู้เป็นเจ้าถิ่น
กับชาวอารยันผิวขาวผู้บุกรุก
ดังปรากฏเรื่องราวเค้าเงื่อนปรากฏอยู่ในตำนานปรัมปราเรื่อง เทวอสุราสงคราม
หากหลักฐานในการค้นพบการใช้ความร้อนสูงในการหลอมละลายธาตุเหล็กจนสามารถพัฒนาเป็นอาวุธยุทธภัณฑ์ใช้ในการทำสงครามสมัยนั้นเป็นความจริงแล้ว
ผลการสู้รบย่อมคาดหมายได้ว่าชนชาวอารยันย่อมเผด็จศึกชนชาวพื้นเมืองลงได้อย่างราบคาบ
ชนชาวอินเดียผิวดำคงอพยพหลบหนี้ลี้ภัยลงไปทางภาคใต้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปจนถึงเกาะลังกา
ชนชาวอารยันผิวขาวจึงตั้งหลักแหล่งมั่นคงอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำยมุนา แม่น้ำคงคา
ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย คือบริเวณเมืองอินทรปัสถ์ หรือ เมืองเดลฮี
ในสมัยปัจจุบัน
ผู้นำของชนเผ่าชาวอารยันได้ยึดครองผืนแผ่นดินทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียสร้างอาณาจักรขึ้นมาปกครอง
ดังปรากฏอยู่ในเรื่องราวมหากาพย์ภารตะเกี่ยวกับการสืบสายฝ่าย สุริยวงศ์ หรือ
ราชวงศ์พระอาทิตย์(Sun Dynasty) ในเรื่อง รามายณะ หรือในวรรณคดีไทยเรียกว่า
รามเกียรติ์ และเรื่องราวเกี่ยวกับสืบราชวงศ์ฝ่าย จันทรา หรือ
ราชวงศ์พระจันทร์(Moon Dynasty) ในมหากาพย์เรื่อง มหาภารตะยุทธ
ซึ่งเนื้อหาสารของหมากาพย์ดังกล่าวล้วนแต่เป็นการสดุดีวีรกรรมของนักรบในวรรณะกษัตริย์
ผู้ทำหน้าที่ปกป้องเผ่าพันธุ์และรักษาบ้านเมืองดุจดังพระนารายณ์ผู้สร้างโลกและควบคุมสรรพสิ่งในโลกให้เป็นไปตามความประสงค์ของพระองค์
แต่เมื่อใดเกิดยุคเข็ญก็จะอวตารลงมาช่วยระงับความเดือนร้อนโลกมนุษย์
ความคิดและความเชื่อดังกล่าวได้กลายเป็นรากฐานเกี่ยวกับหลักปรัชญาและคำสอนทางศาสนาของชาวอารยัน
เมื่อผสมผสานเข้ามาผสมผสานเข้ากับความคิดความเชื่อทางศาสนาของชนชาวพื้นเมืองผิวดำ
จึงเกิดเทพเจ้าผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่และมีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมามาย
การค้นหาแก่นความรู้อันลี้ลับที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในธรรมชาติ จนกระทั่งค้นพบ
ความจริงสูงสุด หรือ ปรมัตถ์สัจ
นำไปสู่ความขัดแย้งยุ่งยากทางศาสนาชนชั้นปกครองของภารตะในยุคดึกดำบรรพ์จึงพยายามประนีประนอมหล่อหลอมความคิดความเชื่อทางปรัชญาและศาสนาโดยศึกษาค้นหาความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติในโลกและในจักรวาล
จนกระทั่งค้นพบความจริงความลับที่ล้ำลึกของ ความจริงสูงสุด หรือ ปรมัตถ์สัจ
ทั้งในระดับ ตรีกาย คือ ระดับกายวัตถุ (Physical) ระดับจิตวิญญาณ (Psychical)
และ ระดับจักรวาล (Cosmic) ที่เชื่อมโยงต่อเนื่องถึงกันทั้ง 3 ด้วยไฟในสวรรค์
ความจริงสูงสุดของ ตรีกาย (Trilokayam)
อันเป็นหลักอภิปรัชญาสูงสุดที่ศึกษาค้นคว้ากันมาก่อน ยุคพระเวท เมื่อราว 3000
ปีก่อน ก็คือ การค้นพบภาพลักษณ์ของสิ่งที่ทรงอำนาจสูงสุดของ องค์พรหม (Brahman)
ที่แทรกซึมแพร่กระจายเป็นส่วนของสรรพสิ่งทั้งปวงในจิตวิญญาณของมนุษย์ที่เรียกว่า
อัตมัน (Atman) ซึ่งไม่มีตัวตนเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
ไม่มีหนทางใดที่จะรู้ความจริงแท้ที่อยู่เบื้องหลังได้ ทำได้เพียงหนทางเดียวก็คือ
การบำเพ็ญภาวนาให้ดวงจิตบังเกิดสมาธิ (Jana) ด้วยพลังแห่ง ปราณ (Prana) เท่านั้น
ที่จะบันดาลให้เกิดความรู้แจ้งถึงปรากฏการณ์ของภาพมายา
ซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นความจริงในโลก ก็คือ ธรรมปัญญา (Wisdom)
อันเป็นต้นตอของหลักศาสนาทั้งหลายของอินเดีย
ความรู้ถึงแก่นสารอันล้ำลึกดังกล่าวนี้รวบรวมอยู่ใน
พระคัมภีร์พระเวทอันศักดิ์สิทธิ์
ซึ่งเป็นศาสตร์เก่าแก่อันมีชื่อเสียงของโลกตะวันออก
และเป็นบ่อเกิดของอารยธรรมที่รุ่งเรืองของอินเดีย พัฒนาการ
เป็นอภิปรัชญาของศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ ศาสนาเชน ศาสนาอินดู ในสมัยต่อมา