ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>
จริยธรรม
ความหมายของจริยธรรม
คำว่าจริยธรรมมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่าจริยศาสตร์ นอกจากนี้ ยังมีคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันอีกหลายคำ บางครั้งก็มีการนำมาใช้แทนกัน ซึ่งให้ความหมายทั้งที่เหมือนกันและแตกต่างกัน ดังนั้น การทำความเข้าใจความหมายและขอบข่ายของจริยธรรมกับศัพท์เกี่ยวข้องในหลายมุมมอง ทำให้ทราบถึงทรรศนะมุมมองของผู้รู้ต่าง ๆ ที่พยายามศึกษาแนวคิดจริยธรรมในด้านที่แตกต่างกันออกไป
โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงคำว่าจริยธรรม ผู้ฟังหรือผู้อ่านมักจะพิจารณาอยู่ในกรอบคิดเกี่ยวกับศาสนา ทั้งนี้ เพราะคำสอนทางศาสนามีส่วนสร้างระบบจริยธรรมให้สังคม ดังคำกล่าวของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ว่า จริยธรรมของสังคมไทยขึ้นอยู่กับระบบศีลธรรมของพุทธศาสนาว่า กำหนดหลักในการปฏิบัติในชีวิตประจำไว้อย่างไร หลักจริยธรรมก็จะกำหนดให้ปฏิบัติตามนั้น
ทั้งนี้ จริยธรรมมาจากคำว่า จริย กับ ธรรมะ จริย หมายถึง ความประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติ ธรรมะหมายถึง คุณความดี คำสั่งสอนในศาสนา หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา ความจริง ความยุติธรรม ความถูกต้อง กฎเกณฑ์ กฎหมาย สิ่งของทั้งหลาย เมื่อพิจารณาตามรูปคำจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้คำนิยามว่า จริยธรรม คือ ธรรมที่เป็น ข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม กฎศีลธรรม
จากความหมายดังกล่าวหากมีการจัดระดับจริยธรรม สาโรช บัวศรี ได้ให้ความเห็นว่า จริยธรรมมีหลายระดับ ซึ่งสามารถจำแนกตามระดับกว้าง ๆ ได้ ๒ ระดับ ได้แก่ ระดับของผู้ครองเรือน คือ โลกีย์ธรรม กับ ระดับของผู้ที่สละบ้านเรือนแล้ว คือ โลกุตตรธรรม
ในความหมายที่เฉพาะเจาะจงนั้น ศาสตราจารย์ ดร. สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ เห็นว่า จริยธรรม หมายถึง ความถูกต้องดีงาม สังคมทุกสังคมจะกำหนดกฎเกณฑ์กติกา บรรทัดฐานของตนเองว่า อะไรเป็นสิ่งที่ดีงาม และอะไรคือความถูกต้อง โดยทั่วไปมิได้มีการเขียนเป็นกฎข้อบังคับให้สมาชิกทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติตาม ซึ่งหากมีการละเมิดจะถูกลงโทษโดยสังคมในขณะเดียวกัน
ส่วนศาสตราจารย์เกียรติคุณแสง จันทร์งาม เห็นว่า จริยธรรมกับค่านิยมมีความหมายแตกต่างกันเฉพาะในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติยากที่จะชี้ให้เห็นความแตกต่างกันอย่างชัดเจน กล่าวคือ
- จริยธรรม หมายถึง คุณสมบัติทางความประพฤติ ที่สังคมมุ่งหวังให้คนในสังคมนั้นประพฤติ มีความถูกต้องในความประพฤติ มีเสรีภาพภายในขอบเขตของมโนธรรม (Conscience) เป็นหน้าที่ที่สมาชิกในสังคมพึงประพฤติปฏิบัติต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อสังคม ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองขึ้นในสังคม การที่จะปฏิบัติให้เป็นไปเช่นนั้นได้ ผู้ปฏิบัติจะต้องรู้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด
- ค่านิยม หมายถึง ความโน้มเอียง หรือแนวทางที่คนจะประพฤติตนไปในแนวทางใดแนวทางหนึ่งที่ตัวเองได้พิจารณาไตร่ตรองแล้วว่า เป็นสิ่งที่ดีสำหรับตนหรือสังคมยอมรับนับถือและปฏิบัติตามแนวคิดนั้น ๆ อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยก็ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ค่านิยมมีความหมายถึงแนวคิดเกี่ยวกับความดีงามในความประพฤติ โดยผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากความประพฤตินั้น ๆ ถ้าหากเป็นเพียงเจตคติ (Attitude) ความเชื่อ (Belief) ยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นค่านิยมจนกว่าจะได้พิจารณาถึงผลที่จะตามมาจากความประพฤติหรือการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบและมีการปฏิบัติตามอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ ยังเห็นว่าโครงสร้างของแนวคิดด้านจริยธรรม จะประกอบด้วยคุณธรรมหลายประการ ซึ่งส่วนมากมาจากคำสอนทางศาสนา ดังนี้
๑. ความรับผิดชอบ (Accountability) คือ ความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความผูกพัน ด้วยความพากเพียร และความละเอียดรอบคอบ ยอมรับผลการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย ทั้งพยายามที่จะปฏิบัติหน้าที่ ให้ดียิ่งขึ้น
๒. ความซื่อสัตย์ (Honesty) คือ การประพฤติอย่างเหมาะสม และตรงต่อความเป็นจริง ประพฤติ ปฏิบัติ อย่างตรงไปตรงมา ทั้งกาย วาจา ใจ ต่อตนเองและผู้อื่น
๓. ความมีเหตุผล (Rationality) คือ ความสามารถในการใช้ปัญญา ในการประพฤติปฏิบัติ รู้จักไตร่ตรอง พิสูจน์ให้ประจักษ์ ไม่หลงงมงาย มีความยับยั้งชั่งใจ โดยไม่ผูกพันกับอารมณ์และความยึดมั่นของตนเอง ที่มีอยู่เดิมซึ่งอาจผิดได้
๔. ความกตัญญูกตเวที (Gratitude) คือ ความรู้สำนึกในอุปการคุณหรือบุญคุณที่ผู้อื่นมีต่อเรา
๕. ความมีระเบียบวินัย (Disciplined) คือ การควบคุมความประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องและเหมาะสมกับจรรยามารยาท ข้อบังคับ ข้อตกลง กฎหมาย และศีลธรรม
๖. ความเสียสละ (Sacrifice) คือ การละความเห็นแก่ตัว การให้ปันแก่บุคคลที่ควรให้ด้วยกำลังกาย กำลังสติปัญญา รวมทั้งการรู้จักสลัดทิ้งอารมณ์ร้ายในตนเอง
๗. การประหยัด (Thrifty) คือ การใช้สิ่งของพอเหมาะพอควรให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ไม่ให้มีส่วนเกินมากนัก รวมทั้งการรู้จักระมัดระวัง รู้จักยับยั้งความต้องการให้อยู่ในกรอบและขอบเขตที่พอเหมาะ
๘. ความอุตสาหะ (Diligence) คือ ความพยายามอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้เกิดความสำเร็จในงาน
๙. ความสามัคคี (Harmony) คือ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความพร้อมเพรียงร่วมมือกันกระทำกิจการให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว
๑๐. ความเมตตาและกรุณา (Loving Kindness and Compassion) คือ ความรักใคร่ปรารถนาจะให้ผู้อื่นมีสุข กรุณา หมายถึง ความสงสาร คิดจะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
๑๑. ความยุติธรรม (Justice) คือ การปฏิบัติด้วยความเที่ยงตรง สอดคล้องกับความเป็นจริงและเหตุผล ไม่มีความลำเอียง
พระราชวรมุนี ได้กล่าวถึงจริยธรรมในความหมายอย่างกว้าง หมายถึง การดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ การคลองชีวิตการใช้ชีวิตการเคลื่อนไหวของชีวิตทุกด้านทุกระดับ ทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ การปฏิบัติกรรมฐานเจริญสมาธิ บำเพ็ญสมถะ เจริญวิปัสสนา
จากนิยามข้างต้น แม้ว่าจริยธรรมไม่สามารถแยกเด็ดขาดจากศีลธรรม แต่คำว่าจริยธรรม จะมีความหมายกว้างกว่าศีลธรรม เพราะศีลธรรมเป็นหลักคำสอนทางศาสนาที่ว่าด้วยความประพฤติปฏิบัติชอบ ส่วนจริยธรรม หมายถึง หลักแห่งความประพฤติปฏิบัติชอบ ซึ่งมีรากฐานอยู่บนหลักคำสอนของศาสนา ปรัชญาและขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติตนเพื่อการบรรลุถึงสภาพชีวิตอันทรงคุณค่าที่พึงประสงค์ ทั้งนี้ เหตุที่จริยธรรมมักอิงอยู่กับศาสนา เนื่องจากคําสอนทางศาสนามีส่วนสร้างระบบจริยธรรมให้สังคม แต่ไม่ได้หมายความว่าจริยธรรมอิงอยู่กับหลักคําสอนทางศาสนาเพียงอย่างเดียว แท้ที่จริงจริยธรรมยังหยั่งรากอยู่บนวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี และโดยนัยนี้ บางท่านเรียกหลักแห่งความประพฤติอันเนื่องมาจากคําสอนทางศาสนาว่า ศีลธรรม และเรียกหลักแห่งความประพฤติอันพัฒนามาจากแหล่งอื่นว่าจริยธรรม นอกจากนี้จริยธรรมยังมิใช่กฎหมาย เนื่องจากกฎหมายเป็นสิ่งบังคับให้คนทำตาม และมีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน สาเหตุที่คนเคารพเชื่อฟังกฎหมายเพราะกลัวถูกลงโทษ ขณะที่จริยธรรมไม่มีบทลงโทษ ดังนั้น คนมีจริยธรรมเพราะมีแรงจูงใจ อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับจริยธรรมในฐานะเป็นแรงหนุนจากภายนอกเพื่อให้คนมีจริยธรรม
ส่วนคำว่า จริยศาสตร์ มาจากภาษาสันสกฤต ๒ คำ คือ จริย หมายถึงความประพฤติ กับ ศาสตร์ หมายถึงความรู้ ถ้าจะแปลความตามตัวอักษร จริยศาสตร์ หมายถึงความรู้เกี่ยวกับความประพฤติ จริยศาสตร์ในภาษาอังกฤษ คือ Ethicslซึ่งมาจากคำภาษากรีกว่า Ethos มีความหมายว่า Customllคือ ขนบธรรมเนียม หรือ ธรรมเนียมปฏิบัติ และคำว่า Ethics มีความหมายว่า ศาสตร์แห่งศีลธรรม (Science of Morals) ทั้งนี้ ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายจริยศาสตร์ว่า เป็นปรัชญาสาขาหนึ่งว่าด้วยความประพฤติ และการครองชีวิต ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด หรืออะไรควร อะไรไม่ควร
ดังนั้น จริยศาสตร์จึงหมายถึง ความรู้ หลักการ หรือทฤษฎีที่ใช้เหตุผลแยกความดีออกจากความชั่ว เป็นสาขาหนึ่งของปรัชญา และเป็นศาสตร์ที่เป็นบรรทัดฐานของความประพฤติของมนุษย์ ทำให้จริยศาสตร์มีความเด่นชัดแตกต่างไปจากศาสตร์ที่มีรูปแบบอื่น ๆ อาทิ คณิตศาสตร์ ตรรกศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เชิงผัสสะต่างๆ (Empirical Sciences) เช่น เคมี และฟิสิกส์
นอกจากนี้ ยังมีคำที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่าจริยธรรม ซึ่งบางกรณีอาจก่อให้เกิดความสับสน มีการนำไปใช้ในความหมายที่แตกต่างกัน และไม่ตรงกับความหมายที่แท้จริง อาทิคำว่า จรรยา คุณธรรม ศีลธรรม จรรยาบรรณ มโนธรรม มารยาท ธรรมาภิบาล กล่าวคือ
จรรยา (Etiquette) หมายถึง ความประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติในหมู่คณะ เช่น จรรยาครู จรรยาตำรวจ ฯลฯ
คุณธรรม (Virtue) คือ คุณ + ธรรมะ เป็นคุณงามความดีที่เป็นธรรมชาติ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม คุณธรรมจึงเป็นจริยธรรมที่แยกเป็นรายละเอียดแต่ละประเภท หากประพฤติปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอก็จะเป็นสภาพคุณงามความดีทางความประพฤติและจิตใจของ ผู้นั้น คุณธรรมจึงเป็นจริยธรรมที่ฝึกฝนจนเป็นนิสัย เช่น ซื่อสัตย์ ขยัน อดทน เสียสละ รับผิดชอบ
จรรยาบรรณ (Code of Conduct) หมายถึง ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่างกำหนดขึ้น เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณ ชื่อเสียง และฐานะของสมาชิก
มโนธรรม (Conscience)หมายถึง ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ความรู้สึกว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ เชื่อกันว่า มนุษย์ทุกคนมีมโนธรรม เนื่องจากบางขณะเราจะเกิดความรู้สึกขัดแย้งในใจระหว่างความรู้สึกว่าต้องการทำสิ่งหนึ่ง และรู้ว่าควรทำอีกสิ่งหนึ่ง
มารยาท (Manner) หมายถึง กิริยา วาจา ที่สังคมกำหนดไว้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มแต่ละท้องถิ่นซึ่งมีแตกต่างกันไป
ธรรมาภิบาล (Good Governance) หมายถึง การจัดการปกครอง การบริหารกิจการบ้านเมือง การควบคุมดูแลกิจการ การกำกับดูแลที่ดี อันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ (Process) และระบบ (System)lซึ่งองค์การหรือสังคมได้มีการปฏิบัติหรือดำเนินการ (Operate) ปกครองด้วยคุณความดี ซื่อตรงต่อกัน มั่นคงในสัญญาที่มีต่อกัน ซึ่งจะครอบคลุมประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน นิติธรรม ความโปร่งใส การตอบสนอง การแสวงหาฉันทามติ ความถูกต้อง ความเสมอภาค ยุติธรรม เที่ยงธรรม ประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ภาระรับผิดชอบ
นอกจากนี้ ยังคำที่มีความเกี่ยวข้องกับคำว่า จริยธรรม อีกหนึ่งคำ คือ คำว่า ทศพิธราชธรรม (Virtues of the King) ซึ่งหมายถึงจริยวัตร ๑๐ ประการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรมประจำพระองค์ หรือเป็นคุณธรรมประจำตนของผู้ปกครองบ้านเมือง ให้มีความเป็นไปโดยธรรมและยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชน ถือได้ว่าเป็นหลักจริยธรรมอีกอันหนึ่งสำหรับนักการเมือง ที่ต้องนำไปปฏิบัติในหน้าที่ทางการงานการปกครอง คุณธรรมทั้ง ๑๐ ประการ สามารถแจกแจงได้ ดังนี้
- ทาน คือ การให้ การเสียสละ การให้น้ำใจ
- ศีล คือ ความประพฤติที่ดีงาม ทั้ง กาย วาจา ใจ ให้ปราศจากโทษ
- บริจาค คือ การเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อความสุขส่วนรวม
- ความซื่อตรง คือ ความซื่อตรงในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง ดำรงอยู่ในสัตย์สุจริต
- ความอ่อนโยน คือ การมีอัธยาศัยอ่อนโยน เคารพในเหตุผลที่ควร มีสัมมาคารวะต่อ ผู้อาวุโส
- ความเพียร คือ ความอุตสาหะในการปฏิบัติงาน โดยปราศจากความเกียจคร้าน
- ความไม่โกรธ คือ ไม่มุ่งร้ายผู้อื่น แม้จะลงโทษผู้ทำผิดก็ทำตามเหตุผล
- ความไม่เบียดเบียน คือ การไม่ก่อทุกข์หรือเบียดเบียนผู้อื่น
- ความอดทน คือ การรักษาอาการ กาย วาจา ใจให้เรียบร้อย การอดทนต่อสิ่งทั้งปวง
- ความยุติธรรม คือ ความหนักแน่น ถือความถูกต้อง เที่ยงธรรมเป็นหลัก
จากที่กล่าวมาข้างต้นคำว่าจริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม จรรยาบรรณ ล้วนมีเป้าหมายเพื่อการควบคุมตนเอง และส่งผลต่อพฤติกรรมของบุคคลนั้น ส่วนคำว่าธรรมาภิบาลใช้เพื่อเป็นกลไกควบคุม โครงสร้าง ระบบ และกระบวนการส่งผลต่อการปฏิบัติงานของหน่วยงานหรือองค์กร กล่าวโดยสรุปจริยธรรมคือ สิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวมนุษย์ โดยธรรมชาติ ซึ่งจะต้องพัฒนาขึ้นโดยอาศัยกฎเกณฑ์ความประพฤติที่มนุษย์ควรประพฤติที่ได้จากหลักการทางศีลธรรม หลักปรัชญา วัฒนธรรม กฎหมายหรือจารีตประเพณี เพื่อประโยชน์สุขแก่ตนเองและสังคม นอกจากนี้ จริยธรรมยังใช้เป็นแนวทางประกอบการติดสินใจเลือกความประพฤติ การกระทำที่ถูกต้องเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ เป็นศีลธรรมที่ใช้เฉพาะกลุ่ม
ความหมายของจริยธรรม
ความจำเป็นของการมีจริยธรรมของนักการเมือง
จริยธรรมตามแนวคิดตะวันออก
จริยธรรมตามแนวคิดตะวันตก
ทฤษฎีเกี่ยวกับพัฒนาการทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้องและการขัดกันของผลประโยชน์
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง