ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

ประมวลกฎหมายอาญาทหาร

------------

ภาค 1

ว่าด้วยข้อบังคับต่าง ๆ

------------

มาตรา 1 ให้เรียกพระราชบัญญัตินี้ว่า ประมวลกฎหมายอาญาทหาร

มาตรา 2 ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน รัตนโกสินทรศก 131 เป็นต้นไป

มาตรา 3 ตั้งแต่วันที่ใช้กฎหมายนี้สืบไป ให้ยกเลิก

1) กฎหมายลักษณะขบถศึก
2) ข้อความในพระราชกำหนดกฎหมาย และกฎข้อบังคับอื่น ๆ ซึ่งเกี่ยวกับบรรดาความผิดที่กฎหมายนี้บัญญัติว่าต้องมีโทษ

มาตรา 4 ในกฎหมายนี้

ทหาร หมายความว่า บุคคลที่อยู่ในอำนาจกฎหมายฝ่ายทหาร

คำว่า เจ้าพนักงาน ที่ใช้ในประมวลกฎหมายลักษณะอาญานั้น ท่านหมายความตลอดถึงบรรดานายทหารบกนายทหารเรือ ชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนที่อยู่ในกองประจำการนั้นด้วย

คำว่า ราชสัตรู นั้น ท่านหมายความตลอดถึงบรรดาคนมีอาวุธที่แสดงความขัดแข็งต่ออำนาจผู้ใหญ่หรือที่เป็นขบถหรือเป็นโจรสลัดหรือที่ก่อการจลาจล

คำว่า ต่อหน้าราชศัตรู นั้น ท่านหมายความตลอดถึงที่อยู่ในเขตซึ่งกองทัพได้กระทำสงครามนั้นด้วย

คำว่า คำสั่ง นั้น ท่านหมายความว่า บรรดาข้อความที่ผู้ซึ่งบังคับบัญชาทหารผู้ถืออำนาจอันสมควร เป็นผู้สั่งไปโดยสมควรแก่กาลสมัยและชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย คำสั่งเช่นนี้ท่านว่าเมื่อผู้รับคำสั่งนั้นได้กระทำตามแล้ว ก็เป็นอันหมดเขตของการที่สั่งนั้น

คำว่า ข้อบังคับ นั้น ท่านหมายความว่า บรรดาข้อบังคับและกฎต่าง ๆ ที่ให้ใช้อยู่เสมอ ซึ่งผู้ซึ่งบังคับบัญชาทหาร ผู้ถืออำนาจอันสมควรได้ออกไว้โดยสมควรแก่กาลสมัยและชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย

มาตรา 5 ทหารคนใดกระทำความผิดอย่างใด ๆ นอกจากที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาทหารนี้ ท่านว่ามันควรรับอาญาตามลักษณะพระราชกำหนดกฎหมาย ถ้ากฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้ให้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 5 ทวิ บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร ผู้ใดกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นนอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร
ในกรณีที่มิใช่ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 107 ถึงมาตรา 129 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ถ้าได้มีคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศอันถึงที่สุดให้ปล่อยตัวผู้นั้น หรือศาลในต่างประเทศพิพากษาให้ลงโทษและผู้นั้นได้พ้นโทษแล้ว ห้ามมิให้ลงโทษผู้นั้นในราชอาณาจักรเพราะการกระทำนั้นอีก แต่ถ้าผู้นั้นยังไม่พ้นโทษ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้

มาตรา 6 ผู้ใดต้องคำพิพากษาศาลทหารให้ลงอาญาประหารชีวิตท่านให้เอาไปยิงเสียให้ตาย

มาตรา 7 ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาตามกฎหมายว่าด้วยวินัยทหารมีอำนาจลงทัณฑ์แก่ทหารผู้กระทำความผิดต่อวินัยทหารตามกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร ไม่ว่าเป็นการกระทำความผิดในหรือนอกราชอาณาจักร

มาตรา 8 การกระทำความผิดอย่างใด ๆ ที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 21 มาตรา 23 มาตรา 24 มาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 30 มาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 365 มาตรา 36 มาตรา 37 มาตรา 39 มาตรา 41 มาตรา 42 มาตรา 43 มาตรา 44 มาตรา 46 และมาตรา 47 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าผู้มีอำนาจบังคับบัญชาตามกฎหมายว่าด้วยวินัยทหารพิจารณาเห็นว่าเป็นการเล็กน้อยไม่สำคัญ ให้ถือเป็นความผิดต่อวินัยทหาร และให้มีอำนาจลงทัณฑ์ตามมาตรา 7 เว้นแต่ผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารจะสั่งให้ส่งตัวผู้กระทำความผิดไปดำเนินคดีในศาลทหาร หรือจะมีการดำเนินคดีนั้นในศาลพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร จึงให้เป็นไปตามนั้น

มาตรา 9 ความที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 ให้ใช้ตลอดถึงความผิดลหุโทษ และความผิดที่เปรียบเทียบได้ตามกฎหมาย

มาตรา 10 บรรดาบทในพระราชกำหนดกฎหมายที่ท่านกำหนดแต่โทษปรับฐานเดียว ถ้าจำเลยเป็นทหารซึ่งไม่ใช้ชั้นสัญญาบัตรหรือชั้นประทวนท่านว่าถ้าศาลวินิจฉัยเห็นสมควรจะให้จำเลยรับโทษจำคุกแทนค่าปรับตามลักษณะที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายลักษณะอาญานั้นก็ได้

มาตรา 11 ความผิดฐานลหุโทษก็ดี ความผิดอันต้องด้วยโทษจำคุกไม่เกินกว่าเดือนหนึ่ง หรือปรับไม่เกินกว่าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เช่นนั้นเป็นโทษที่หนักก็ดี ถ้าจำเลยเป็นทหาร ท่านให้ศาลวินิจฉัยตามเหตุการ ถ้าเห็นสมควรจะเปลี่ยนให้เป็นโทษขังไม่เกินกว่าสามเดือนก็ได้

มาตรา 12 เมื่อ ศาลทหารพิพากษาเด็ดขาดให้ลงโทษแก่ทหารคนใด ท่านว่าให้ ผู้ซึ่งบังคับบัญชาทหารผู้มีอำนาจสั่งให้ลงโทษตามคำพิพากษานั้นวินิจฉัยตามเหตุการ ถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้อ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังต่อหน้าประชุมทหารหมู่หนึ่งหมู่ใด ตามที่เห็นสมควรก็ได้

<< ย้อนกลับ | หน้าถัดไป>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย