เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

ปศุสัตว์

คุณค่าทางอาหารสัตว์ของหญ้าแฝก

ผลผลิตน้ำหนักแห้งและคุณค่าทางโภชนะ

          เมื่อหญ้าแฝกมีอายุน้อยจะให้ผลผลิตน้ำหนักแห้งต่ำ และเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้นผลผลิตก็จะสูงขึ้นด้วย แต่คุณค่าทางโภชนะลดต่ำลง โดยที่เปอร์เซนต์วัตถุแห้ง (Dry matter) จะเพิ่มมากขึ้นตามช่วงอายุการตัดที่มากขึ้น ในขณะที่ปริมาณโปรตีน การย่อยได้ของวัตถุแห้ง (In Vitro Dry Matter Digestibilities-IVDMD) และแร่ธาตุต่าง ๆ กลับมีค่าลดต่ำลง ส่วนเยื่อใยต่าง ๆ ถึงแม้จะไม่มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงให้เห็นอย่างชัดเจน ตามช่วงอายุการตัดที่เพิ่มมากขึ้นก็ตาม แต่ปริมาณเยื่อใยก็มีค่าสูงมาก (ตารางที่ 3) ที่เป็นเช่นนี้เพราะหญ้าแฝกเป็นหญ้าที่มีใบหนาและค่อนข้างแข็งกว่าหญ้าชนิดอื่นที่พบเห็นได้ทั่ว ๆ ไป มีเพียงเฉพาะใบอ่อนเท่านั้นที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบหญ้าแฝกกับหญ้าอาหารสัตว์ชนิดอื่นแล้วหญ้าแฝกจัดว่าเป็นหญ้าที่มีคุณภาพต่ำในการใช้หญ้าแฝกเลี้ยงสัตว์ ควรใช้หญ้าที่มีอายุการตัดทุก ๆ 4 สัปดาห์ เพราะการตัดหญ้าที่มีอายุน้อยกว่า 4 สัปดาห์ จะได้หญ้าที่มีคุณภาพดี แต่ได้ผลผลิตต่ำ ส่วนการตัดหญ้าที่มีอายุเกิน 4 สัปดาห์ จะได้ผลผลิตสูง แต่คุณภาพของหญ้าจะต่ำ หญ้าแฝกที่ตัดทุก ๆ 4 สัปดาห์ จะให้ผลผลิตน้ำหนักแห้งและคุณค่าทางโภชนะ ดังนี้

  • ผลผลิตน้ำหนักแห้งและวัตถุแห้ง (Dry matter) หญ้าแฝกหอมและหญ้าแฝกดอนให้ผลผลิตน้ำหนักใกล้เคียงกันโดยหญ้าแฝกดอนที่ให้ผลผลิตสูงสุดคือ สายพันธุ์ประจวบคีรีขันธ์ ให้ผลผลิต 1,352 กก./ไร่ ส่วนหญ้าแฝกหอมที่ให้ผลผลิตสูงสุด คือ สายพันธุ์ศรีลังกา ให้ผลผลิต 1,020 กก./ไร่ สำหรับปริมาณวัตถุแห้ง (Dry matter) หญ้าแฝกหอมมีปริมาณวัตถุแห้งต่ำกว่าหญ้าแฝกดอนโดยหญ้าแฝกหอมมีปริมาณวัตถุแห้งเฉลี่ยเพียง 33% สายพันธุ์กำแพงเพชร
  • มีปริมาณวัตถุแห้งต่ำสุด คือ 31% แต่หญ้าแฝกดอนมีปริมาณวัตถุแห้งเฉลี่ย 40% โดยสายพันธุ์ราชบุรีมีปริมาณวัตถุแห้งต่ำสุด 39
    เมื่อเปรียบเทียบผลผลิตน้ำหนักแห้ง และปริมาณวัตถุแห้งของหญ้าแฝกหอมและหญ้าแฝกดอน ในช่วงฤดูฝนกับฤดูแล้ง พบว่าหญ้าแฝกทั้ง 2 ชนิด ให้ผลผลิตในช่วงฤดูฝนมากกว่าฤดูแล้ง แต่เปอร์เซนต์วัตถุแห้งในช่วงฤดูฝนต่ำกว่าฤดูแล้ง ในช่วงฤดูฝน หญ้าแฝกหอมให้ผลผลิตและเปอร์เซนต์วัตถุแห้งต่ำกว่าหญ้าแฝกดอน แต่ก็จัดได้ว่าหญ้าแฝกทั้ง 2 ชนิดมีความอ่อนนุ่มน่ากิน เพราะมีปริมาณวัตถุแห้งต่ำกว่า 40% ส่วนในช่วงฤดูแล้งหญ้าแฝกหอมจะให้ผลผลิตสูงกว่าหญ้าแฝกดอน แต่มีเปอร์เซนต์วัตถุแห้งต่ำกว่าหญ้าแฝกดอน กล่าวคือ หญ้าแฝกหอมมีวัตถุแห้ง 46% แต่หญ้าแฝกดอนมีวัตถุแห้ง 51%
  • โปรตีน หญ้าแฝกหอมและหญ้าแฝกดอนมีปริมาณโปรตีนเฉลี่ยใกล้เคียงกัน คือ ประมาณ 7% หญ้าแฝกหอมและหญ้าแฝกดอนที่มีโปรตีนสูงสุด คือ สายพันธุ์กำแพงเพชร 2 และ สายพันธุ์กำแพงเพชร 1 มีโปรตีน 8% ตามมาตรฐานอาหารสัตว์ ปริมาณโปรตีนในพืชอาหารสัตว์ไม่ควรต่ำกว่า 6.8% (สายัณห์) ดังนั้นหญ้าแฝกจึงมีปริมาณโปรตีนมากพอที่จะใช้เลี้ยงสัตว์ได้
  • เยื่อใย หญ้าแฝกหอมและหญ้าแฝกดอนมี NDF (ผนังเซลล์พืช) สูงถึง 80% ดังนั้น NDS ซึ่งเป็นส่วนประกอบภายในเซลล์พืช ได้แก่ แป้ง น้ำตาล โปรตีน ไขมัน ฯลฯ และสัตว์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายจึงมีเพียง 20% เท่านั้น

    เยื่อใยพวกเซลลูโลส ซึ่งเป็นเยื่อใยที่สัตว์เคี้ยวเอื้องสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด มีในหญ้าแฝกโดยเฉลี่ย สูงถึง 38% หญ้าแฝกหอมที่มีเซลลูโลสสูงสุด มี 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์สงขลา 3 ศรีลังกา และ สุราษฏร์ธานี มีเซลลูโลส 39% ส่วนหญ้าแฝกดอนที่มีเซลลูโลสสูงสุด คือ สายพันธุ์นครสวรรค์ มีเซลลูโลส 40%

    ส่วนเยื่อใยพวกเฮมิเซลลูโลส ซึ่งเป็นเยื่อใยที่สัตว์เคี้ยวเอื้องสามารถใช้ประโยชน์ได้บางส่วนนั้น มีในหญ้าแฝกโดยเฉลี่ยประมาณ 35% หญ้าแฝกหอมที่มีเฮมิเซลลูโลสสูงสุด คือ สายพันธุ์ศรีลังกา และ สงขลา 3 มีเฮมิเซลลูโลส 36% ส่วนหญ้าแฝกดอนที่มีเฮมิเซลลูโลสสูงสุด คือ สายพันธุ์เลย และ ประจวบคีรีขันธ์ มีเฮมิเซลลูโลส 37%

    สำหรับเยื่อใยพวกลิกนินซึ่งไม่มีสัตว์ชนิดใดสามารถใช้ประโยชน์ได้เลยนั้น มีในหญ้าแฝกโดยเฉลี่ยประมาณ 5% หญ้าแฝกที่มีลิกนินสูงสุด คือ หญ้าแฝกหอม สายพันธุ์สุราษฏร์ธานี และหญ้าแฝกดอน สายพันธุ์นครสวรรค์ และกำแพงเพชร 1 มีลิกนินสูงถึง 6% พืชอาหารสัตว์ที่มีปริมาณลิกนินสูง จะมีผลทำให้การย่อยได้ของเซลลูโลสและเฮมิเซลลูโลสลดต่ำลง (วรพงษ์, 2532) ดังนั้น สัตว์เคี้ยวเอื้องจึงใช้ประโยชน์จากเซลลูโลสและเฮมิเซลลูโลสได้ลดลงด้วย
  • การย่อยได้ของวัตถุแห้ง (IVDMD) หญ้าแฝกหอมมีค่าการย่อยของวัตถุแห้งสูงกว่าหญ้าแฝกดอน โดยหญ้าแฝกสายพันธุ์กำแพงเพชร 2 มีค่าการย่อยได้ของวัตถุแห้งสูงสุด คือ 43% ส่วนสายพันธุ์อื่น ๆ มีค่าการย่อยได้ของวัตถุแห้งอยู่ในช่วง 33-39% การที่สายพันธุ์กำแพงเพชร 2 มีค่าการย่อยได้ของวัตถุแห้งสูงสุด เป็นเพราะสายพันธุ์นี้มีวัตถุแห้งที่สัตว์สามารถใช้ประโยชน์ได้ คือ NDS และเซลลูโลส เป็นปริมาณมากนั้นเอง
  • แร่ธาตุ หญ้าแฝกมีธาตุแคลเซี่ยมและฟอสฟอรัสอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่ำกว่าระดับความต้องการของสัตว์เคี้ยวเอื้องมาก หญ้าแฝกสายพันธุ์กำแพงเพชร 2 เป็นหญ้าแฝกหอมที่มีปริมาณแคลเซี่ยมและฟอสฟอรัสสูงสุด คือ มีแคลเซี่ยม 0.3% และฟอสฟอรัส 0.2% ส่วนหญ้าแฝกดอนที่มีแคลเซี่ยมสูง คือ สายพันธุ์ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และกำแพงเพชร 1 คือ มีประมาณ 0.2% ส่วนปริมาณฟอสฟอรัสในหญ้าแฝกดอน มีอยู่ในระดับเดียวกัน คือ 0.1% เนื่องจากธาตุคลเซี่ยมและฟอสฟอรัสมีหน้าที่สำคัญ คือ เป็นส่วนประกอบของกระดูกและฟัน และกระตุ้นการทำงานของน้ำย่อยและเอ็นไชม์ต่าง ๆ ในร่างกาย (ทวี, 2527) ดังนั้น ในการใช้หญ้าแฝกเลี้ยงสัตว์ จึงต้องเสริมแร่ธาตุทั้ง 2 ชนิดนี้ให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของสัตว์ด้วย

    ธาตุแมกนีเซี่ยมมีในหญ้าแฝกหอมและหญ้าแฝกดอนในระดับเดียวกันคือ 0.1% หญ้าแฝกที่มีปริมาณ แมกนีเซี่ยมสูงสุด คือ หญ้าแฝกหอมสายพันธุ์กำแพงเพชร 2 มีแมกนีเซี่ยม 0.3% ส่วนหญ้าแฝกอีก 9 สายพันธุ์ มีแมกนีเซี่ยม 0.1%

    ธาตุโปแตสเซี่ยม หญ้าแฝกหอมและหญ้าแฝกดอนมีธาตุโปแตสเซี่ยมอยู่ในระดับที่เพียงพอกับความต้องการของสัตว์ โดยที่แต่ละสายพันธุ์มีธาตุนี้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน คือ 1%
  • สารพิษไม่พบกรดไฮโดรไซยานิคและสารไนไตรท์ทั้งในหญ้าแฝกหอมและหญ้าแฝกดอนทุกสายพันธุ์ พบสารไนเตรทในหญ้าแฝกหอมและหญ้าแฝกดอน ในปริมาณ 4 ppm ซึ่งอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ ทั้งนี้ เพราะระดับของสารไนเตรทที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ จะต้องมีอยู่ในปริมาณที่สูงกว่า 300-400 ppm

อ้างอิง

  • กรมพัฒนาที่ดิน. 2536. คู่มือการดำเนินงานและฝึกอบรม การพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ. กองฝึกอบรม กรมพัฒนาที่ดิน, กรุงเทพฯ. 87 น.
  • คณะทำงานติดตามและประเมินผลการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก. ไม่ระบุ พ.ศ. รายงานสรุปผลการดำเนินงาน โครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. สำนักงา
  • คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. บริษัท เซนจูรี่ จำกัด, กรุงเทพฯ. 56 น.
  • ทวี แก้วคง. 2527. โภชนศาสตร์สัตว์เบื้องต้นและการให้อาหาร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงสยามการพิมพ์, กรุงเทพ. 242 น.
  • นิรนาม. ไม่ระบุ พ.ศ. Vetiver Grass แนวรั้วเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน. สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. 63 น.
  • วรพงษ์ สุริยจันทราทอง. 2532. เยื่อใยในอาหารสัตว์. คณะเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, จังหวัดขอนแก่น. 21 น.
  • วารุณี พานิชผล สมพล ไวปัญญา เมธิน ศิริวงศ์ และ เฉลียว ศรีชู. 2537. การศึกษคุณค่าทางอาหารของหญ้าแฝก (Vetiveria zizanioides Nash) เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์. กองอาหารสัตว์, กรมปศุสัตว์, กรุงเทพฯ. 30 น.
  • วารุณี พานิชผล ชิต ยุทธวรวิทย์ และ สมพล ไวปัญญา. 2538. คุณค่าทางโภชนะของหญ้าแฝกหมักที่เติมสารชนิดต่าง ๆ. กองอาหารสัตว์, กรมปศุสัตว์, กรุงเทพฯ. 25 น.
  • สายัณห์ ทัดศรี. ไม่ระบุ พ.ศ. พืชอาหารสัตว์และหลักการทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์. พิมพ์ครั้งที่ 3. บริษัท ประชาชน จำกัด, กรุงเทพฯ 445 น.

» ลักษณะทั่วไป
» ผลผลิตน้ำหนักแห้งและคุณค่าทางโภชนะ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย