ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
บรรพ 3
เอกเทศสัญญา
_______
ลักษณะ 10
ฝากทรัพย์
หมวด1
บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
________
มาตรา 658 ถ้าโดยพฤติการณ์พึงคาดหมายได้ว่าเขารับฝากทรัพย์ก็เพื่อจะได้รับ บำเหน็จค่าฝากทรัพย์เท่านั้นไซร้ ท่านให้ถือว่าเป็นอันได้ตกลงกันแล้วโดยปริยายว่ามีบำเหน็จ เช่นนั้น
มาตรา 659 ถ้าการรับฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีบำเหน็จไซร้ ท่านว่า ผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการ ของตนเอง ถ้าการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความ ระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ ดั่งนั้น ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด ก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการ ค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น
มาตรา 660 ถ้าผู้ฝากมิได้อนุญาต และผู้รับฝากเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นออกใช้สอย เอง หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย หรือให้บุคคลภายนอกเก็บรักษาไซร้ ท่านว่าผู้รับฝากจะ ต้องรับผิดเมื่อทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นสูญหายหรือบุบสลายอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุ สุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่ นั่นเอง
มาตรา 661 ถ้าบุคคลภายนอกอ้างว่ามีสิทธิเหนือทรัพย์สินซึ่งฝากและยื่นฟ้อง ผู้รับฝากก็ดี หรือยึดทรัพย์สินนั้นก็ดี ผู้รับฝากต้องรีบบอกกล่าวแก่ผู้ฝากโดยพลัน
มาตรา 662 ถ้าได้กำหนดเวลากันไว้ว่าจะพึงคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเมื่อไร ท่านว่า ผู้รับฝากไม่มีสิทธิจะคืนทรัพย์สินก่อนถึงเวลากำหนด เว้นแต่ในเหตุจำเป็นอันมิอาจจะก้าวล่วงเสีย ได้
มาตรา 663 ถึงแม้ว่าคู่สัญญาจะได้กำหนดเวลาไว้ว่าจะพึงคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้น เมื่อไรก็ตาม ถ้าว่าผู้ฝากจะเรียกคืนในเวลาใด ๆ ผู้รับฝากก็ต้องคืนให้
มาตรา 664 ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดเวลาไว้ว่าจะพึงคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเมื่อไร ไซร้ ผู้รับฝากอาจคืนทรัพย์สินนั้นได้ทุกเมื่อ
มาตรา 665 ผู้รับฝากจำต้องคืนทรัพย์สินซึ่งรับฝากไว้นั้นให้แก่ผู้ฝาก หรือ ทรัพย์สินนั้นฝากในนามของผู้ใด คืนให้แก่ผู้นั้น หรือผู้รับฝากได้รับคำสั่งโดยชอบให้คืนทรัพย์สิน นั้นไปแก่ผู้ใด คืนให้แก่ผู้นั้น แต่หากผู้ฝากทรัพย์ตาย ท่านให้คืนทรัพย์สินนั้นให้แก่ทายาท
มาตรา 666 เมื่อคืนทรัพย์ ถ้ามีดอกผลเกิดแต่ทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเท่าใด ผู้รับฝาก จำต้องส่งมอบพร้อมไปกับทรัพย์สินนั้นด้วย
มาตรา 667 ค่าคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้น ย่อมตกแก่ผู้ฝากเป็นผู้เสีย
มาตรา 668 ค่าใช้จ่ายใดอันควรแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้น ผู้ฝาก จำต้องชดใช้ให้แก่ผู้รับฝาก เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้โดยสัญญาฝากทรัพย์ว่าผู้รับฝากจะต้องออกเงิน ค่าใช้จ่ายนั้นเอง
มาตรา 669 ถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ในสัญญา หรือไม่มีกำหนดโดยจารีตประเพณี ว่าบำเหน็จค่าฝากทรัพย์นั้นจะพึงชำระเมื่อไรไซร้ ท่านให้ชำระเมื่อคืนทรัพย์สินซึ่งฝาก ถ้าได้ กำหนดเวลากันไว้เป็นระยะอย่างไร ก็พึงชำระเมื่อสิ้นระยะเวลานั้นทุกคราวไป
มาตรา 670 ผู้รับฝากชอบที่จะยึดหน่วงเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นไว้ได้ จนกว่าจะได้ รับเงินบรรดาที่ค้างชำระแก่ตนเกี่ยวด้วยการฝากทรัพย์นั้น
มาตรา 671 ในข้อความรับผิดเพื่อใช้เงินบำเหน็จค่าฝากทรัพย์ก็ดี ชดใช้เงิน
ค่าใช้จ่ายก็ดี ใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ก็ดี
ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือน นับแต่วันสิ้นสัญญา
| หน้าถัดไป »
- บรรพ 1
- บรรพ 2
- บรรพ 3
-
ลักษณะ 1 ซื้อขาย
-
ลักษณะ 2 แลกเปลี่ยน
-
ลักษณะ 3 ให้
-
ลักษณะ 4 เช่าทรัพย์
-
ลักษณะ 5 เช่าซื้อ
-
ลักษณะ 6 จ้างแรงงาน
-
ลักษณะ 7 จ้างทำของ
-
ลักษณะ 8 รับขน
-
ลักษณะ 9 ยืม
-
ลักษณะ 10 ฝากทรัพย์
-
ลักษณะ 11 ค้ำประกัน
-
ลักษณะ 12 จำนอง
-
ลักษณะ 13 จำนำ
-
ลักษณะ 14 เก็บของในคลังสินค้า
-
ลักษณะ 15 ตัวแทน
-
ลักษณะ 16 นายหน้า
-
ลักษณะ 17 ประนีประนอมยอมความ
-
ลักษณะ 18 การพนันและขันต่อ
-
ลักษณะ 19 บัญชีเดินสะพัด
-
ลักษณะ 20 ประกันภัย
-
ลักษณะ 21 ตั๋วเงิน
-
ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท
-
ลักษณะ 23 สมาคม
- บรรพ 4
- บรรพ 5
- บรรพ 6