ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290

หน้า 2

ข้อ 18 เมื่อผู้ว่าการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือเมื่อตำแหน่งผู้ว่าการ ว่างลงในระหว่างที่ยังมิได้แต่งตั้งผู้ว่าการ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่ง เป็นผู้ทำการแทนผู้ว่าการหรือรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ แล้วแต่กรณี และให้นำ ข้อ 14 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ให้ผู้ทำการแทนผู้ว่าการหรือผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการมีอำนาจ หน้าที่และความรับผิดชอบอย่างเดียวกับผู้ว่าการ เว้นแต่อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าการ ในฐานะกรรมการ

ข้อ 19 ประธานกรรมการและกรรมการย่อมได้รับประโยชน์ตอบแทน ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ข้อ 20 ประธานกรรมการ กรรมการ พนักงานและลูกจ้างได้รับโบนัส ตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ข้อ 21 ให้ประธานกรรมการ กรรมการ และพนักงานเป็นเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา

ข้อ 22* เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้าง หรือขยายทางพิเศษ ถ้ามิได้ตกลงในเรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่นให้ดำเนินการ เวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

*[ข้อ 22 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ฯ พ.ศ. 2530]

ข้อ 23* [ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ฯ พ.ศ. 2530]

ข้อ 24* [ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ฯ พ.ศ. 2530]

ข้อ 25* [ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ฯ พ.ศ. 2530]

ข้อ 26 ในกรณีที่การสร้างหรือขยายทางพิเศษผ่านแดนแห่งกรรมสิทธิ์ เหนือพ้นพื้นดินหรือใต้พื้นดินของบุคคลอื่นโดยไม่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ให้ตรา พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางพิเศษนั้น และให้ กทพ. มีอำนาจเข้าดำเนินการ ที่จำเป็นในอสังหาริมทรัพย์นั้นได้ แต่ต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้มีสิทธิก่อน เข้าดำเนินการดังกล่าว *การกำหนดและการชำระค่าเสียหายตลอดจนการเข้าดำเนินการใน อสังหาริมทรัพย์นั้น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดค่าทดแทน การอุทธรณ์ และการเข้าครอบครอง อสังหาริมทรัพย์ของเจ้าหน้าที่มาใช้บังคับโดยอนุโลม

*[ความในวรรคสองของข้อ 26 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ฯ พ.ศ. 2530]

ข้อ 27* [ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ฯ พ.ศ. 2530]

ข้อ 28 ในกรณีที่ กทพ. สร้างหรือขยายทางพิเศษตามข้อ 26 ผู้ใด จะสร้างโรงเรือนหรือสิ่งอื่นใต้ทางพิเศษที่อยู่เหนือพ้นพื้นดินหรือเหนือทางพิเศษที่อยู่ ใต้พื้นดินก็ให้กระทำได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจาก กทพ. การอนุญาตนั้น ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ กทพ. กำหนด โรงเรือนหรือสิ่งอื่นที่สร้างขึ้นโดยฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง ให้ กทพ.มีอำนาจ รื้อถอนหรือทำลายตามควรแก่กรณี โดยไม่ต้องจ่ายค่าทดแทน

ข้อ 29 ห้ามมิให้ผู้ใดสร้างโรงเรือนหรือสิ่งอื่นหรือปลูกต้นไม้หรือพืชผล อย่างใด ๆ ในทางพิเศษ หรือเพื่อเชื่อมติดต่อกับทางพิเศษ เว้นแต่ผู้ซึ่งดำเนินกิจการ อันเป็นสาธารณูปโภคซึ่งมีความจำเป็นต้องปักเสาพาดสาย หรือวางท่อเพื่อข้ามหรือ ลอดทางพิเศษ ให้ขออนุญาตและทำความตกลงกับ กทพ.เสียก่อนจึงจะกระทำการนั้นได้ และถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ในเหตุลักษณะของงานหรือในเรื่องค่าเช่า ให้เสนอ รัฐมนตรีเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด โรงเรือนหรือสิ่งอื่นที่สร้างขึ้นหรือต้นไม้หรือพืชผลที่ปลูกขึ้นโดยฝ่าฝืน วรรคหนึ่ง ให้นำข้อ 28 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ข้อ 30 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการใด ๆ ให้ทางพิเศษอยู่ในลักษณะ อันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การจราจร

ข้อ 31 ห้ามมิให้ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ ไร้ประโยชน์ซึ่งทางพิเศษ อันอาจเป็นอันตรายแก่รถหรือบุคคลซึ่งใช้ทางพิเศษ

ข้อ 32 เพื่อประโยชน์ในการสร้างหรือขยายทางพิเศษและการบำรุง รักษาการป้องกันอันตราย หรือความเสียหายที่จะเกิดแก่ทางพิเศษ ให้ กทพ.มีอำนาจ เข้าครอบครองหรือใช้เป็นการชั่วคราวซึ่งอสังหาริมทรัพย์ในความครอบครองของ บุคคลใดที่มิใช่โรงเรือนซึ่งคนอยู่อาศัย หรือประกอบธุรกิจ ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(1) การเข้าครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นการจำเป็น สำหรับการสร้างหรือขยายทางพิเศษ และการบำรุงรักษา การป้องกันอันตรายหรือ ความเสียหายที่จะเกิดแก่ทางพิเศษ

(2) ได้แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ทราบ ล่วงหน้าภายในเวลาอันสมควร

(3) หากการเข้าครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์มีความจำเป็นที่ จะต้องรื้อถอนหรือทำลายสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่มิใช่โรงเรือนซึ่งคนอยู่อาศัย ก็ให้ กทพ.มีอำนาจรื้อถอนหรือทำลายสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวหรือตัดฟันต้นไม้ได้ ทั้งนี้เท่าที่ จำเป็น ก่อนที่จะดำเนินการตาม (3) ให้ กทพ. แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของ หรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ทราบ เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้น อาจยื่นคำร้องแสดงเหตุที่ไม่สมควรทำเช่นนั้นไปยังคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยภายใน กำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็น ที่สุด ถ้ามีความเสียหายเกิดแก่เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้ทรงสิทธิอื่นใน อสังหาริมทรัพย์เนื่องจากการกระทำของพนักงานและลูกจ้าง บุคคลนั้นย่อมเรียก ค่าทดแทนจาก กทพ.ได้

ข้อ 33 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ กทพ. เพื่อการนี้จะสั่งให้ กทพ. ชี้แจงข้อเท็จจริงแสดงความคิดเห็น ทำรายงานหรือยับยั้ง การกระทำที่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี ตลอดจนมีอำนาจที่จะ สั่งให้ปฏิบัติการตามนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี และสั่งสอบสวน ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการได้

ข้อ 34 ในการที่ กทพ. จะต้องเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีตาม ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ ให้คณะกรรมการนำเรื่องเสนอรัฐมนตรีเพื่อเสนอ ต่อไปยังคณะรัฐมนตรี

ข้อ 35 ให้ กทพ. เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารตามระเบียบของ คณะกรรมการซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

ข้อ 36 กทพ. จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะ ดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ได้

(1) สร้างหรือขยายทางพิเศษ
(2) กู้ยืมเงินเกินสิบล้านบาท
(3) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน
(4) จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาเกินห้าแสนบาท
(5) จำหน่ายทรัพย์สินที่มีราคาเกินหนึ่งล้านบาทจากบัญชีเป็นสูญ

ข้อ 37 ให้ กทพ. จัดทำงบประมาณประจำปี โดยแยกเป็นงบลงทุน และงบทำการสำหรับงบลงทุนให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบ ส่วนงบทำการให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

ข้อ 38 รายได้ที่ กทพ. ได้รับจากการดำเนินกิจการให้ตกเป็นของ กทพ. รายได้ที่ได้รับในปีหนึ่ง ๆ เมื่อได้หักรายจ่ายและจัดสรรเงินสำรอง รวมทั้งค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่อันจำเป็นในการขยายกิจการหรือลงทุนเพื่อสร้างทาง ที่ได้รับอนุมัติแล้วเหลือเท่าใด ให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ ถ้ารายได้มีไม่เพียงพอสำหรับรายจ่ายนอกจากเงินสำรองและ กทพ. ไม่สามารถหาเงินจากทางอื่นได้ รัฐพึงจ่ายเงินให้แก่ กทพ. เท่าจำนวนที่ขาด

ข้อ 39 ให้ กทพ. ทำรายงานปีละครั้งเสนอรัฐมนตรี รายงานนี้ให้ กล่าวถึงผลของงานในปีที่ล่วงมาแล้ว และคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการ โครงการและแผนงานที่จะจัดทำในภายหน้า

ข้อ 40 ให้ กทพ. วางและรักษาไว้ซึ่งระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่ กิจการสาธารณูปโภคแยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญ มีการลงรายการรับและ จ่ายเงินสินทรัพย์และหนี้สินที่แสดงกิจการที่เป็นอยู่ตามจริงและตามที่ควรตามประเภท งานพร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการดังกล่าว และให้มีการสอบบัญชีภายใน เป็นประจำ

ข้อ 41 ให้ กทพ. จัดทำงบดุล บัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุน ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี

ข้อ 42 ทุกปีให้คณะกรรมการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีคนหนึ่งหรือหลายคน เพื่อสอบและรับรองบัญชีของ กทพ. เป็นปี ๆ ไป ห้ามมิให้แต่งตั้งประธานกรรมการ กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง ผู้อื่น ซึ่งเป็นผู้แทนของ กทพ. หรือผู้มีส่วนได้เสียในการงานที่ กทพ. จัดทำ เป็น ผู้สอบบัญชี

ข้อ 43 ผู้สอบบัญชีมีอำนาจตรวจสอบสรรพสมุดบัญชีและเอกสาร หลักฐานของ กทพ. เพื่อการนี้ให้มีอำนาจสอบถามประธานกรรมการ กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง และผู้อื่นซึ่งเป็นผู้แทนของ กทพ.

ข้อ 44 ให้ผู้สอบบัญชีทำรายงานผลการสอบบัญชีเสนอต่อคณะกรรมการ เพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี และให้ กทพ. โฆษณารายงานประจำปีของปีที่ ล่วงแล้ว แสดงงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน ที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่า ถูกต้องแล้วภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้อง

ข้อ 45 ให้พนักงานและลูกจ้างมีสิทธิร้องทุกข์เกี่ยวกับการลงโทษได้ ตามระเบียบหรือข้อบังคับของคณะกรรมการ

ข้อ 46 ให้ กทพ. จัดให้มีบำเหน็จบำนาญหรือกองทุนสงเคราะห์ หรือการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานใน กทพ. และครอบครัว ในกรณีพ้นจากตำแหน่ง ประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วยหรือกรณีอื่นอันควรแก่การสงเคราะห์ การจัดให้มีบำเหน็จบำนาญหรือกองทุนสงเคราะห์ตามวรรคหนึ่งหลักเกณฑ์ การจ่ายบำเหน็จบำนาญ การออกเงินสมทบในกองทุนสงเคราะห์การกำหนดประเภท ของผู้ที่พึงได้รับการสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ และหลักเกณฑ์การสงเคราะห์ ตลอดจนการจัดการเกี่ยวกับกองทุน ให้เป็นไปตามระเบียบหรือข้อบังคับของคณะกรรมการ ระเบียบหรือข้อบังคับตามวรรคสอง ให้ใช้บังคับได้เมื่อได้รับความ เห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

ข้อ 47 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนด

(1) ทางพิเศษสายใดตลอดทั้งสายหรือบางส่วนที่ต้องเสียค่าผ่าน ทางพิเศษ
(2) ประเภทของรถที่ต้องเสียหรือยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ (3) อัตราค่าผ่านทางพิเศษ

ข้อ 48 ให้พนักงานซึ่งผู้ว่าการแต่งตั้งให้มีหน้าที่เกี่ยวกับการเก็บ ค่าผ่านทางพิเศษมีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) เรียกเก็บค่าผ่านทางพิเศษตามประกาศของรัฐมนตรี
(2) สั่งให้หยุดและตรวจสอบรถที่ผ่านหรือจะผ่านทางพิเศษ เพื่อ ประโยชน์ในการเรียกเก็บค่าผ่านทางพิเศษ
(3) ออกคำสั่งให้บุคคลใด ๆ มาชี้แจงหรือแสดงหลักฐานเกี่ยวกับ การหลีกเลี่ยงไม่เสียค่าผ่านทางพิเศษตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้

ข้อ 49 บุคคลใดใช้รถบนทางพิเศษที่กำหนดให้เก็บค่าผ่านทางพิเศษ ตามข้อ 47 ต้องเสียค่าผ่านทางพิเศษตามประกาศของรัฐมนตรี

ข้อ 50* ผู้ใดขัดขวางการกระทำของ กทพ. หรือเจ้าหน้าที่เวนคืน อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกระทำการตามข้อ 26 ข้อ 28 ข้อ 29 หรือข้อ 32 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

*[ข้อ 50 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ (ฉบับที่ 290) พ.ศ. 2530]

ข้อ 51 ผู้ใดฝ่าฝืนข้อ 30 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อ 52 ผู้ใดฝ่าฝืนข้อ 31 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อ 53 ผู้ใดหลีกเลี่ยงไม่เสียค่าผ่านทางพิเศษตามประกาศของ คณะปฏิวัติฉบับนี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

ข้อ 54 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานซึ่งสั่งตามข้อ 48 (2) หรือ (3) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

ข้อ 55 ภายในระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ ใช้บังคับ รัฐมนตรีอาจสั่งให้ข้าราชการหรือพนักงานเทศบาลผู้หนึ่งผู้ใดไปปฏิบัติ งานในการทางพิเศษแห่งประเทศไทยอีกตำแหน่งหนึ่งได้ เมื่อได้รับอนุมัติจาก เจ้าสังกัด

ข้อ 56 ให้นำกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกมาใช้บังคับแก่การ จราจรในทางพิเศษโดยอนุโลม และให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวง กำหนดมาตรการเพื่อรักษาความปลอดภัยและความสะดวกในการจราจรใน ทางพิเศษนอกไปจากที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้ บังคับได้

ข้อ 57 ให้พนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับ พนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก เฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ในทางพิเศษยกเว้นอำนาจเปรียบเทียบคดี

ข้อ 58 ผู้ใดฝ่าฝืนกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในข้อ 56 ต้อง ระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

ข้อ 59 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตาม ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้

ข้อ 60* ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจาก วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

*[รก.2515/182/76/29 พฤศจิกายน 2515]

ประกาศ ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2515

จอมพล ถ. กิตติขจร
หัวหน้าคณะปฏิวัติ

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 พ.ศ. 2530

บทเฉพาะกาล
_______

มาตรา 8 พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ประกาศกระทรวงมหาดไทยกำหนดทางพิเศษที่จะสร้าง และประกาศกระทรวง มหาดไทยกำหนดทางพิเศษที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วน ซึ่งออกโดย อาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ให้คงใช้บังคับได้ตามอายุของพระราชกฤษฎีกานั้น การเวนคืนและการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการทางพิเศษแห่ง ประเทศไทยที่ได้ปฏิบัติไปแล้วก่อนวันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นอันใช้ได้ แต่การดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหา ริมทรัพย์

_________________

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ บทบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในประกาศของ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 บางอย่างไม่ เหมาะสมและซ้ำซ้อนกับบทบัญญัติในกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้ปรับปรุงใหม่แล้ว สมควรยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตรา พระราชบัญญัตินี้

[รก.2530/164/36พ/19 สิงหาคม 2530]

« ย้อนกลับ |

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย