ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »
จังหวัดสมุทรสงคราม
ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก
ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดสมุทรสงคราม (2)
ทั้งสองบริเวณดังกล่าว เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวสวนที่เรียกว่า สวนนอก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมานานและยังคงสภาพอยู่ ทำให้เห็นชุมชนลักษณะเรือกสวน และวิถีชีวิต รวมทั้งวัฒนธรรมที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยอยุธยาได้ในระดับหนึ่ง
ชุมชนบริเวณเขายี่สาร เป็นบริเวณที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง อยู่ในเขตอำเภออัมพวา เป็นบริเวณที่ไม่มีการทำเรือกสวน เพราะเป็นเขตน้ำกร่อยและป่าชายเลน เป็นบริเวณจากฝั่งใต้ของทางหลวงสายปากท่อ - แม่กลอง ลงไปจนจดเขตอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี กับอำเภอเขาย้อย และอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี พันธุ์ไม้ที่ปลูกได้ดีพอสมควรคือมะพร้าว มีการตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นหย่อม ๆ มีการขุดคลองอย่างสลับซับซ้อนเพื่อการคมนาคมและทำนากุ้ง
ชุมชนเขายี่สาร เป็นชุมชนเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นแหล่งที่ผู้เดินทางทางทะเลสามารถเข้ามาจอดเรือพักสินค้า เป็นบริเวณที่มีดอนและเขาเตี้ย ๆ มีเส้นทางน้ำใหญ่ไปออกทะเลได้สะดวก สามารถติดต่อกับชุมชนที่อยู่บริเวณชายฝั่งทะเล มีลำคลองธรรมชาติที่เรียกว่า คลองยี่สารเก่า มีต้นน้ำจากบ้านบางเค็มทางตะวันตก ผ่านเข้าพื้นที่ป่าชายเลนมายังเขายี่สาร ไปออกทะเลที่บ้านคลองช่อง
ในสมัยทวาราวดีบริเวณชายหาดเก่า คือแนวที่เดิน เป็นที่ตั้งของชุมชนตั้งแต่ราชบุรีถึงเพชรบุรี การคมนาคมทางบก จากราชบุรีไปยังเพชรบุรีได้อาศัยแนวชายหาดเก่านี้ ในตำนานเรียกชายหาดนี้ว่า ถนนท้าวอู่ทอง กล่าวถึงการเดินทางของท้าวอู่ทองผ่านตำบลต่าง ๆ ไปยังเมืองราชบุรี
หลักฐานทางโบราณคดีคือ บรรดาวัดเก่าต่าง ๆ ที่เรียงรายกันอยู่ พบพระสถูปเจดีย์ เสมาหินทรายสีแดง และพระพุทธรูปหินทรายที่มีอายุสมัยอยุธยาตอนต้น ที่เขายี่สารพบเนินดินที่มีการอยู่อาศัย และเศษภาชนะดินเผาทั้งแบบเผาแกร่ง และเคลือบชนิดเผาแกร่งเป็นพวกไห โอ่ง ชาม ที่เป็นแบบสมัยอยุธยาตอนต้นลงมา ส่วนเครื่องภาชนะเคลือบมีทั้งของญวน และจีน มีอายุอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้นขึ้นไป
เอกสารโบราณที่กล่าวถึงเขายี่สารมีหลายเรื่องเช่น นิราศเมืองเพชร ของสุนทรภู่ แต่งขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2388 - 2392 ได้ใช้เส้นทางคลองลัดทางอ่าวบางตะบูน แทนการเดินทางเข้าปากแม่น้ำเพชรบุรี ที่อ่าวบ้านแหลม เพราะระยะทางใกล้กว่า และปลอดภัยกว่า เส้นทางนี้มีใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยา
นอกจากนี้ยังมีตำนานเรื่องบ้านเขายี่สาร ซึ่งสอดคล้องกับสถานที่บริเวณที่เรียกว่า อู่ตะเภา และมีตำนานกล่าวถึงเรื่องราวของ ปู่ศรีราชา ปู่หัวละมาน จีนสองพี่น้องที่สำเภาล่มและมีศาลที่เคารพของชาวบ้าน เขายี่สารตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน จากหลักฐานต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงความเป็นปึกแผ่นของชุมชนแห่งนี้ว่า มีอายุเก่าแก่กว่าสมัยอยุธยาตอนปลาย
สมัยอยุธยา ประวัติความเป็นมาของจังหวัดสมุทรสงคราม มีปรากฎหลักฐานเก่าที่สุดในกฎหมายตราสามดวง พระอัยการนาหัวเมืองซึ่งตราไว้ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อปี พ.ศ.1998 ว่า "พระสมุทรสาคร เมืองท่าจีน พระสมุทรสงคราม เมืองแม่กลอง พระสมุทรปราการ เมืองปากน้ำ พระชนบุรี เมืองชน" แสดงว่าเมืองแม่กลองเป็นหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออก ผู้ปกครองมีราชทินนาม พระสมุทรสงคราม
ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ (พ.ศ.2091 - 2111) เมื่อราชฑูตฝรั่งเศสมายังกรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวว่ามีป้อมอยู่ที่เมืองแม่กลองแล้ว
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากจดหมายเหตุของมองซิเออร์ เซเบเรต์ ในคณะฑูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ที่เดินทางเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.2230 - 2231 ตอนขากลับ ม.เซเบเรต์ ได้แยกคณะเดินทางกลับโดยไปลงเรือกำปั่นฝรั่งเศสที่เมืองตะนาวศรี ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองท่าค้าขายทางทะเลที่สำคัญของไทย ระหว่างเดินทางเมื่อผ่านเมืองแม่กลอง ได้บันทึกไว้มีความตอนหนึ่งว่า "ในปี พ.ศ.2230 ได้ออกจากเมืองท่าจีน เพื่อไปเมืองแม่กลอง... เวลาเย็นไปถึงเมืองแม่กลอง ซึ่งไกลจากเมืองท่าจีนประมาณ 10 ไมล์ครึ่ง เมืองแม่กลองเป็นเมืองใหญ่กว่าเมืองท่าจีน และตั้งอยู่ริมน้ำที่เรียกว่า แม่น้ำแม่กลอง อยู่ห่างทะเลประมาณ 1 ไมล์... เมืองแม่กลองไม่มีกำแพงเมือง มีป้อมเล็ก ๆ สี่เหลี่ยมอยู่ 1 ป้อม มุมป้อมมีหอรบอยู่ 4 แห่ง แต่เป็นหอรบเล็กมาก ก่อด้วยอิฐไม่มีคู แต่น้ำท่วมอยู่รอบป้อม กำแพงหรือรั้วระหว่างหอรบทำด้วยเสาใหญ่ ๆ ปักลงในดินมีเคร่าขวางถึงกันเป็นระยะ ๆ"
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.2172 - 2199) เมืองแม่กลองจัดเป็นหัวเมืองตรี ขึ้นกับเมืองราชบุรี เจ้าเมืองมีราชทินนาม พระแม่กลองบุรี
เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ.2310 ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ได้กล่าวถึงเมืองแม่กลองโดยใช้ชื่อเมืองสมุทรสงคราม สันนิษฐานว่า การเปลี่ยนชื่อเมืองคงมีมาแล้วก่อนหน้านี้ ระหว่างปี พ.ศ.2265 - 2299
ในสมัยโบราณเมืองแม่กลองได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามน้อยมาก เนื่องจากตั้งอยู่ห่างจากเส้นทางเดินทัพของพม่าที่จะผ่านเข้ามีตีกรุงศรีอยุธยา แต่การเกณฑ์คนไปร่วมรบกับกองทัพในกรุงนั้น ชาวเแม่กลองต้องร่วมอยู่ด้วยทุกสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพม่ายกทัพมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ด่านสิงขร และจากทางปักษ์ใต้
ในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกกองทัพเรือมาตั้งค่ายที่ตำบลบางกุ้ง เรียกว่า ค่ายบางกุ้ง โดยสร้างกำแพงล้อมวัดบางกุ้ง ให้วัดอยู่กลางค่าย
สมัยกรุงธนบุรี หลังจากพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว เมื่อปี พ.ศ.2310 ค่ายบางกุ้งไม่มีทหารอยู่รักษาจนมาถึงสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จีนจากชลบุรี ระยอง กาญจนบุรี และราชบุรี รวบรวมพลพรรคมาตั้งเป็นกองทหารรักษาค่าย จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ค่ายจีนบางกุ้ง ค่ายนี้จึงเป็นค่ายบนเส้นทางยุทธศาสตร์ ใช้รับศึกในพื้นที่ห่างไกลพระนคร ค่ายบางกุ้งเป็นปราการด่านสุดท้ายที่ข้าศึกจะเข้าถึงกรุงธนบุรี
ในสงครามค่ายบางกุ้ง เมื่อปี พ.ศ.2311 กองทัพพม่าโดยเจ้าเมืองทวายเดินทัพเข้ามาทางไทรโยค เข้าล้อมค่ายบางกุ้งไว้ ด้วยกำลังพลสองหมื่นเศษ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยามหามนตรี (บุญมา) จัดกองเรือ 20 ลำ พระองค์เสด็จมาเองโดยเรือพระที่นั่งสุพรรณพิชัยนาวา เรือยาว 18 วา ปากเรือกว้างสามศอกเศษ พลกรรเชียง 28 คน มายังค่ายบางกุ้ง โดยลัดมาทางคลองบางบอน ผ่านคลองสุนัขหอน มาออกแม่น้ำแม่กลอง
การรบครั้งนี้ตะลุมบอนกันด้วยอาวุธสั้น ทหารในค่ายจุดประทัด ตีฆ้อง เปิดประตูค่ายส่งกำลังตีกระทุ้งออกมา ทำให้ทหารพม่าอยู่ในศึกกระหนาบ และแตกหนีไป กองทัพไทยได้เรือรบศัตรูทั้งหมด ได้ศาตราวุธตลอดจนเสบียงอาหารเป็นอันมาก
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ทรงตั้งผู้มีความชอบให้ออกไปเป็น พระยาพระหลวง ครองหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา ปักษ์ใต้ ฝ่ายเหนือ ทั้งปวงทุกเมือง สำหรับเมืองสมุทรสงครามทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ นายแสง เป็นที่พระยาสมุทรสงคราม
การจัดหัวเมือง ทรงพระราชดำริว่าเมื่อครั้งกรุงเก่า เมืองปักษ์ใต้ยกมาขึ้นแก่กรมท่านั้น เพราะกลาโหมมีความผิด บัดนี้พระยามหาเสนาที่สมุหพระกลาโหม มีความชอบมาก จึงพระราชทานแบ่งหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกรวม 20 หัวเมือง มาขึ้นกับกรมพระกลาโหม ส่วนเมืองสมุทรสงครามขณะนั้นขึ้นกรมมหาดไทย ให้มาขึ้นกรมท่า
จังหวัด » กรุงเทพฯ กาญจนบุรี ชัยนาท นครนายก นครปฐม นนทบุรี ประจวบฯ ปทุมธานี เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี