เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
การให้อาหารโคเนื้อและการจัดการทุ่งหญ้า
พันธุ์หญ้าและถั่วที่ใช้เลี้ยงสัตว์
1. หญ้ากินนี มีถิ่นกำเนิดในอัฟริกา เป็นหญ้าที่มีอายุค้างปี
ลักษณะเป็นกอต้นตั้งแบบกอตะไคร้ใบเรียวยาว ใบตก ติดเมล็ดได้ดีทนต่อสภาพแห้งแล้ง
ต้นสูงถึง 200 เซนติเมตร การปลูกนิยมเพาะเมล็ดก่อน เพราะเมล็ดมีความงอกค่อนข้างต่ำ
และค่อยแยกกอไปปลูกในแปลง
2. หญ้ารูซี่ หรือหญ้าคองโก นำเข้ามาในไทยโดยฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค
เป็นหญ้าที่มีอายุค้างปี ลักษณะคล้ายหญ้ามอริซัส แต่ข้อปล้องสั้นกว่า
ใบนุ่มคล้ายกำมะหยี่ ใบมีขนขาว ติดเมล็ดได้ดีมาก เมล็ดมีความงอกสูง
ทนต่อการเหยียบย่ำได้ดี แต่สัตว์ชอบกินน้อยกว่า หญ้ามอริซัส
การปลูกใช้เมล็ดหว่านประมาณ 1.5 ก.ก./ไร่
หญ้ารูซี่สามารถปลูกร่วมกันถั่วเชอราโตรและถั่วลายได้ดี
3. หญ้ามอริซัส หรือหญ้าขน เป็นหญ้าประเภทค้างปี ลำต้นกึ่งตั้งกึ่งนอน
ปล้องกลวง ข้อและกาบใบมีสีขาวปกคลุม หญ้าขนเป็นหญ้าที่ขึ้นได้ในดินที่ชื้นแฉะ
หรือน้ำขัง สามารถปลูกร่วมกับถั่วลายได้ดี การปลูกนิยมใช้ท่อนพันธุ์ปลูก
ซึ่งมีข้อประมาณ 2-3 ข้อ ยาว 20-25 เซนติเมตร อาจจะหว่านลงในแปลงแล้วไถกลบ
หรือปลูกเป็นหลุมระยะปลูก 60-90 เซนติเมตรก็ได้
ไม่นิยมปลูกด้วยเมล็ดเพราะเมล็ดมีความงอกต่ำ
4. หญ้าสตาร์ มีถิ่นกำเนิดในอาฟริกันตะวันออก ลำต้นเป็นเถาเลื้อย
มีไหลมากมายประสานกันเป็นร่างแห สูง 60-100 เซนติเมตร
หญ้าสตาร์สามารถขึ้นได้ดีในประเทศไทย ทนต่อความแห้งแล้ง
ทนต่อการแทะเล็มและการเหยียบย่ำของสัตว์ได้ดี หญ้าชนิดนี้กระบือชอบกินมากกว่าโค
หญ้าชนิดนี้ไม่ค่อยติดเมล็ด จึงนิยมใช้ส่วนของลำต้นปลูกเช่นเดียวกับหญ้าขน
5.หญ้าเนเปียร์ เป็นหญ้าอายุค้างปี กอสูงตั้งตรงคล้ายกออ้อย ใบดก
แต่ออกลำแบบอ้อย สัตว์ชอบกินเมื่อหญ้ายังไม่แก่ โดยการตัดสดให้กินหรือทำหญ้าหมัก
ไม่ทนการเหยียบย่ำ เหมาะทำเป็นหญ้าสวนครัว ไม่ติดเมล็ด ปลูกได้โดยตัดลำต้นปักชำ
ใช้เลี้ยงสัตว์ได้ หลังจากปลูกแล้วประมาณ 80 วัน และตัดได้อีกในทุกๆ 40-45 วัน
6. หญ้าซิกแนลตั้ง เป็นหญ้าสกุลเดียวกับหญ้าขน ซึ่งคล้ายคลึงกันมาก
แต่ปล้องตัน เป็นหญ้าประเภทค้างปี เหมาะสำหรับปล่อยสัตว์เข้าแทะเล็มและทำหญ้าแห้ง
การปลูกอาจปลูกด้วยเมล็ดหรือแยกกอปลูกก็ได้ โดยปลูกเป็นแถวประมาณ 40 เซนติเมตร
7. หญ้าซิกแนลนอน คล้ายกับหญ้าขน และหญ้าซิกแนลตั้งแต่มีใบมากกว่า
ลำต้นเลื้อยนอนไปตามพื้นดิน โคชอบกินมากกว่าสามารถปลูกกับถั่วลายได้ดี
หลังปลูกสามารถปล่อยสัตว์แทะเล็มได้หลัง 80 วัน ปลูกได้ทั้งแยกกอปลูกและใช้เมล็ด
แต่เมล็ดค่อนข้างจะมีความงอกต่ำการใช้เมล็ด 2-3 ก.ก./ไร่
ถ้าแยกกอปลูกควรใช้ระยะปลูกประมาณ 30 เซนติเมตร
8. ถั่วเซนโตรซีม่า หรือถั่วลาย มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกาใต้ อเมริกากลาง
และหมู่เกาะคาริบเบียน ลักษณะการเจริญเติบโตเป็นเถาเลื้อยขนานไปตามผิวดิน
หรือพันหลักและพืชอื่นที่อยู่ใกล้เคียงเป็นถั่วที่ทนต่อการรบกวนจากแมลงได้ดี
มีความสามารถทนแล้งได้พอใช้ขึ้นได้ดีในทุกภาคของประเทศไทยขึ้นได้ดีกับหญ้าหลายชนิด
เช่น หญ้ากินนี หญ้าขน หญ้าเนเบียร์ การปลูกใช้เมล็ดปลูก เนื่องจากเมล็ดมีความแข็ง
ควรแช่น้ำร้อนที่เดือดประมาณ 10 นาที จะช่วยให้เปอร์เซ็นต์ความงอกดีขึ้น
9. ถั่วฮามาต้า แหล่งดั้งเดิมอยู่ในหมู่เกาะอินเดียตะวันตกและอเมริกากลาง
นำเข้ามาเมื่อ ปี 2514 โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นและสำนักงานเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ลักษณะลำต้นตั้ง เมื่ออายุมากขึ้นจะแผ่กิ่งก้านสาขาออกทางด้านข้าง ลำต้นเล็ก
ผิวเกลี้ยง อาจมีขนบ้าง ดอกมีสีเหลือง ใบมีใบย่อยคล้ายหอก
เป็นถั่วที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมแห้งแล้งได้ดีมาก การปลูกโดยใช้เมล็ดประมาณ
1-2 ก.ก./ไร่
10. ถั่วเซอราสโตร เป็นถั่วที่ถูกนำเข้ามาโดยศูนย์ส่งเสริมโคนมมวกเหล็ก ในปี
2505 โดยนำมาจากออสเตรเลีย ลักษณะลำต้นเป็นแบบเถาเลื้อย
สามารถเลื้อยพันพืชชนิดอื่นได้หรือเลื้อยแผ่ไปบนดิน
ลำต้นมีขนอยู่ทั่วไปรากมีระบบรากแก้วลึก แข็งแรง
ใบมีสีเขียวอวบน้ำมีขนด้านบนใบเล็กน้อย ด้านล่างใบมีขนมากกว่า
ดอกมีสีแดงเข้มหรือสีม่วง ผักรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 7.6 เซนติเมตร
มีเมล็ดประมาณ12-13 เมล็ดต่อฝัก การปลูกโดยการหว่านเมล็ด ในอัตรา 1.5 ก.ก./ไร่
เป็นถั่วที่ติดเมล็ดได้ดีอีกพันธุ์หนึ่ง
11. กระถิน เป็นพืชที่ขึ้นได้โดยทั่วๆ ไป เป็นไม้ยืนต้น
ปัจจุบันมีกระถินยักษ์หลายพันธุ์ที่มีโปรตีนสูง สัตว์ชอบกิน
นิยมให้กินทั้งในรูปของกระถินสดและทำใบแห้งสำหรับผสมในอาหารข้น
ซึ่งในใบกระถินแห้งจะมีโปรตีนประมาณ 24% ถ้าให้กินสด
ควรให้ผสมกับหญ้าสดหรือหญ้าแห้งประมาณ 3-5 ก.ก./วัน
ไม่ควรให้กระถินอย่างเดียวกับสัตว์ เพราะในกระถินมีสารมิมโมซีน
ซึ่งถ้าได้รับมากจะทำให้เป็นพิษโดยมีอาการขนร่วง ต่อมไทรอยด์ขยายโตผิดปกติ
แต่อย่างไรก็ตามในโคมักไม่ค่อยพบอาการเป็นพิเศษมากนัก
»
การให้อาหารและการจัดการทุ่งหญ้า
»
หลักในการให้อาหารโคเนื้อ
»
ประเภทของอาหารโคเนื้อ
» พันธุ์หญ้าและถั่วที่ใช้เลี้ยงสัตว์
»
การปฏิบัติบำรุงรักษาแปลงหญ้า
»
การเก็บถนอมอาหารสัตว์ไว้ใช้ในฤดูแล้ง