ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ
พระราชบัญญัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2522
หน้า 3
หมวด 3
ปริญญา ครุยประจำตำแหน่ง ครุยวิทยฐานะ และเครื่องหมายวิทยฐานะ
__________
มาตรา 40 มหาวิทยาลัยมีอำนาจให้ปริญญาในสาขาวิชาที่มี การสอนในมหาวิทยาลัย การกำหนดให้สาขาวิชาใดมีปริญญาชั้นใด และจะใช้อักษรย่อ สำหรับสาขาวิชานั้นอย่างไร ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
มาตรา 41 สภามหาวิทยาลัยอาจออกข้อบังคับให้ผู้สำเร็จ ปริญญาบัณฑิตได้รับปริญญาเกียรตินิยมก็ได้ มาตรา 42 สภามหาวิทยาลัยอาจออกข้อบังคับกำหนดให้มี ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรได้ดังนี้
(1) ประกาศนียบัตรบัณฑิต ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขา วิชาใดวิชาหนึ่ง
ภายหลังที่ได้รับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งแล้ว
(2) อนุปริญญา ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาใด
วิชาหนึ่งที่ยังไม่ถึงขั้นปริญญา
(3) ประกาศนียบัตร ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาเฉพาะวิชา
มาตรา 43 มหาวิทยาลัยมีอำนาจให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่บุคคลซึ่ง มหาวิทยาลัยเห็นว่าทรงคุณวุฒิและสมควรแก่ปริญญานั้น แต่จะให้ปริญญา ดังกล่าวแก่คณาจารย์ประจำหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยซึ่งดำรงตำแหน่ง อยู่ในวาระนั้นไม่ได้ ชั้นของปริญญาและหลักเกณฑ์การให้ปริญญากิตติมศักดิ์ ให้กำหนด เป็นข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
มาตรา 44 มหาวิทยาลัยอาจกำหนดให้มีครุยประจำตำแหน่ง กรรมการสภามหาวิทยาลัย ครุยประจำตำแหน่งคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย และอาจกำหนดให้มีครุยวิทยฐานะ หรือเข็มวิทยฐานะเป็นเครื่องหมายแสดง วิทยฐานะของผู้ได้รับปริญญาประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญาและ ประกาศนียบัตรก็ได้ การกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และส่วนประกอบของครุย ประจำตำแหน่ง ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ครุยประจำตำแหน่ง ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะ จะใช้ใน โอกาสใดโดยมีเงื่อนไขอย่างไร ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
มาตรา 45 สภามหาวิทยาลัยอาจออกข้อบังคับเกี่ยวกับเครื่องแบบ เครื่องหมาย หรือเครื่องแต่งกายนิสิตได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
หมวด 4
บทกำหนดโทษ
_______
มาตรา 46 ผู้ใดใช้ครุยประจำตำแหน่ง ครุยวิทยฐานะ เข็ม วิทยฐานะ เครื่องแบบ เครื่องหมาย หรือเครื่องแต่งกายนิสิตของมหาวิทยาลัย โดยไม่มีสิทธิที่จะใช้ หรือแสดงด้วยประการใด ๆ ว่าตนมีตำแหน่ง ปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรของมหาวิทยาลัย โดยที่ ตนไม่มี ถ้าได้กระทำเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิที่จะใช้หรือมีตำแหน่ง หรือวิทยฐานะเช่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับ ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
บทเฉพาะกาล
_______
มาตรา 48 ให้ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีและรองอธิการบดีอยู่ ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาคงดำรงตำแหน่งต่อไป สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีถ้าดำรงตำแหน่งยังไม่ครบสองปีนับแต่วันที่ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบสองปี ให้ผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา ซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบสี่ปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งคง ดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบสี่ปี ให้ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิชาอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นหัวหน้าภาควิชาตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าผู้นั้นดำรงตำแหน่งยังไม่ครบสี่ปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง ให้คงดำรงตำแหน่ง ต่อไปจนครบสี่ปี ถ้าดำรงตำแหน่งครบสี่ปีแล้ว ให้ผู้นั้นรักษาการในตำแหน่ง ต่อไปจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งหัวหน้าภาควิชาตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้อง ไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบสี่ปีนับแต่วันที่ได้รับ แต่งตั้ง คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบสี่ปี ถ้าดำรงตำแหน่งครบสี่ปีแล้ว ให้ผู้นั้นรักษาการในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการ สถาบันตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราช บัญญัตินี้ใช้บังคับ การดำรงตำแหน่งของอธิการบดี คณบดี หัวหน้าแผนกวิชา และ ผู้อำนวยการสถาบันตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มิให้ ถือว่าเป็นการดำรงตำแหน่งในวาระตามมาตรา 20 มาตรา 23 มาตรา 24 หรือมาตรา 30 แล้วแต่กรณี
มาตรา 49 ให้ผู้ดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการในคณะ กรรมการประจำคณะอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา รักษาการในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งและเลือกตั้งประธานและ กรรมการในคณะกรรมการดังกล่าวตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกิน หนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา 50 ให้ดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการในคณะกรรมการ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัยและพระราชกฤษฎีกาว่าด้วย การจัดตั้งสถาบันอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คงดำรง ตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ
มาตรา 51 ให้ผู้เป็นศาสตราจารย์ประจำ ศาสตราจารย์พิเศษ ศาสตราจารย์อุปการคุณ รองศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และอาจารย์ ประจำของมหาวิทยาลัยอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีฐานะเป็นศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์พิเศษ ศาสตราจารย์อุปการคุณ รองศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และอาจารย์ประจำต่อไป และให้ เป็นคณาจารย์ตามตำแหน่งวิชาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 52 ในระหว่างที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกา หรือประกาศ ทบวงมหาวิทยาลัยหรือข้อบังคับ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นำ พระราชกฤษฎีกา ระเบียบและข้อบังคับที่ใช้อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศ ในราชกิจจานุเบกษามาใช้บังคับโดยอนุโลม
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ส. โหตระกิตย์
รองนายกรัฐมนตรี
____________
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2486 ได้ใช้บังคับ มากกว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งระหว่างนั้นได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอีก รวม 6 ครั้ง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปริมาณงานของมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น ได้ ขยายงานด้านการผลิตบัณฑิตเพิ่มขึ้นหลายสาขา ขยายงานด้านการสอน จนถึงชั้นปริญญาเอก และขยายงานการค้นคว้าและบริการทางวิชาการ แก่ชุมชนตามความต้องการในการพัฒนาประเทศเป็นอันมาก ทำให้มี ความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงโครงสร้างและระบบงานภายในมหาวิทยาลัย เพื่อให้การบริหารการศึกษามีความคล่องตัวและเหมาะสมกับสภาพการณ์ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
« ย้อนกลับ |