สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
เอกสารประกอบการสอนหมวดวิชาการศึกษาทั่วไป
วิวัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ และ การเมืองการปกครองของสังคมโลก
สภาพปัจจุบันของสังคมโลก
ปัญหาและการแก้ปัญหาสังคมของโลก
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
การปรับตัวของไทยในสังคมโลก
บรรณานุกรม
ปัญหาและการแก้ปัญหาสังคมของโลก
ปัญหาและการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของโลก
ตั้งแต่ ค.ศ.1990 เป็นต้นมาการค้าโลกเริ่มเข้าสู่ยุคใหม่ ที่นำหลักการค้าเสรีมาเป็นกรอบในการค้าระหว่างประเทศ แต่ปัญหาเศรษฐกิจก็ยังคงอยู่ ประกอบกับภาวะ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้เริ่มขึ้นด้วย จึงทำให้ปัญหาทางเศรษฐกิจรุนแรงมากขึ้น
1. ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
หลายภูมิภาคของโลกประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว เช่น สหรัฐอเมริกา ประสบปัญหาการขาดดุลงบประมาณติดต่อกันหลายปี และปัญหาเงินเฟ้อ ในละตินอเมริกา เช่น อาร์เจนตินา บราซิล และอุรุกวัย ประสบปัญหาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ และมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจอ่อนแอจนต้องขอรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากองค์การระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ส่วนในประเทศญี่ปุ่นได้เกิดปัญหาธุรกิจที่ดิน ส่งผลให้เกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจ กำลังซื้อของประชาชนลดลง บริษัทเอกชนล้มละลายเป็นจำนวนมาก แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นได้ใช้มาตรการต่าง ๆ มาแก้ไขก็ยังไม่สามารถฉุดรั้งให้ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นได้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ลงความเห็นว่าต้นตอของการเกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของเอเชีย ใน ค.ศ. 1997 นั้น มีประเทศไทยเป็นจุดเริ่มต้น โดยเรียกวิกฤติการณ์นี้ว่า โรคต้มยำกุ้ง และลุกลามไปยังประเทศต่าง ๆ ดังนั้น การยกประเทศไทยเป็นกรณีศึกษา จึงสามารถทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ของโลกได้
1.1 สาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจ
เกิดจากหนี้สินเดิมที่มีมาตั้งแต่เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ดังนี้
- 1.1.1 รายได้ของประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการเกษตร
เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรเป็นสินค้าที่ราคาไม่สูง และผันแปรไปตามสภาพของฤดูกาล ประเทศในเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา ซึ่งมีรายได้หลักจากผลผลิตทางการเกษตร ไม่สามารถส่งสินค้าออกให้ได้สัดส่วนกับการนำเข้า จึงทำให้ประเทศเหล่านี้มีหนี้สินมากขึ้น
- 1.1.2 การไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับระบบเศรษฐกิจเสรี
เนื่องจากบางประเทศมีข้อจำกัดด้านความรู้ ประสบการณ์ ทุนและเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในยุโรปตะวันออก ซึ่งเคยเป็นประเทศสังคมนิยมมาก่อน ต้องมาปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์มาเป็นระบบเสรี
- 1.1.3 ข้อจำกัดของระบบนิเวศ
เช่นทุ่งหญ้า สัตว์บก สัตว์น้ำ ป่าไม้ มีข้อจำกัด ไม่เพียงพอต่อการเพิ่มของประชากร
1.2 การวางนโยบายทางการเงินการคลังมีข้อผิดพลาด ดังนี้
- 1.2.1 การใช้นโยบายพัฒนาประเทศ
โดยการกู้ยืมเงินนำมาลงทุนในการอุตสาหกรรม การสร้างเขื่อน การพัฒนาเส้นทางคมนาคม และการศึกษา โดยคาดหวังว่าจะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้มีรายได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้มีเงินมาจ่ายคืนหนี้สิน แต่ในความเป็นจริงเงินกู้ส่วนใหญ่ได้ถูกนำไปใช้ในโครงการที่ไม่เหมาะสม ทำให้รายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่มากพอที่จะจ่ายคืนหนี้ และสะสมหนี้มากขึ้น
- 1.2.2 การตรึงอัตราแลกเปลี่ยนไว้กับเงินสกุลดอลลาร์มากเกินไป
ทำให้นักธุรกิจเอกชนไม่ได้ดำเนินการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน ทั้งยังไม่สะท้อนค่าที่แท้จริงของเงินของตน ทำให้ไม่รู้สถานะที่แท้จริงในระบบเศรษฐกิจ เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนเกิดความผันผวนขึ้นจึงทำให้ขาดทุนเสียหายมหาศาล
- 1.2.3 การบริหารการลงทุนที่ผิดพลาด
มีโครงการหลายโครงการที่น่าลงทุน กลับไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล เช่น มีผลงานวิจัยว่าหากรัฐบาลลงทุนในโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้พลังงานภายในเวลา 35 ปี จะได้กำไรจากการประหยัดงบประมาณที่ต้องใช้จ่ายในด้านพลังงานจำนวนมหาศาล
- 1.2.4 การประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจผิดพลาด
เพราะข้อมูลมีไม่เพียงพอและมีการตกแต่งข้อมูลให้ผิดไปจากสภาพความเป็นจริง ทำให้ตัดสินใจผิดพลาด เช่น การทุ่มเทช่วยเหลือสถาบันการเงิน การต่อสู้เพื่อรักษาค่าเงิน เป็นต้น
- 1.2.5 การเปิดเสรีด้านการเงิน มีการตั้งกิจการวิเทศธนกิจ
เพื่อให้กรุงเทพฯเป็นศูนย์กลาง การธนาคารระหว่างประเทศ (Bangkok International Banking Facility : BIBF) โดยไม่ได้ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้และไม่มีมาตรการที่เหมาะสมรองรับ ทำให้นักธุรกิจเอกชนกู้เงินมาลงทุนอย่างไม่เหมาะสม ไม่เอื้ออำนวยให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว
1.3 การบริหารและการจัดการทางด้านธุรกิจที่ผิดพลาด
ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในการประกอบการทางธุรกิจของเอกชน มีการละเมิดกฎเกณฑ์ทางการเงิน การเลือกปฏิบัติ (Double Standard) การหาผลประโยชน์ของผู้บริหารการกิจการโดยมิชอบ ทำให้การประกอบการเกิดปัญหาเกี่ยวกับปัญหาสภาพคล่อง
1.4 การประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจผิดพลาด
การนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยจากต่างประเทศมากเกินไป เช่น รถยนต์ น้ำหอม เหล้าต่างประเทศ และสินค้าประเภทแฟชั่น ราคาแพง กลายเป็นสินค้าที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของประชาชน มูลค่าการนำเข้าสินค้าเหล่านี้ เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เสียเปรียบดุลการค้ากับต่างประเทศหลายปีติดต่อกัน
1.5 การแทรกแซงและโจมตีค่าเงินของกองทุนต่างชาติ
เพื่อหวังผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงไป
นักค้าเงินข้ามชาติที่มีส่วนสำคัญในการโจมตีค่าเงิน คือ ยอร์จ โซรอส
นักธุรกิจการเงิน เชื้อชาติยิว สัญชาติอเมริกัน ที่เป็นแกนนำของกลุ่มทุนแควนตัม
โดยมีกลุ่มทุนใหญ่ของโลก คือ เฮดจ์ฟัน (Hadge Fund) หนุนหลัง
จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจในประเทศไทย
และลุกลามไปยังอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น จีน
และภูมิภาคอื่นๆ ของโลก
1.6 แนวทางแก้ปัญหาการชะลอตัวของระบบเศรษฐกิจและวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ
- 1.6.1 บทบาทขององค์การสหประชาชาติ
สหประชาชาติมีหน่วยงานสำคัญในการ ควบคุมดูแลทางด้านเศรษฐกิจ คือธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ตามที่กล่าวมาแล้วในบทที่ 2
- 1.6.2 การรวมกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ และเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจ
ปัจจุบันมีการแข่งขันสูงมากจากประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วได้เปรียบอย่างมากในการแข่งขันเนื่องจากมีเทคโนโลยีที่สูงกว่า และมีทุนมากกว่า การรวมกลุ่มทำให้ศักยภาพของประเทศกำลังพัฒนาสูงขึ้น
- 1.6.3 บทบาทของประเทศที่พัฒนาแล้วในการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา
เช่น สหรัฐอเมริกา ที่ให้ความช่วยเหลือเม็กซิโก เมื่อเม็กซิโกเริ่มประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจระหว่าง ค.ศ. 1982 1995 สหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำในการหาเงินกู้ให้เม็กซิโก ได้นำไปผ่อนใช้ดอกเบี้ยเงินกู้ สหรัฐอเมริกายังเปิดสินเชื่อให้แก่ประเทศไทย และฟิลิปปินส์ เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น อังกฤษก็มีส่วนเข้าไปให้ ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ประเทศในละตินอเมริกา และล่าสุดญี่ปุ่นก็ได้ประกาศให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ประเทศในเอเชียที่เรียกว่า มิยาซาวา แพลน นอกจากนั้นยังมีการให้ความช่วยเหลือของประเทศที่กำลังพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมต่อประเทศในยุโรปตะวันออก
2. ปัญหาความขัดแย้งทางเศรษฐกิจของโลก
ตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาได้เกิดความขัดแย้งทางเศรษฐกิจขึ้นในหลายด้าน ดังนี้
2.1 ลักษณะของความขัดแย้งเรื่องระบบเศรษฐกิจ
ความขัดแย้งที่เห็นได้เด่นชัดคือความขัดแย้ง ในเรื่องเศรษฐกิจเสรีกับระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี หรือบางครั้งเรียกว่าระบบทุนนิยม มีหลักการ สำคัญคือ ผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจจะต้องเป็นเอกชนที่มีเสรีภาพในการประกอบการ โดยรัฐบาลเป็นเพียงผู้ควบคุมดูแลให้การประกอบการเป็นไปตามกฎเกณฑ์กติกาเท่านั้น จะเข้าแทรกแซงในการประกอบการไม่ได้ ส่วนระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ เชื่อว่ารัฐบาลมีหน้าที่ในการประกอบการ เอกชนเป็นเพียงผู้ที่จะต้องปฏิบัติตามที่รัฐบาลกำหนดเท่านั้น หลักการของทั้งสองระบบนี้มีความขัดแย้งกันอย่างชัดเจน
จากหลักปรัชญาทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างค่ายเสรี และค่ายคอมมิวนิสต์ เป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ นอกจากนั้นแม้ภายในประเทศเองก็มีความขัดแย้งกันเองโดยกลุ่มที่เชื่อในระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ ก็กล่าวหาว่าระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนั้น สร้างความไม่เป็นธรรมขึ้นในสังคม เพราะเหตุว่า โอกาสทางเศรษฐกิจถูกกำหนดด้วยเงินทุนตามที่ นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าเป็นระบบ ทุนนิยม ผู้ที่มีทุนมากโอกาสทางเศรษฐกิจก็จะมากไปด้วยอันทำให้เกิดช่องว่างในสังคม และสังคมใดก็ตามที่มีช่องว่างทางสังคมมากสังคมนั้นก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้
2.2 ลักษณะ ความขัดแย้งในเรื่องระเบียบทางการค้า
การแข่งขันทางเศรษฐกิจในระยะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นนานาประเทศได้พยายามออกกฎระเบียบด้านการค้าขายที่มีลักษณะที่จะทำให้ตนเองได้ผลประโยชน์มากที่สุด
- 2.2.1 การตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้า
เพื่อไม่ให้สินค้าจากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศได้สะดวก สินค้าบางประเภทต้องเสียภาษีถึง 500 เปอร์เซ็นต์ เช่น ภาษีนำเข้ารถยนต์ในประเทศไทยก่อน ค.ศ. 1992 บางประเทศก็ได้กำหนดระเบียบการค้าในลักษณะต่างตอบแทนโดยกำหนดไว้ว่า หากประเทศใดต้องการจะขายสินค้าก็จะต้องซื้อสินค้าจากประเทศของตนด้วย เป็นต้น 2.2.2 การห้ามขายสินค้าบางประเภท ห้ามต่างชาติประกอบการ ในบางธุรกิจตลอดจน การปฏิบัติต่อคู่ค้าในลักษณะที่ไม่เสมอภาคกัน
- 2.2.3 การให้อภิสิทธิ์ด้านการเสียภาษีนำเข้า
สิทธิจีเอสพี ( GSP) ทำให้หลายประเทศกลายเป็นคู่แข่งขันจนกลายเป็นข้อพิพาททางการค้า ดังเช่น อังกฤษกับฝรั่งเศส ก่อน ค.ศ . 1957 ก่อนการก่อตั้งองค์การตลาดร่วมยุโรป สหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกากับจีน ใน ทศวรรษที่ 1990 ก็เป็นลักษณะเช่นเดียวกัน
2.3 ความขัดแย้งในการแสวงหาแหล่งวัตถุดิบ
ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรม
ในเอเชียแต่ขาดแคลนวัตถุดิบจึงต้องหาแหล่งวัตถุดิบ
นอกประเทศ ประกอบกับค่าแรงของญี่ปุ่นแพง
จึงทำให้บริษัทใหญ่ของญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จนทำให้เกิดความขัดแย้งกับประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ
ที่ผลิตสินค้าในลักษณะเดียวกันโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา
ปัญหาทางเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าสงครามทางเศรษฐกิจ
ประเทศที่มีศักยภาพในทางเศรษฐกิจการค้าก็ระดมกลยุทธ์การแข่งขันทุกรูปแบบเข้าต่อสู้กัน
ทั้งที่อยู่ในกฎเกณฑ์กติกา และทั้งนอกกฎเกณฑ์กติกา ส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้า
เกิดภาวะความตึงเครียดขึ้น
2.4 แนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ
สังคมโลกมีแนวทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ ดังนี้
- 2.4.1. การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ
เป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ในระดับหนึ่ง เช่น OPEC , AFTA , EU , NAFTA เป็นต้น
- 2.4.2 การใช้มาตรการแก้ปัญหาขององค์การสหประชาชาติ
องค์การสหประชาชาติได้เข้ามาแก้ปัญหาเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับเรื่องทางเศรษฐกิจ เช่น ใน กรณีแย่งชิงเขตการประมงระหว่างอังกฤษกับไอซ์แลนด์ที่เรียกว่า สงครามปลาค็อด แก้ไขโดยการเจรจา กรณีอิรักยึดครองคูเวต ใน ค.ศ. 1990 เพื่อครอบครองแหล่งทรัพยากรน้ำมันแก้ไขโดยการใช้กองกำลัง
- 2.4.3 การใช้มาตรการแก้ไขปัญหาขององค์การการค้าโลก
องค์การการค้าโลกซึ่งทำ หน้าที่เป็นเวทีเจรจาแก้ไขความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ ส่งเสริมการค้าเสรี การจัดระบบภาษีอากรให้เป็นธรรมเพื่อให้ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจของโลกลดน้อยลง
ปัญหาและการแก้ปัญหาทางสังคมของโลก
ปัญหาและการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของโลก
ปัญหาและการแก้ปัญหาทางการเมืองการปกครองของโลก
บทสรุป