สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
กษัตริย์
๑. วิวัฒนาการสถาบันพระมหากษัตริย์
๑.๑ พระมหากษัตริย์คือใคร
คำว่า กษัตริย์ เป็นภาษาสันสกฤต ตรงกับภาษาบาลีว่า ขัตติยะ แปลว่า นักรบ สำหรับพจนานุกรม จะให้ความหมายของคำว่า กษัตริย์ หมายถึง นักรบหรือผู้ป้องกันภัย
ในอดีต กษัตริย์จำเป็นต้องรบเพื่อขยายอาณาเขตหาเมืองขึ้น หาที่ทำกินให้ราษฎร หาที่อยู่ในไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน เมื่อได้บ้านได้เมือง ได้ผู้อยู่ใต้ร่มโพธิสมภารแล้ว ก็ต้องแผ่บารมีปกป้องคุ้มครองไม่ให้มีภัยใด ๆ มาเบียดเบียน นับตั้งแต่ภัยจากข้าศึกศัตรู จนกระทั่งภัยจากธรรมชาติ หรือแม้แต่โรคภัยไข้เจ็บ ถ้ากษัตริย์ไม่สามารถป้องกันภัยเหล่านี้ได้ คนทั้งปวงก็จะกล่าวโทษกษัตริย์ อย่างที่มีคำกล่าวว่า ถ้าหากน้ำท่าไม่ดี ผีป่าผีเมืองมันวิ่งเข้าเมือง เกิดโรคภัยไข้เจ็บ เกิดโรคระบาด ภัยทั้งหมดเกิดจากผู้ปกครองไม่เป็นธรรม จึงเป็นความรับผิดชอบของกษัตริย์หรือขัตติยะมาตั้งแต่สมัยโบราณที่จะต้องรบให้ชนะ และป้องกันภัยแก่พลเมืองของตนให้จงได้
๑.๒ กษัตริย์สมัยอียิปต์โบราณ
สังคมโบราณในอียิปต์จะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับศาสนาตามแบบอียิปต์ กษัตริย์อียิปต์เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีเทพเจ้าอยู่ทั้งสิ้น ในงูก็มีเทพเจ้า ในกระต่ายก็มีเทพเจ้า ในน้ำ ในดิน ในไฟ ในอากาศ มีทั้งนั้น ซึ่งกษัตริย์จำเป็นต้องเคารพนับถือ คนสมัยก่อนอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร พูดได้อย่างเดียวว่าเพราะมีเทวดาอยู่และบันดาลให้เป็นไป เมื่อกษัตริย์อียิปต์เห็นแม่น้ำไนล์ วันดีคืนดีก็ท่วมฝั่ง ผู้คนล้มตายเป็นพันเป็นหมื่น อยู่มาวันดีคืนดีก็แห้งขอดลงจนราษฎรอดอยาก เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้รับความลำบาก วันดีคืนดีน้ำก็ปริ่มพอดี สามารถทำการเกษตรได้สมบูรณ์ เหตุใดจึงเป็นไปได้เช่นนั้น คนอียิปต์อธิบายไม่ได้ นอกจากบอกว่า เพราะเทวดาประจำแม่น้ำไนล์บันดาลให้เป็นไป กษัตริย์อียิปต์จึงต้องบูชาเทพเจ้าประจำแม่น้ำไนล์ เมื่อกษัตริย์บูชา ประชาชนพลอยบูชาเทพเจ้าประจำแม่น้ำไนล์ไปด้วย คนอียิปต์ไม่เข้าใจว่าทำไมตอนเช้าพระอาทิตย์จึงขึ้นทางทิศตะวันออก แล้วตกทางทิศตะวันตก เป็นอยู่อย่างนี้ไม่เคยเปลี่ยน คนอียิปต์อธิบายไม่ได้ นอกจากพูดได้อย่างเดียวว่าเพราะในดวงอาทิตย์มีเทพเจ้า ดังที่เกิดลัทธิบูชาพระสุริยเทพขึ้น
๑.๓ กษัตริย์ในยุโรป
ในยุโรปกษัตริย์จะมีความสัมพันธ์กับศาสนาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะศาสนาคริสต์เมื่อศาสนาคริสต์รุ่งเรืองขึ้นมา โป๊ป หรือที่เรียกว่า พระสันตะปาปา เป็นใหญ่ ใครก็ตามที่ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ประเทศใดในยุโรปต้องเดินทางไปหาโป๊ปเพื่อที่จะจุมพิตมือโป๊ป โป๊ปหรือพระสันตะปาปาจะทรงสวมมงกุฎให้กษัตริย์นั้น และกล่าวว่าในนามของพระผู้เป็นเจ้า เราขอแต่งตั้งให้ท่านปกครองเมืองนี้สืบไป เมื่อทำพิธีเสร็จก็กลับบ้านเมืองปกครองแผ่นดิน นั้น ๆ ในนามของโป๊ป ในนามของ ศาสนจักร เป็นอยู่อย่างนี้หลายร้อยปีในยุโรป ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียคือทำให้กษัตริย์ไม่เป็นตัวของตัวเอง ถูกแทรกแซงด้วยอำนาจทางศาสนาง่าย ข้อดีคือ ประชาชนมีที่พึ่ง หากกษัตริย์ทำผิด ประชาชนก็ไปฟ้องโป๊ป โป๊ปจะสั่งลงไป กษัตริย์ก็จะแก้ไข ถ้ากษัตริย์องค์ใดไม่ปฏิบัติตาม โป๊ปก็จะทำพิธีที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า เอ็กซคอมมูนิเคชั่น (excommunication) หรือคว่ำบาตร เหมือนกับที่กษัตริย์อังกฤษคือ พระเจ้าเฮ็นรี่ที่ ๘ เคยทำเรื่องไม่สมควร เมื่อราษฎรไปร้องเรียนโป๊ป โป๊ปก็สั่งห้าม กษัตริย์อังกฤษไม่แยแส โป๊ปก็คว่ำบาตร สั่งไม่ให้พระทำพิธีให้กษัตริย์อังกฤษองค์นั้น พระเจ้าเฮ็นรี่ที่ ๘ เก่งกว่าโป๊ป เพราะว่าโป๊ปคว่ำบาตรกษัตริย์ กษัตริย์ก็คว่ำบาตรโป๊ปบ้าง แล้วสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นใหญ่ในศาสนาคริสต์นิกายที่สถาปนาขึ้นใหม่ โดยมีกษัตริย์เป็นผู้นำเสียเอง ประกาศเอานิกายนั้นเป็นศาสนาประจำชาติอังกฤษสืบมาจนบัดนี้
๑.๔ กษัตริย์อินเดียสมัยพุทธกาลอินเดียก่อนพุทธกาลเป็นดินแดนที่ศาสนาพราหมณ์มีอิทธิพลมาก่อนที่กษัตริย์จะมีอำนาจ ดังนั้น เมื่อกษัตริย์ถือกำเนิดมาก็ต้องยอมตนอยู่ใต้ศาสนาพราหมณ์ ความเกี่ยวพันระหว่างกษัตริย์กับศาสนาพราหมณ์แยกออกจากกันได้ยาก ต่อมามีการผสมกลมกลืนกันโดยถือว่ากษัตริย์เป็นเทพเจ้า
ครั้นถึงสมัยพุทธกาล สังคมอินเดียแบ่งออกเป็นแคว้นต่าง ๆ หลายแคว้น เช่น แคว้นมคธ แคว้นวังสะ แคว้นโกศล แคว้นกาสี แคว้นวัชชี เป็นต้น รวมประมาณ ๑๖ แคว้น เมื่อถึงรัชกาลพระเจ้าอโศกมหาราชทรงแผ่พระราชอำนาจครอบครองไว้เกือบทั้งหมด รวมเข้าเหลือแคว้นใหญ่ คือ แคว้นมคธ กินอาณาเขตทิศตะวันตกไปจนถึงอัฟกานิสถาน ลงถึงปากีสถาน นั่นคืออำนาจพระเจ้าอโศกมหาราช ประวัติศาสตร์อินเดียจารึกว่าเป็นมหาราชพระองค์แรกของอินเดีย และเป็นหนึ่งในไม่กี่พระองค์ พระเจ้าอโศกมีชีวิตอยู่เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วประมาณสองร้อยปีเศษ ท่านนับถือศาสนาพราหมณ์ ท่านก็นึกว่าท่านเป็นเทวดาลงมาเกิด ท่านรบทัพจับศึกไปทั่วร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ รวมแคว้นมหาประเทศมหาชนบททั้งหมดเป็นประเทศเดียวยิ่งใหญ่ไพศาลมาก จนวันหนึ่งท่านยกทัพไปรบทางใต้ที่แคว้นกาลิงคะ ผู้คนของทั้งสองฝ่ายล้มตายกันเป็นแสน พระเจ้าอโศกทรงสลดสังเวชพระทัยอย่างยิ่ง จึงเสด็จไปหาพราหมณ์เพื่อแก้บาป บรรดาพราหมณ์ทั้งหลายทูลว่าที่ทรงทำไปนั้นถูกแล้ว เพราะนั่นคือการรับใช้พระผู้เป็นเจ้า คำสอนเช่นนี้ไม่ทำให้พระเจ้าอโศกสบายพระทัย มีแต่ทวีความสลดสังเวชพระทัย ในที่สุดก็เสด็จไปวัดในพุทธศาสนา ได้สดับคำสั่งสอนเทศนาในพระพุทธศาสนาจนกระทั่งมาเป็นพุทธศาสนิกชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง ทรงกลับมาเป็นผู้ที่อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างยิ่งใหญ่
๑.๕ พระมหากษัตริย์ไทยสมัยสุโขทัย
สุโขทัยเป็นนครหลวงแห่งแรกของประชาชนเชื้อสายไทย สังคมไทยในยุคนี้มีลักษณะเป็นสังคมเผ่า มีความเกี่ยวพันและผูกพันกันอย่างหนาแน่นในสายโลหิต อาณาเขตของสุโขทัยในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ประกอบด้วยเมืองสุโขทัยและศรีสัชชนาลัยเท่านั้น ต่อมาได้ขยายกว้างขวางขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ความสัมพันธ์ของประชาชนก็มีลักษณะเป็นความสัมพันธ์ทางใจอันเกิดจากความรู้สึกว่าเป็นคนสายเลือดเดียวกัน และอยู่ภายใต้การปกครองโดย พ่อขุน องค์เดียวกัน ตามหลักฐานศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แนวคิดเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในสมัยสุโขทัยนี้ทรงเป็นผู้ครองนคร ซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิเหนืออาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง สิทธิการเป็นพระมหากษัตริย์สืบทอดโดยการสืบสันตติวงศ์ ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงตัวผู้ปกครองแผ่นดิน พระมหากษัตริย์ยังคงเป็นพระมหากษัตริย์ของชาวพุทธแท้ ๆ ไม่มีคตินิยมแบบพราหมณ์เข้ามาปะปน พอสิ้นรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงจนถึงรัชกาลกษัตริย์องค์ต่อ ๆ มา เช่น พระมหาธรรมราชาลิไทย อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์เริ่มเข้ามา กษัตริย์เริ่มเป็นเทพยดา แต่ก็ยังยึดศาสนาพุทธอยู่ จึงเป็นแค่ ธรรมราชา ซึ่งเป็นคำในศาสนาพุทธ เหมือนที่ใช้เรียกพระเจ้าอโศก แต่หลังจากนั้นมาเริ่มเป็น รามาธิบดี
๑.๖ พระมหากษัตริย์ไทยสมัยอยุธยา
เมื่อสิ้นกรุงสุโขทัย พระเจ้าอู่ทองได้สร้างกรุงศรีอยุธยา ศาสนาพราหมณ์เข้ามามีบทบาทอย่างมากโดยอิทธิพลของขอมและละโว้ ซึ่งถือว่ากษัตริย์คือพระผู้เป็นเจ้าอวตารมาเกิด พระเจ้าอู่ทองก็กลายเป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ รูปแบบของสถาบันพระมหากษัตริย์สมัยอยุธยาแตกต่างจากสมัยสุโขทัยอย่างมาก ระบอบการปกครองของอยุธยาเป็นระบอบการปกครองซึ่งพระมหากษัตริย์มีอำนาจเป็นล้นพ้น สังคมในสมัยอยุธยาขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์โดยตรง ซึ่งต่างกับสมัยสุโขทัยที่พระมหากษัตริย์ทรงปกครองราษฎรเยี่ยงบิดาปกครองบุตร แต่ในสมัยอยุธยาเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเจ้ากับข้าโดยแท้ ตำแหน่งพระมหากษัตริย์เป็นตำแหน่งที่ช่วงชิงกันด้วยอำนาจทางทหาร แนวความคิดเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเทวราชและทรงใช้พระราชอำนาจในฐานะที่ทรงเป็นสมมติเทพ กฎเกณฑ์ตลอดจนขนบประเพณีต่าง ๆ ได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อรักษาฐานะเทวราชของพระมหากษัตริย์ ทำให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเป็นล้นพ้น
๑.๗ พระมหากษัตริย์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์
ในสมัยรัตนโกสินทร์พระมหากษัตริย์จะต้องเป็นบุคคลที่ประชาชนยอมรับมากกว่าการที่จะปล่อยให้การเปลี่ยนแผ่นดินเป็นผลของการแย่งชิงราชสมบัติระหว่างเชื้อสายของพระมหากษัตริย์เช่นในสมัยอยุธยา แนวความคิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ เชื่อมั่นว่าพระมหากษัตริย์ทรงตั้งมั่นอยู่ในหลักธรรม จึงทรงเป็นที่พึ่งของราษฎรมาโดยตลอด ทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุขสืบมาทุกยุคสมัย พระมหากษัตริย์ได้รับการยอมรับจากอาณาประชาราษฎร์ ซึ่งมีผลให้พระองค์ทรงใช้พระราชอำนาจอย่างสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งกว่าที่จะทรงใช้กำลังทหารหรืออาวุธบังคับเอาตามที่ทรงมีพระราชประสงค์
วิวัฒนาการสถาบันพระมหากษัตริย์
พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย
พระราชสถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่ง
ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
ความสัมพันธ์ของพระมหากษัตริย์กับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
บรรณานุกรม