ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

ประเทศจีน

เมืองทรงเสน่ห์
- เมืองเซี่ยงไฮ้
- เมืองกวางโจว
- เมืองเซินเจิ้น
- เมืองซูโจว
- เมืองชิงเต่า
- ฮ่องกง

เมืองทรงเสน่ห์

เมืองซูโจว

สวนคลาสสิคเมืองซูโจวมีประวัติศาสตร์มานาน 2,000 กว่าปี นับตั้งแต่ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 6 ในยุคชุนชิวชาว เมืองซูโจวได้รู้จักการสร้างและจัดสวนมาเนิ่นนานแล้ว มาในสมัยราชวงศ์หมิงแฟชั่นสร้างสวนของซูโจวยิ่งเป็นที่นิยมไปทั่ว ส่งผลให้ปลายสมัยราชวงศ์ชิงมีสวนทั้งในและนอกเมืองซูโจวรวมอยู่ถึง 170 กว่าสวนสวนหลากหลายในเมืองซูโจว แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ คือ สวนในที่พักอาศัย สวนในวัด และสวนชานเมือง โดยมีสวนในที่พักอาศัยเป็นพระเอก เพราะมีปริมาณมากที่สุด อีกทั้งมีกลิ่นอายของศิลปะที่ละเมียดละไมโดดเด่น แต่ทั้งหมดล้วนสร้างสีสันและบรรยากาศให้เมืองซูโจว เมืองแห่งแม่น้ำและลำ คลอง หรือ ‘ดินแดนเวนิสแห่งตะวันออก’ นี้ ยังเป็นดินแดนแห่งสวนยุคราชวงศ์หมิงและชิง ในคริสต์ศตวรรษที่ 14-20 หรือ ‘เมืองแห่งสวน’

ช่วงสมัยราชวงศ์ หมิงและชิง วัฒนธรรมแบบเศรษฐกิจระบบศักดินาในซูโจวเจริญถึงขีดสุด ศิลปะการจัดสวนก็พัฒนาถึงขั้นสุกงอม ก่อเกิดศิลปินด้านการจัดสวนขึ้นมากลุ่มหนึ่ง สร้างสรรค์ผลงานสวนจำลองธรรมชาติออกมาจำนวนมาก ฉุดให้กระแสนิยมการสร้างสวนถาโถมขึ้น กล่าวกันว่าในยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของสวนซูโจวสวนในจวนเจ้านายชั้นสูงขันทีและมหาเศรษฐีมีอยู่ถึง280กว่าแห่งซึ่งปัจจุบันสวนที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ใกล้เคียงยุคสมัยโบราณ และมีชื่อเสียงเลื่องลืออยู่ราว 10 กว่าแห่ง ได้แก่ สวนชางลั่งถิง (พลับพลาเกลียวคลื่นสีคราม สร้างขึ้นในสมัยซ่ง สวนป่าซือจึหลิน หรือสวนป่าสิงโตสวนสมัยราชวงศ์หยวน หรือสวนสมัยหมิงอย่างสวนจัวเจิ้ง(และสวนสมัยชิง เช่น สวนหลิวและสวนอี๋หยวน (สวนสราญรมย์ และชื่อเสียงความงามของสวนสี่ยุคนี้เอง ทำให้สวนซูโจวได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

สุดยอดสวนโบราณซูโจวที่เลื่องชื่อและเป็นมรดกโลก

  • สวนจัวเจิ้ง เป็นสวนที่สร้างในสมัยราชวงศ์หมิง รัชกาลเจิงเต๋อ ปีที่ 4 ตรงกับค.ศ.1509 มี พื้นที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของสวนโบราณทั้งหมดในเมืองซูโจว ถึง 51,590 ตรม. โดดเด่นในด้านภูมิทัศน์ทางน้ำซึ่งกินพื้นที่ถึง 3 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมด โชว์ศิลปะการไหลเวียนตามธรรมชาติที่เรียบง่ายแบบคลาสิคสมัยหมิง นอกจากนี้ ยังตบแต่งประดับประดาด้วยโคลงคู่และภาพวาดพู่กันจีน เนื่องจากมีศิลปินกวีแห่งเจียงหนันร่วมในการออกแบบ 
  • สวนหลิว สร้างในสมัยราชวงศ์หมิงเช่นกัน แต่หลังสวนจัวเจิ้ง 80 กว่าปี ในรัชสมัยวั่นลี่ ปีที่ 21 (ค.ศ.1593) มีพื้นที่ 23,310 ตรม. ในอดีตมีชื่อว่า ‘สวนตะวันออก’ เป็นสวนศิลปะเจียงหนัน ขนานแท้ โดดเด่นด้านการจัดวางและช่องว่าง มีการโชว์ลูกเล่นของลักษณะความแตกต่างทางสถาปัตยกรรรมที่สร้างมุมมองระดับต่างๆ ได้อย่างงดงามลงตัว ที่มีทั้งโครงสร้างสถาปัตยกรรมแบบยาว-สั้น สูง-ต่ำ ใหญ่-เล็ก หรือที่นำสายตาด้วยเส้นโค้ง-ตรง หรือขยาย-ย่อสัดส่วนพื้นที่ ตลอดจนการเล่นแสงเงามืด-สว่างตามมุมต่างๆของอาคารเป็นต้น
  • สวนหวั่งซือ พื้นที่ 5,400 ตรม. ขนาดเล็กเพียง 1 ใน 6 ของสวนจัวเจิ้ง เป็นสวนในที่พักอาศัยแบบคลาสิคของเจียงหนัน แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ด้านตะวันออกเป็นเรือนพักอาศัย ด้านตะวันตกเป็นสวน ใจกลางมีสระน้ำขนาด 440 ตรม. พร้อมด้วยระเบียงทางเดิน เก๋งจีน ศาลาริมน้ำอยู่ภายในสวน เฟอร์นิเจอร์และโคมไฟที่ประดับภายในอาคารก็เป็นศิลปะยุคราชวงศ์หมิง สวนหวั่งซือสร้างขึ้นราวปี ค.ศ.1174 โดยอดีตเสนาบดีปลดเกษียณสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ เริ่มจากความตั้งใจที่สร้าง ‘หอวั่นเจวี้ยนถัง’ ขึ้นเป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงต้อนรับแขก โดยด้านข้างหอมีแปลงปลูกดอกไม้ชื่อ ‘อี๋ว์อิ่น’ แปลงดอกไม้นี้ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ‘สวนหวั่งซือ’ ซึ่งมาจากชื่อซอยที่มีเสียงใกล้เคียงว่า ‘หวังซือ’ ในสมัยราชวงศ์ชิง ได้กลายมาเป็นที่แปรพระราชฐานเพื่อการพักผ่อนตากอากาศและใช้เวลาส่วนพระองค์ของจักรพรรดิคังซี
