ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »
จังหวัดปัตตานี
ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี จังหวัดปัตตานี
ประเพณีชักพระ
พิธีรำลึกถึงวันรับเสด็จองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับจากจำพรรษา
และแสดงพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ โปรดพระพุทธมารดา ณ ดาวดึงส์ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11
ครั้งพุทธกาล ต่อมาจึงได้กลายเป็นประเพณีกระทำกันทุกปี
โดยพุทธศาสนิกชนในท้องที่อำเภอโคกโพธิ์และใกล้เคียงจะชักลากเรือพระ
ที่ตกแต่งอย่างสวยงามจากวัดต่างๆ ผู้ร่วมขบวนจะแต่งกายอย่างงดงาม
มีการฟ้อนรำหน้าเรือพระ
ประเพณีแห่นก
จัดขึ้นเป็นเกียรติในงานเทศกาลงานเฉลิมฉลอง หรืองานมงคลทั่วไป เช่น
พิธีสุหนัดในศาสนาอิสลาม
หรือใช้เป็นขบวนแห่ต้อนรับอาคันตุกะผู้เป็นแขกบ้านแขกเมืองคนสำคัญ
นอกจากนี้ยังมีประเพณีงานสารทเดือน 10 ระหว่างวันแรม 14-15 ค่ำ
มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว กลางคืนมีมหรสพของปักษ์ใต้ฉลอง
เช่น ลิเกฮูลู ซึ่งคล้ายกับลำตัดหรือเพลงฉ่อยของภาคกลาง โนรา หนังตะลุง รองเง็ง
(คล้ายรำวง นิยมเล่นกันในราชสำนักชวามาก่อน จึงแพร่หลายเข้ามาทางปักษ์ใต้) มะโย่ง
(ละครไทยมุสลิมภาคใต้) ซีละ (กีฬาอย่างหนึ่งของชาวมลายู
ซึ่งแสดงถึงศิลปะการต่อสู้ที่สง่างามและกล้าหาญ)
งานฮารีรายอ
งานฉลองการเลิกถือศีลอดของชาวไทยมุสลิม (ในช่วงเดือน 9 ถึงวันที่ 1 เดือน
10 เป็นเวลา 30 วัน) หลังจากการเลิกถือศีลอดแล้ว
ชาวไทยมุสลิมในปัตตานีจะไปชุมนุมกันที่มัสยิดกลาง
เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาอิสลามโดยพร้อมเพรียงกัน
งานฉลองเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
เป็นงานประเพณีที่ทำกันทุกปี ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย
ตามจันทรคติของจีน คือหลังวันตรุษจีน 15 วันของทุกปี
มีการสมโภชแห่แหนรูปสลักไม้มะม่วงหิมพานต์ของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและรูปพระอื่นๆ
โดยอัญเชิญออกจากศาลมาประทับบนเกี้ยว มีการลุยไฟและแสดงอภินิหารต่างๆ
เพื่อพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่
งานแห่พระอีก๋ง
หรือแห่เจ้าพ่อเล่าเอี่ยกง
เป็นงานประเพณีของอำเภอสายบุรี ซึ่งจัดในวันแรม 2 ค่ำ และ 3 ค่ำ เดือน 3
ของทุกปี ณ บริเวณศาลเจ้าบางตะโละ ซึ่งตรงข้ามตำบลตะลุบัน
หรือบริเวณศาลเจ้าแห่งใหม่ในเขตเทศบาลตำบลตะลุบัน
โดยผลัดกันจัดงานสมโภชในแต่ละแห่งปีเว้นปี
มีการจัดขบวนแห่รูปแกะสลักไม้เป็นรูปพระเจดีย์เจ้าพ่อเล่าเอี่ยกงและบริวาร
ประเพณีลาชัง
ประเพณีนี้ชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามเรียกว่า "ปูยอบือแน"
เป็นพิธีฉลองนาข้าว หรือซังข้าว ซึ่งทำกันทุกหมู่บ้าน ทั้งไทยพุทธและไทยอิสลาม
ประเพณีนี้จะจัดให้มีขึ้นภายหลังการเก็บเกี่ยวข้าวราวเดือน 5 หรือเดือน 6
มีการทำหุ่นฟางรูปชาย-หญิงจับคู่กัน แล้วจัดขบวนแห่ไปวางไว้บนศาลเพียงตา
พร้อมทั้งเครื่องสังเวย เช่น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวเหนียวห่อต้ม ไข่ต้ม
หลังจากนั้นผู้อาวุโสในหมู่บ้านท่านหนึ่งจะกล่าวคำบวงสรวงแต่งงานให้แก่หุ่นซังข้าว
แล้วนำหุ่นดังกล่าวไปเก็บไว้ในนาใกล้ๆ ศาลเพียงตา
จุดประสงค์ของการทำพิธีนี้ก็เพื่อขอบคุณเจ้าแม่โพสพ
หรือพระเจ้าที่บันดาลให้พืชผลอุดมสมบูรณ์
จังหวัด » กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี