ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290
โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า ในปัจจุบันเส้นทางคมนาคมต่าง ๆ ในประเทศยังมีไม่เพียงพอที่จะอำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจร และการขนส่งอันเป็นอุปสรรคต่อความเจริญและการพัฒนาประเทศ สมควรจัดตั้ง การทางพิเศษแห่งประเทศไทยขึ้นให้มีอำนาจหน้าที่ในการสร้างทางพิเศษเพื่อแก้ไข อุปสรรคดังกล่าวได้เร็วยิ่งขึ้น หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ ทางพิเศษ หมายความว่า ทางหรือถนนซึ่งจัดสร้างขึ้นใหม่ไม่ว่า ในระดับพื้นดิน ใต้พื้นดิน เหนือพ้นพื้นดินหรือพื้นน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกในการ จราจรเป็นพิเศษ และหมายความรวมถึงทางซึ่งใช้สำหรับรถรางเดียวหรือรถใต้ดิน สะพานอุโมงค์ เรือสำหรับขนส่งรถข้ามฟาก ท่าเรือสำหรับขึ้นลงรถ ทางเท้า ที่จอดรถ เขตทาง ไหล่ทาง เขื่อนกั้นน้ำ ท่อทางระบายน้ำ กำแพงกันดิน รั้วเขต หลักระยะ สัญญาณจราจร เครื่องหมายจราจร และอาคารหรือสิ่งอื่น อันเป็นอุปกรณ์เกี่ยวกับ งานทางพิเศษ รถ หมายความรวมถึงล้อเลื่อนด้วย คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการการทางพิเศษ แห่งประเทศไทย ผู้ว่าการ หมายความว่า ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย พนักงาน หมายความว่า พนักงานการทางพิเศษแห่งประเทศไทย รวมทั้งผู้ว่าการ ลูกจ้าง หมายความว่า ลูกจ้างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามประกาศของ คณะปฏิวัติฉบับนี้
ข้อ 2 ให้จัดตั้งหน่วยงานการทางพิเศษขึ้น เรียกว่า การทางพิเศษ แห่งประเทศไทย เรียกโดยย่อว่า กทพ. และให้เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
(1) สร้างหรือจัดให้มีด้วยวิธีการใด ๆ ตลอดจนบำรุงและรักษาทางพิเศษ
(2) จัดดำเนินการหรือควบคุมธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งโดยรถรางเดียว และรถใต้ดิน
(3) ดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับทางพิเศษ
ข้อ 3 ให้ กทพ. ตั้งสำนักงานใหญ่ในนครหลวงกรุงเทพ ธนบุรี และ จะตั้งสาขาสำนักงานขึ้น ณ ที่ใดก็ได้
ข้อ 4 ทุนของ กทพ. ประกอบด้วย (1) เงิน หรือทรัพย์สินอื่นที่ได้รับจากรัฐบาล หรือบุคคลอื่น (2) เงิน ซึ่งได้มาตามข้อ 6 (5) หรือ (6)
ข้อ 5 เงินสำรองของ กทพ. ให้ประกอบด้วยเงินสำรองเผื่อขาดและ เงินสำรองอื่นตามที่คณะกรรมการจะเห็นสมควร
ข้อ 6 เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามข้อ 2 ให้ กทพ. มีอำนาจ
(1) สร้าง ซื้อ จัดหา รับโอน จำหน่าย เช่า ให้เช่า ให้เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน ยืม ให้ยืม และดำเนินงานเกี่ยวกับเครื่องใช้บริการ และสิ่งอำนวย ความสะดวกต่าง ๆ ของ กทพ.
(2) ซื้อ จัดหา จำหน่าย เช่า ให้เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครอง หรือดำเนินงานเกี่ยวกับทรัพย์สินใด ๆ
(3) วางแผน สำรวจ ออกแบบเกี่ยวกับการสร้างหรือขยายทางพิเศษ
(4) เรียกเก็บค่าผ่านทางพิเศษ และค่าบริการในการใช้รถที่เคลื่อน โดยรางเดียวหรือรถใต้ดิน
(5) กู้ยืมเงินหรือลงทุน
(6) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน
ข้อ 7 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการการทาง พิเศษแห่งประเทศไทย ประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการ อื่นอีกไม่น้อยกว่าเจ็ดคนแต่ไม่เกินเก้าคน ทั้งนี้ไม่รวมผู้ว่าการซึ่งเป็นกรรมการ โดยตำแหน่ง ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการอื่นซึ่ง มิใช่กรรมการโดยตำแหน่ง
ข้อ 8 ผู้ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ กรรมการและผู้ว่าการ ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และมีความรู้ความจัดเจนเพียงพอเกี่ยวกับการบริหาร วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ การผังเมือง เศรษฐศาสตร์ การคลัง หรือนิติศาสตร์
ข้อ 9 ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ จะเป็นประธานกรรมการ หรือกรรมการ มิได้
(1) เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับ กทพ. หรือในกิจการที่กระทำ ให้แก่
กทพ.ไม่ว่าโดยตรงหรืออ้อม เว้นแต่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นเพื่อประโยชน์ในการลงทุน
โดยสุจริตในบริษัทจำกัดที่กระทำการอันมีส่วนได้เสียเช่นว่านั้น
(2) เป็นพนักงาน เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ
(3) เป็นบุคคลล้มละลาย
(4) เป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่
เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
ข้อ 10 ให้ประธานกรรมการ หรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ ในตำแหน่งคราวละสี่ปี แต่สำหรับกรรมการนั้น ในวาระเริ่มแรกเมื่อครบกำหนดสองปี ให้กรรมการดังกล่าวออกจากตำแหน่งกึ่งหนึ่งโดยวิธีจับสลาก ถ้าไม่อาจหาจำนวน กึ่งหนึ่งได้ ก็ให้กรรมการซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปมีจำนวนมากกว่า ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้ง อีกได้
ข้อ 11 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามข้อ 10 ประธาน กรรมการหรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก (3) คณะรัฐมนตรีให้ออก (4) ตกเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามข้อ 8 หรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 9 เมื่อประธานกรรมการหรือกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ คณะรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการแทนได้ ให้ประธาน กรรมการหรือกรรมการซึ่งได้รับการแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งตามวาระของประธาน กรรมการหรือกรรมการซึ่งตนแทน
ข้อ 12 ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแล ทั่วไป ซึ่งกิจการของ กทพ. อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง
(1) ออกระเบียบหรือข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
(2) ออกระเบียบหรือข้อบังคับการประชุม
(3) ออกระเบียบหรือข้อบังคับการดำเนินกิจการของคณะกรรมการ
(4) ออกระเบียบหรือข้อบังคับการจัดแบ่งส่วนงานหรือวิธีปฏิบัติงาน
(5) กำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน หรือค่าจ้างของพนักงานหรือลูกจ้าง
(6) ออกระเบียบหรือข้อบังคับการบรรจุ การแต่งตั้ง การเลื่อนเงินเดือน หรือค่าจ้าง การออกจากตำแหน่ง วินัย การลงโทษ และการร้องทุกข์ของพนักงาน และลูกจ้าง
(7) ออกระเบียบหรือข้อบังคับการจ่ายค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ค่าเช่าที่พัก ค่าล่วงเวลา และการจ่ายเงินอื่น
(8) ออกระเบียบหรือข้อบังคับเครื่องแบบพนักงานและลูกจ้าง
(9) ออกระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้และรักษาทรัพย์สินของ กทพ.
(10) ออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษ
(11) ออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับค่าบริการในการใช้รถรางเดียว หรือรถใต้ดิน ระเบียบหรือข้อบังคับวิธีปฏิบัติงานตาม (4) ถ้ามีข้อความจำกัดอำนาจ ของผู้ว่าการในการทำนิติกรรมไว้ประการใดให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 13 ให้มีผู้ว่าการหนึ่งคนโดยคณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้ง ให้ผู้ว่าการได้รับเงินเดือนตามที่คณะกรรมการกำหนดและพ้นจากตำแหน่ง เมื่อตาย ลาออก ตกเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามข้อ 8 หรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 14 หรือคณะกรรมการให้ออก มติให้ผู้ว่าการออกจากตำแหน่ง ต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า สามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด นอกจากผู้ว่าการ การแต่งตั้ง การกำหนดอัตราเงินเดือน หรือการให้ออกจากตำแหน่งตาม ข้อนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
ข้อ 14 ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้จะเป็นผู้ว่าการมิได้
(1) เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับ กทพ. หรือในกิจการที่กระทำให้แก่ กทพ.ไม่ว่าโดยตรงหรืออ้อม เว้นแต่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นเพื่อประโยชน์ในการลงทุน โดยสุจริตในบริษัทจำกัดที่กระทำการอันมีส่วนได้เสียเช่นว่านั้น
(2) เป็นข้าราชการประจำ
(3) เป็นผู้มีตำแหน่งการเมือง
(4) เป็นผู้ไม่อาจทำงานได้เต็มเวลาให้แก่ กทพ.
(5) เป็นบุคคลล้มละลาย
(6) เป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
ข้อ 15 ผู้ว่าการมีหน้าที่บริหารกิจการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของ กทพ. ตามนโยบาย ระเบียบ หรือข้อบังคับของคณะกรรมการ และมีอำนาจบังคับ บัญชาพนักงานและลูกจ้าง
ข้อ 16 ผู้ว่าการมีอำนาจ
(1) บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อน ลด ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทาง วินัยแก่พนักงานและลูกจ้าง ตามระเบียบหรือข้อบังคับของคณะกรรมการ แต่ถ้าเป็น พนักงานหรือลูกจ้างตั้งแต่ตำแหน่งที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการฝ่ายหรือเทียบเท่า ขึ้นไป จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ
(2) กำหนดเงื่อนไขในการทำงานของพนักงานและลูกจ้าง และออก ระเบียบวิธีปฏิบัติงานของ กทพ. โดยไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบหรือข้อบังคับของ คณะกรรมการ
ข้อ 17 ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ผู้ว่าการเป็นผู้กระทำ ในนามของ กทพ. และเป็นผู้กระทำแทน กทพ. เพื่อการนี้ ผู้ว่าการจะมอบอำนาจ ให้ตัวแทนหรือบุคคลใดกระทำกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้ต้องเป็นไปตาม ระเบียบหรือข้อบังคับของคณะกรรมการ นิติกรรมที่ผู้ว่าการกระทำโดยฝ่าฝืนระเบียบหรือข้อบังคับตามข้อ 12 วรรคสอง ย่อมไม่ผูกพัน กทพ. เว้นแต่คณะกรรมการจะให้สัตยาบัน
| หน้าถัดไป »