  • สวนชางลั่งถิง หรือสวนพลับพลาเกลียวคลื่น เป็นสวนเก่าแก่ที่สุดในจำนวนสวนโบราณซูโจวทั้งหมด ชื่อของ 'ชางลั่งถิง' หรือพลับพลาเกลียวคลื่น ปรากฏขึ้นครั้งแรกในศิลาจารึกแผนที่เมืองผิงเจียง(ซูโจว ค.ศ.1229) สมัยราชวงศ์ซ่ง และยังมีบันทึกการเอ่ยชื่อ ‘พลับพลาชางลั่งถิง’โดยกวีในสมัยเดียวกันด้วย องค์ประกอบสำคัญของสวนแห่งนี้ คือ หิน ต้นไผ่ เนินเขา และสวนหย่อม กำแพงด้านตะวันตกของอาคารสถาปัตยกรรมหลักในสวน ตบแต่งด้วยภาพวาดบุคคลชั้นสูงในประวัติศาสตร์ ซูโจวกว่า 500 ชิ้น ซึ่งเป็นเสน่ห์ของสวนแห่งนี้
  • สวนป่าซือจึหลิน มีพื้นที่ 1,152 ตรม เป็นสวนสมัยศตวรรษที่ 14 ส่วนที่โดดเด่นที่สุดของสวนแห่งนี้คือ ภูเขาหินจำลองที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ และสิ่งปลูกสร้างรอบๆทะเลสาบรวมถึงน้ำตกและหน้าผาจำลองริมทะเลสาบ ยังมีการสร้างเขาวงกต ที่ประกอบด้วยถ้ำ ทางเดิน และปลูกต้นไซปรัสและสนโบราณ สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์และที่มาของชื่อสวนแห่งนี้ คือ หินรูปร่างพิสดารที่มีการแกะสลักเป็นรูปสิงโตในท่าทางต่างๆ ที่บางคนมองว่าเป็นท่วงท่าสิงโตเต้นระบำ หรือกำลังกระโจนผาดโผน เป็นต้น สวนป่าซือจึหลินเป็นความภาคภูมิใจของเมืองซูโจว ในฐานะที่จำลองทัศนียภาพของป่าและเขา โดยมีการจัดวางองค์ประกอบ  สวนซือจึหลิน หรือสวนป่าสิงโต ต่างๆในพื้นที่จำกัดตามสไตล์‘เซน’ แก่นแท้ของ‘ศิลปะ’ใน‘สวน’สวนในเมืองซูโจว มักเป็นสวนพื้นที่เล็กๆ แต่อาศัยการเล่นเทคนิคที่ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว และไม่เคร่งครัดในกรอบ ออกแบบโดยยึดหลักความงามแบบคลาสสิกของจีนที่มักแสดงออกมาในรูปของภาพ ทิวทัศน์ ภูเขา สายน้ำ สัตว์ปีกและดอกไม้ นิยมสร้างเป็นภูเขาจำลอง สวนป่า และจัดวางศาลา หอสูง ขุดสระน้ำ สร้างทางเดินทางแยก และสะพานเล็กๆ เป็นต้นทั้งนี้ยังแฝงไว้ด้วยแง่คิดทางศิลปะจากกวีนิพนธ์ในสมัยถังและซ่ง และสอดแทรกปรัชญาเต๋า พุทธ และแนวคิดของขงจื้อ ซึ่งสอดคล้องกับคติการดำเนินชีวิตของชาวจีน ด้วยบรรยากาศการตกแต่งและแนวคิดที่แฝงเร้นในสวนทำให้สวนโบราณซูโจว ได้ชื่อว่าเป็นผลงานศิลปะที่รวมไว้ซึ่งคุณค่าหลายแขนง ทั้งในแง่ศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และธรรมชาติ
สวนโบราณในเมืองซูโจว เปรียบเสมือน‘ป่าในเมือง’ คือ โลกจำลองของสภาพที่เป็นจริงในธรรมชาติ ดังคำเปรียบเปรยของสวนโบราณในซูโจวที่ว่า ‘น้ำหนึ่งกระบวยแทนสายน้ำ หินหนึ่งกำปั้นแทนขุนเขา’ แม้ แต่สภาพอากาศในสวนก็ผันแปรไปตามฤดูกาล ยังความรื่นรมย์ให้แก่ชาวเมือง ราวกับได้ออกท่องป่าชมความงามตามธรรมชาติจริงๆโดยที่ไม่ต้องออกไปแสวงหาความสุขที่ไหนให้ไกลบ้าน ลักษณะพิเศษของสวนโบราณในซูโจวอีกประการหนึ่ง คือ การจำลองภาพความงามในจินตนาการของกวีและศิลปินภาพวาดพู่กันจีน มาไว้ในหินทุกก้อน น้ำในสระ หรือแม้แต่แมกไม้ที่นำมาปลูกอยู่ในสวน แนวคิดการจัดสวนนี้ได้เริ่มมาพร้อมกับกำเนิดของสวนซูโจวสืบเนื่องจากพื้นฐานการศึกษาของผู้สร้างสวนในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นผู้รู้ในเรื่องกวีหรือวรรณกรรมและเสพงานศิลปะเป็นชีวิต ตกผลึกเป็นแนวคิดที่ว่า ‘สวน คือ กวีที่ไร้สรรพสำเนียง และคือ ภาพวาดที่มีมิติ’ และเพื่อตอบสนองต่อทัศนคติดังกล่าว นักสร้างสวนจะมีมโนภาพเกี่ยวกับสวนไว้โดยให้ ‘ภาพวาด’ เป็นมูลฐาน และมี ‘บทกวี’ เป็นหัวข้อหลักและเพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งแนวคิดหลักของสวน ในแง่ความต้องการ อุดมคติ ตลอดจนอารมณ์ความรู้สึกนานาประการ สวนจำนวนมากจึงมีแบบฉบับการตกแต่ง เช่น การแขวนป้ายคำขวัญไว้เหนือประตูทางเข้า หรือการแขวนโคลงคู่ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเค้าโครงความคิดหลักของสวน นั้นๆ ซึ่งเป็นลีลาการแสดงออกของผู้พิสมัยด้านโคลงฉันท์กาพย์กลอนในสมัยโบราณ อีกด้านหนึ่งก็ให้ความสนใจในการจัดวางต้นไม้ สระน้ำ การสร้างทางเดิน ตลอดจนศาลาริมน้ำและภูเขาจำลองอย่างกลมกลืน งดงามละมุนละไม แม้ว่าสวนส่วนใหญ่ในซูโจวจะมีขนาดเล็ก หากทว่า แพรวพราวไปด้วยเทคนิคเชิงศิลปะ ด้วยการตกแต่งในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่สื่อความหมายลึกซึ้ง อาทิ สวนที่มีแนวคิดยก ‘น้ำ’ ขึ้นเป็นตัวเอก เช่น สวนจัวเจิ้ง จะมีศูนย์กลางซึ่งเป็นพื้นที่น้ำมากถึง 1 ใน 3 ส่วน พันธุ์ไม้ที่ตกแต่งรอบสระเน้นความเขียวชะอุ่มกลมกลืนรับกับสระน้ำกว้าง สิ่งก่อสร้างโดยรอบสูงต่ำลดลั่นชัดเจน อีกฝั่งหนึ่งใช้ลูกเล่นระเบียงวนเป็นคลื่นขึ้นลงแลดูนุ่มนวลสบายตา เมื่อใดที่ได้เตรดเตร่อยู่ตามทางเดินวกวนในสวน นอกจากจะเพลิดเพลินกับความงามในซอกมุมต่างๆแล้ว ทุกส่วนของการจัดแต่งยังเต็มไปด้วยปริศนาให้ครุ่นคิด ตีความและค้นพบ เฉกเช่น เดินเข้าสู่ภาพวาดในอีกมิติหนึ่ง หรือกำลังดื่มด่ำกับความแหลมคมและยอกย้อนของกวีนิพนธ์ เป็นความหลักแหลมและชั้นเชิงของศิลปินผู้สร้างงานสวน ในการโน้มนำผู้ชมสวนให้เข้าสู่มนต์ขลังของธรรมชาติ

ข้อมูลทั่วไป
ชนเผ่า
เมืองโบราณทั้งเจ็ดของจีน
เมืองทรงเสน่ห์
ท่องเที่ยวเมืองจีน

พิเชฎฐ์ ชัยยัง การศึกษาอิสระ ประกาศนียบัตรบัณฑิต วิชาชีพครู สำนักบัณฑิต สถาบันราชภัฏเชียงราย มกราคม 2553
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย