สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
กษัตริย์
๒. พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย
ในอดีตกาลนั้น พระมหากษัตริย์ หรือพระเจ้าแผ่นดินของไทย ทรงเป็นประมุขและผู้นำในทางจิตใจของประชาชน ทรงมีพระราชอำนาจสูงสุดแต่เพียงพระองค์เดียว ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมาย การเลิกกฎหมาย การตัดสินคดี เราเรียกการปกครองลักษณะนี้ว่าเป็นการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ซึ่งหมายถึง ราชาธิปไตยเหนือกฎหมาย หรือการปกครองที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจสูงสุดล้นพ้นแต่เพียงพระองค์เดียวปราศจากข้อจำกัดใด ๆ ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบนี้มาจนถึงปี พุทธศักราช ๒๔๗๕ ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่าระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ซึ่งมีประเทศอังกฤษเป็นต้นแบบมาช้านาน
๒.๑ พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอังกฤษ
ประชาธิปไตยอังกฤษเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๓๒ ซึ่งเป็นปีที่มีการปฏิรูประบบเลือกตั้งให้ทันสมัยและยุติธรรมอย่างแท้จริง พระมหากษัตริย์อังกฤษจะทรงเคารพระบบรัฐธรรมนูญ โดยทรงปฏิบัติตามกฎหมายและประเพณีทางรัฐธรรมนูญ มีหลักการสำคัญว่าพระมหากษัตริย์จะทรงปกเกล้าแต่ไม่ทรงปกครอง (The King reigns but not rule) กล่าวคือ พระมหากษัตริย์จะทรงเป็นประมุขปกเกล้าฯ เหล่าประชา แต่จะไม่ทรงมีพระราชดำริใด ๆ ในทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งเป็นเรื่องการปกครองโดยตรง จะทรงทำตามคำแนะนำและยินยอมขององค์กรทางการเมืองซึ่งมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยเฉพาะคณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภา เมื่อทรงทำตามคำแนะนำและยินยอมขององค์กรทางการเมืองก็ไม่ต้องทรงรับผิดชอบ แต่องค์กรทางการเมืองต้องรับผิดชอบแทน อย่างไรก็ตามในประเพณีการปกครองอังกฤษถือว่า พระมหากษัตริย์จะมีพระราชอำนาจ ๓ ประการ คือ พระราชอำนาจที่จะทรงรับการปรึกษาหารือจากรัฐบาล (The right to be consulted) พระราชอำนาจที่จะทรงสนับสนุนรัฐบาล (The right to encourage) และพระราชอำนาจที่จะทรงตักเตือน (The right to warn) อย่างไรก็ตาม แม้จะทรงใช้พระราชอำนาจดังกล่าวข้างต้นแล้ว รัฐบาลจะรับไปปฏิบัติหรือไม่ ก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลเอง พระมหากษัตริย์ไม่ต้องทรงรับผิดชอบใด ๆ เหตุนี้ พระมหากษัตริย์จึงแตกต่างจากประธานาธิบดีซึ่งเป็นนักการเมืองมาจากการเลือกตั้ง ที่อยู่ในการเมืองและต้องรับผิดชอบทางการเมือง
หลักการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของอังกฤษนี้ จึงเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่น ๆ ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยึดถือเป็นแบบอย่างมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรของตน อาทิ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ สเปน ญี่ปุ่น และไทย เป็นต้น ทั้งนี้ โดยมีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามประเพณีการปกครองที่มีมาแต่โบราณ แต่หลักการสำคัญจะมีความคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่
๒.๒ พระมหากษัตริย์ไทยในระบอบประชาธิปไตย
ประเทศไทยหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ คณะราษฎรได้กราบบังคมทูลฯ ร้องขอให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญ และขอให้ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ โดยไม่มีผู้ใดลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเลย ซึ่งในทางกฎหมายมหาชน ต้องถือว่า ทรงสมัครพระราชหฤทัยจำกัดพระองค์เองอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่พระราชทานนั้น ทั้งนี้ เพื่อให้ราษฎรทั้งปวงปกครองกันเอง ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติตอนหนึ่ง ความว่า ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาชนราษฎร นับแต่นั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยก็มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตราบจนทุกวันนี้
ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยมีหลักการสำคัญเหมือนของอังกฤษ แต่รายละเอียดของพระราชอำนาจและพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ไทยอาจแตกต่างจากของอังกฤษอยู่บ้าง เพราะมีจารีตการปกครองที่ต่างกัน ตามหลักกฎหมายอังกฤษถือว่าพระมหากษัตริย์ในรัฐสภา (King in Parliament) เป็นองค์อธิปัตย์ผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดินอังกฤษ มีอำนาจที่จะออกกฎหมายหรือไม่ก็ได้ เรียกหลักการนี้ว่า อำนาจอธิปไตยของพระมหากษัตริย์ในรัฐสภา (sovereignty of king in parliament) กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ในรัฐสภาทรงตราขึ้นจึงมีฐานะสูงสุด เพราะอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่เป็นกฎหมายสูงสุดอยู่เหนือพระมหากษัตริย์และรัฐสภา
สำหรับประเทศไทย พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจของพระองค์ที่มีมาแต่ดั้งเดิม ทรงตรารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดขึ้นจำกัดพระราชอำนาจของพระองค์เอง โดยทรงยอมอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และพระราชทานอำนาจสูงสุดไปสู่ปวงชนชาวไทย แต่เนื่องจากปวงชนชาวไทยมีจำนวนมากและไม่อาจใช้อำนาจนั้นโดยตรง หากแต่ต้องเลือกผู้แทนมาทำการแทน รัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับจึงบัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตามกฎหมายนั้น อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศนั้นอยู่ที่พระมหากษัตริย์และประชาชน ทำนองเดียวกับที่อังกฤษถือเป็นหลักกฎหมายว่า พระมหากษัตริย์และรัฐสภาเป็นองค์อธิปัตย์นั่นเอง
วิวัฒนาการสถาบันพระมหากษัตริย์
พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย
พระราชสถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่ง
ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
ความสัมพันธ์ของพระมหากษัตริย์กับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
บรรณานุกรม