ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด »

จังหวัดนครปฐม

ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดนครปฐม(2)

ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11 - 12 อาณาจักรทวารวดี รุ่งเรืองสูงสุดในภาคกลางของประเทศไทย จากนั้นก็เข้าสู่ยุดเสื่อม ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ที่สำคัญก็คือ อาณาจักรขอม เริ่มมีอำนาจและแพร่ขยายอิทธิพลมายังภาคกลาง และเข้าทดแทนอาณาจักรมอญ หรือทวารวดี ในระยะต่อมา มีศิลปะวัตถุและโบราณสถานของขอมปรากฏอยู่ เช่น ลวปะ (ลพบุรี)   ชยปุระ (ราชบุรี)   วัชระปุระ (เพชรบุรี)  สุวรรณปุระ (สุพรรณบุรี)  ศรีชยสิงห์ปุระ (ปราสาทเมืองสิงห์ กาญจนบุรี)   เมืองเหล่านี้อยู่ล้อมรอบนครปฐม ดังนั้น อิทธิพลสมัยละบุรี จึงมีอยู่ที่เมืองนครปฐมด้วยได้แก่ พระปฐมเจดีย์องค์เดิม ซึ่งสันนิษฐานว่า ยอดเดิมคงหักพังเสียหาย เมื่อขอมเข้ามามีอำนาจได้สร้างยอดปรางค์ขึ้นแทนส่วนที่ชำรุดหายไป จึงหลายเป็นเจดีย์ยอดปรางค์ ดังจะเห็นได้จากพระประโทนเจดีย์ ส่วนที่วัดประชานาท (โคกแขก) สันนิษฐานว่า คงได้รับอิทธิพลต่อมาภายหลัง

ในปลายรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อาณาจักรขอมเสื่อมอำนาจ และหลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.1762 บรรดาเมืองขึ้น และเมืองที่อยู่ในอิทธิพลของขอม ต่างก็แยกตัวเป็นอิสระ และสร้างศูนย์อำนาจแห่งใหม่ขึ้นแทนศูนย์อำนาจของขอม

ในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ได้มีการประกาศตั้งอาณาจักรสุโขทัย แม้ชื่อนครปฐมจะไม่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึก เนื่องจากชื่อนครปฐมเพิ่งตั้งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ดินแดนนครปฐมก็ตกอยู่ในอำนาจการปกครองของกรุงสุโขทัย ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงด้วย

จากศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 ได้กล่าวถึง พระเถระผู้เป็นหลานพ่อขุนผาเมืองชื่อ พระศรีศรัทธาราชจุฬามณี ได้จารึกแสวงบุญไปยังลังกาทวีป เมื่อปี พ.ศ.1873 หลังจากนั้นท่านได้ประกอบมหากุศลมากมาย ที่สำคัญคือ การปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์ที่เรียกตามขอมว่า พระธม ซึ่งหมายถึง สถูปพระบรมธาตุขนาดมหึมา โดยที่พระมหาเจดีย์องค์นี้ปรักหักพังอยู่กลางป่า ณ เมืองเก่า ที่พระศรีศรัทธา ฯ เรียกว่า นครพระกฤษณ์ ซึ่งมีผู้ให้ความเห็นว่าคือ เมืองนครปฐมโบราณ ในครั้งได้บูรณะพระบรมธาตุจากองค์เดิมสูง 95 วา เพิ่มเป็น 102 วา

นับตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง (พ.ศ.1893 - 1912) จนถึงสมัยพระยอดฟ้า (พ.ศ.2089 - 2091) เป็นเวลาประมาณ 200 ปี เมืองนครปฐมยังคงสภาพเหมือนสมัยสุโขทัยคือ ไม่มีฐานะเป็นเมือง จนถึงรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ (พ.ศ.2090 - 2111) จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งเมืองใหม่ขึ้นสามเมือง หนึ่งในสามเมืองนั้นคือ เมืองนครชัยศรี ตามชื่อเมืองโบราณ

เมืองนครชัยศรีที่สร้างใหม่นี้ เป็นเมืองขนาดเล็ก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ในเขตตำบลท่านา อำเภอนครชัยศรี อยู่ห่างจากเมืองเดิมประมาณ 10 กิโลเมตร มีแม่น้ำนครชัยศรี หรือแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน มีฐานะเป็นเมืองจัตวา เป็นเมืองในเขตปกครองชั้นใน หรือเมืองในวงราชธานี ผู้รั้งเมืองมีราชทินนามว่า ออกพระสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม

เมืองนครชัยศรีสมัยอยุธยาไม่พบหลักฐานบ่งชี้ว่าตั้งอยู่ที่ใด เพราะเป็นเมืองขนาดเล็ก ไม่มีคูน้ำคันดิน หรือกำแพงเมือง เชื่อกันว่าที่ตั้งตัวเมืองน่าจะอยู่ที่บ้านปากน้ำ มีคลองบางแก้วไหลมาบรรจบแม่น้ำนครชัยศรี และวัดกลางบางแก้วน่าจะเป็นวัดประจำเมืองนครชัยศรีในสมัยอยุธยา เพราะมีการพบใบเสมาหินชนวนสีดำปักอยู่รอบอุโบสถ ลักษณะเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลางที่วัดนี้

ในสมัยกรุงธนบุรีเรียกเจ้าเมืองว่า พระยานครชัยศรี แสดงว่ามีความสำคัญมากขึ้น ในสมัยกรุงธนบุรีเส้นทางเดินทัพของพม่าทางด้านทิศตะวันตก จะผ่านเมืองนครชัยศรีก่อนจะเข้ากรุงธนบุรี กองทัพพม่าได้ยกเข้ามาทางเส้นทางนี้สองครั้ง (พ.ศ.2310 - 2317) สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ ทรงยกทัพจากกรุงธนบุรี ไปรับศึกสองครั้งโดยได้เสด็จไปทางเรือตามคลองด่าน หรือคลองมหาชัย ซึ่งเป็นคลองที่เชื่อมระหว่างคลองบางกอกใหญ่ กับแม่น้ำท่าจีน เมืองสมุทรสาคร

ตั้งแต่ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บ้านเมืองอยู่ในภาวะสงบสุข และได้เริ่มติดต่อกับชาติตะวันตก สินค้าที่ส่งออกมีมูลค่าสูงสุดคือ น้ำตาลทราย ซึ่งมีแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีน แขวงเมืองนครชัยศรี ระหว่างปี พ.ศ.2353 - 2391 ทำให้ชุมชนในย่านนี้ขยายใหญ่โต มีชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีชาวลาวและชาวเขมร

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงผนวชอยู่ ได้เสด็จธุดงค์ไปพบพระปฐมเจดีย์ ทรงเห็นว่าเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และประเทศใกล้เคียง เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ โดยให้ช่างทหารทำแบบเจดีย์ขึ้นใหม่แบบลังกา มีรูปทรงกลม ไม่มีฐานทักษิณ สูง 17 วา 2 ศอก ครอบเจดีย์องค์เดิม มีการก่อเตาเผาอิฐ และรับซื้ออิฐจากชาวบ้านที่ไปรื้อจากซากวัดร้างมาขาย

ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.2403 ได้เกิดเหตุการณ์เจดีย์ที่สร้างสวมทับองค์เดิมได้พังทลายลงมา หลังจากเกิดฝนตกใหญ่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงให้ดำเนินการก่อสร้างใหม่ มีการแก้ปัญหาการพังทลายขององค์เจดีย์ด้วยการใช้ไม้ซุงทั้งต้นปักเรียงกัน แล้วมัดด้วยโซ่ขนาดใหญ่เป็นเปลาะ ๆ เสร็จแล้วจึงก่ออิฐถือปูนหุ้มข้างนอก และเปลี่ยนแปลงรูปเจดีย์ให้มีฐานกว้างขึ้น ส่วนสูงเพิ่มจากเดิม และมีการสร้างวิหารสี่ทิศ และเชื่อมต่อกันด้วยระเบียงกลมล้อมรอบองค์พระเจดีย์ จากระเบียงออกมาเป็นลาน มีการสร้างหอระฆังไว้เป็นระยะรวม 24 หอ มีการจำลองรูปพระเจดีย์องค์เดิม จำลองพระเจดีย์วัดมหาธาตุ นครศรีธรรมราช สร้างภูเขาจำลอง มีหอกลองกับหอระฆัง และมีการปลูกต้นไม้ในพระพุทธศาสนา

งานก่อสร้างบูรณะพระปฐมเจดีย์สำเร็จลุล่วง ในตอนต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการประกอบพิธียกยอดพระปฐมเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ.2413 ยอดพระเจดีย์หล่อด้วยทองเหลือง เป็นรูปยอดนภดล แบบยอดพระปรางค์องค์เดิม ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

<<< ย้อนกลับ || อ่านต่อ >>>

จังหวัด » กรุงเทพฯ กาญจนบุรี ชัยนาท นครนายก นครปฐม นนทบุรี ประจวบฯ ปทุมธานี เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย