ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติ การเดินอากาศ พ.ศ. 2497

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2497
เป็นปีที่ 9 ในรัชกาลปัจจุบัน

หน้า 2

หมวด 1
คณะกรรมการการบินพลเรือน

________

มาตรา 7 ให้มีคณะกรรมการการบินพลเรือนขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง รองประธานกรรมการหนึ่งคน และ กรรมการอื่นอีกไม่เกินเจ็ดคนแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี

มาตรา 8 รองประธานกรรมการและกรรมการอยู่ในตำแหน่งสี่ปี รองประธาน กรรมการหรือกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ จะแต่งตั้งให้เป็นรองประธานกรรมการหรือ กรรมการอีกก็ได้

มาตรา 9 รองประธานกรรมการและกรรมการย่อมพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงคราว ออกตามวาระ เมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก (3) คณะรัฐมนตรีให้ออก ถ้ามีการพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงคราวออกตามวาระ ให้มีการแต่งตั้งรองประธาน กรรมการหรือกรรมการเข้าแทนแล้วแต่กรณี ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเข้าแทนนี้ย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียง เท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน

มาตรา 10 เมื่อประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ให้รองประธานกรรมการ ทำหน้าที่แทน

มาตรา 11 ในการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน ต้องมีกรรมการ มาประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม

มาตรา 12 การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษาให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้ามีจำนวนเสียงลงคะแนนเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา 13 ให้คณะกรรมการการบินพลเรือนมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อ กระทำกิจการ หรือพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงใด ๆ อันอยู่ในขอบเขตแห่งอำนาจและหน้าที่ ของคณะกรรมการการบินพลเรือน ในการประชุมอนุกรรมการ ให้นำมาตรา 11 และมาตรา 12 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 14 ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการย่อมได้รับ ประโยชน์ตอบแทนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

มาตรา 15 ให้คณะกรรมการการบินพลเรือนมีอำนาจและหน้าที่ตามที่ระบุไว้ใน พระราชบัญญัตินี้ และในเรื่องต่อไปนี้ (1) รับปรึกษาและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบินพลเรือนแก่รัฐมนตรี (2) ออกข้อบังคับตามพระราชบัญญัตินี้และภาคผนวกแห่งอนุสัญญา ข้อบังคับนี้เมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ (3) พิจารณาอนุมัติพิกัดอัตราค่าโดยสาร ค่าระวางของอากาศยานขนส่ง และ ค่าบริการอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

หมวด 2
บททั่วไปว่าด้วยอากาศยาน
________

มาตรา 16 ห้ามมิให้ผู้ใดนำอากาศยานทำการบิน เว้นแต่มีสิ่งเหล่านี้อยู่กับ อากาศยานนั้น คือ (1) ใบสำคัญการจดทะเบียน (2) เครื่องหมายสัญชาติและทะเบียน (3) ใบสำคัญสมควรเดินอากาศ (4) สมุดปูมเดินทาง (5) ใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่แต่ละคน (6) ใบอนุญาตเครื่องวิทยุสื่อสาร ถ้ามีเครื่องวิทยุสื่อสาร ความในมาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่ (1) อากาศยานที่ทำการบินทดลองภายใต้เงื่อนไขซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด (2) อากาศยานทหารต่างประเทศ

มาตรา 17 ห้ามมิให้อากาศยานใช้ที่หนึ่งที่ใดเป็นที่ขึ้นลงนอกจากสนามบิน อนุญาต หรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยานที่ได้รับอนุญาตหรือที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

มาตรา 18 อากาศยานต้องบินตามเส้นทางบินที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 19 อากาศยานต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน

มาตรา 20 อากาศยานขนส่งต้องเก็บค่าโดยสารและค่าระวางตามพิกัดอัตรา ที่คณะกรรมการการบินพลเรือนอนุมัติ

มาตรา 21* ผู้จดทะเบียนอากาศยาน ผู้ดำเนินการเดินอากาศ ผู้ประจำหน้าที่ และ บุคคลอื่นในอากาศยานต้องปฏิบัติการเพื่อความปลอดภัยตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบิน พลเรือน *[มาตรา 21 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2502]

มาตรา 22 ห้ามมิให้อากาศยานบินเข้าหรือบินผ่านเขตห้ามหรือเขตกำกัดการบิน ซึ่งรัฐมนตรีได้ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 23 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องถ่ายภาพในอากาศยานหรือจากอากาศยาน ไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา 24 ห้ามมิให้ผู้ใดบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินหรือทิ้งร่ม อากาศ นอกจากได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด

มาตรา 25 ห้ามมิให้ผู้ใดส่งหรือพายุทธภัณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุม ยุทธภัณฑ์ไปกับอากาศยาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี และปฏิบัติตาม เงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด

มาตรา 26 ห้ามมิให้ผู้ใดส่งหรือพาวัตถุอันตรายหรือสัตว์ ซึ่งอาจเป็นอันตราย ต่อความปลอดภัยของอากาศยานหรือบุคคลในอากาศยานตามที่กำหนดในกฎกระทรวงไปกับ อากาศยาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด

มาตรา 27 ห้ามมิให้อากาศยานนอกจากอากาศยานต่างประเทศบินออกนอก ราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา 28 ห้ามมิให้อากาศยานต่างประเทศบินผ่านหรือขึ้นลงในราชอาณาจักร เว้นแต่จะมีสิทธิตามอนุสัญญา หรือความตกลงระหว่างประเทศ หรือได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจาก รัฐมนตรี

มาตรา 29 ห้ามมิให้อากาศยานทหารต่างประเทศบินผ่านหรือขึ้นลงใน ราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี

มาตรา 29 ทวิ* ห้ามมิให้ผู้ใดใช้อากาศยานส่วนบุคคลในการเดินอากาศ เว้นแต่ จะได้รับใบอนุญาตใช้อากาศยานส่วนบุคคลจากรัฐมนตรี ผู้ได้รับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้แนบท้าย ใบอนุญาต หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต คุณสมบัติและลักษณะของ ผู้ขออนุญาต อายุใบอนุญาตใช้อากาศยานส่วนบุคคล การพักใช้และการเพิกถอนใบอนุญาตใช้ อากาศยานส่วนบุคคล แบบใบอนุญาตใช้อากาศยานส่วนบุคคล และเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต ใช้อากาศยานส่วนบุคคล ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง *[มาตรา 29 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2534]

มาตรา 29 ตรี* ความในมาตรา 29 ทวิ วรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับแก่อากาศยาน ขนส่งที่ใช้ในการขนส่งของหรือคนโดยสารอันมิใช่เพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าเป็นครั้งคราว และ ได้แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบแล้ว *[มาตรา 29 ตรี เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2534]

มาตรา 29 จัตวา* ใบอนุญาตใช้อากาศยานส่วนบุคคลที่รัฐมนตรีออกให้สำหรับ อากาศยานส่วนบุคคลลำใด ให้ใช้ได้เฉพาะอากาศยานส่วนบุคคลลำนั้น *[มาตรา 29 จัตวา เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2534] มาตรา 29 เบญจ* ห้ามมิให้ผู้ใดนำอากาศยานส่วนบุคคลทำการบิน เว้นแต่จะได้ ปฏิบัติตามมาตรา 16 และมีใบอนุญาตใช้อากาศยานส่วนบุคคลติดไปกับอากาศยานด้วย *[มาตรา 29 เบญจ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2534]

หมวด 3
การจดทะเบียนและเครื่องหมายอากาศยาน
________

มาตรา 30* ภายใต้บังคับมาตรา 31 ผู้ซึ่งขอจดทะเบียนอากาศยาน ตามความใน พระราชบัญญัตินี้ได้ ต้องเป็นเจ้าของอากาศยานที่ขอจดทะเบียนหรือถ้ามิได้เป็นเจ้าของต้องเป็น ผู้มีสิทธิครอบครองอากาศยานที่ขอจดทะเบียนและได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีให้จดทะเบียนได้ การขอจดทะเบียนและการรับจดทะเบียนอากาศยาน ให้เป็นไปตามที่กำหนด ในกฎกระทรวง *[มาตรา 30 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2502]

มาตรา 31* ผู้ซึ่งขอจดทะเบียนอากาศยานจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ก็ตามต้องมีสัญชาติไทย ถ้าเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ต้องจดทะเบียนตาม กฎหมายไทยมีสำนักงานใหญ่ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทตั้งอยู่ในราชอาณาจักร และ (1) ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดต้องมีสัญชาติไทย (2) ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดซึ่งต้องรับผิดร่วมกัน โดยไม่จำกัดจำนวนต้องมีสัญชาติไทย และทุนของห้างหุ้นส่วนนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ต้องเป็น ของบุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย (3) ในกรณีที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด บริษัทนั้นต้องไม่มีหุ้นชนิด ออกให้แก่ผู้ถือ กรรมการส่วนมากต้องมีสัญชาติไทย และหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของหุ้นทั้งหมด ต้องเป็นของบุคคลในประเภทต่อไปนี้แต่ละประเภทโดยลำพังหรือหลายประเภทรวมกัน

(ก) บุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย (ข) กระทรวง ทบวง กรมในรัฐบาล (ค) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งกระทรวง ทบวง กรม ในรัฐบาล ถือหุ้นอยู่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของหุ้นทั้งหมด ถ้าเป็นสมาคม ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทย มีสำนักงานใหญ่ของสมาคม ตั้งอยู่ในราชอาณาจักร และข้อบังคับของสมาคมนั้นได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการการบินพลเรือนแล้ว

*[มาตรา 31 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2542]

มาตรา 32* ใบสำคัญการจดทะเบียนอากาศยานเป็นอันใช้ไม่ได้ เมื่อ (1) มีการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ของอากาศยานนั้นในกรณีที่เจ้าของเป็นผู้ จดทะเบียน หรือมีการเปลี่ยนแปลงสิทธิครอบครองอากาศยานนั้นในกรณีที่ผู้มีสิทธิครอบครอง เป็นผู้จดทะเบียน (2) ผู้จดทะเบียนอากาศยานนั้นขาดคุณสมบัติตามมาตรา 31 (3) ปรากฏว่าการเป็นเจ้าของหรือการเป็นผู้มีสิทธิครอบครองของผู้จดทะเบียน อากาศยานนั้นไม่เป็นไปตามที่แสดงไว้ในการจดทะเบียนว่ามีสิทธิเช่นนั้นในรายการขอจดทะเบียน (4) อากาศยานนั้นได้รับความเสียหายมากจนไม่เหมาะสมที่จะใช้การต่อไปได้ (5) ใบสำคัญสมควรเดินอากาศของอากาศยานนั้นสิ้นอายุเกินกว่าหกเดือนแล้ว (6) อากาศยานนั้นได้สูญหายไปเป็นเวลาเกินกว่าสามเดือนแล้ว ในกรณี (1) ถึง (5) ให้ผู้จดทะเบียนอากาศยานนั้นส่งคืนใบสำคัญการจดทะเบียน แก่พนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่ชักช้า *[มาตรา 32 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2502]

มาตรา 33 เครื่องหมายอากาศยานให้เป็นไปตามข้อบังคับของคณะกรรมการ การบินพลเรือน

« ย้อนกลับ | หน้าถัดไป »

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย