สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
กะเหรี่ยง
หมู่บ้าน
หมู่บ้านของกะเหรี่ยงเป็นหมู่บ้านหลังเล็กๆ แต่ละหมู่บ้านจะมีหัวหน้าซึ่งเป็นชาย เรียกว่า”ฮี-โข่” แปลว่าหัวหน้าหมู่บ้าน มักเป็นผู้อาวุโส เป็นผู้สร้างทัศนคติของชาวกะเหรี่ยง หากฮี-โขมีความเห็นว่าคนนั้นเป็นคนดี ทุกคนในหมู่บ้านก็จะเห็นดีด้วย การยอมรับหรือการขับไล่ออกจากหมู่บ้านจะถูกกำหนดโดยฮี-โขทั้งสิ้น ฮี-โขเป็นผู้นำทางพิธีกรรม เช่น พิธีขึ้นปีใหม่ ซึ่งมีการเลี้ยงผีเจ้าที่ประจำปีเพื่อคุ้มครองให้ทุกคนในหมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข
หัวหน้าหมู่บ้านเป็นผู้พิทักษ์รักษาจารีตประเพณีถูกตักเตือนและกำหนดบทลงโทษผู้ที่กระทำผิดประเพณี เช่น เรื่องชู้สาว ลักขโมย เป็นต้น บทลงโทษจะขึ้นอยู่กับการกระทำหนักเบาของกรณี อาจแค่ตักเตือน หรือปรับสินไหมเป็นเงินหรือสุราและสัตว์เลี้ยงสำหรับทำพิธีกรรมขอสมาลาโทษ หรือขับไล่ออกจากหมู่บ้าน แต่ไม่มีการใช้กำลัง เมื่อหัวหน้าหมู่บ้านตายลูกชายคนโตต้องรับตำแหน่งสืบต่อ และจะมีการย้ายหมู่บ้านทั้งหมด ไปยังอีกฟากหนึ่งของลำห้วยหรืออีกลาดไหล่ ตามแต่หัวหน้าคนใหม่จะกำหนด การย้ายนี้จะมีการเสี่ยงทายตามประเพณีกะเหรี่ยง
ในปัจจุบัน จะพบว่าบางหมู่บ้านไม่มีอีกต่อไปแล้ว เพราะลูกชายไม่อยากสืบทอดตำแหน่ง และคนอื่นที่ไม่มีสายเลือดเดียวกัน ก็ไม่สามารถมารับตำแหน่งได้ ดังนั้นบางหมู่บ้านอาจมีผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซึ่งได้รับเลือกจากระบบทางราชการ อย่างไรก็ดีผู้อาวุโสผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านก็ยังมีบทบาทและมีความสำคัญอยู่ในสังคมกะเหรี่ยง (ประวิตร โพธิอาศน์ 2527)
» ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการอพยพจากประเทศจีน
» ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชนชาติไทย
» ชนชาติกะเหรี่ยงในประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์
» ลักษณะบุคคลกะเหรี่ยงกลุ่มต่างๆ ในประเทศไทย
» ประชากร
» ครอบครัว
» หมู่บ้าน
กะเหรี่ยงในประวัติศาสตร์ไทย และประวัติศาสตร์ของกะเหรี่ยงในประเทศไทย