ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »
จังหวัดปัตตานี
ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก
ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดปัตตานี(3)
ครั้นถึงปี พ.ศ.2375 เกิดทุพภิกขภัยขึ้นในรัฐไทรบุรี ราษฎรประสพความอดอยากแร้นแค้น ทำให้ผู้คนในเมืองไทรบุรีเกิดความระส่ำระสาย ตนกูเด(บุตรชายตนกูรายาพี่ชายเจ้าเมืองพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ซึ่งเอาใจออกห่างไปเข้ากับพม่า) ได้เข้ามาเกลี้ยกล่อมและปลุกระดมชาวเมืองไทรบุรีก่อการจลาจลขึ้น แล้วยึดเอาเมืองไทรบุรีจากพระยาภักดีบริรักษ์ (แสง) บุตรของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ไว้ได้
การกบฏในครั้งนี้ศาสตราจารย์ฮอลล์กล่าวว่า "ได้มีการวางแผนกันที่ปีนังต่อหน้าต่อตาเจ้าหน้าที่อังกฤษทีเดียว" การแทรกแซงของอังกฤษนี้สืบเนื่องมาจาก ข้าราชการและพ่อค้าชาวอังกฤษในปีนังเห็นว่าการที่รัฐบาลไทย เข้ายึดครองเมืองไทรบุรีไว้จะทำให้ไทยเข้ามามีอำนาจครอบงำเหนือรัฐต่างๆ ในมลายูเป็นการขัดขวางผลประโยชน์ของพวกตนในอนาคตทั้งที่บริษัทอีสต์อินเดีย ก็ออกคำสั่งให้ยึดนโยบายไม่เข้าแทรกแซงต่อกิจการของรัฐมลายู แต่ชาวอังกฤษในปีนังก็พยายามฝ่าฝืน
พระยาภักดีบริรักษ์(แสง) ได้อพยพผู้คนถอยไปตั้งรับพวกกบฏอยู่ที่เมืองพัทลุง และรายงานการเสียเมืองไทรบุรีไปให้เจ้าพระยานคร(น้อย) ทราบ ขณะนั้นพระสุรินทร์ข้าหลวงในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ออกมาปฏิบัติราชการอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชเจ้าพระยานครฯ จึงให้พระสุรินทร์ออกไปเกณฑ์กองทัพเมืองสงขลาพระยาสงขลา(เถี้ยนจ๋ง) จึงมอบหมายให้พระยาสุรินทร์นำคำสั่งไปยังหัวเมืองทั้ง7 ให้เกณฑ์ไพร่พลมาสมทบกับทหารเมืองสงขลา เพื่อยกไปตีเอาเมืองไทรบุรีคืน
เมื่อชาวเมืองต่างๆทราบว่าถูกเกณฑ์ไปทำการรบกับเมืองไทรบุรี ก็พากันหลบหนีพระสุรินทร์จึงลงโทษ แก่กรมการเมืองด้วยการปรับไหมเรียกเป็นเงิน-ทอง เป็นเหตุให้เจ้าเมืองต่างๆ(เว้นเจ้าเมืองยะหริ่งสายบุรี) ไม่พอใจจึงพากันฉวยโอกาสทำการก่อกบฏขึ้นอีก
เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช และเจ้าเมืองสงขลาจึงมีใบบอกเข้าไปกรุงเทพฯ สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรด ให้เจ้าพระยาพระคลัง(ดิศบุนนาค) ยกกองทัพออกไปช่วยกองทัพเจ้าพระยาพระคลัง(ดิศบุนนาค) เดินทางลงไปถึงเมืองสงขลา เมื่อวันที่22 เมษายน 2375 แต่กองทัพของเจ้าพระยานครฯ ตีเมืองไทรบุรีกลับคืนได้แล้ว ตนกูเด็นไม่สามารถลงเรือหลบหนีทันจึงได้ฆ่าตัวตาย
ทางหัวเมืองทั้ง7(เว้นเมืองยะหริ่ง) ที่ร่วมกันก่อกบฏตามเมืองไทรบุรีนั้น เจ้าพระยาพระคลัง(ดิศบุนนาค) แต่งตั้งให้พระยาเพชรบุรีเป็นแม่ทัพนำกำลังทหารไปช่วย เจ้าเมืองสงขลาทำการปราบปราม
ต่วนสุหลง ผู้ว่าราชการเมืองปัตตานีผู้นำในการกบฏ เป็นพี่ชายของต่วนกะจิผู้ว่าราชการเมืองหนองจิก และเป็นหลานของหลงโมฮัมหมัดเจ้าเมืองกลันตัน (พงศาวดารเมืองกลันตันว่าหลงโมฮัมหมัดเป็นบุตรคนโตของพระยา บ้านชายทะเลหนังสือกรียาอันมลายูปัตตานี ว่าหลงโมฮัมหมัดเป็นน้องต่วนสุหลง)
พระยากลันตัน จึงให้รายามุดอกำปงลาโฮะตนกูบือซา และรายาบาโกนำทหารมาช่วยผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี พระยาตรังกานูก็ได้ส่งตนกูอิสเรสเจะบุลันวันคามาน และเจ๊ะอิสมาแอลเป็นแม่ทัพเรือนำกองทัพเมืองตรังกานู มาสมทบกับเมืองกลันตันยกมาช่วยผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี(ต่วนสุหลง) กองทัพพระยาเพชรบุรีและ เจ้าเมืองสงขลา(เถี้ยนเส้ง) เข้าตีเมืองปัตตานีทั้งทางบกและทางเรือ ต่วนสุหลงเห็นว่ากำลังทหารของตนสู้กับกองทัพกรุง และกองทัพเมืองสงขลาไม่ได้ จึงอพยพครอบครัวหนีลงเรือไปอาศัยอยู่กับพระยากลันตัน พร้อมกับต่วนกูโนผู้ว่าราชการเมืองรามันห์ต่วนกะจิผู้ว่าราชการเมืองหนองจิก และนิดะผู้ว่าราชการเมืองระแงะหนีไปทางบก กองทัพเมืองสงขลาติดตามไปทันกันที่บ้านยะรม (บ้านยะรมปัจจุบันอยู่ในเขตท้องที่อ.เบตงจ.ยะลา) พรมแดนเมืองเประกับเมืองรามันห์ ต่วนกะจิได้เสียชีวิตในขณะที่ต่อสู้กับกองทหารเมืองสงขลา แต่พระยาระแงะได้หลบหนีไปยังเมืองเประ
ขณะที่กองทัพไทยเตรียมกำลังจะยกไปตีเมืองกลันตัน พระยากลันตันทราบข่าวเกิดความหวาดกลัว จึงส่งเจ๊ะยามาเจ๊ะหลงเป็นทูตมาเจรจากับพระยาเพชรบุรีขอชดใช้เงิน เป็นค่าเสียหายให้แก่กองทัพไทยเป็นเงิน 50000 เหรียญ และยอมส่งตัวต่วนสุหลงผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี และต่วนกูโนผู้ว่าราชการเมืองรามันห์มามอบให้แก่แม่ทัพไทย
ทางเมืองตรังกานูเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศบุนนาค) มอบให้พระราชวังสันหลวงโกศาอิศ ให้นำกำปั่นรบ 8 ลำ ไปบังคับให้พระยาตรังกานู ส่งครอบครัวชาวเมืองปัตตานี และบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการร่วมกับพวกกบฏ มีมะหาหมุดดามิด และอะหะหมัดที่หลบหนีมาอาศัยอยู่ในเมืองตรังกานู พระยาตรังกานูสำนึกในความผิดจึงให้ทหาร ควบคุมครอบครัวชาวเมืองปัตตานีมา มอบให้สมเด็จเจ้าพระยาพระคลัง(ดิศบุนนาค)
หลังจากนั้นสมเด็จเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศบุนนาค) ก็ได้ประชุมปรึกษาเจ้าเมืองสงขลา พระยาเพชรบุรีพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่มีความชอบในการปราบกบฏครั้งนี้ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองที่ว่างลง ส่วนเมืองหนองจิกไม่ปรากฏว่าแต่งผู้ใดไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองในระยะนั้น
ปีพุทธศักราช 2381 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพระราชทานพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีสุลาไลย พระราชชนนีพระพันปีหลวง ในงานนี้เจ้าพระยานคร(น้อย) พระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) และผู้ว่าราชการเมืองทั้ง 7 ได้เข้ามาร่วมถวายเพลิงพระศพด้วย ตนกูมะหะหมัดซาอัดตนกูอับดุลย์เลาะห์หลานชายเจ้าพระยาไทรบุรี(ปะแงรัน) ร่วมกับหวันมะลีหัวหน้าโจรสลัดยกกำลังเข้ามาตีเมืองไทรบุรี และเมืองตรังไว้ได้แล้วก็ยกกำลังเข้ามาล้อมเมืองสงขลา
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยานคร(น้อย) พระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) และบรรดาผู้ว่าราชการเมืองทั้ง7รีบเดินทางออกไปป้องกันเมือง และโปรดให้พระยาศรีพิพัฒน์(ทัดบุนนาค) ยกทัพกรุงออกไปช่วย
ฝ่ายพวกกบฏได้ตีเมืองจะนะแตก เอาไฟจุดเผาเมืองและส่งคนมาตีชิงสะเบียงอาหารในเมืองสตูลไปจนหมดสิ้น แล้วยกกำลังเข้ามาตั้งค่ายคูรบอยู่ที่บ้านบางกระดาน เขาเก้าเส้ง เขาลูกช้าง บ้านปักแรต บ้านน้ำกระจาย พระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) จัดให้พระยาไชยาพระยาสาย(ต่วนหนิดะ) พระยาตานี(ทองอยู่) พระยายะหริ่ง(พ่าย) หลวงไชยสุรินทร์หลวงรายามุดา ขุนต่างตานายช้างมหาดเล็ก นำทหารแยกย้ายกันเข้าตีค่ายพวกบฏ (ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านบางกระดาน เขาเก้าเส้ง เขาลูกช้าง บ้านปลักแรด บ้านน้ำกระจาย) กองทัพเมืองสงขลานำเอาปืนจ่ารงค์ยิงถูกหอรบฝ่ายกบฏ ทะลายลงห้าหอนำเอาหม้อดินบรรจุดินปืนจุดไฟทิ้งเข้าไปเผาค่าย พวกกบฏตกใจพากันแตกหนีไปทั้ง5ค่าย
หลังจากนั้นกองทัพกรุงชุดแรก ในความบังคับบัญชาของพระยาวิชิตณรงค์ และพระราชรินทร์ก็ยกไปถึงเมืองสงขลา ได้ออกตามไล่จับพวกกบฏที่ถอยหนีได้อีก 2 คน แขก 2 คน (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงตรัสกับหมื่นจงสรสิทธิผู้กราบทูลถวายรายงานว่า "ได้นักหนาทีเดียวได้แต่ของมันลืมทิ้งอยู่ที่ไหนนั่นเอง" และอีกตอนหนึ่งว่า "ก็จับได้คนป่วยคนง่อยที่มันทิ้งอยู่กลางทางหนีไม่ทันนั่นเอง" )
ทางด้านเมืองไทรบุรีกองทัพของเจ้าพระยานคร(น้อย) ตีเมืองไทรได้กลับคืนพวกกบฏพากันหลบหนีเข้าไปอาศัยอยู่ในเขตโปรวินซ์เวลสสลีย์ ในความปกครองของอังกฤษ ทหารไทยไม่สามารถติดตามเข้าไปด้วยเกรงจะกระทบถึงสัมพันธไมตรีกับ ประเทศอังกฤษ
ในการปราบกบฏตนกูมะหะหมัดซาอัดครั้งนี้ นายบุญเมน ชาวบ้านตัดหวายเมืองจะนะ กับพวกมีความชอบด้วย ได้ช่วยเหลือราชการระดมผู้คนมาช่วยป้องกันบ้านพระจะนะ(บัวแก้ว) ซึ่งไปช่วยราชการสงครามอยู่ที่เมืองสงขลา ให้รอดพ้นจากพวกกบฏนำไฟเผาบ้านเรือนไว้ได้ จึงได้รับการแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองหนองจิก ที่ยังว่างอยู่
ส่วนพระยาตานี(ทองอยู่) นั้นเข้าใจว่าจะถึงแก่กรรมลง หลังจากไปช่วยราชการปราบกบฏกลับมาเมืองปัตตานีแล้วไม่นาน เพราะพงศาวดารเมืองสงขลากล่าวว่าใน ปี พ.ศ.2382 พระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) ได้แต่งตั้งให้พระยาวิชิตณรงค์กับนายแม่นมหาดเล็กบุตรของพระยาสงขลา(เถี้ยนจ๋ง) เป็นผู้รักษาราชการเมืองปัตตานีอยู่ชั่วคราวจนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2383 จึงได้แต่งตั้งให้นิยุโซะ(หรือโต๊ะกี) เป็นผู้ว่าราชการเมืองคนต่อมา
ฝ่ายข้างเมืองกลันตันตนกูสนิ(ปากแดง) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองกลันตัน
ตนกูปะสากับพวกมีตนกูเงาะพระยาบาโงย ตนกูหลงอาหมัดและบุตรของตนกูศรีปัตรามหารายา
เกิดวิวาทกับพระยากลันตัน(ตนกูสนิ-ปากแดง)
เนื่องจากตนกูปะสาน้อยเนื้อต่ำใจว่าตนและพวกได้ช่วยเหลือสนับสนุนให้ตนกูสนิ(ปากแดง)
ให้ได้เป็นเจ้าเมืองกลันตัน
แต่ตนกูสนิกลับใช้อำนาจยึดเอาที่ดินและไร่นาของตนไปครอบครอง
จึงพากันซ่องสุมผู้คนขึ้นเพื่อที่จะสู้รบชิงที่ดินกลับคืน
พระยากลันตันและตนกูปะสาต่างก็ร้องเรียนกล่าวโทษ ซึ่งกันและกัน
ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงทรงรับสั่งให้พระยาศรีพิพัฒน์ฯและเจ้าพระยานคร(น้อย)
ให้หาทางไกล่เกลี่ยระงับเหตุการณ์ในเมืองกลันตัน ต่อมาพระยากลันตัน(สนิปากแดง)
ให้เจ๊ะยะปาเจ๊ะสุไลมานทำหนังสือขอกำลังทหารจากเจ้าพระยานคร(น้อย) 2000 คน
ให้ไปคุ้มครองเมืองกลันตัน เจ้าพระยานคร(น้อย)
ให้นายเจ๊ะนุนายสังข์ทำหนังสือไปตักเตือนตนกูปะสา
แทนที่ตนกูปะสาจะเชื่อฟังกลับกล่าวท้าทายว่า
"อย่าว่าแต่มีหนังสือเขียนด้วยน้ำหมึกมาห้ามเลยถึงจะเขียนด้วยน้ำทองมาห้ามก็ไม่ฟัง"
แต่ได้ส่งผู้แทนขึ้นไปกราบเรียนพระยาศรีพิพัฒน์ฯที่เมืองสงขลาว่า
"การที่จะให้ฟังบังคับบัญชาพระยากลันตันนั้นเหลือสติกำลังคิด
เมื่อพระยากลันตันจะได้เป็นพระยากลันตันตนกูปะสา
ก็ช่วยว่ากล่าวจึงได้เป็นพระยากลันตันตนกูปะสาหาได้ตำแหน่งอะไรไม่
ครั้นพระยากลันตันได้เป็นพระยากลันตัน
แล้วก็ทำการข่มเหงพี่น้องจึงได้ทะเลาะกันการครั้งนี้
จะรบสู้กันอย่างไรก็เป็นสิทธิของตนกูปะสา
ทั้งสิ้นถ้าเมตตาโปรดแล้วก็ขอเอาแผ่นดินบ้านตนกูปะสา
ฟากหนึ่งตั้งแต่ปลายน้ำตลอดไปจดปากน้ำให้เป็นของตนกูปะสาทำราชการต่อไป
ถ้าพระยากลันตันจะถวายอย่างไรตนกูปะสา ก็จะถวายให้เหมือนอย่างพระยากลันตัน
"(ดูจดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ)
พระยาศรีพิพัฒน์(ทัดบุนนาค) เห็นว่าตนกูปะสายังดื้อดึงอยู่จึงให้พระยาไชยาคุมพลทหาร 1 กอง ลงเรือรบไปนำเอาตัวตนกูปะสาและพระยากลันตัน ขึ้นมาพบกับพระยาศรีพิพัฒน์ที่เมืองสงขลา พระยาศรีพิพัฒน์ฯ ว่ากล่าวประนีประนอมให้คนทั้งสองเข้าในกันแล้ว ก็ให้กลับไปเมืองกลันตันเหตุการณ์จึงสงบไปชั่วคราว
ครั้นถึงปี พ.ศ. 2384 ตนกูปะสาได้เดินทางเข้าไปกรุงเทพฯ กล่าวหาพระยาจางวางและตนกูศรีอินทราว่าริบเอาเรือกสวนไร่นาของตนไป ฝ่ายพระยากลันตันก็มีใบบอกฟ้องตนกูปะสา เข้ามาว่าตนกูปะสาส่งคนไปชักชวนพระยาบาโงย และพวกเมืองตรังกานูเมืองลิงาให้มาตีเมืองกลันตัน
สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระยากลันตัน กับตนกูปะสาทะเลาะวิวาทกันมาหลายครั้งไม่สามารถทำความเข้าใจกันได้ หากจะให้คงอยู่ร่วมบ้านเมืองเดียวกันต่อไป อาจทำให้เมืองกลันตันเกิดการจลาจลขึ้นซึ่งจะกระทบกระเมือน ถึงความมั่นคงของบูรณภาพแห่งดินแดนในหัวเมืองทั้ง 7 จึงโปรด ให้ถามตนกูปะสาว่า จะแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองหนองจิก จะยินดีรับหรือไม่ตนกูปะสาก็ยินยอมรับจะกลับไปรับครอบครัวพามาอยู่เมืองหนองจิก จึงโปรดให้พระยาท้ายน้ำเดินทางไปเมืองกลันตัน เพื่อช่วยเหลือในการจัดพาหนะนำบ่าวไพร่ของตนกูปะสา ให้มาอยู่เมืองหนองจิกแต่ครั้นตนกูปะสาลงไปเมืองกลันตัน ชักชวนพระยาบาโงยตนกูหลงอาหมัดให้อพยพลงไปอยู่เมืองหนองจิก ด้วยกันพระยาบาโงยและตนกูหลงอาหมัดไม่เห็นด้วยตนกูปะสา จึงกลับใจไม่ยอมลงไปเมืองหนองจิกด้วยการเสนอเงินสินบน 10000 เหรียญ แก่พระยาท้ายน้ำ เพื่อเจรจาหาทางให้ตนกูปะสาได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองกลันตัน
พระยาท้ายน้ำ จึงมีใบบอกพร้อมด้วยหนังสือของตนกูปะสา เข้ามากรุงเทพฯพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว "จึงโปรดให้พระนครฯเกณฑ์กองทัพเมืองนครศรีธรรมราช 2000 คน และให้พระเสน่หามนตรีคุมลงไปสมทบกับกองทัพเมืองสงขลาอีก 2000 คน พระสุนทรรักษ์(สังข์) เป็นหัวหน้ายกลงไปถึงเมืองกลันตัน "บังคับตนกูปะสาให้ลงมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองหนองจิก แทนนายบุญเมนซึ่งถูกปลดออกจากราชการ ตนกูปะสาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการหนองจิกอยู่เพียง 3 ปี
ครั้นถึง พ.ศ. 2388 พระยาตานี(หนิยุโซะหรือโต๊ะกี) ถึงแก่กรรม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ตนกูปะสาเป็นพระยาวิชิตภักดีศรีรัตนาเขตประเทศราช และให้ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี แต่งตั้งนายเกลี้ยงเป็นพระยาวิเชียรภักดีศรีสงคราม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองหนองจิก
ทางด้านเมืองยะหริ่ง เมื่อพระยายะหริ่ง(พ่าย) ถึงแก่กรรมลง โปรดให้ย้ายพระยายะลา(ยิ้มซ้าย) มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองยะหริ่งและ แต่งตั้งนายเมืองบุตรพระยายะหริ่ง(พ่าย) ไปเป็นผู้ว่าราชการเมืองยะลาพระยายะหริ่ง(ยิ้มซ้าย) เป็นผู้ว่าราชการอยู่จนถึงปี พ.ศ.2396 ก็ได้ถึงแก่กรรมลง โปรดให้พระยาจางวาง(สุลต่านเดวอ) ซึ่งพระยานครฯ ขอตัวไปช่วยราชการอยู่เมืองนครศรีธรรมราช มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองยะหริ่งและแต่งตั้งนายแตง(ตีมุง) เมื่ออยู่ในวัยเยาว์ได้ติดตามข้าราชการไทยไปอยู่กรุงเทพมหานคร และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ มีตำแหน่งเป็นสมุห์แตงแล้วลาอุปสมบทออกมารับราชการ ในสังกัดกรมพระราชวังบวรสถานมงคล) บุตรพระยาตานี(หนิยุโซะ) ซึ่งเป็นข้าราชการในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ออกมาเป็นปลัดเมืองยะหริ่งพระยาจางวาง(สุลต่านเดวอ) ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองยะหริ่งได้เพียงปีเดียวก็ถึงแก่กรรม จึงโปรดเกล้าฯพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้นายแตง(ตีมุง) เป็นพระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดีศรีสุรสงครามและให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองยะหริ่ง สืบแทนพระยาจางวาง(สุลต่านเดวอ) แต่งตั้งหนิละไมเป็นพระยาสุริยสุนทรบวรภักดีศรีมหารายาปัตตาอับดุลวิบูลย์เขตประเทศราช ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสายแทนนิดะพระยาสายบุรีที่ถึงแก่กรรม แต่งตั้งต่วนติมุงเป็นพระยารัตนภักดีศรีราชบดินทร์สุรินทร์วังสาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองรามันห์ แทนพระยารามันห์(ต่วนกุโน) แต่งตั้งตุวันโหนะเป็นพระยาภูผาภักดีศรีสุวรรณประเทศวิเศษวังสา แทนพระยาระแงะ(ตุวันบอซู) ที่ถึงแก่กรรมนายเมืองผู้ว่าราชการเมืองยะลาล้มป่วย ถึงกับทุพลภาพว่าราชการไม่ได้พระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) จึงปลดออกจากราชการ แต่งตั้งให้ตุวันปุเต๊ะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองยะลาแทน
พ.ศ. 2399 พระยาวิชิตภักดีฯ(ตนกูปะสา) ถึงแก่กรรมสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่วนกูปุเต๊ะบุตรชายตนกูปะสาเป็นพระยาวิชิตภักดีศรีรัตนาเขตประเทศราช ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี
ตนกูปุเต๊ะได้สมรสกับตนกูจิ ธิดาของพระยากลันตัน(ตนกูสนิปากแดง) ได้บุตรชายชื่อตนกูปะสา (ชาวปัตตานีนิยมเรียกชื่อบุตรคนแรกว่า"สุหลง"หรือ"บือซา"แปลว่าโต,ใหญ่,และเรียกบุตรคนสุดท้องว่า"บอซู") พระยากลันตันผู้เป็นคุณตานำไปเลี้ยงดูอยู่ที่เมืองกลันตัน เมื่อพระยากลันตันถึงแก่กรรมสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าแต่งตั้งตนกูปะสาให้เป็นพระยารัษฎาบุตรบุรุษพิเศษประเทศราชนฤบดินทร์สุรินทร์วังษา ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองกลันตันและต่อมาในปี พ.ศ.2419 เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเดชานุชิตมหิศรายานุกูลวิบูลย์ภักดีศรีสุลต่านมะหมัดรัตนธาดามหาปธานาธิการ สืบสายตระกูลปกครองเมืองกลันตันตกทอดกันมาถึงองค์สุลต่านแห่งรัฐกลันตันในปัจจุบัน
หลวงวิจิตรวาทการได้แสดงทัศนะต่อตนกูปะสาไว้ว่า "ตนกูปะสาซึ่งไม่ได้อะไรเลยในชั้นต้นลงท้ายก็ได้หมดทุกอย่าง ตัวเองได้เป็นเจ้าเมืองปัตตานีซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยกว่าเมืองอื่นผู้สืบสาย(โลหิต) ของตนนอกจากจะได้ครองเมืองปัตตานี แล้วยังได้ไปปกครองเมืองกลันตันซึ่งตัวต้องการมาก่อนอีกด้วย ให้คติที่ว่าหนทางการเมืองนั้นถ้าย่อหย่อนไม่มีปากไม่มีเสียงไม่ได้อะไรเลยก็ไม่ว่าอะไร ลงท้ายก็ไม่ได้อะไรจริงๆจะเป็นเพียงขั้นบันได หรือเรือจ้างให้คนอื่นเหยียบก้าวขึ้นไปหรือโดยสารข้ามฝั่งแล้วบันได หรือเรือจ้างนั้นก็จะถูกหาว่าเป็นของเลวของต่ำเสียอีกด้วย ไม่มีใครยกย่องไม่มีใครเห็นคุณงามความดีแต่ตนกูปะสาทำถูกตามวิถีทางของการเมือง คือเมื่อไม่มีใครให้ก็ต้องแสวงหาเอาเองแล้วลงท้ายก็ได้เอง "(ประชุมพงศาวดารฉบับความสำคัญของหลวงวิจิตรวาทการ)
พ.ศ.2424พระยาวิชิตภักดีฯ(ตนกูปุเต๊ะ) ถึงแก่กรรม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตนกูตีมุงขึ้นเป็นผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิชิตภักดีฯสืบต่อมา
พ.ศ.2433 พระยาวิชิตภักดี(ตนกูตีมุง) ถึงแก่กรรมตนกูสุไลมานหรือตนกูบอซู(บุตรคนสุดท้องของตนกูปะสา) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี และได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิชิตภักดีฯในสมัยของตนกูสุไลมานนี้ ได้สร้างสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ที่สำคัญยิ่งให้แก่เมืองปัตตานีไว้ชิ้นหนึ่ง แต่ก็เป็นการทำลายเมืองหนองจิกให้กลายสภาพเหมือนหนึ่งคนอัมพาต สืบเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบันคือการขุดคลองใหม่(สุงาบารู) ในเขตท้องที่อำเภอยะรังเหตุด้วยลำน้ำตานีเดิมเมื่อไหลมาถึงบ้านปรีกี ก็จะไหลวกไปออกตำบลคอลอตันหยง ตำบลยาบีในเขตท้องที่อำเภอหนองจิก สายหนึ่งแล้วจึงแยกสายน้ำไหลมาออกที่บ้านอาเนาะบุโละ(ลูกไม้ไผ่) ตำบลยะรังสู่ปากน้ำเมืองปัตตานีที่ตำบลสะบารังอีกสายหนึ่ง
ฉะนั้นเรือแพที่ล่องขึ้นลงไปมาค้าขายกับเมืองยะลารามันห์ ก็ต้องผ่านด่านภาษีของเมืองหนองจิก เรือสินค้าเหล่านี้จำเป็นต้องเสียค่าภาษีผ่านด่านให้แก่เมืองหนองจิก โดยเฉพาะภาษีดีบุกทำให้เมืองปัตตานีต้องขาดผลประโยชน์ไปเป็นจำนวนมาก ตนกูสุไลมานจึงทำการขุดคลองลัดขึ้นตรงบ้านคลองใหม่ออกมาสู่ตำบลยะรังในเขตพื้นที่ของเมืองปัตตานี ไม่ต้องผ่านเมืองหนองจิก
เนื่องจากคลองที่ขุดขึ้นใหม่เป็นเส้นทางตรงกระแสน้ำในแม่น้ำตานี จึงเปลี่ยนทางเดินออกมาสู่คลองใหม่หมดทำให้แม่น้ำตานี ตอนที่ไหลผ่านไปสู่เมืองหนองจิกค่อยๆตื้นเขินขึ้น เป็นลำดับประกอบกับมีการตัดไม้ทำลายป่าในเขตอำเภอเบตง ธารโตในจังหวัดยะลา ซึ่งเป็นต้นน้ำลำธารเป็นต้นเหตุให้ฝนตกน้อยลง เมื่อถึงหน้าแล้งน้ำในแม่น้ำลำคลองจะแห้งขาดช่วงเป็นตอนๆ ทำให้ราษฎรในท้องที่อำเภอหนองจิกขาดน้ำใช้ทำการเกษตรกรรม และเมื่อไม่มีน้ำจืดไหลออกไปผลักดันน้ำทะเลตรงปากน้ำ บางตาวาน้ำทะเลก็ไหลเอ่อเข้าสู่พื้นที่นาทำให้เกิดดินเค็มดินเปรี้ยว ทำนาไม่ได้หลายหมื่นไร ่เป็นเหตุให้เมืองหนองจิกที่ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ บันทึกไว้ในรายงานการตรวจราชการในปี พ.ศ.2439 ว่า "เมืองหนองจิกเป็นแหล่งข้าวที่นาดีหาเมืองจะเปรียบได้" ต้องกลายเป็นทุ่งนารกร้างว่างเปล่าใช้ประโยชน์มิได ้ราษฎรส่วนใหญ่ของเมืองนี้ล้วนมีอาชีพเป็นเกษตรกร เมื่อดินแปรเปลี่ยนสภาพไปทำนาไม่ได ้ต่างก็พากันอพยพออกไปหาแหล่งประกอบอาชีพต่างท้องที่จำนวนมาก ตรงกันข้ามเมืองตานีนอกจากผู้ว่าราชการได้รับค่าดีบุกเพิ่มยิ่งขึ้นแล้ว ราษฎรก็สามารถใช้พื้นที่ประกอบการเกษตรกรรมปลูกพืชผลอื่นๆ นอกจากข้าวเพิ่มขึ้นอีกด้วยเพราะมีน้ำอุดมสมบูรณ์
ปี พ.ศ. 2442 พระยาวิชิตภักดีฯ(ตนกูสุไลมานหรือบอซู) ถึงแก่กรรม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ตนกูอับดุลกาเดร์เป็นผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิชิตภักดีศรีรัตนา เขตประเทศราช และเป็นผู้ว่าราชการเมืองปัตตานีคนสุดท้าย ที่สืบเนื่องมาจากพระยาบ้านชายทะเลแห่งรัฐกลันตันอัน มีตนกูปะสาเป็นผู้ว่าราชการเมืองปัตตานีเป็นคนแรก เมื่อ พ.ศ.2388 และตนกูอับดุลกาเดร์เป็นคนสุดท้าย(ระหว่างปีพ.ศ.2442ถึงปีพ.ศ.2445) รวมเวลาที่ตระกูลพระยาบ้านชายทะเลปกครองเมืองปัตตานีอยู่เป็นเวลา 57 ปี
สาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงยกเลิกระบบการปกครองเมืองทำนองประเทศราช หรือแบบกินเมืองโดยมีเจ้าเมือง(หรือผู้ว่าราชการเมือง) และบุตร-หลานสืบทอดตำแหน่งต่อๆกันมานั้น เนื่องมาจากพระองค์ได้รับรายงานจากกรมการเมืองสงขลา ว่าราษฎรในเมืองยะหริ่งเข้ามาร้องเรียนกล่าวโทษเจ้าเมืองยะหริ่งว่า "เข้าปล้นบ้านหนิควรฆ่าบุตรภรรยาบ่าวไพร่และเก็บเอาทรัพย์สมบัติไป"
ทางเมืองรามันห์เจ้าเมืองรามันห์ และบุตรชายคือหลวงรายาภักดี ก็ถูกราษฎรร้องทุกข์กล่าวโทษหาว่าพระยารามันห์และญาติพี่น้องใช้อำนาจ กดขี่ราษฎรด้วยการเกณฑ์แรงราษฎรไปทำงานส่วนตัวเป็นระยะเวลานาน จนราษฎรไม่มีเวลาจะใช้ทำไร่นาของตน ส่วนหลวงรายาภักดีชอบประพฤติผิดแบบแผนประเพณี ฉุดคร่าอนาจารหญิง และให้บ่าวไพร่เข้ายึดครองเรือกสวนที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนตัว จนราษฎรพากันอพยพหนีไปอยู่เสียที่เมืองเประ ในความปกครองของอังกฤษ และเมืองปัตตานีบ้างก็แต่งเรื่องนิทานขึ้นเป็นบัตรสนเท่ห์ ตำหนิติเตียนว่า เจ้าเมืองรามันห์เป็นรายาที่โหดร้าย ขณะเดียวกันพวกอังกฤษในเกาะปีนังและสิงคโปร์ ก็พยายามหาทางแซกแซงโดยเข้ามาคอยยุยงส่งเสริมให้เจ้าเมืองต่างๆ เอาใจออกห่างจากรัฐบาลไทย เพื่อพวกตนจะได้ผนวกเอาดินแดนในแหลมมลายูตอนเหนือไปครอบครอง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า จึงทรงตัดสินพระราชหทัย ทำการปฏิรูประบบการปกครองหัวเมืองประเทศราชเสียใหม่ ในปีพุทธศักราช 2439 คือให้ บรรดาเมืองชั้นในและชั้นนอกและเมืองประเทศราช ที่แบ่งเป็นปักษ์ใต้อยู่ในกระทรวงกลาโหม ฝ่ายเหนืออยู่ในกระทรวงมหาดไทยก็ดี และที่อยู่ในกระทรวงต่างประเทศก็ดี ตั้งแต่นี้สืบไป ให้อยู่ในบังคับบัญชาตราราชสีห์กระทรวงมหาดไทย และต่อมารัฐบาลก็ได้ตรากฎข้อบังคับการปกครองหัวเมืองขึ้นใช้ โดยให้ผู้ว่าราชการเมือง ซึ่งเคยบังคับบัญชาบ้านเมืองโดยอิสระ มาขึ้นกับข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช
ต่อมาในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2444 รัฐบาลก็ได้ออกพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.166 ขึ้นมีการกำหนดตำแหน่งหน้าที่เจ้าพนักงานต่างๆ ขึ้นมาเพื่อดำเนินการบริหารราชการ
จากกฎข้อบังคับใหม่นี้ ทำให้รัฐบาลสามารถลดอำนาจของเจ้าเมืองในด้านการเมือง การปกครอง ลงได้อย่างสิ้นเชิง ด้วยมีพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าทำหน้าที่ควบคุมอำนาจการบริหารบ้านเมืองไว้ทั้งหมด ตลอดถึงตัดทอนผลประโยชน์ในทางการคลัง ซึ่งแต่เดิมเจ้าเมืองเป็นผู้จัดเก็บภาษีอากรเอง และนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยเอง มาเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐคือผู้ช่วยราชการสรรพากรส่วนผู้ว่าราชการเมือง และวงศ์ญาติรัฐบาลจัดตั้งงบประมาณเป็นค่ายังชีพ ให้พอเพียงที่จะใช้สอยเป็นรายปีให้สมเกียรติของผู้ว่าราชการเมือง โดยไม่ต้องเดือดร้อน
พระยาวิชิตภักดี(ตนกูอับดุลกาเดร์) ปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามกฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมือง ที่รัฐบาลเป็นผู้ตราขึ้น โดยขัดขวางมิให้เจ้าพนักงานสรรพากร เข้ามาเก็บภาษีอากรในท้องที่เมืองปัตตานี และได้เดินทางไปยังสิงคโปร์ เพื่อขอร้องให้เซอร์แฟรงค์สเวทเทนนั่มข้าหลวงใหญ่อังกฤษ ที่เมืองสิงคโปร์ช่วยเหลือ พร้อมทั้งเสนอให้อังกฤษยึดเอาเมืองปัตตานีเป็นเมืองขึ้น เหตุผลที่ตนกูอับดุลกาเดร์ขัดขืนพระบรมราชโองการ ในครั้งนี้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวโดยสรุปว่าใน พ.ศ.2444 นั้นประจวบเวลาพวกอังกฤษที่เมืองสิงคโปร์ คิดอยากรุกแดนไทยทางแหลมมลายู แต่รัฐบาลที่เมืองลอนดอนไม่อนุมัติ พวกเมืองสิงคโปร์จึงคิดอุบายหาเหตุ เพื่อให้รัฐบาลที่ลอนดอนต้องยอมตามในอุบายของพวกสิงคโปร์ในครั้งนั้น อย่างหนึ่งแต่งสายให้ไปยุยงพวกมลายูเจ้าเมืองมณฑลปัตตานี ให้เอาใจออกห่างจากไทยพระยาตานี(อับดุลกาเดร์) หลงเชื่อจึงทำการขัดแย้งขึ้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงดำรัสสั่งให้จับ และถอดพระยาตานีแล้วเอาตัวขึ้นไปคุมไว้ที่เมืองพิษณุโลก การหยุกหยิกในมณฑลปัตตานีก็สงบไป
ในปี พ.ศ.2447 ตนกูอับดุลกาเดร์ได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ อนุญาตให้กลับมาอยู่เมืองปัตตานีได้ตามเดิมด้วยให้คำมั่นสัญญาว่า จะไม่เกี่ยวข้องแก่บ้านเมืองอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นอันขาด
ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ตนกูอับดุลกาเดร์ก็ได้ทำหนังสือขึ้นกราบบังคมทูลขอ พระราชทานเงินค่ายังชีพ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระเมตตาพระราชทานให้แก่ตนกูอับดุลกาเดร์ ได้รับเงินตามที่ขอเป็นเงินเดือนละ 300 บาท หลังจากนั้นตนกูอับดุลกาเดร์ก็ได้อพยพครอบครัว ไปพำนักอยู่ในรัฐกลันตัน จนกระทั่งถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.2476
<<<< ย้อนกลับ< ||
จังหวัด » กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี