ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ประมวลกฎหมายอาญาทหาร
------------
ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาคล่วงแล้ว 2454 พรรษาปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม ศุกรสังวัจฉร มาฆมาศ กัณหะปักษ์ ฉดิถีชีวะวารสุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก 130 กุมภาพันธ์มาสอัฐมาศาหคุณพิเศษ บริเฉทกาลกำหนด
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราชพินิตประชานารถมหาสมมตวงษ์ อติศัยพงษวิมลรัตน์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสัง สุทธเคราะหณี จักรีบรมนารถจุฬาลงกรณราชวรางกูร บรมมกุฎนเรนทร์สูร สันตติวงษ์วิสิฐ สุสาธิตบุรพาธิการอดุลยกฤษฎาภินิหารอติเรกบุญฤทธิ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตตะมางคประนตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ บุริมศักดิ์สมญาเทพทวาราวดี ศรีมหาบุรุษสุตสมบัติ เสนางคนิกรรัตนอัศวโกศล ประพนธปรีชามัทวสมาจาร บริบูรณคุณสารสยามาทินครวรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายก อนันต มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินธร บรมชนกาดิศรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเสวต ฉัตราดิฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชยสกลมไหสวริยมหาสวามินทร์ มเหศวร- มหินทรามหารามาธิราชวโรดม บรมนารถชาติอาชาวไศรย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อรรคนเรศรามาธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤไทย อโนปไมยบุญการ สกลไพศาล มหารัษฎาธิเบนทร์ปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชดำริว่า พระธรรมนูญศาลทหารบกและพระธรรมนูญศาลทหารเรือ ซึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติขึ้นไว้เมื่อรัตนโกสินทรศก 126 และ 127 นั้น เป็นแต่พระราชกำหนดสำหรับจัดการและกำหนดหน้าที่และอำนาจศาลทหารบกและศาลทหารเรือ และประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติขึ้นไว้เมื่อรัตนโกสินทรศก 127 นั้น ก็บัญญัติแต่เฉพาะลักษณะโทษแห่งความผิดล่วงละเมิดต่อพระราชกำหนดกฎหมายสามัญ
บัดนี้สมควรจะมีพระราชบัญญัติ กำหนดลักษณะโทษแห่งความผิดต่าง ๆ อันเป็นฐานล่วงต่อกฎหมายและหน้าที่ฝ่ายทหารขึ้นไว้เป็นหลักฐาน แต่ทรงพระราชปรารภว่า การกระทำผิดต่อกฎหมายและ หน้าที่ฝ่ายทหารนั้นแม้เป็นการซึ่งเกิดจากความประพฤติของบุคคลที่เป็นทหารเสียเป็นพื้นก็จริง แต่มีบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นจากความประพฤติของบุคคลสามัญก็ได้ ในพระราชบัญญัติเช่นนี้ควรมีบทกฎหมายบางอย่างให้ใช้ได้ตลอดทั้งบุคคลที่เป็นทหารและบุคคลสามัญและใช่แต่เท่านั้น บุคคลซึ่งเป็นทหารย่อมตั้งอยู่ในใต้บังคับ วินัยทหารเมื่อกระทำผิดขึ้นต่อพระราชกำหนดกฎหมายอย่างคนสามัญ ความผิดนั้นย่อมมีลักษณะการละเว้นความควรประพฤติในฝ่ายทหารเรือไปด้วย สมควรมีโทษหนักยิ่งกว่าผู้กระทำผิดเช่นเดียวกันซึ่งเป็นคนสามัญ
เพราะฉะนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราไว้เป็นพระราชบัญญัติสืบไปดังนี้
| หน้าถัดไป>>