ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด »

จังหวัดเพชรบุรี

ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก

สุนทรภู่ ตระกูล “พราหมณ์เมืองเพชร”

คนบางกอก เกิดวังหลัง ฝั่งธนบุรี

บรรพชนตระกูล “พราหมณ์” เมืองเพชรบุรี

บรรพชนของสุนทรภู่อยู่ที่ไหน มาจากไหน
หลักฐานน่าเชื่อถือเท่าที่พบขณะนี้ ระบุว่าบรรพชนของสุนทรภู่อยู่ในตระกูล “พราหมณ์”ชาวเมืองเพชรบุรี ตามที่อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว เสนอไว้ในหนังสือ“โคตรญาติสุนทรภู่”(ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ “200 ปี สุนทรภู่”, พิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2529) อยู่ในตัวบทที่สุนทรภู่เขียนไว้เองในนิราศเมืองเพชร(ฉบับตัวเขียน) มีใจความสำคัญว่า

มาลงเรือเมื่อจะล่องแรมสองค่ำ
ต้องไปร่ำลาพราหมณ์ตามวิสัย
ไปวอนว่าท่านยายคำให้นำไป
บ้านประตูไม้ไผ่แต่ไรมา

เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช
ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา
เทวฐานศาลสถิตย์อิศวรา
เสาชิงช้าก็ยังเห็นเป็นสำคัญ

ทั้งโบสถ์บ้านฐานที่ยังมีอยู่
แต่ท่านผู้ญาติกานั้นอาสัญ
เพราะกรุงแตกแยกย้ายพลัดพรายกัน
จึงสิ้นพันธุ์พงศาเอกากาย

ที่เหล่ากอหลอเหลือในเนื้อญาติ
เป็นเชื้อชาติชาวเพชรบุรียังมีหลาย
แต่สิ้นผู้ปู่ย่าพวกตายาย
ญาติทั้งหลายมิได้รู้เรื่องบูราณ

แต่ตัวเราเข้าใจได้ไถ่ถาม
จึงแจ้งความเทือกเถาจนเอาวสาน
จะบอกเล่าเผ่าพงศ์พวกวงศ์วาน
ก็เกรงท่านทั้งหลายละอายครัน

จึงกรวดน้ำรำพึงไปถึงญาติ
ซึ่งสิ้นชาติชนมาม้วยอาสัญ
ขอกุศลผลส่งให้พงศ์พันธุ์
สู่สวรรค์นฤพานสำราญใจ

เนื้อความสำคัญที่บอกประวัติตัวเองของสุนทรภู่ต่างไปจากที่เคยเชื่อถือกันก็คือคำกลอนที่ว่า “เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา” กับคำกลอนที่ว่า “ที่เหล่ากอหลอเหลือในเนื้อญาติ เป็นเชื้อชาติชาวเพชรบุรียังมีหลาย” ซึ่งแสดงว่าสุนทรภู่มี “โคตรญาติ” ทั้งสายแหรกข้างแม่คือ “ยาย” กับสาแหรกข้างพ่อคือ “ย่า” ล้วนเป็น “พราหมณ์รามราช” ที่เป็น “เชื้อชาติชาวเพชรบุรี"

“พราหมณ์รามราช” หมายถึงอะไร? ยังไม่มีคำอธิบายชัดเจน แต่ในหนังสือ “พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ วัน วลิต พ.ศ. 2182” กล่าวถึงเหตุการณ์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ว่ากษัตริย์แห่งรามรัฐ (Rammaradt) อยู่ชายฝั่งโจฬมณฑล (Coromandel) ส่งพราหมณ์มากรุงศรีอยุธยาเพื่อเผยแพร่ลัทธิพิธีทางศาสนาพราหมณ์ “ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาก็มีพราหมณ์จากที่ต่างๆ เดินทางสู่สยาม โดยเฉพาะมาจากเมืองรามรัฐและพราหมณ์เหล่านี้ได้รับความยกย่องนับถือในหมู่พระเจ้าแผ่นดิน เจ้าชาย พระบรมวงศานุวงศ์และประชาชน” (วัน วลิต แต่ง, ศ.ดร.เดวิด เค. วัยอาจ บรรณาธิการ, วนาศรี สามนเสน แปล, ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ตรวจ, จัดพิมพ์ครั้งที่ 2 โดยสำนักพิมพ์มติชน 2546)

ส่วนใน ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช กับ ตำนานพราหมณ์เมืองพัทลุง ระบุว่ามีต้นสกุลพราหมณ์มาจาก เมืองรามนคร (พาราณสี) ตระกูลพราหมณ์ “รามราช” ของสุนทรภู่ จะเกี่ยวข้องกับตระกูลพราหมณ์ “รามรัฐ” กับ “รามนคร” ที่ปรากฏในเอกสารโบราณหรือไม่? ไม่ใช่สาระสำคัญตรงนี้ แต่บริเวณที่เป็นนิวาสสถานของบรรพชนสุนทรภู่ ยังมีร่องรอยเหลืออยู่ตามคำบอกเล่าชื่อสถานที่ คือ เสาชิงช้ากับ (วัดวิหาร) โบสถ์พราหมณ์ อยู่ในตำบลท่าราบใกล้วัดสนามพราหมณ์ (หรือวัดสามพราหมณ์) และวัดเพชรพลี เขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี

ตัวบทในนิราศเมืองเพชร (ฉบับตัวเขียน) ของสุนทรภู่เท่าที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เชื่อได้มากกว่าข้อความ “สันนิษฐาน” อื่นๆ ที่เคยอ้างกันมาช้านาน เช่น สุนทรภู่เป็นชาวบ้านกร่ำ เมืองแกลง จังหวัดระยอง

บรรพชนของสุนทรภู่ควรตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในพระนครศรีอยุธยาช้านานแล้ว แต่จะรับราชการหรือประกอบอาชีพอิสระ ยังไม่พบหลักฐานใดๆ ให้รู้เบาะแส แต่เชื่อว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มขุนนางในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ตั้งแต่ก่อนเสียกรุงเมื่อ พ.ศ.2310 โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องใกล้ชิดกับ “เครือญาติ” ของหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) เมืองอัมพวา กับนายสุดจินดา (บุญมา) ที่จะเป็นต้นราชวงศ์จักรีในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

เกิด “วังหลัง” ฝั่งธนบุรีเป็นชาว “บางกอก”

สุนทรภู่ เกิดใน “วังหลัง” สมัยรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้นค่ำ 1 ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลาเช้า 2 โมง ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2329 (ตามบันทึกของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

บิดามารดาชื่ออะไร ไม่มีหลักฐาน แต่รู้แน่ว่ามารดาเป็น “แม่นม” ของลูกเธอในกรมพระราชวังหลัง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีรับสั่งว่า “ลูกเธอ” องค์นี้คือ พระองค์เจ้าจงกล

“วังหลัง” อยู่ฝั่งธนบุรี บริเวณที่เป็นโรงพยาบาลศิริราชต่อเนื่องถึงย่านสถานีรถไฟบางกอกน้อย ทุกวันนี้ยังมีชื่อ “ท่าน้ำวังหลัง” และ “ตรอกวังหลัง” เป็นเค้าเงื่อนยืนยันอยู่ มีเนื้อความเกี่ยวข้องอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ระบุว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ปราบดาภิเษกเมื่อ พ.ศ. 2325 แล้ว “โปรดให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าทองอิน ซึ่งเป็นพระยาสุริยอภัย เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษเทเวศรพระราชทานเครื่องสูง ๓ ชั้นคันประดับมุก และเรือดั้งแห่คู่ ๑ เป็นเครื่องประดับพระเกียรติยศ โดยความชอบมีมากยิ่งกว่าพระราชภาคิไนยพระองค์อื่น กรมหลวงอนุรักษเทเวศรตั้งวังอยู่ที่สวนลิ้นจี่ในเมืองเดิม ฟากตะวันตกริมคลองบางกอกน้อย...” กรมพระราชวังหลังในรัชกาลที่ 1 ทิวงคตเมื่อ พ.ศ. 2349 และอีกสามปีต่อมาถึง พ.ศ.2352 รัชกาลที่ 1 ก็สวรรคต

สุนทรภู่เกิดในวังหลัง แล้วอยู่กับแม่ในวังหลังตั้งแต่เด็กจนโต เมื่อยังเด็กได้เข้าเรียนหนังสือที่วัดชีปะขาว (หรือวัดศรีสุดาราม) อยู่ในคลองบางกอกน้อย ดังสุนทรภู่เขียนไว้เองในนิราศพระประธม (พระปฐมเจดีย์ที่นครปฐม) ว่า

ดูวังหลังยังไม่ลืมที่ปลื้มจิต
เคยมีมิตรมากมายทั้งชายหญิง
มายามดึกนึกถึงที่พึ่งพิง
อนาถนิ่งน้อยหน้าน้ำตานอง

ในโคลงนิราศสุพรรณ สุนทรภู่ยังอาลัยอาวรณ์ถึงวังหลัง เมื่อผ่านเข้าปากคลองบางกอกน้อย ท่านก็ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นบริเวณ “บ้านเก่าเหย้าเรือนแพ พวกพ้อง” ดังนี้

วังหลัง ครั้งหนุ่มเหน้า เจ้าเอย
เคยอยู่ชูชื่นเชย ค่ำเช้า
ยามนี้ที่เคยเลย ลืมพักตร์ พี่แฮ
ต่างชื่นอื่นแอบเคล้า คลาดแคล้วแล้วหนอฯ
เลี้ยวทางบางกอกน้อย ลอยแล
บ้านเก่าเหย้าเรือนแพ พวกพ้อง
เหงียบเหงาเปล่าอกแด ดูแปลก แรกเอย
รำลึกนึกรักร้อง เรียกน้องในใจ ฯ

สุนทรภู่อยู่กับมารดาในเรือนแพปากคลองบางกอกน้อยที่วังหลังตั้งแต่เด็กจนโต และไม่มีหลักฐานว่าท่านเกิดในบ้านเมืองอื่น จึงเชื่อแน่ว่าสุนทรภู่เกิดในวังหลังและอยู่ในวังหลัง นับเป็นชาว “บางกอก” โดยแท้ และอยู่ในตระกูล “ผู้ดี” ที่จัดเป็น “กระฎุมพี” ยุคต้นๆ ของกรุงเทพฯ จึงไม่ใช่ “ไพร่” ตกยากอย่างตำราที่ใช้สอนกันมานานทั่วประเทศ

ผลงานบางส่วนของสุนทรภู่

นิราศ

๑. นิราศเมืองแกลง แต่งในราว พ.ศ. ๒๓๕๐ ตอนต้นปี
๒. นิราศพระบาท แต่งในราว พ.ศ. ๒๓๕๐ ตอนปลายปี
๓. นิราศภูเขาทอง แต่งในราว พ.ศ. ๒๓๗๑
๔. นิราศเมืองสุพรรณ (โคลง) แต่งในราว พ.ศ. ๒๓๘๔
๕. นิราศวัดเจ้าฟ้า ฯ แต่งในราว พ.ศ. ๒๓๗๕
๖. นิราศอิเหนา
๗. นิราศพระแท่นดงรัง
๘. นิราศพระประธม
๙. นิราศเมืองเพชร แต่งในราว พ.ศ. ๒๓๘๘-๒๓๙๒

นิทาน

๑. เรื่องโคบุตร แต่งในราวรัชกาลที่ ๑
๒. เรื่องพระอภัยมณี แต่งในราวรัชกาลที่ ๒-๓
๓. เรื่องพระไชยสุริยา แต่งในราวรัชกาลที่ ๓
๔. เรื่องลักษณวงศ์ (มีสำนวนผู้อื่นแต่งต่อ และไม่ทราบเวลาแต่ง)
๕. เรื่องสิงหไตรภพ แต่งในราวรัชกาลที่ ๒

สุภาษิต

๑. สวัสดิรักษา แต่งระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๔-๗
๒. เพลงยาวถวายโอวาท แต่งระหว่าง พ.ศ. ๒๓๗๓
๓. สุภาษิตสอนหญิง แต่งระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๐-๒๓๘๓

บทละคร

๑. เรื่องอภัยณุราช

บทเสภา

๑. เรื่องขุนช้างขุนแผนตอนกำเนิดพลายงาม แต่งในรัชกาลที่ ๒
๒. เรื่องพระราชพงศาวดาร แต่งในรัชกาลที่ ๔

บทเห่กล่อม

๑. เห่เรื่องจับระบำ
๒. เห่เรื่องกากี
๓. เห่เรื่องพระอภัยมณี
๔. เห่เรื่องโคบุตร

***ที่มาบางส่วน : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 มิถุนายน 2547 ปีที่ 24 ฉบับที่ 1242 หน้า 7

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย

» สุนทรภู่ ตระกูล “พราหมณ์เมืองเพชร”
» ตามรอยเสด็จประพาสต้น ร.ศ. ๑๒๓
» วรรณกรรมเมืองเพชรบุรี