สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
เอกสารประกอบการสอนหมวดวิชาการศึกษาทั่วไป
วิวัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ และ การเมืองการปกครองของสังคมโลก
สภาพปัจจุบันของสังคมโลก
ปัญหาและการแก้ปัญหาสังคมของโลก
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
การปรับตัวของไทยในสังคมโลก
บรรณานุกรม
ปัญหาและการแก้ปัญหาสังคมของโลก
ปัญหาและการแก้ปัญหาทางสังคมของโลก
ในสังคมมนุษย์ที่ประกอบด้วยประชาชนที่มีเชื้อชาติเดียวกัน มีภาษาและศาสนาเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันก็จะทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันเป็นพวกเดียวกันสามารถเข้าใจซึ่งกันและกันได้ง่าย แต่ในสังคมที่ประชาชนมีเชื้อชาติ ภาษา และศาสนาต่างกัน ก็จะนำไปสู่การเกิดปัญหาได้ง่าย ปัญหาทางสังคมของโลกที่สำคัญมีดังนี้
1. ปัญหาการเพิ่มประชากรและการขาดแคลนอาหาร
1.1 สาเหตุของปัญหา
ปัจจุบันประชากรโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ มนุษย์ใช้เวลานับพันปีกว่าจะเพิ่มประชากรได้เป็น 1 พันล้านคน ในทศวรรษที่ 1850 แต่ในช่วงเวลาไม่ถึง 100 ปี มีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 2 พันล้านคนและประมาณ 30 ปีต่อมากลับมีประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็น 3 พันล้านคน จนถึงทศวรรษที่ 1970 ประชากรเพิ่มเป็น 4 พันล้านคน ใน ค.ศ. 1990 เพิ่มเป็น 5 พันล้านคน ใน ค.ศ. 2002 ประชากรโลกได้เพิ่มขึ้นเป็น 6 พันล้านคนและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จากสถิติที่กล่าวมา แสดงให้เห็นว่าประชากรมีอัตราเพิ่มมากขึ้น อัตราการเพิ่มของประชากรทั่วโลกนั้น พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศด้อยพัฒนา ได้แก่ กลุ่มแอฟริกา ละตินอเมริกา และเอเชีย ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาอีกมาก เช่น ปัญหาการขาดแคลนอาหาร ปัญหาการแบ่งปันทรัพยากร ปัญหาที่อยู่อาศัย ปัญหาการศึกษา ปัญหาการจัดการในเรื่องสาธารณูปโภค เป็นต้น จนอาจจะกล่าวได้ว่าปัญหาสังคมส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มประชากรที่รวดเร็วเกินไปนั่นเอง
1.2 แนวทางแก้ปัญหาการเพิ่มของประชากรและการขาดแคลนอาหาร
ยึดหลักการควบคุมตามธรรมชาติ เพราะธรรมชาติจะควบคุมความสมดุลอยู่แล้ว เช่น โรคร้าย สงคราม ทุพภิกขภัย ตลอดจน ภัยธรรมชาติอื่น ๆ ทำให้มนุษย์ลดจำนวนลง อีกอย่างหนึ่ง คือเลื่อนการแต่งงานออกไปจนกว่าจะมีความพร้อมก็เป็นอีกทางหนึ่งในการลดจำนวนประชากรลงได้ องค์การสหประชาชาติ องค์กรชำนัญพิเศษ แห่งสหประชาชาติ และหลายประเทศได้ดำเนินการหลายวิธี ดังนี้
- 1.2.1 การรณรงค์เพื่อวางแผนครอบครัว (Family Planning)
หลายประเทศได้ถือเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาล เพื่อลดอัตราการเพิ่มของประชากร ทั้งองค์การสหประชาชาติและรัฐบาลของหลายประเทศได้รณรงค์ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยชี้แจงความจำเป็น และความสำคัญของการวางแผนครอบครัว และวิธีการที่ถูกต้อง โดยมีกองทุนขององค์การสหประชาชาติ และมีกองทุนของแต่ละประเทศให้การสนับสนุน
- 1.2.2 การให้การศึกษา มีขอบข่ายการให้การศึกษาแก่ประชาชน
การกำหนดหลักสูตรการศึกษาเรื่องประชากร ทั้งในระดับชั้นประถม มัธยม และอุดมศึกษา ทำเอกสารแจกประชาชนให้ทราบถึงปัญหาการมีลูกมากทั้งในระดับครอบครัว ปัญหาระดับชาติ และปัญหาระดับโลก
- 1.2.3 การนำเทคโนโลยีเข้ามาผลิต ทั้งเครื่องอุปโภค เครื่องบริโภค
ให้เพียงพอต่อการเพิ่มของประชากร เช่นการเพิ่มปริมาณ การคัดเลือกสายพันธุ์พืช และสัตว์อย่างเหมาะสม การเพาะปลูกตามหลักวิชาการ
- 1.2.4 การใช้มาตรการทางกฎหมาย
หลายประเทศได้ตรากฎหมายที่จะควบคุมการเพิ่มของประชากรไว้อย่างชัดเจน เช่น
กำหนดให้มีลูกได้ไม่เกิน 1 คน หรือ 2 คน หากไม่ปฏิบัติตามจะตัดสิทธิบางประการ
หรือถูกปรับหรือต้องเสียภาษีสูงกว่าธรรมดา
ในขณะเดียวกันก็มีกฎหมายที่ชักจูงให้มีการวางแผนครอบครัว เช่น
การช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่บุตรของครอบครัวที่ปฏิบัติตามนโยบาย
แนวทางดังกล่าวนี้ องค์การสหประชาชาติได้รณรงค์ให้มีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะเน้นหนักในเรื่องของการวางแผนครอบครัวเพื่อลดการเพิ่มของประชากร
การให้ความรู้ในการเพิ่มผลผลิต การขยายพื้นที่การเพาะปลูก
การคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดี เพื่อการเพิ่มปริมาณอาหารให้มากขึ้น
2. ปัญหาสิ่งแวดล้อม
ในอดีตปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่รุนแรงนัก เพราะประชากรโลกมีน้อย และมนุษย์มีความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ การทำลายระบบนิเวศ การทำลายระบบสมดุลของธรรมชาติ จึงมีน้อย แต่เมื่อ ประชากรโลกมากขึ้น ความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์มีมากขึ้น มนุษย์ได้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ เช่น เครื่องจักร เครื่องยนต์ เพื่อความสะดวกสบาย รวมทั้งการผลิตสารบางชนิดเพื่อการเกษตรอุตสาหกรรม การกระทำของมนุษย์ได้ไปทำลายระบบนิเวศ ทำลายความสมดุลของธรรมชาติ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษได้เพิ่มมากขึ้นทุกที จนเป็นอันตรายต่อมนุษย์ ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้กลายเป็นปัญหาร่วมกันของมนุษยชาติ ลมฟ้าอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลง ย่อมชี้ให้เห็นผลกระทบจากระบบนิเวศ ดิน ป่าไม้ ทุ่งหญ้า แหล่งน้ำ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ล้วนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดวงจรต่าง ๆ เช่น วงจรโซ่แห่งอาหาร (Food Chains) มีความสมดุลได้สัดส่วน และมีผลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ หากระบบต่าง ๆ ถูกทำลายความสมดุลก็จะเสียไป นั่นหมายถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ก็จะต้องเปลี่ยนไปในทางเลวร้ายยิ่งขึ้น
2.1 สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม
การทำลายสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ที่สำคัญ คือ การตัดไม้ทำลายป่า อันเป็นผลมาจากความต้องการขยายที่ทำกิน ขยายที่อยู่อาศัยและเพื่อการนำไม้ไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต และใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่ามากขึ้นทุกที ทั้งที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แต่ที่อันตรายมาก คือ การตัดไม้ทำลายป่าไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งมีมากในประเทศด้อยพัฒนา ดังเช่น ในทวีปเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ประเทศไทย ในอดีตเป็นประเทศที่มีป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เป็นแหล่งอาหารที่ไม่เพียงเพื่อการบริโภคภายในประเทศเท่านั้น ยังเป็นอู่ข้าวอู่น้ำส่งออกเลี้ยงประชากรโลกในภูมิภาคอื่นด้วย ปัจจุบันป่าที่อุดมสมบูรณ์ เช่น ป่าสาละวิน ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ป่าเขาใหญ่ ป่าดงลาน ได้ถูกทำลายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมนุษย์และทั้งด้วยความเห็นแก่ได้ของขบวนการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้แหล่งต้นน้ำถูกทำลาย แม่น้ำ ลำธารหลายสายเริ่มตื้นเขิน ส่งผลให้แหล่งอาหารลดน้อยลง เกิดภาวะแห้งแล้ง ฝนฟ้าเริ่มปรวนแปร การเกษตรเริ่มมีปัญหาทำให้การส่งออกผลิตผลทางการเกษตรไม่ขยายตัว นอกจากนั้นสภาพการซึมซับมลพิษทางอากาศก็ลดศักยภาพลงด้วย สภาพปัญหาดังกล่าวได้เกิดขึ้นในหลายประเทศ นอกจากการตัดไม้ทำลายป่าแล้ว ปัญหาการทำลายระบบนิเวศก็เกิดขึ้นทั่วไป เช่น การทำลายสภาพป่าชายเลน การทำลายระบบนิเวศในทะเลและมหาสมุทร ตลอดจนการบุกรุกแหล่งน้ำธรรมชาติ
- 2.1.2 การคิดประดิษฐ์และผลิตสิ่งที่ก่อมลพิษ
จากการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการผลิตของสังคมโลกยุคใหม่ ทำให้เครื่องจักรเครื่องยนต์เข้ามามีบทบาทมาก มีการนำสารสังเคราะห์ชนิดต่าง ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตก่อให้เกิดมลพิษทั้งทางอากาศ ทางน้ำ และในดิน มากขึ้นทุกทีจนกระทั่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์และพืช
- 2.1.3 การขาดจิตสำนึกของมนุษย์
หรืออาจเรียกว่าเป็นความมักง่ายของมนุษย์ที่ทำความสกปรกให้แก่ธรรมชาติ เช่น ทิ้งสิ่งของที่ย่อยสลายได้ยากลงในแม่น้ำ และพื้นดิน
2.2 ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ
- 2.2.1 ปัญหามลพิษทางอากาศ
อากาศบริสุทธิ์เป็นสิ่งจำเป็นของมนุษย์แต่ในปัจจุบันนี้ ประชากรหนาแน่น เกิดโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้นมียานยนต์มากขึ้น ควันหมอก เขม่า จึงมากขึ้นด้วย กลายเป็นพิษที่ทำลายสุขภาพอนามัยของประชากรโลก สารพิษที่สำคัญ มีซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ ออกไซด์ ของไนโตรเจน สารไฮโดรคาร์บอนต่าง ๆ รวมทั้งอนุภาคบางชนิด และไอของตะกั่วซึ่ง เป็นสารที่ทำอันตรายต่อมนุษย์ สารบางชนิดอาจทำให้ทารกในครรภ์ผิดปกติได้ อันตรายจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเข้มของก๊าซหรือสารอันตรายนั้น อย่างไรก็ตาม ก๊าซพิษ และสารพิษที่อยู่ในอากาศได้ก่อให้เกิดอันตรายแก่มนุษย์ และสัตว์ ก๊าซบางชนิดทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย สุขภาพเสื่อมโทรมและหากสูดดมในปริมาณมากอาจถึงตายได้ บางชนิดทำลายเยื่อจมูกและหลอดลม ขัดขวางการรับออกซิเจนในเม็ดเลือด ทำให้เป็นโรคปอดได้ ก๊าซบางชนิดทำให้เกิดการระคายเคืองตา คันตามผิวหนัง หรืออาจทำให้เกิดโรคมะเร็งได้อนุภาคในอากาศของสารหลายชนิดเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ เช่น กรดกำมะถัน ปริมาณเพียง 1 มิลลิกรัมต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร จะสามารถทำให้ระบบหายใจผิดปกติได้ กรดอาร์ซีนิก และสารตะกั่วจากท่อไอเสียรถยนต์ ก็ทำอันตรายต่อมนุษย์ ถ้ามนุษย์ได้รับติดต่อกันวันละ 8 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 วัน จะสามารถทำลายสมองเกิดการเสื่อมสลายของเส้นโลหิตฝอย โรคสมองที่เกิดจากพิษสารตะกั่วทำให้เกิดการตกเลือดในสมอง ปวดศีรษะ จนอาจเป็นอัมพาตได้ และพบว่ายังมีผลต่อความเสื่อมของเซลล์ สืบพันธุ์ของมนุษย์ได้ นอกจากนั้น สารตะกั่วยังเป็นอันตรายร้ายแรงต่อการเจริญเติบโตของเด็กอีกด้วย ( มนัส ธัญญเกษตร และคณะ. 2542 : 148 149 )
สารที่มนุษย์เริ่มตระหนักในพิษภัยอีกชนิดหนึ่ง คือ สารคลอโรฟลูโอคาร์บอน (Chlorofluocarbon) หรือสาร CFC จะลอยขึ้น ไปทำลายก๊าซโอโซนในบรรยากาศ ทำให้เกิดช่องโหว่ที่แสงอัลตราไวโอเลต (Ultra Violet) จากดวงอาทิตย์สามารถส่องตรงมายังผิวโลกได้โดยตรง ยิ่งมีควันจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นส่วนผสมสำคัญร่วมด้วย ก็จะทำให้ภาวะเรือนกระจกรุนแรงมากขึ้น จากการสำรวจของนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยอลาสกา พบว่าภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า กรีนแลนด์ ไอซ์ กำลังละลายอย่างรวดเร็วเกินความคาดหมาย ความสูงของภูเขาน้ำแข็งลดลงเฉลี่ยปีละหนึ่งฟุตครึ่ง และเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลต้นทศวรรษ 1990 ทำให้ทีมนักสำรวจต้องตะลึง เมื่อพบว่าภูเขาน้ำแข็งละลายจนบางลงเป็นสองเท่า เมื่อเปรียบเทียบกับ 40 ปี ก่อน สาเหตุที่ทำให้ภูเขาน้ำแข็งในอลาสกาละลายอย่างรวดเร็วนี้ น่าจะเป็นผลมาจากภาวะเรือนกระจก เนื่องจากชาวโลกพากันปล่อยก๊าซพิษขึ้นสู่บรรยากาศทำให้โลกร้อนขึ้น นอกจากนี้ การนำเอาพลังงานนิวเคลียร์เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้า ก็ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่มาแล้ว เมื่อมีการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพ
- 2.2.2 ปัญหามลพิษทางน้ำ
น้ำในแม่น้ำลำคลองในปัจจุบันมีแนวโน้มจะเน่าเสียมากขึ้น เพราะได้รับเอาขยะ สารเคมี ปุ๋ย ซากเปื่อยเน่า และน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ปัญหานี้เกิดขึ้นเกือบทุกภูมิภาคของโลก ยิ่งอยู่ใกล้เมืองใหญ่ยิ่งมีปัญหารุนแรงขึ้น เช่น ในญี่ปุ่นโรงงานเคมีใหญ่แห่งหนึ่งถูกศาลตัดสินให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ประชาชนถึง 70 ล้านบาท ในฐานะที่ปล่อยสารปรอทลงในทะเลจนเข้าไปสะสมในปลา เมื่อคนบริโภคปลาทำให้เกิดการเจ็บป่วยและถึงตายได้หากปริมาณสารพิษสะสมมากพอ ญี่ปุ่นเรียกโรคนี้ว่า มินามาตะ ตามชื่ออ่าวที่เป็นที่ตั้งโรงงาน
น้ำมันก็เป็นสารอีกอย่างหนึ่งที่เป็นตัวการทำให้น้ำสกปรกและเป็นพิษ ในแต่ละปีจะมีน้ำมันไหลลงทะเลหลายล้านตัน รั่วไหลจากเรือบรรทุกน้ำมันบ้าง จากการทิ้งน้ำมันเครื่องลงน้ำบ้าง จากอุบัติเหตุบ้าง น้ำมันเหล่านี้จะลอยอยู่บนผิวน้ำต้องใช้เวลานานมากจึงจะย่อยสลาย ทำให้การระเหยของน้ำลดน้อยลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนลดน้อยลงด้วย คราบน้ำมันยังเป็นฉนวนกันแสงแดด และออกซิเจนทำให้เป็นอันตรายต่อชีวิตของพืชและสัตว์น้ำ น้ำมันยังเป็นพิษโดยตรงต่อพืชและสัตว์ที่เป็นอาหารของปลา เมื่ออาหารถูกทำลายปลาก็จะลดน้อยลง และอาจจะสะสมสารพิษที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ น้ำที่ปนเปื้อนสารพิษยังสามารถทำอันตรายต่อมนุษย์โดยตรงทำให้เกิดโรคผิวหนัง สารพิษบางชนิดทำให้เกิดแผลเน่าเปื่อย นอกจากนี้ยังมีสภาพมลพิษในสิ่งแวดล้อมอีกมาก เช่น มลพิษของดินอันเกิดจากสารเคมี ตะกอนเกลือ หรือซากสัตว์ที่เป็น โรคระบาด หรือมลพิษทางเสียงจากการทำงานของเครื่องจักรเครื่องยนต์ เป็นต้นแต่มลพิษในสิ่งแวดล้อมดังกล่าวยังไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับสภาพอากาศเป็นพิษ และน้ำเป็นพิษ
2.3 แนวทางแก้ปัญหาสภาพแวดล้อม
- 2.3.1 การพัฒนาคน
การพัฒนาคนหมายถึงการให้ความรู้ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึกร่วมกันของมนุษย์ในสังคมโลก โดยการจัดเป็นหลักสูตรการเรียนทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษารวมทั้งเผยแพร่ความรู้ทางสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือเอกสาร เพื่อให้เล็งเห็นความสำคัญของสภาพแวดล้อมที่ดี และผลเสียของสภาพแวดล้อมเป็นพิษ โดยเฉพาะการสร้างจิตสำนึกร่วมกันว่าสภาพแวดล้อมนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของมนุษยชาติ ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกันป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาและช่วยกันแก้ไขปัญหา
- 2.3.2 การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
ในเรื่องนี้องค์การสหประชาชาติได้จัดการประชุม เพื่อระดมความร่วมมือในการแก้ปัญหาหลายครั้งโดยการจัดตั้งองค์กรความร่วมมือระหว่างชาติขึ้นดูแลในเรื่องสภาพแวดล้อมคือโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ(UN Environment Program :UNEP) ผลจากการรณรงค์และการทำงานขององค์การสหประชาติ ทำให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาสภาพแวดล้อมมากขึ้น แต่ละประเทศได้จัดให้มีโครงการเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมขึ้น โดยการสนับสนุนงบประมาณทั้งจากองค์การสหประชาชาติและจากแต่ละประเทศนอกจากนี้ยังมีกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า กลุ่มกรีนพีซ (Green Peace) ออกปฏิบัติการต่อต้านพฤติกรรมที่ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมเป็นพิษ
- 2.3.3 การใช้มาตรการบังคับ
ในหลายประเทศได้มีการออกกฎหมายควบคุมการถ่ายเทน้ำเสียในโรงงานอุตสาหกรรม กฎหมายบังคับให้โรงงานอุตสาหกรรม ต้องสร้างปล่องควันให้สูงเพื่อไม่ให้ควัน และสารพิษทำอันตรายต่อมนุษย์ได้ ตลอดจนการออกกฎหมายควบคุมควันดำ จากท่อไอเสียรถยนต์ นอกจากการควบคุมที่ใช้มาตรการทางกฎหมายแล้ว ในหลายประเทศได้จัดระบบเฉพาะกิจขึ้นควบคุมสภาพแวดล้อมด้วย เช่น การห้ามรถยนต์บางชนิดวิ่งในถนนบางสาย หรือการกำหนดปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในอากาศไม่ให้สูงเกินมาตรฐานกำหนด
ถึงแม้การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ได้วางเครือข่ายอย่างกว้างขวางก็ตามหากประเทศใดละเลยก็จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เช่น กรณีคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปฟ้องดำเนินคดีกับอังกฤษ กรีซ และอิตาลี ทั้ง 3 ชาติว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมายยุโรปโดยปล่อยให้เกิดระดับเสียงดังเกินมาตรฐานและก่อให้เกิดมลพิษในอากาศ ซึ่งกฎหมายนี้บังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2001 แต่ทั้ง3 ประเทศไม่ผ่านกฎหมายในประเทศ เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายยุโรป นอกจากนี้คณะกรรมาธิการจะดำเนินการฟ้อง ทั้ง 3 ประเทศนี้ ในคดีอื่น ๆ พร้อมกับประเทศไอร์แลนด์ และสเปน กรณีที่ไม่บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการรักษาคุณภาพอากาศอีกด้วย
- 2.3.4 การฟื้นฟูสภาพแวดล้อม
ในปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ได้จัดงบประมาณเพื่อการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมให้คืนสู่สภาพปกติเป็นเงินโดยรวมนับหลายหมื่นล้านเหรียญ เช่น การเพิ่มก๊าซอออกซิเจนในน้ำ การลงทุนในปฏิบัติการฟอกอากาศในโรงงาน
- 2.3.5 การจัดวางผังเมือง
หลายประเทศตื่นตัวมากขึ้น เริ่มมีการกำหนดพื้นที่ให้เป็น สัดส่วนตามหลักวิชาการ โดยการกำหนดว่าที่ใดเป็นเขตที่อยู่อาศัย พื้นที่ใดเป็นเขตอุตสาหกรรม เพื่อไม่ให้มลพิษทำลายสุขภาพอนามัยของประชาชน อย่างไรก็ตาม การแก้ไขตามแนวทางที่กล่าวมานั้นจะไม่ได้ผลหากไม่ได้รับความร่วมมือจากประชากรของทุกประเทศในสังคมโลก โดยเฉพาะในเรื่องจิตสำนึกร่วมกันที่จะอนุรักษ์สภาพแวดล้อม แม้กระทั่ง นายจอร์จ บุช อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ยังให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยได้ประกาศให้เป็น 1 ใน 4 ของการจัดระเบียบโลกใหม่ (New World Order)
3.ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน
สิทธิมนุษยชนหมายความว่า คนทุกคนมีสิทธิในการดำรงชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งตัวตน บุคคลจะถูกยึดเป็นทาสหรือต้องอยู่ในภาวะจำยอมไม่ได้ ห้ามคนค้าทาสทุกรูปแบบ บุคคลจะถูกทรมานหรือการลงโทษที่โหดร้ายผิดมนุษยธรรมไม่ได้ ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมาย บุคคลจะถูกจับกุมคุมขัง กักขัง หรือเนรเทศไปต่างถิ่นโดยพลการไม่ได้ ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่า มีความผิดตามกฎหมาย ทุกคนมีอิสรภาพแห่งการเคลื่อนไหว และสถานที่อยู่ภายในเขตของแต่ละรัฐ ทุกคนมีสิทธิในการศึกษา รัฐจะต้องจัดการศึกษาให้เปล่าแก่ประชาชนอย่างน้อยในการศึกษาระดับประถมศึกษา (เสน่ห์ จามริก. 2542 : 271 274)
สหประชาชาติ ได้ประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 1948 นับเป็นผลงานชิ้นแรกที่ทั่วโลกรู้จักดี และยอมรับอย่างกว้างขวาง ซึ่งมีหลักการว่ามนุษย์ทั้งหลาย เกิดมามีอิสระ และเสมอภาคกัน ในเกียรติศักดิ์และสิทธิต่างมีเหตุผลและมโนธรรม ควรปฏิบัติต่อกันด้วยเจตนารมณ์แห่งภราดรภาพ ทุกคนย่อมมีสิทธิ์และอิสรภาพ บรรดาที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากความแตกต่าง ไม่ว่าเชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา เผ่าพันธุ์ ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่น ๆ ตลอดจนความคิดเห็นทางการเมือง
3.1 การละเมิดสิทธิมนุษยชนในดินแดนต่างๆ
- 3.1.1 การละเมิดสิทธิมนุษยชนในยูโกสลาเวีย
เกิดจากการที่คนมุสลิมในบอสเนียประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากประเทศ ยูโกสลาเวียใน ต้นทศวรรษที่ 1990 ทำให้รัฐบาลกลางที่เป็นชาวเซิร์บทำการปราบปรามอย่างโหดร้ายทารุณ มีการสังหารหมู่ประชาชน ระหว่าง ค.ศ. 1991-1995 และประวัติศาสตร์มาซ้ำรอยอีกครั้งใน ค.ศ. 1998-1999 เมื่อประชาชนชาวมุสลิมเชื้อสายแอลเบเนียในจังหวัดโคโซโวประกาศแยกตัวเป็นอิสระทำให้รัฐบาลยูโกสลาเวีย ที่นำโดยนายกรัฐมนตรี สโลโมดัน มิโลเซวิซ ได้ทำการปราบปรามอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่งอันเรียกได้ว่าเป็นสงครามล้างเผ่าพันธุ์ จนองค์การนาโตโดยข้อมติขององค์การสหประชาชาติ ต้องเข้ามาแทรกแซง
- 3.1.2 การละเมิดสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา
เหตุการณ์อันถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงคือ เหตุการณ์หลัง ค.ศ. 1975 เมื่อเขมรแดง ซึ่งมี นายพอลพต เป็นผู้นำได้สั่งการให้มีการสังหารประชาชนจนกลายเป็น ทุ่งสังหาร (Killing field) ชาวกัมพูชาต้องอพยพหนีออกจากประเทศครั้งใหญ่ ภายหลังการสูญเสียอำนาจของนายพอลพตและเขมรแดง ใน ค.ศ. 1978 หลักฐานการสังหารประชาชนจำนวนมากอย่างทารุณโหดร้ายได้ถูกนำมาแสดงให้ชาวโลกรู้ กล่าวกันว่ามีผู้ถูกสังหารในระหว่าง ค.ศ. 1975-1978 ประมาณ 2 ล้านคน หลังจากนั้น 20 ปี คือใน ค.ศ.1998 ก็ได้มีกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นอีกครั้งหนึ่งหลังการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ.1998 เมื่อพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodia People Party : CPP) ที่ นายฮุนเซน เป็นผู้นำได้คะแนนเสียงในสภามากที่สุด พรรคฟุนซินเปคที่มีเจ้านโรดมรณฤทธิ์ได้เป็นลำดับสอง และพรรคสมรังสีได้เป็นลำดับสาม พรรคสมรังสีได้ทำการประท้วง และกล่าวหาว่าการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม รัฐบาลใช้กำลังทหารเข้าสลายกลุ่มประชาชนอย่างรุนแรง และโหดร้ายจนเป็นภาพข่าวแพร่ทั่วโลก
- 3.1.3 การละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมาร์
เมียนมาร์ปกครองประเทศโดยระบอบเผด็จการทหารมานานกว่า 30 ปี จึงเกิดมีขบวนการต่อต้านขึ้นหลายกลุ่ม แต่ได้ถูกรัฐบาลทหารเมียนมาร์ ที่เรียกว่า สล็อก (The State Law and Order Restoration Council : SLORC) ปราบปรามอย่างรุนแรง ภายหลังเมื่อนางอองซานซูจีได้ เข้าร่วมต่อสู้ ทำให้การต่อสู้เป็นเอกภาพและมีพลังมากขึ้น จนทำให้รัฐบาลสล็อกยอมให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น ผลการเลือกตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National Leaque for Democracy : NLD) ที่มีนางอองซาน ซูจี เป็นผู้นำได้รับชัยชนะทำให้รัฐบาลสล็อกไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง จึงเกิดการต่อต้านและการจลาจลไปทั่วประเทศ รัฐบาลทหารได้ทำการปราบปรามอย่างรุนแรง เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่ในประเทศเมียนมาร์จนทำให้ภาพพจน์ของรัฐบาลทหารเมียนมาร์ ไม่ดีในสายตาของชาวโลก
- 3.1.4 การละเมิดสิทธิมนุษยชนในติมอร์ตะวันออก
ติมอร์ตะวันออกเป็นเกาะ อยู่ทางเหนือของออสเตรเลียและเคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส ตั้งแต่ ค.ศ. 1600 ต่อมาเนเธอร์แลนด์ เข้ายึดครองฝั่งตะวันตก ในขณะที่โปรตุเกสยึดครองฝั่งตะวันออก ใน ค.ศ 1974 ชาวติมอร์เรียกร้องเอกราช ทำให้โปรตุเกสต้องถอนตัวในปี ค.ศ.1975 พรรคเฟรติลิน (Fretilin) ภายใต้การนำของ นายซานานา กุสเมา ได้ประกาศเอกราชของติมอร์ตะวันออก พอถึงเดือนธันวาคม ค.ศ.1975 อินโดนีเซียก็เข้ายึดครองโดยอ้างว่า เป็นการเข้าปฏิบัติการกวาดล้างคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป้าหมายที่แท้จริง คือ การเข้ายึดครอง เพราะดินแดนแห่งนี้มีน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก จากนั้นได้ผนวก ติมอร์ตะวันออกให้เป็นจังหวัดที่ 27 ของอินโดนีเซีย ชาวติมอร์ได้เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเรียกร้องอธิปไตยคืนมา ทหารอินโดนีเซียได้สังหารสมาชิกพรรคเฟรติลินกว่า 100 คน และจับนายซานานา กุสเมาผู้นำพรรคจำคุกตลอดชีวิตต่อมาสหประชาชาติและนานาชาติได้กดดันอินโดนีเซียมากขึ้น อินโดนีเซียจึงยอมให้ชาวติมอร์ตะวันออกลงประชามติว่าจะแยกตัวเป็นเอกราชหรือไม่ ในวันที่ 30 สิงหาคม 1999 ซึ่งชาวติมอร์ ร้อยละ80 เห็นควรให้แยกเป็นเอกราช จากนั้นความรุนแรงได้เกิดขึ้นอีก มีการสังหารเข่นฆ่าชาวติมอร์อย่างโหดเหี้ยม โดยกลุ่มกองกำลังที่นิยมอินโดนีเซีย และต่อต้านการประกาศเอกราช ซึ่งตลอดช่วงการต่อสู้เพื่อเอกราชนี้ ชาวติมอร์ถูกสังหารไปราว 2 แสนคน ดังนั้น สหประชาชาติ จึงได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือโดยจัดตั้งกองกำลังนานาชาติ เข้าไปดูแล ต่อมา วันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 2002 ติมอร์ตะวันออกจึงได้ประกาศเอกราช โดยมีนายซานานา กุสเมาเป็นประธานาธิบดี คนแรก
- 3.1.5 การละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน
ในช่วงวันที่ 6-9 มิถุนายน ค.ศ. 1989 นักศึกษาปัญญาชนจีนได้ก่อการประท้วงรัฐบาลจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ รัฐบาลจีนซึ่งมีเติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้นำ ก็ได้สั่งการให้มีการปราบปรามอย่างรุนแรง จนเกิดการบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากและชาวจีนบางส่วนได้ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จัตุรัส เทียนอันเหมินครั้งนั้นทำให้สหรัฐอเมริกาและหลายประเทศประท้วงว่าจีนละเมิดสิทธิมนุษยชน และตอบโต้จีนด้วยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศอื่น ๆ รวมทั้งประเทศไทย เช่น กรณีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ค.ศ.1973 กรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1976 และเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ค.ศ.1992
3.2 แนวทางการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน
- 3.2.1 แนวทางขององค์การสหประชาชาติ
องค์การสหประชาชาติมีหน้าที่โดยตรงในการแก้ปัญหานี้ โดยในบางครั้งก็อาจจะมาใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้น เช่น การปิดล้อมทางเศรษฐกิจ (Sanction) ดังเช่นที่เคยทำกับประเทศสหภาพแอฟริกาใต้ระหว่าง ค.ศ. 1980 1987 ในกรณีที่แอฟริกาใต้ใช้นโยบายแบ่งแยกผิว (Aparthied) กดขี่คนผิวดำหรืออย่างกรณีประเทศซิมบับเวก็เช่นกันได้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งเป็นหน่วยงานประจำ เช่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ และองค์กรมูลนิธิเอกชนอีกหลายหน่วยงานนอกจากนี้ สหประชาชาติยังได้ใช้มาตรการทางทหาร เพื่อแก้ไขปัญหานี้ด้วย
- 3.2.2 บทบาทขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด
คือกรณีที่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือเข้าไปแทรกแซงในอดีตประเทศยูโกสลาเวีย
ในกรณีบอสเนียและโคโซโว เป็นต้น
ปัจจุบันการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้กลายเป็นภาระหน้าที่ของสังคมโลกที่จะต้องช่วยดูแล
ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในภูมิภาคใด แต่บางครั้งก็มีปัญหาอยู่บ้าง
เพราะหากไม่รอบคอบรัดกุมก็จะกลายเป็นเรื่องการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศขึ้นได้
4. ปัญหายาเสพติด
ยาเสพติด หมายถึง สารที่เสพแล้วจะทำให้ผู้เสพเกิดความต้องการทั้งร่างกาย และจิตใจในการที่จะได้เสพต่อไปโดยไม่สามารถหยุดเสพได้ จำนวนความต้องการก็จะเพิ่มขึ้น เรื่อย ๆ จนทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย และจิตใจในภายหลัง ยาเสพติดที่ก่อให้เกิดปัญหาแก่สังคมโลก เช่น ฝิ่น เฮโรอีน โคเคน แอมเฟตามีน นอกจากที่กล่าวแล้วสารเสพติดหรือ ยา เสพติดยังมีอีกหลายชนิด เช่นมอร์ฟีน กัญชา ซึ่งมีแหล่งผลิตมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยาหลอนประสาทที่ทำให้ผู้เสพ รู้สึกเคลิบเคลิ้ม หลงผิด จิตวิปริต นอกนั้นก็มีในชื่อต่าง ๆ เช่น ยาอี ยาเค ยาเลิฟ เป็นต้น
4.1 ปัญหาที่เกิดขึ้นจากยาเสพติด มีหลายประการ เช่น
- 4.1.1 ปัญหาสุขภาพ ทำให้สุขภาพทรุดโทรม จิตเสื่อมโทรม ร่างกายอ่อนเพลียขาดภูมิคุ้มกันโรค ความสามารถทางสมองลดลง
- 4.1.2 ปัญหาทางสังคม ทำให้เกิด อาชญากรรม การทำลายทรัพยากรมนุษย์
- 4.1.3 ปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้เสียทรัพย์ อีกทั้งยังบั่นทอนกำลังแรงงานในการผลิต สิ้นเปลืองงบประมาณในการบำบัดและปราบปราม
- 4.1.4 ปัญหาทางการเมือง ก่อให้เกิดปัญหาระดับชาติในการปราบปราม ก่อให้เกิดปัญหาการขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่น กรณีของประเทศไทย กับเมียนมาร์ นอกจากนั้น ขบวนการค้ายังมีอิทธิพลต่อรัฐบาล และกลายเป็นกลุ่มอิทธิพลในบ้านเมืองอีกด้วย
4.2 แนวทางแก้ปัญหายาเสพติด
องค์การสหประชาชาติ และนานาชาติตระหนักในเรื่องภัยของยาเสพติดเป็นเวลานานแล้ว โดยได้จัดให้มีการประชุมนานาชาติที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนในปี ค.ศ. 1909 และได้มีการลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยฝิ่นที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์กำหนดให้ประเทศต่าง ๆ ออกฎหมายควบคุม การปลูกฝิ่นและการสูบฝิ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 องค์การสหประชาชาติได้จัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงคือ คณะกรรมาธิการยาเสพติดให้โทษ ในปี ค.ศ. 1946 ต่อมาประเทศส่วนใหญ่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961 โดยมีสาระสำคัญ คือ
- 4.2.1 ขยายการควบคุมยาเสพติดให้กว้างยิ่งขึ้น ครอบคลุมยาเสพติดทุกชนิดทั้งโดยธรรมชาติ และประดิษฐ์หรือสังเคราะห์
- 4.2.2 ทุกประเทศต้องแจ้งจำนวนการใช้ยาอันเกิดจากฝิ่นในการบำบัดรักษา ส่งออกเก็บรักษา และการทำลาย
- 4.2.3 อนุญาตให้ 5 ประเทศปลูกฝิ่นเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ คือ อินเดีย ตุรกี ฮังการี จีน และรัสเซีย โดยจะต้องรับประกันว่าจะควบคุมการปลูกฝิ่นเพื่อการแพทย์เท่านั้น
- 4.2.4 ให้มี สภาควบคุมยาเสพติดให้โทษระหว่างประเทศ เพื่อประสานงานการควบคุม ยาเสพติดทั่วโลก
ต่อมาในปี ค.ศ.1972 ได้มีการแก้ไขอนุสัญญาเพื่อเพิ่มสาระสำคัญอีก 2 ข้อ คือให้อำนาจคณะกรรมการเดินทางเข้าตรวจสอบปริมาณการใช้ การนำเข้าการส่งออก การเก็บรักษา และการทำลายยาเสพติดและมีการตกลงว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่กระทำผิดเกี่ยวกับการใช้ และผลิตยาเสพติด อย่างไรก็ตามปัญหายาเสพติดจะลดลงไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกประเทศและทุกฝ่าย
5.ปัญหาโรคเอดส์
คำว่าเอดส์ (AIDS) มาจากคำในภาษาอังกฤษว่า Acquired Immuno-Deficiency Syndromes หมายถึง โรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันในร่างกายบกพร่อง โรคเอดส์มีต้นกำเนิดมาจากประเทศในทวีปแอฟริกาเมื่อราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 แล้วแพร่กระจายไปตามส่วนต่างๆ ของโลกอย่างรวดเร็ว
5.1 สาเหตุของการแพร่กระจายของโรคเอดส์ โรคเอดส์เป็นโรคที่เกิดจากร่างกายได้รับไวรัสเอชไอวี (Human Immuno-deficiency Virus : HIV)
ซึ่งเข้าไปทำลายภูมิคุ้มกันในร่างกายของมนุษย์ ทำให้ผู้ที่รับเชื้อเอชไอวีเข้าไปมีอาการป่วย แต่การปรากฏอาการป่วยอาจกินเวลาไม่เท่ากันในแต่ละคน ทำให้โรคนี้แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วเพราะมนุษย์อาจไม่รู้ว่าตนได้รับเชื้อ เอชไอวี และนำไปแพร่เชื้อต่อๆ ไป ทั้งนี้การแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวี เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี การติดต่อกันทางเลือดโดยเฉพาะการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันของผู้เสพยาเสพติด และการแพร่เชื้อจากมารดาที่ตั้งครรภ์สู่ทารกในครรภ์ ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาผู้ที่ได้รับเชื้อเอชไอวีให้หายจากการเป็นโรคเอดส์ได้ จึงก่อให้เกิดปัญหาที่รุนแรงต่อโลกในปัจุบันที่โรคเอดส์ได้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว
5.2 แนวทางการแก้ปัญหาการแพร่กระจายของโรคเอดส์
ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตระหนักถึงภัยอันร้ายแรงของโรคเอดส์จึงมีการรณรงค์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคเอดส์ และพยายามค้นหายาที่จะรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ดังนี้
- 5.2.1 การรณรงค์ให้ประชากรโลกตระหนักถึงภัยอันร้ายแรงของโรคเอดส์
- 5.2.2 ให้ความรู้ในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ด้วยการรณรงค์ให้มีการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ การระมัดระวังในการใช้เข็มฉีดยาทั้งในกลุ่มที่เสพยาเสพติดและในทางการแพทย์
- 5.2.3 องค์การอนามัยโลกพยายามค้นหาตัวยาที่จะรักษาผู้ป่วยเอดส์ ซึ่งคาดหวังว่าจะประสบผลสำเร็จในไม่ช้านี้
ปัญหาและการแก้ปัญหาทางสังคมของโลก
ปัญหาและการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของโลก
ปัญหาและการแก้ปัญหาทางการเมืองการปกครองของโลก
บทสรุป