ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539

หน้า 2

หมวด 1
การจัดตั้งกองทุน และลักษณะของกิจการกองทุน
________

มาตรา 5 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งเรียกว่า "กองทุนบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการ" เรียกโดยย่อว่า "กบข."

ให้กองทุนเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(1) เพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทน การรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ
(2) เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก
(3) เพื่อจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิก

มาตรา 6 กองทุนประกอบด้วยทรัพย์สินดังต่อไปนี้

(1) เงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม และเงินชดเชย
(2) เงินที่ได้รับจัดสรรตามมาตรา 72
(3) ทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้
(4) เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความจำเป็นเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ ของกองทุน
(5) รายได้อื่น
(6) ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน

มาตรา 7 กิจการของกองทุนไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครอง แรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม

มาตรา 8 ให้กองทุนมีสำนักงานใหญ่ ณ สถานที่ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ในราชกิจจานุเบกษาและจะตั้งสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ที่อื่นใด ตามความจำเป็นก็ได้

มาตรา 9 ให้กองทุนมีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ ตามมาตรา 5 และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง

(1) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ
(2) ก่อตั้งสิทธิหรือกระทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งในและนอกราชอาณาจักร
(3) ให้สมาชิกกู้ยืมเงิน
(4) ลงทุนหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของกองทุน
(5) กระทำการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องในการจัดให้สำเร็จตาม วัตถุประสงค์ของกองทุน มาตรา 10 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน ให้จ่ายจากเงินของกองทุน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 11 กองทุนไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วย วิธีการงบประมาณและรายได้ของกองทุนไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

หมวด 2
การควบคุมและการบริหาร
________

มาตรา 12 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการกองทุนบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ" ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจ การคลัง อธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ผู้แทนสมาชิกซึ่งเป็นข้าราชการตาม มาตรา 3 ประเภทละหนึ่งคนซึ่งได้รับเลือกตามมาตรา 13 และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสามคนซึ่งได้รับ เลือกตามมาตรา 14 เป็นกรรมการ

ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการอาจแต่งตั้งพนักงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการได้ไม่เกินสองคน

มาตรา 13 การเลือกกรรมการผู้แทนสมาชิกตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง ให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

มาตรา 14 ให้ประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้แทน สมาชิกประชุมร่วมกัน เพื่อเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

มาตรา 15 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(1) ไม่เป็นบุคคลซึ่งทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐอื่นไล่ออก ปลดออก ให้ออก หรือเลิกจ้างเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่าทุจริตต่อหน้าที่
(2) ไม่เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง

มาตรา 16 ให้กรรมการผู้แทนสมาชิกมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้

มาตรา 17 ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี แต่จะเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเกินสองวาระติดต่อกันมิได้

มาตรา 18 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้แทนสมาชิก หรือ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) เป็นบุคคลล้มละลาย
(4) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(5) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษ สำหรับ ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(6) พ้นจากการเป็นสมาชิกหรือพ้นจากการเป็นข้าราชการประเภทที่ตนได้รับเลือก เป็นผู้แทนในกรณีกรรมการผู้แทนสมาชิก
(7) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 15 ในกรณีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

มาตรา 19 ในกรณีที่กรรมการผู้แทนสมาชิกหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจาก ตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการเลือกกรรมการขึ้นใหม่ภายในหกสิบวัน ในระหว่างที่ยังมิได้มีการ เลือกกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงาน ต่อไป จนกว่ากรรมการที่ได้รับเลือกใหม่เข้ารับหน้าที่

มาตรา 20 ในกรณีที่กรรมการผู้แทนสมาชิกผู้ใดพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนถัดไปซึ่งขึ้นบัญชีไว้ในการเลือกผู้แทนสมาชิกของข้าราชการประเภทนั้นเป็น กรรมการแทน ในกรณีที่ไม่มีผู้ขึ้นบัญชีไว้ ให้ดำเนินการเลือกกรรมการผู้แทนสมาชิกประเภทนั้น ขึ้นใหม่ตามวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้ดำเนินการเลือก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นแทนตามมาตรา 14

ให้กรรมการผู้ได้รับการแต่งตั้งหรือเลือกให้ดำรงตำแหน่งแทนตามวรรคหนึ่ง และวรรคสองอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
ในกรณีที่วาระการดำรงตำแหน่งเหลืออยู่ไม่ถึงสามสิบวัน จะไม่แต่งตั้งหรือ เลือกกรรมการขึ้นดำรงตำแหน่งแทนก็ได้

มาตรา 21 ให้ประธานกรรมการและกรรมการตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง แต่งตั้ง เลขาธิการจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(1) มีสัญชาติไทย
(2) มีอายุไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์
(3) สามารถปฏิบัติงานให้แก่กองทุนได้เต็มเวลา
(4) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับ ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
(5) ไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
(6) ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของกระทรวง ทบวง กรม ราชการ ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
(7) ไม่เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกรรมการหรือที่ปรึกษา หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง
(8) ไม่เป็นกรรมการผู้จัดการหรือผู้จัดการหรือดำรงตำแหน่งอื่นใด ที่มีลักษณะ งานคล้ายคลึงกันนั้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
(9) ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับกองทุน หรือในกิจการที่กระทำให้แก่ กองทุน ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม เว้นแต่เป็นผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายให้เป็นกรรมการใน บริษัทที่กองทุนเป็นผู้ถือหุ้น

มาตรา 22 การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการกำหนดเงื่อนไข ในการทดลองปฏิบัติงานหรือการทำงานในหน้าที่เลขาธิการ ให้เป็นไปตามสัญญาจ้างที่ คณะกรรมการกำหนด โดยให้มีอายุการจ้างคราวละไม่เกินสี่ปี และเมื่อครบกำหนดอายุสัญญาจ้าง แล้วคณะกรรมการจะต่ออายุสัญญาจ้างอีกก็ได้

การทำสัญญาจ้างเลขาธิการ ให้ประธานกรรมการเป็นผู้มีอำนาจทำสัญญาในนาม ของกองทุน ให้เลขาธิการได้รับเงินค่าจ้าง ค่าตอบแทน และเงินอื่นตามที่คณะกรรมการ กำหนด

มาตรา 23 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามอายุการจ้างเลขาธิการพ้นจาก ตำแหน่งเมื่อ

(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 21
(4) คณะกรรมการมีมติเห็นสมควรให้เลิกจ้าง

มาตรา 24 ให้เลขาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างและรับผิดชอบ ในการบริหารกิจการของกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนและตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และนโยบายที่คณะกรรมการกำหนด

เลขาธิการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการบริหารกิจการของกองทุน

มาตรา 25 ในกิจการของกองทุนที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกให้เลขาธิการเป็นผู้แทน ของกองทุน การปฏิบัติงานของเลขาธิการและการมอบอำนาจให้ผู้อื่นปฏิบัติงานแทนเลขาธิการให้ เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

นิติกรรมที่กระทำโดยฝ่าฝืนข้อบังคับตามวรรคหนึ่งย่อมไม่ผูกพันกองทุน เว้นแต่ คณะกรรมการจะให้สัตยาบัน

มาตรา 26 ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) กำหนดนโยบาย และออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งในการบริหาร กิจการของกองทุน
(2) กำหนดนโยบายการลงทุนของกองทุนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดใน กฎกระทรวง
(3) กำกับดูแลการจัดการกองทุน
(4) ออกข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติงานของเลขาธิการ และการมอบอำนาจให้ผู้อื่น ปฏิบัติงานแทนเลขาธิการ
(5) กำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสำนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวกับ กิจการของกองทุน
(6) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการรับ เก็บรักษา และจ่ายเงินของกองทุน
(7) ออกระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลการบรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน และวินัยของพนักงานและลูกจ้าง ตลอดจนการกำหนดเงินเดือนและเงินอื่น รวมถึงการสงเคราะห์และสวัสดิการ
(8) พิจารณามอบหมายให้สถาบันการเงินจัดการเงินของกองทุน
(9) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
(10) แต่งตั้งผู้แทนเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนน ในการประชุมผู้ถือหุ้น ของบริษัทหรือหน่วยงานอื่นใดที่กองทุนถือหุ้นอยู่
(11) ปฏิบัติงานอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนตามที่กำหนด ในพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 27 การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า กึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

ในการประชุมของคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจ ปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่ง ให้มีเสียง หนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่ง เป็นเสียงชี้ขาด

การออกเสียงลงมติแต่งตั้งหรือเลิกจ้างเลขาธิการต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า กึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดที่อยู่ในตำแหน่ง

มาตรา 28 กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณา ห้ามมิให้เข้าร่วม พิจารณาในเรื่องนั้น

มาตรา 29 ให้กรรมการและอนุกรรมการได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่รัฐมนตรี กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

มาตรา 30 ให้มีคณะอนุกรรมการจัดการลงทุน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นประธานอนุกรรมการ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย และ ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสี่คนซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้ง เป็นอนุกรรมการ และเลขาธิการเป็นอนุกรรมการ และเลขานุการ

มาตรา 31 ให้คณะอนุกรรมการจัดการลงทุนมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) ให้คำแนะนำปรึกษาด้านการลงทุนต่อคณะกรรมการ
(2) ให้คำแนะนำปรึกษาด้านการกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกสถาบันการเงิน ที่จะมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุน
(3) ติดตามดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงินที่ได้รับมอบหมายให้จัดการเงิน ของกองทุน
(4) รายงานผลการดำเนินการด้านการลงทุนและเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการ
(5) ปฏิบัติการในเรื่องอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

มาตรา 32 ให้มีคณะอนุกรรมการสมาชิกสัมพันธ์ ประกอบด้วย เลขาธิการ ก.พ. เป็นประธานอนุกรรมการ ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ผู้แทนกรมประชาสัมพันธ์ และผู้แทนสมาชิก จำนวนห้าคน เป็นอนุกรรมการ และให้เลขาธิการเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

การเลือกผู้แทนสมาชิกตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ คณะกรรมการกำหนด มาตรา 33 ให้คณะอนุกรรมการสมาชิกสัมพันธ์มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) เป็นสื่อกลางระหว่างกองทุนกับสมาชิก ตลอดจนเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ แก่สมาชิก
(2) เผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร และรายงานความคืบหน้าของการจัดการกองทุน
(3) รับฟังความคิดเห็นและปัญหาต่าง ๆ จากสมาชิก
(4) พิจารณาเสนอแนะต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการและสิทธิ ประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิก
(5) ปฏิบัติการในเรื่องอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

มาตรา 34 ให้นำมาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 19 มาตรา 20 มาตรา 27 และมาตรา 28 มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการประชุมของ คณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

« ย้อนกลับ | หน้าถัดไป »

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย