ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>
จริยธรรม
จริยธรรมตามแนวคิดตะวันตก
วิวัฒนาการด้านจริยธรรมของตะวันตกมีพื้นฐานความเป็นมา และกระบวนการต่อเนื่อง คำว่า จริยธรรมมิได้เกิดขึ้นลอย ๆ แต่มีจุดกำเนิดจากปรัชญาพื้นฐานของมนุษย์ในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งการทำความเข้าใจในวิวัฒนาการด้านจริยธรรมตะวันตกจะทำให้เห็นคุณค่าที่แท้จริงของจริยธรรม ทั้งนี้ แนวคิดเกี่ยวกับจริยธรรมของนักการเมืองที่สำคัญของตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดในช่วงต่อมา ได้แก่ โสเกรตีส เพลโต อริสโตเติล ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ
- โสเกรตีส ได้สร้างหลักการสำคัญเกี่ยวกับคุณธรรม หรือจริยธรรม คือ ความรู้ คุณธรรม เป็นสิ่งที่อาจแสวงหาค้นพบได้ และคุณธรรมเป็นสิ่งที่อาจสอนและเรียนรู้ได้ คุณธรรมทางสังคมที่สูงสุด คือ ความยุติธรรม ดังนั้น เป้าหมายสูงสุดของชีวิตการเมือง คือ คุณธรรม และรัฐที่ดีที่สุด คือ รัฐที่มีการปกครองแบบอภิชนาธิปไตย (Aristocracy) หรือรัฐผสม (Mixed Regime) โสเกรตีส เชื่อว่า เมื่อราชากลายเป็นปรัชญาเมธี หรือเมื่อปรัชญาเมธีกลายเป็นราชาเท่านั้น รัฐที่ดีที่สุดจึงจะเกิดขึ้นได้
- เพลโต มีแนวความคิดหลักด้านจริธรรมว่า ผู้ปกครองหมายถึงนักปราชญ์ (Philosopher King) หรือผู้ทรงคุณธรรมควรเป็นผู้ปกครอง และเมื่อความรู้ คือคุณธรรม จึงจำเป็นต้องแสวงหาและฝึกฝนอบรมคนที่รู้ได้ดีที่สุด เพื่อเสริมสร้างผู้ปกครองที่เป็นธรรม เพลโตแบ่งประเภทของคุณธรรมออกเป็น ๔ ประเภท คือ ปรีชาญาณ ความกล้าหาญ การรู้จักประมาณ และความยุติธรรม
- อริสโตเติล ปรัชญาการเมืองของอริสโตเติลมุ่งที่จริยธรรมเป็นประการสำคัญ
ทั้งนี้ เพื่อวางมาตรฐานความประพฤติปฏิบัติและข้อวัตรทางศีลธรรมจรรยา
อันหมายถึง กฎหมาย ซึ่งแจกแจงออกเป็นแบบแผนทางสังคม และระบอบการปกครอง
รวมทั้งมาตรฐานทางจริยธรรมที่ราษฎรจะต้องประพฤติปฏิบัติตาม ทั้งหมดเรียกว่า
รัฐธรรมนูญ คุณธรรมหลักตามแนวคิดของอริสโตเติล มี ๔ ประการ คือ ความรอบคอบ
ความกล้าหาญ การรู้จักประมาณ และความยุติธรรม
จากแนวคิดปรัชญาตะวันตกที่ได้กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นพื้นฐานแนวคิดที่สำคัญอันนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของแนวคิดจริยธรรมตะวันตกในช่วงต่อมาอย่างมาก โดยสามารถจำแนกวิวัฒนาการของแนวคิดทางปรัชญาทางด้านจริยธรรมตะวันตกได้เป็น ๔ ยุค คือ
๑. Ancient Greek Philosophy : ปรัชญากรีกโบราณ
กรีกสมัยโบราณอยู่ในช่วงเวลาประมาณ ๖๐๐ ปีก่อนคริสตกาล (ใกล้เคียงพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาเกิดก่อนศักราชประมาณ ๕๔๓ ปี) ลักษณะแนวคิดของกรีกโบราณในช่วงเริ่มแรกมีลักษณะเป็นอภิปรัชญา ซึ่งเป็นการคิดแบบปรัชญา-วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ นักคิดที่มีอิทธิพลในช่วงแรก ๆ คือ Thales โดยการตั้งคำถามว่า อะไร คือ ปฐมธาตุของจักรวาล (What is the First Element?) จักรวาล (Universe) เกิดจากอะไร โดยเชื่อว่าธรรมชาติจะต้องมีกฎเกณฑ์แน่นอน นักคิดในช่วงแรก ๆ เกิดความสงสัยในธรรมชาติ พยายามหาหลักเกณฑ์เพื่อนำมาอธิบายกฎของธรรมชาติ โดยการใช้วิธีการโต้แย้ง เพื่อช่วยกันค้นหาความจริง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของวิชาอภิปรัชญา ขณะเดียวกันก็เกิดกลุ่มนักปราชญ์ที่เรียกตัวเองว่า "โซฟิสต์" ซึ่งไม่สนใจปัญหาของ Thales ที่ว่า "โลกเกิดจากอะไร หรือสรรพสิ่งเกิดจากอะไร" แต่กลุ่มโซฟิสต์กลับตั้งปัญหาขึ้นว่า "ชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร?" (What is Good Life?) "เราควรดำรงอยู่อย่างไรจึงจะมีความสุข" (How should Man Live?) จึงกล่าวได้ว่ากลุ่มแรกที่เริ่มตั้งปัญหาทางจริยศาสตร์ คือ กลุ่มโซฟิสต์ พร้อมทั้งประกาศแนวความคิดของกลุ่มตัวเองอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ต่อมาเกิดนักคิดอีกกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของพวกโซฟิสต์ คือ โสเครติส เพลโต้ และอริสโตเติล โดยได้ประกาศคำโต้แย้งกับกลุ่มโซฟิสต์ ซึ่งถือเป็นปัญหาโต้แย้งทางจริยศาสตร์ที่เกิดขึ้นโดยตรงเป็นครั้งแรกและเป็นประเด็นสำคัญของกรีกโบราณ โดยการโต้แย้งว่า ควรมีการแสวงหาคำตอบของคำถามที่ว่า อะไรคือความสุขที่แท้จริงของชีวิต? ความยุติธรรมคืออะไร เราจะแสวงหาความสุขในชีวิตได้อย่างไร? แนวคิดดังกล่าวเป็นประเด็นทางจริยศาสตร์ที่ถือเป็นหลักในการดำเนินชีวิตที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวได้ลดความสำคัญลงเมื่ออริสโตเติลตายและอาณาจักรกรีกล่มสลาย ทำให้กรีกตกอยู่ใต้อิทธิพลของโรมัน ซึ่งแม้โรมันจะเปิดโอกาสให้ตั้งสำนักปรัชญาอย่างมากมาย แต่ทุกสำนักทุกศาสนาต้องมีความเคารพนับถือจักรพรรดิ์โรมันเสมือนเคารพต่อเทพเจ้า เพราะฉะนั้น ทุกศาสนาจึงแบ่งแยกชาวกรีกออกเป็นหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มก็มีแนวคิดต่างกันออกไป จึงเป็นเหตุให้เกิดสำนักจริยศาสตร์มากมายในภายหลังจากที่อริสโตเติลตายไปแล้ว ซึ่งสำนักที่มีชื่อเสียง คือ Epicureanism และ Stoicism ซึ่งเป็นสำนักที่มีคำสอนทางปรัชญาคล้ายพระพุทธศาสนามาก
๒. Medieval Philosophy : ปรัชญาสมัยกลาง หรือยุคบุพกาล (๑-๑๕ A.D. / ระหว่างคริสตศตวรรษที่ ๑-๑๕)
แม้ว่ายุคปรัชญาสมัยกลางถือว่าเป็นยุคทองของศาสนาคริสต์ แต่หลักปรัชญาคำสอนของนักปรัชญาชาวกรีกยังคงมีอิทธิอยู่มาก ดังนั้น นักปรัชญาชาวคริสเตียนจึงพยายามรวบรวมและพิสูจน์คำสอนให้ประชาชนเห็นว่า คำสอนหรือความเชื่อของศาสนาคริสต์กับปรัชญากรีกเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยการบูรณาการปรัชญากรีกเข้ากับคำสอนของศาสนาคริสต์ในประเด็นที่เกี่ยวกับ จริยศาสตร์ คือ การอธิบายจริยศาสตร์กรีกให้เข้ากับจริยศาสตร์ของศาสนาคริสต์
๓. Modern Philosophy: ปรัชญาสมัยใหม่ (ศตวรรษที่ ๑๖-๑๘)
ยุคปรัชญาสมัยใหม่เป็นยุคที่ศาสนาคริสต์เริ่มหมดอิทธิพล ประชาชนเริ่มให้ความสนใจกับแนวคิดของศาสนาอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น และถือเป็นยุคเริ่มต้นของวิทยาศาสตร์ มีการพัฒนาวิทยาศาสตร์ การปฏิวัติอุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นช่วงที่ปรัชญาทางการเมืองมีความเด่นชัดมาก ถือเป็นยุคกำเนิดและเฟื่องฟูของกฎหมาย รวมถึงขบวนการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ นักปรัชญา และสำนักปรัชญาที่สำคัญ คือ Immanual Kant หรือ Kant's Ethics (Kantism Ethics) และสำนัก Utilitarianism (ประโยชน์นิยม) ซึ่งมีนักคิดที่สำคัญคือ John Stuart Mill
ในยุคนี้นักปรัชญาจะโต้แย้งกันเรื่อง "อภิจริยศาสตร์" (Meta-Ethics) เป็นการใช้คุณค่าทางจริยธรรม คือการโต้แย้งถึงคุณค่าการกระทำว่าเป็นอย่างไร โดยศึกษาเกี่ยวกับ good/bad, right/wrong, ought/ought not, should/should not โดยมีแนวคิดหลักที่สำคัญคือ เกณฑ์ตัดสินทางจริยธรรม หรือการตัดสินการกระทำ (Moral Judgement) การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมมาเป็นเกณฑ์ (Moral Reasoning)
๔. Contemporary Philosophy: ปรัชญาร่วมสมัย หรือปรัชญาสมัยปัจจุบัน (ศตวรรษที่ ๑๙-๒๐)
ปรัชญาด้านจริยธรรมร่วมสมัยที่สำคัญได้แก่ สำนักปฏิฐานนิยมตรรกะวิทยา Logical Positivism ซึ่งเน้นหลักเหตุผล คำว่า Logical Positivist เป็นคำที่ใช้เรียกชื่อตัวนักปรัชญาสำนักนั้น ๆ ซึ่งนักปรัชญาในสำนักนี้จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ทั้งหมด จะไม่เห็นด้วยกับปรัชญาเก่า ๆ และเห็นว่า "ความรู้ที่ถูกต้องคือความรู้ทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น" และสำนักอัตถภาวนิยม Existential นักคิดในแนวนี้เป็นปรัชญาแห่งเสรีภาพ เน้นภาวะการมีอยู่ของมนุษย์
ความหมายของจริยธรรม
ความจำเป็นของการมีจริยธรรมของนักการเมือง
จริยธรรมตามแนวคิดตะวันออก
จริยธรรมตามแนวคิดตะวันตก
ทฤษฎีเกี่ยวกับพัฒนาการทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้องและการขัดกันของผลประโยชน์
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง