สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

การแพทย์แผนโบราณ

สรรพคุณเภสัช

รสของตัวยา 4 , 6 , 8 , 9 รส

รสยา 4 รส

ในคัมภีร์ธาตุวิภังค์ ได้กล่าวถึงรสยา 4 รส แก้โรคดังนี้

  1. รสยาฝาด ชาบไปในผิวเนื้อ และเส้นเอ็น
  2. รสยาเผ็ด ชาบไปในผิวหนังทุกเส้นขน
  3. รสยาเค็ม ชาบไปในที่เส้นเอ็นและกระดูกทั่วสรรพางค์กาย
  4. รสยาเปรี้ยว ชาบไปในเนเอ็นทั่วรรพางค์กาย

รสยา 6 รส

ในคัมภีร์วรโยคสาร ได้กล่าวถึงรสยา 6 รส แก้โรคดังนี้

  1. มธุระ คือ รสหวาน ชอบกับยาให้เจริญรสธาตุ
  2. อัมพิระ คือ รสเปรี้ยว ทำให้ดี ลม เสลดอนุโลมตามซึ่งตนและเจริญรสอาหาร บำรุงไฟธาตุกระทำสารพัดที่ดิบให้สุก ถ้าใช้เป็นเกิดคุณ ใช้ไม่เป็นเกิดโทษ
  3. ลวณะ คือ รสเค็ม เผาโทษเผาเขฬะ ให้เจริญไฟธาตุ
  4. กฏุกะ คือ รสเผ็ด กระทำให้กำลังน้อย ระงับความเกียจคร้าน ระงับพิษ ไม่ให้เจริญบำรุงไฟธาตุและให้อาหารสุก
  5. ติตติกะ คือ รสขม เจริญไฟธาตุ แก้ร้อน แก้ระหายน้ำ กระทำให้มูตรและ คูถบริสุทธิ์เจริญรสอาหาร
  6. กะสาวะ คือ รสฝาด เจริญไฟธาตุ แก้กระหายน้ำ ให้เจริญผิวกายและเนื้อ

    คุณสมบัติของยาแต่ละรส ให้แสลงกับโรคต่างๆ มีรายละเอียดดังนี้ คือ

    รสเผ็ด รสขม และรสฝาด ทั้ง 3 รสนี้ ทำให้ ลมกำเริบ
    รสเผ็ด รสเปรี้ยว และรสเค็ม ทั้ง 3 รสนี้ ทำให้ ดีกำเริบ
    รสหวาน รสเปรี้ยว และรสเค็ม ทั้ง 3 รสนี้ ทำให้เสลดกำเริบ

รสยา 8 รส

ในคัมภีร์ธาตุวิวรณ์ กล่าวถึงยา 8 รส แก้โรคดังนี้คือ

  1. รสขม ย่อมซาบไปตามผิวหนัง
  2. รสฝาด ย่อยซาบมังสา (ชาบเนื้อ)
  3. รสเค็ม ซาบเส้นเอ็น
  4. รสเผ็ดและรสร้อน ซาบกระดูกมิได้เว้น
  5. รสหวาน ย่อมซึมซาบลำไส้ใหย่
  6. รสเปรี้ยว ซาบลำไส้น้อย
  7. รสเย็นหอม ซาบหัวใจ
  8. รสมัน ซาบที่ข้อต่อทั้งปวง

รสยา 9 รส

ในการศึกษาเรื่องสรรพคุณเภสัช ได้สรุปรสชองวัตถุธาตุได้ 9 รส จำแนกให้ละเอียดออกไปดังนี้

  1. รสฝาด สรรพคุณ มีฤทธิ์ทางสมาน เช่น สมานบาดแผลทั้งภายในและภายนอก แผลสด แผลเปื่อย กัดเนื้อร้าย แก้โรคบิด ท้องร่วง แก้อุจจาระธาตุพิการ คุมธาตุ แสลงกับโรคไอ ท้องผูก โรคลม โรคพรรดึก ท้องผูก เตโชธาตุพิการ (ธาตุไฟ)
  2. รสหวาน สรรพคุณ มีฤทธิ์ซึมซาบไปตามเนื้อ เช่น ทำให้เนื้อในร่างกายชุ่มชื้น บำรุงกล้ามเนื้อ บำรุงหัวใจ เจริญอาหาร แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง แก้ไอ แก้เสมหะแห้ง แก้หอบ แสลงกับโรค ฟันผุ เสมหะเฟื่อง อาเจียน โรคเบาหวาน น้ำเหลืองเสีย บาดแผล
  3. รสเมาเบื่อ สรรพคุณ แก้พิษ เช่น พิษดี พิษเสมหะ พิษโลหิต พิษไข้ พิษสัตว์กัดต่อย แก้โรคทางอาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) แก้พยาธิ ผื่นคัน แสลงกับโรค หัวใจพิการ ไอ
  4. รสขม สรรพคุณ แก้ในทางโลหิตและดี แก้กำเดา แก้ไข้ต่างๆ เช่น ไข้ตัวร้อน ไข้จับสั่น บำรุงน้ำดี เจริญอาหาร ช่วยย่อยอาหาร แสลงกับโรค หัวใจพิการ โรคลม จุกเสียด แน่นเฟ้อ
  5. รสเผ็ดร้อน สรรพคุณ แก้โรคลมจุกเสียด ขับลมให้ผายหรือเรอ บำรุงเตโชธาตุ (ธาตุไฟ) ขับเหงื่อ ช่วยย่อยอาหาร แสลงกับโรค ไข้ตัวร้อน เพ้อคลั่ง
  6. รสมัน สรรพคุณ มีฤทธิ์ซึบซาบไปตามเส้นเอ็น แก้เส้นเอ็นพิการ บำรุงเส้นเอ็น แก้ปวดเมื่อย บำรุงไขข้อ บำรุงเยื่อกระดูก เป็นยาอายุวัฒนะ ให้ความอบอุ่นแก่ ร่างกาย แสลงกับโรค เสมหะพิการ เช่น ไอ หอบ บิด และไข้ต่างๆ ร้อนในกระหายน้ำ
  7. รสหอมเย็น สรรพคุณ บำรุงหัวใจ ตับ ปอด บำรุงครรภ์ แก้อ่อนเพลีย ชูกำลัง แก้กระหายน้ำดับพิษร้อน แสลงกับโรค ลมจุกเสียดแน่น ลมป่วง
  8. รสเค็ม สรรพคุณ มีฤทธิ์ซึมซาบไปตามผิวหนัง แก้โรคผิวหนัง โรคพรรดึก ถ่ายชำระน้ำเหลือง ชำระเมือกมันในลำไส้ ฟอกโลหิต แก้เสมหะเหนียว แสลงกับโรค อุจจาระธาตุพิการ โรคบิดมูกเลือด กระเพาะอาหารเป็นแผล
  9. รสเปรี้ยว สรรพคุณ แก้เสมหะพิการ แก้เสมหะเหนียว แก้ไอ แก้ท้องผูก ระบายอุจจาระ ฟอกโลหิต แก้กระหายน้ำ แสลงกับโรค น้ำเหลืองเสีย ท้องเสีย และไข้ต่างๆ

นอกจากนี้ในตำราเวชศึกษายังเพิ่ม รสจืด อีกหนึ่งรส สรรพคุณ แก้เสมหะ ขับปัสสาวะ ดับพิษไข้ ดับพิษปวดร้อน แก้ทางเตโชธาตุ ไม่แสลงกับโรคใด

ตัวอย่างของตัวยารสต่างๆ

ตัวยารสฝาด สำหรับสมาน ตัวยาและสรรพคุณ เช่น

  1. ลูกเบญกานี รสฝาด แก้บิดปวดเบ่ง ปิดธาตุ แก้ท้องร่วง แก้ปวดมดลูก สมานบาดแผล
  2. ทับทิมทั้ง 5 รสฝาด แก้ท้องร่วง แก้บิดมูกเลือด ปิดธาตุ สมานบาดแผล
  3. ลูกสมอพิเภกแก่ รสฝาด แก้ไข้ แก้ริดสีดวง แก้บิด และแก้โรคตา
  4. สีเสียดทั้ง 2 รสฝาด สมานบาดแผลและคุมธาตุ แก้ท้องร่วง บิด แก้ลงแดง แก้อติสาร แก้บาดแผล ล้างบาดแผลที่ถูกไฟ และโรคผิวหนัง
  5. ฝรั่งทั้ง 5 รสฝาดเย็น ถอนพิษบาดแผล แก้ท้องร่วง แก้บิดมูกเลือดและปวดเบ่ง
  6. เปลือกนนทรี หรือเปลือกต้นตาเสือ รสฝาด กล่อมเสมหะและโลหิต แก้บิดมูกเลือด ปิดธาตุ สมานบาดแผล ขับประจำเดือน รัดมดลูก ขับลมผาย แก้ท้องร่วง
  7. เปลือกขี้อาย รสฝาด แก้อุจจาระเป็นฟอง แก้ท้องร่วง แก้บิดเรื้อรัง แก้ปวดแบ่ง คุมธาตุ ชะล้างบาดแผล
  8. เปลือกเพกา รสฝา ดับพิษโลหิต แก้น้ำเหลืองเสีย สมานบาดแผล ขับเลือดเน่าในเรือนไฟ
  9. เปลือกลูกมังคุด รสฝาด สมานบาดแผล แก้บิด แก้ลงท้อง ท้องเดิน ล้างแผล
  10. ลูกกราย รสฝาด แก้บิดปวดเบ่ง แก้เสมหะเป็นพิษ คุมธาตุ สมานบาดแผล แก้ท้องร่วง

ตัวยารสหวาน ซึมซาบไปตามเนื้อ ตัวยาและ สรรพคุณ เช่น

  1. ดอกคำไทย รสหวาน บำรุงโลหิต แก้แสบร้อนคันตามผิวหนัง แก้บิด แก้ไตพิการ
  2. ดอกคำฝอย รสหวาน บำรุงโลหิตและน้ำเหลืองให้เป็นปกติ แก้แสบร้อน ตามผิวหนัง บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ขับระดู
  3. งวงตาลโตนด รสหวานเย็น แก้พิษตานซาง ขับพยาธิ บำรุงดวงจิตให้ชื่นบาน
  4. ตานหม่อน รสหวานเย็น แก้พิษตานซาง ขับไส้เดือน บำรุงเนื้อหนังให้ชุ่มชื่น คุมธาตุ
  5. น้ำอ้อย กลิ่นหอมรสหวานเย็น น้ำอ้อยแดงรสหวานขมเล็กน้อย แก้เสมหะและหืดไอ กระจายเสมหะ ขับปัสสาวะ
  6. รากชะเอมจีน (ชะเอมเทศ) ขับเลือดเน่า บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น แก้กำเดา แก้น้ำลายเหนียว
  7. รากชะเอมไทย รสหวาน แก้โรคในคอ แก้ลม แก้รัตตะปิตตะโรค
  8. เหง้าสับปะรด รสหวาน ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้นิ่ว แก้หนองใน ขับระดูขาว
  9. รากและดอกมะพร้าว รสหวาน แก้ลงท้อง แก้อ่อนเพลีย แก้ปากเปื่อย แก้ไข้ตานซาง แก้ไข้กำเดา
  10. ดอกอังกาบ รสหวาน แก้สตรีระดูขัด บำรุงไฟธาตุ แก้ไข้

ตัวยารสเมาเบื่อ แก้พิษ ตัวยาและสรรพคุณ เช่น

  1. ใบกระท่อม เมาเบื่อขมฝาด แก้บิดปวดมวน แก้ปวดท้อง แก้ท้องร่วง แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  2. กัญชา รสเมา เจริญอาหาร ชูกำลัง ทำให้ใจขลาดกลัว
  3. ใบลำโพง รสเมา แก้พิษฝี แก้ปวด แก้บวม แก้อักเสบ แก้หอบหืด ดอกลำโพง รสเมาหวาน แก้หอบหืด เมล็ดลำโพง รสเมามัน แก้ไข้พิษ ไข้ที่ทำให้กระสับกระส่าย (เวลาใช้ต้องทำให้น้ำมันในเมล็ดหมดไป) น้ำมันจากเมล็ด รสเมาเบื่อ แก้กลากเกลื้อน หิด เหา รากลำโพง รสเมาหวาน แก้พิษกาฬทั้งปวง ดับพิษร้อน แก้พิษร้อน แก้ปวด แก้บวม แก้อักเสบ แก้ไข้พิษเซื่องซึม แก้พยาธิ
  4. สะแกทั้ง 5 รสเบื่อเมา ขับพยาธิและไส้เดือน แก้โรคตานขโมย แก้ฝีตานซาง
  5. ลูกกระเบียน – ลูกกระเบา รสเมาเบื่อ ฆ่าพยาธิกลางเกลื้อน แก้มะเร็ง คุดทะราด โรคเรื้อน กุฏฐัง
  6. ลูกสะบ้าต่างๆ รสเมาเบื่อ (เผา) แก้พิษไข้ ทาแก้พยาธิทั้งปวง
  7. รากขันทองพยาบาท รสเมาเบื่อ แก้พิษลม แก้ประดง แก้พยาธิต่างๆ
  8. รากทองพันชั่ง รสเมาเบื่อ แก้กลากเกลื้อนผื่นคัน ดับพิษไข้ แก้โรคผิวหนังและมะเร็ง
  9. ชุมเห็ดเทศทั้ง 5 รสเบื่อเอียน ขับพยาธิในลำไส้ รู้ถ่ายเองปิดเอง โรคผิวหนังทุกชนิด
  10. เถากระไดลิง รสเมาเบื่อ แก้พิษทั่งปวง แก้ไข้เซื่องซึม ขับเหงื่อ

 

ตัวยารสขม แก้ทางโรหิตและดี ตัวยาและสรรพคุณ เช่น

  1. เถาบอระเพ็ด รสขมเย็น แก้ไข้ แก้เสมหะ แก้โลหิต บำรุงน้ำดี เจริญอาหาร เป็นยาอายุวัฒนะ
  2. เถามะระ รสขมเย็น บำรุงน้ำดี แก้ไข้ แก้กระหายน้ำ
  3. ลูกกระดอม รสขม แก้ไข้ บำรุงน้ำดี ให้เจริญอาหาร
  4. เถาชิงช้าชาลี รสขม แก้ไข้เหนืออันเกิดเพื่อโลหิต แก้ไข้ บำรุงกำลัง บำรุงไฟธาตุ เจริญอาหาร ทำให้เลือดในกายเย็น แก้สะอึก แก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับน้ำย่อยอาหาร
  5. เถาขี้กาแดง รสขม บำรุงน้ำดี ถ่ายล้างเสมหะให้ตก ดับพิษเสมหะและโลหิต
  6. เปลือกต้นสะเดา รสขมฝากเย็น แก้บิดมูกเลือด
  7. มะกาเครือหรือสะไอเครือ รสขม แก้เสมหะเป็นพิษ แก้บิด แก้พยาธิ แก้ปวดเบ่ง ขับเสมหะ ขับฟอกโลหิตระดู
  8. ใบและลูกมะแว้งเครือ รสขม บำรุงธาตุ แก้ไอ แก้น้ำลายเหนียว แก้เสมหะ
  9. ลูกประคำดีควาย รสขม แก้กาฬภายใน ดับพิษตานซาง
  10. ดีสัตว์ต่างๆ รสขม ขับยาให้เล่นเร็ว บำรุงน้ำดี และโลหิต

ตัวยารสเผ็ดร้อน แก้ลม ตัวยาและสรรพคุณ เช่น

  1. ลูกจันทน์เทศ รสเผ็ดร้อน แก้ปวดท้อง ชูไฟธาตุ แก้ธาตุพิการ เจริญอาหาร รัดมดลูก
  2. ดอกจันทน์ รสเผ็ดร้อน แก้ลมจุกเสียด แก้ปวดท้อง ชูไฟธาตุ
  3. ลูกกระวาน รสเผ็ดร้อน กระจายเสมหะ โลหิต แก้ปวดท้อง แก้จุกเสียด ขับลมในท้อง
  4. กานพลู รสเผ็ดร้อน กระจายลมเมหะอันข้น แก้เสมหะอันเกิดในกองโลหิต และแก้รัตตะปิตตะโรค และกระทำให้อาหารงวด แก้ปวดท้อง แก้รำมะนาด
  5. รากพาดไฉน รสเผ็ดร้อน แก้เสมหะ ขับลมผาย
  6. หัวเตาเกียด รสเผ็ดร้อน แก้โรคตับปอดพิการ แก้ตับทรุด ฟอกเสมหะ
  7. พริกหอม รสเผ็ดร้อน ขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้
  8. พริกหาง รสเผ็ดร้อน บำรุงธาตุ แก้ปวดท้อง ขับลม ขับปัสสาวะ ขับหนอง
  9. ขิงแห้ง รสเผ็ดร้อนหวาน แก้พรรดึก กระจายลม แก้จุกเสียด ขับเหงื่อ แก้ไข้ตรีโทษ
  10. หัวกระชาย รสเผ็ดร้อน แก้มุตกิด แก้โรคในปาก แก้ลมอันเกิดแต่กองหทัยวาตะ

ตัวยารสมัน แก้เส้นเอ็น ตัวยาและสรรพคุณ เช่น

  • เมล็ดงา รสมัน บำรุงไขมัน และแก้เส้นเอ็น แก้เมื่อย บำรุงกำลัง
  • เมล็ดถั่วเขียว รสมัน แก้ร้อนภายใน แก้ขัดข้อ บำรุงเนื้อและกระดูก บำรุงกำลัง
  • เมล็ดถั่วลันเตา รสมัน แก้ตับพิการ และม้ามย้อย บำรุงกำลัง
  • เมล็ดถั่วลิสง รสมัน บำรุงไขมัน บำรุงเส้นเอ็น ขับผายลม บำรุงกำลัง
  • เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ รสมัน แก้โรคผิวหนัง ทำลายตุ่มตาปลา
  • แก่นกันเกรา รสมัน บำรุงไขข้อ แก้ปวดเมื่อย เป็นยาอายุวัฒนะ
  • หัวแห้ว รสมัน บำรุงกำลัง บำรุงครรภ์ บำรุงธาตุ เป็นยาอายุวัฒนะ
  • หัวถั่วพู รสมัน บำรุงกำลัง แก้น้ำดีพิการ แก้ไข้
  • น้ำนมแพะ รสมัน บำรุงธาตุไฟ แก้จุกเสียด แก้หืดไอ บำรุงกำลัง
  • เลือดแรด รสมันคาว บำรุงโลหิต แก้ช้ำใน กระจายโลหิต

ตัวยารสหอมเย็น บำรุงหัวใจ ตัวยาและสรรพคุณ เช่น

  • เกสรทั้ง 5 รสหอมเย็น แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้จับ ไข้เพื่อลม ให้เจริญอาหาร แก้โรคตา และบำรุงหัวใจ
  • หญ้าฝรั่น รสหอมเย็น ชูกำลัง บำรุงหัวใจ ทำให้ชื่นใจ
  • รากแฝกหอม รสหอมเย็น บำรุงหัวใจ แก้ไข้เพื่อดี
  • น้ำดอกไม้เทศ รสหอมเย็น บำรุงหัวใจให้ผ่องใส
  • ต้นเตยหอม รสหอมเย็น บำรุงหัวใจ ขับปัสสาวะ
  • รากชะลูด รสหอมเย็น แก้ไข้อ่อนเพลีย แก้ล้มบาดทะจิต
  • กฤษณา รสหอมเย็น บำรุงหัวใจ บำรุงตับ ปอด แก้ไข้
  • กระลำพัก รสหอมเย็น แก้พิษเสมหะ โลหิต บำรุงตับ ปอด หัวใจ แก้ธาตุพิการ
  • ขอนดอก รสหอมเย็น แก้ไข้เพื่อตรีโทษ บำรุงครรภ์รักษา บำรุงตับ ปอด และหัวใจ
  • พิมเสนในปล้องไม้ไผ่ รสหอมเย็น แก้เสมหะ แก้ลม แก้หอบ หืด แก้โรคตา

ตัวยารสเค็ม ซึบซาบไปตามผิวหนัง ตัวยาและสรรพคุณ เช่น

  • แก่นแสมทะเล รสเค็ม แก้กระษัย ขับโลหิต ขำน้ำคาวปลา ขับลม
  • เปลือกตำลำพู รสเค็ม แก้โรคผิวหนัง แผลเปื่อย
  • เปลือกต้นตะบูน รสเค็ม แก้บิด แก้ท้องร่วง สมาน แก้ไอ
  • เปลือกต้นมะเกลือ รสเค็ม แก้กระษัย แก้พยาธิ แก้ตานซาง
  • โคกกระสุน รสเค็ม ขับปัสสาวะ ขับมุตกิด แก้ไตพิการ
  • ดินประสิว รสเค็ม ขับปัสสาวะ ถอนพิษ ขับลมในเส้น
  • ใบกระชาย รสเค็ม แก้โรคในปาก ลำคอ แก้โลหิต
  • ใบหอมแดง รสเค็ม แก้ไข้หวัด แก้โรคตา แก้ฟกบวมซ้ำ
  • เกลือทั้ง 5 รสเค็ม แก้ไข้พรรดึก แก้ท้องมาน แก้เสมหะ แก้บิดมูกเลือด บำรุงน้ำเหลือง
  • เนาวหอยจืด เผารสเค็มกร่อย ขับลมในลำไส้ ชะล้างลำไส้ แก้โรคกระษัย แก้ไตพิการ ขับนิ่ว ขับปัสสาวะ บำรุงกระดูก

ตัวยารสเปรี้ยว กัดเสมหะ ตัวยาและสรรพคุณ เช่น

  • ใบส้มป่อย รสเปรี้ยว ชำระล้างเสมหะในลำไส้ ฟอกโลหิต
  • ใบโทงเทง รสเปรี้ยว แก้เจ็บคอ แก้ฝีในคอ แก้น้ำลายพิการ
  • ใบมะขาม รสเปรี้ยว แก้คูถเสมหะ ฟอกโลหิต
  • ใบส้มเปรี้ยว รสเปรี้ยว แก้เสมหะ ฟอกโลหิตสตรี
  • ใบมะยม รสเปรี้ยว แก้เสมหะ ถอนพิษ แก้ไข้เพื่อเสมหะ
  • ลูกมะดัน รสเปรี้ยว ล้างเสมหะ ฟอกโลหิต
  • ลูกมะเขือชื่น รสเปรี้ยว ขับเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว
  • ลูกมะอึก รสเปรี้ยว แก้ไอ ขับเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว
  • น้ำมะนาว น้ำมะกรูด , น้ำส้มซ่า รสเปรี้ยว กัดเสมหะ แก้ลม ฟอกโลหิต
  • รากมะกล่ำทั้ง 2 รสเปรี้ยว บำรุงเสียง แก้ศอเสมหะ แก้ลมในลำไส้

ตัวยารสจืด แก้เสมหะและปัสสาวะ ตัวยาและสรรพคุณ เช่น

  • ต้นผักกาดน้ำ รสจืด ขับปัสสาวะ แก้ช้ำรั่ว
  • หญ้าถอดปล้อง รสจืด ขับปัสสาวะ แก้มุตกิด
  • ราก และตาไม้ไผ่ป่า รสจืด ขับปัสสาวะ และแก้ไตพิการ
  • รากต่อไส้ รสจืด แก้ปัสสาวะ และแก้ไตพิการ
  • ตะไคร้น้ำ ตะไคร้หางนาค รสจืด ขับปัสสาวะ แก้ช้ำรั่ว แก้กระษัยกล่อน
  • รากไทรย้อย รสจืด ขับปัสสาวะ แก้กระษัยไตพิการ
  • รากแตงหนู รสจืด แก้ปัสสาวะพิการ แก้เสมหะ
  • แก่นปรู แส้ม้าทลาย รสจืด แก้น้ำเหลือเสีย แก้พิษประดง แก้เสมหะพิการ
  • ต้นขลู่ รสจืด แก้กระษัยกล่อน แก้ปัสสาวะพิการ
  • เถาตำลึง รสจืดเย็น แก้ไข้ที่มีพิษ แก้โรคตา ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้

»» ยารสประธาน
»» รสของตัวยา 4 , 6 , 8 , 9 รส
»» รสยาประจำธาตุ (รสยาแก้ตามธาตุ)
»» รสยาแก้ตามวัย (แก้ตามอายุ)
»» รสยาแก้ตามฤดู
»» รสยาแก้ตามกาล

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย