ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ
พระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2522
เป็นปีที่ 34 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราช โองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการขนส่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดย คำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติการขนส่ง ทางบก พ.ศ. 2522
มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อย แปดสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป *[รก.2522/38/1พ/21 มีนาคม 2522]
มาตรา 3 ให้ยกเลิก (1) พระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 (2) พระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2510 (3) พระราชบัญญัติการขนส่ง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2518 บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้ว ในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้ พระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
(1) การขนส่ง หมายความว่า การขนคน สัตว์ หรือสิ่งของ โดยทางบกด้วยรถ
(2) การขนส่งประจำทาง หมายความว่า การขนส่งเพื่อสินจ้าง ตามเส้นทางที่คณะกรรมการกำหนด
(3) การขนส่งไม่ประจำทาง หมายความว่า การขนส่งเพื่อ สินจ้างโดยไม่จำกัดเส้นทาง
(4)*การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก หมายความว่า การขนส่งคน หรือสิ่งของหรือคนและสิ่งของรวมกันเพื่อสินจ้างตามเส้นทางที่คณะกรรมการ กำหนดด้วยรถที่มีน้ำหนักรถและน้ำหนักบรรทุกรวมกันไม่เกินสี่พันกิโลกรัม
(5)*การขนส่งส่วนบุคคล หมายความว่า การขนส่งเพื่อการค้า หรือธุรกิจของตนเองด้วยรถที่มีน้ำหนักเกินกว่าหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม
(6) การขนส่งระหว่างจังหวัด หมายความว่า การขนส่ง ประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งส่วนบุคคลซึ่งกระทำ ระหว่างจังหวัดกับจังหวัด
(7) การขนส่งระหว่างประเทศ หมายความว่า การขนส่ง ประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งส่วนบุคคลซึ่งกระทำ ระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ
(8) การรับจัดการขนส่ง หมายความว่า การรับจ้างรวบรวมคน สัตว์หรือสิ่งของ และจัดให้บุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ทำการขนส่งจากที่แห่งหนึ่งไปยังที่อีกแห่งหนึ่งในความรับผิดชอบของผู้รับจัดการ ขนส่ง
(9) รถ หมายความว่า ยานพาหนะทุกชนิดที่ใช้ในการขนส่ง ทางบก ซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น และ หมายความรวมตลอดถึงรถพ่วงของรถนั้นด้วย ทั้งนี้ เว้นแต่รถไฟ
(10) ผู้ตรวจการ หมายความว่า ข้าราชการสังกัดกรมการขนส่ง ทางบก ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้มีหน้าที่ตรวจการขนส่ง
(11) พนักงานตรวจสภาพ หมายความว่า ข้าราชการสังกัด กรมการขนส่งทางบก ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้มีหน้าที่ตรวจความมั่นคงแข็งแรง ความสะอาด ความเรียบร้อย และความเหมาะสมของสภาพรถที่นำมาใช้ ในการขนส่ง
(12) นายทะเบียน หมายความว่า นายทะเบียนกลาง หรือ นายทะเบียนประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี
(13) คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการควบคุมการ ขนส่งทางบกกลาง หรือคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี
(14) อธิบดี หมายความว่า อธิบดีกรมการขนส่งทางบก
(15) รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราช บัญญัตินี้
*[มาตรา 4 (4) และ (5) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2523]
มาตรา 5* พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่
(1) การขนส่งโดยรถยนต์ทหารตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ทหาร
(2) การขนส่งโดย
(ก) รถยนต์รับจ้างที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์ รับจ้างระหว่างจังหวัดที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์บริการที่บรรทุก ผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคนตามกฎหมาย ว่าด้วยรถยนต์
(ข) รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบสองคน และ รถยนต์ส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัมตามกฎหมายว่าด้วย รถยนต์ ซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้าง
(ค) รถยนต์สามล้อ รถจักรยานยนต์ และรถแทร็กเตอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
(3) การขนส่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
*[มาตรา 5 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2537]
มาตรา 6 ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเป็นนายทะเบียนกลาง มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งระหว่างจังหวัด และการขนส่งระหว่างประเทศ ให้นายทะเบียนกลางเป็นนายทะเบียนประจำกรุงเทพมหานคร มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ภายในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ขนส่งจังหวัดเป็นนายทะเบียนประจำจังหวัด มีอำนาจและหน้าที่ ตามพระราชบัญญัตินี้ ภายในเขตจังหวัดของตน ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนกลางมีอำนาจ มอบหมายกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดทำแทนได้ การมอบหมายตามวรรคสี่ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 7 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจ แต่งตั้งผู้ตรวจการและพนักงานตรวจสภาพกับออกกฎกระทรวงกำหนด ค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียมและ กำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับ อำนาจหน้าที่ของแต่ละกระทรวง กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
| หน้าถัดไป »