ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »
จังหวัดสมุทรสงคราม
ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก
ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดสมุทรสงคราม (3)
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ทรงทีความเกี่ยวข้องกับเมืองสมุทรสงครามมาตั้งแต่ต้นคือ สมเด็จพระบรมราชชนก เคยประทับอยู่ที่เมืองสมุทรสงคราม ก่อนมาเป็นทหารเอกของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และกรมสมเด็จพระอัมรินทรามาตย์ ทรงเป็นชาวเมืองสมุทรสงครามโดยกำเนิด พระองค์ได้เป็นอัครมเหสี หรือพระบรมราชินีองค์แรกในราชวงศ์จักรี
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชสมภพที่เมืองสมุทรสงคราม นับว่าพระองค์เป็นกษัตริย์มีเชื้อสายชาวเมืองสมุทรสงคราม เนื่องจากพระราชมารดาเป็นชาวเมืองนี้ ราชินิกูลบางช้าง ซึ่งเป็นพระญาติวงศ์ของสมเด็จพระอัมรินทรามาตย์ เช่น ตระกูลบุนนาค ตระกูลชูโต ตระกูลสวัสิดิชูโต ตระกูลแสงชูโต ตระกูลวงศาโรจน์ ตระกูล ณ บางช้าง ตระกูลภมรบุตร ล้วนแต่เป็นตระกูลที่สืบเนื่องจากชาวบางช้าง ทั้งสิ้น
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยเกิดกรณีพิพาทกับญวนถึงกับทำสงครามกันด้วยเรื่องเจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันทร์ การสงครามในครั้งนั้นใช้ทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือ เมื่อมีข่าวว่าญวนได้ขุดคลองลัดจากทะเลสาบมาออกอ่าวไทย และมีท่าทีว่าจะยกกำลังทางเรือมารุกรานไทย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ จึงโปรดให้สร้างป้อมขึ้นตามปากแม่น้ำสำคัญ เริ่มแต่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาเป็นปากแม่น้ำท่าจีน ปากแม่น้ำแม่กลอง ปากแม่น้ำบางปะกง และปากแม่น้ำจันทบุรี
สำหรับป้อมที่ปากแม่น้ำแม่กลองนั้น ได้โปรดเกล้า ฯ ให้กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นแม่กองอำนวยการสร้างขึ้น ที่ฝั่งตะวันออกของปากคลองแม่กลอง ต่อจากวัดบ้านแหลม เมื่อปี พ.ศ.2375 เสร็จแล้วพระราชทานนามว่า ป้อมพิฆาตข้าศึก เจ้ากรมป้อม เป็นที่ หลวงละม้าย แม้นมือฝรั่ง ปลัดป้อมเป็นที่ ขุนฉมังแม่นปืน ส่วนป้อมเก่าที่สร้างมาแต่สมัยอยุธยานั้น อาจถูกรื้อออกก่อนสร้างแห่งใหม่
ในปี พ.ศ.2371 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ขุดลอกคลองสุนัขหอน เพราะตื้นเขินมาก ชื่อคลองสุนัขหอนนี้มีปรากฎอยู่ในหนังสือเก่า ๆ หลายเรื่องด้วยกัน เช่น นิราศท่าดินแดง นิราศพระแท่นดงรัง นิราศเมืองเพชร และนิราศเกาะจาน เป็นต้น การขุดลอกคลองสุนัขหอนนี้ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) จ้างจีนขุดสิ้นเงิน 8,176 บาท (102 ชั่ง 4 ตำลึง 1 สลึง 1 เฟื้อง) โดยพิจารณาเห็นว่าน้ำชนกันที่ตรงนั้นคงตื้นทุกแห่ง ถ้าขุดคลองแยกเข้าไปที่น้ำชนให้สายน้ำไหลเลยเข้าไปที่ตรงน้ำชนนั้นก็จะไม่ตื้น จึงขุดที่น้ำชน แยกเข้าไปทุ่งริมบ้านโพธิ์หักสายหนึ่ง แล้วขอแรงกระบือราษฎรชาวบ้าน ลงลุยในคลองนั้น น้ำขึ้นลงเชี่ยว ก็ลึกอยู่ไม่ตื้นจนทุกวันนี้
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยนั้นทางราชการเห็นว่าป้อมมีความสำคัญน้อยมาก ไม่เหมาะสมกับความก้าวหน้า ทางอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ จึงได้รื้อป้อมพิฆาตข้าศึก และกำแพงลง แล้วตั้งกองโรงเรียนพลทหารเรือที่ 1 ขึ้นแทน โดยได้โปรดเกล้า ฯ ให้นายพลเรือเอกพระยามหาโยธา (ฉ่าง แสงชูโต) มาอำนวยการสร้างโรงเรียนดังกล่าว สำหรับฝึกอบรมทหารใหม่ที่เกณฑ์จากชายฉกรรจ์ในจังหวัดสมุทรสงครามจำนวนสองกองร้อย ฝึกหัดหนึ่งปีแล้วส่งผลัดเปลี่ยนทหารเก่าในกรุงเทพ ฯ ตั้งมาจนถึงปี พ.ศ.2465 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ยุบกองโรงเรียนพลทหารเรือ โดยกระทรวงทหารเรือได้ยกอาคาร และที่ดินให้กระทรวงมหาดไทย ใช้เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2468 จนถึงปี พ.ศ.2499 จึงได้ทำการปลูกสร้างศาลากลางจังหวัดใหม่บริเวณที่อยู่ปัจจุบัน แล้วโอนศาลากลางเดิมให้กระทรวงสาธารณสุขใช้ในกิจการโรงพยาบาลจังหวัด
ในปี พ.ศ.2437 ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รวมหัวเมืองราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ปราณบุรี ประจวบ ฯ และเมืองสมุทรสงครามเข้าเป็นมณฑลราชบุรี
ในปี พ.ศ.2458 ได้ยกแขวงบางช้างขึ้นเป็นอำเภอชื่ออำเภออัมพวา ตามชื่อของบ้านอัมพวา ส่วนบ้านบางช้างเป็นตำบลหนึ่งในเขตปกครองของอำเภออัมพวา
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จังหวัดสมุทรสงครามได้รับการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่หลายประการ ได้แก่ การขุดคลองดำเนินสะดวก จากแม่น้ำท่าจีนไปสู่แม่น้ำแม่กลอง โดยเริ่มต้นที่ประตูน้ำบางยาง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสงคราม ผ่านอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และต่อไปถึงอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ผ่านประตูน้ำบางนกแขวกไปสู่แม่น้ำแม่กลอง ระยะทางยาว 3.5 กิโลเมตร ในปี พ.ศ.2451 ได้สร้างประตูน้ำบางยางที่อำเภอบ้านแพ้ว และประตูน้ำบางนกแขวกที่ตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที ประตูน้ำสองแห่งนี้กั้นคลองดำเนินสะดวก เพื่ออำนวยประโยชน์ได้ทั้งทางคมนาคมและการเกษตร ทำให้มีน้ำหล่อเลี้ยงคลองดำเนินสะดวกตลอดปี เรือสัญจรไปมาได้ทั้งปี และมีน้ำเพื่อการเกษตรให้แก่ชาวนาชาวสวนได้ตลอดปีเช่นกัน
นอกจากนั้น การสร้างทางรถไฟสายมหาชัย - ท่าจีน - แม่กลอง ใช้หัวรถจักรไอน้ำแล่นจากสถานีแม่กลอง ไปสุดทางที่สถานีบ้านแหลม และลงเรือข้ามฟากไปขึ้นที่ท่ามหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อขึ้นรถไฟที่สถานีมหาชัย ไปสิ้นสุดที่สถานีปากคลองสาน กรุงเทพ ฯ
<<< ย้อนกลับ ||
ที่มา : หอมรดกไทย
จังหวัด » กรุงเทพฯ กาญจนบุรี ชัยนาท นครนายก นครปฐม นนทบุรี ประจวบฯ ปทุมธานี เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี