ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการว่ายน้ำ
การอบอุ่นร่างกาย
(Warm Up)
การอบอุ่นร่างกายมีความสำคัญอย่างมากเพราะเป็นการทำให้อุณหภูมิของกล้ามเนื้อเนื้อส่วนที่อยู่ลึกลงไปให้สูงขึ้น
ทั้งยังจะเป็นการช่วยยืดเส้นเอ็น (Ligament) และเนื้อเยื้อต่างๆ
ทำให้ร่างกายมีความอ่อนตัว (Flexibility) สามารถออกกำลังกายได้ดีขึ้น
และอัตราทางปฏิกิริยาเคมีสูงขึ้น
รวมทั้งอัตราการไหลเวียนเลือดมีมากหรือการทำให้น้ำมันหล่อลื่นของข้อต่อ (Synovial
Fluid) ถูกผลิตออกมามากขึ้นอย่างพอเหมาะ
ทำให้เกิดความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวซึ่งจะเป็นหนทางป้องกันบาดเจ็บอันอาจเกิดขึ้นกับข้อต่อ
ตลอดจนยังเป็นการป้องกันการตึงเครียดและการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ
ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ถ้าออกกำลังอย่างแรงเต็มที่
โดยไม่ได้ตระเตรียมร่างกายให้พร้อมเสียก่อน
การอบอุ่นร่างกายขึ้นอยู่กับระยะเวลา ระยะทาง ความหนักเบา อุณหภูมิแวดล้อม
และเครื่องแต่งกายที่สวมใส่ เวลาของการอบอุ่นร่างกายจึงควรอยู่ในช่วงระหว่าง 15-30
นาที (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของบุคคลและอายุ) ในสภาพอากาศที่เย็น
การอบอุ่นร่างกายควรจะเพิ่มเวลาให้เวลานานออกไป
เสื้อผ้าก็ควรเป็นเสื้อผ้าที่ใส่หลายๆ ชั้นทับกัน เมื่อเหงื่อออกมากๆ
จึงค่อยถอดชิ้นในออกก่อน เพื่อช่วยระบายความชื้น
นอกจากนี้การอบอุ่นร่างกายยังมีผลทางด้านจิตวิทยา
เพราะทำให้ผู้ออกกำลังกายมีความพร้อมทางด้านจิตใจ
ผู้ออกกำลังกายควรจะอบอุ่นร่างกายต่อไปในท่าที่ใช้สำหรับการออกกำลังกายหรือกิจกรรมนั้นๆ
โดยเฉพาะควรจะเริ่มต้นด้วยท่าที่ง่ายๆ จังหวะที่ปานกลาง
และเพิ่มความเร็วขึ้นจนรู้สึกว่าอุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นและระบบการไหลเวียนของร่างกายดีขึ้นกว่าเดิม
ผลการอบอุ่นร่างกายอาจจะคงอยู่ได้นานถึง 45 นาที
ยิ่งระยะเวลาระหว่างการอบอุ่นร่างกายอยู่ใกล้เพียงไรก็ยิ่งจะได้ผลดี
การอบอุ่นร่างกายควรเริ่มจากด้วยการเคลื่อนไหวช้าๆ เป็นจังหวะสม่ำเสมอ เช่น
วิ่งเหยาะๆ (Jogging) แล้วตามด้วยการยืดเหยียด เอ็น ข้อต่อ กล้ามเนื้ออยู่กับที่
(Static Stretching) ซึ่งการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
เป็นสิ่งที่ผู้ออกกำลังกายสามารถปฏิบัติได้ง่ายและเมื่อปฏิบัติเป็นประจำและถูกต้อง
จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บและทำให้ผู้ปฏิบัติสามารถปฏิบัติทักษะได้ดีที่สุดตามความสามารถของบุคคลนั้นๆ
แต่ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องแล้วจะเกิดโทษมากกว่าจะเป็นผลดี
จากเหตุผลดังกล่าวนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องเข้าใจเทคนิคต่างๆ อย่างถูกต้อง
ประโยชน์ของการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
- ลดความตึงของกล้ามเนื้อและทำให้ร่างกายผ่อนคลาย
- ช่วยสร้างการประสานงานของร่างกาย ทำให้การเคลื่อนไหวมีอิสระและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
- เพิ่มช่วงของการเคลื่อนไหว
- ป้องกันการบาดเจ็บ เช่น กล้ามเนื้อเคล็ด
- ช่วยในการทำกิจกรรมหนักๆ ให้ดียิ่งขึ้น เช่น การวิ่ง การว่ายน้ำ และการเล่นเทนนิส เป็นต้น เพราะเป็นการเตรียมกล้ามเนื้อก่อนการทำงาน
- พัฒนาการรับรู้ของร่างกาย กล่าวคือ เมื่อปฏิบัติการยืดเหยียดกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย ผู้ปฏิบัติจะมุ่งเน้นและได้สัมผัสส่วนนั้นๆ ทำให้ผู้ปฏิบัติได้รู้จักตัวเอง
- ช่วยผ่อนคลายด้านจิตใจ
- ส่งเสริมระบบไหลเวียนเลือด
- ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี
หลักการสำคัญของการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
- ควรปฏิบัติเป็นประจำ เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ถูกกระตุ้นอยู่เสมอ
- การปฏิบัติการยืดเหยียดกล้ามเนื้อครั้งแรก ควรใช้เวลาประมาณ 10-30 วินาที กับการยืดเหยียดกล้ามเนื้อแบบง่ายๆ โดยปฏิบัติช้าๆ และไม่ควรกระแทกขึ้นลง
- หลังจากปฏิบัติการยืดเหยียดกล้ามเนื้อแบบง่ายๆ แล้ว ควรเริ่มการยืดเหยียดกล้ามเนื้อแบบที่หนักขึ้น การปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน คือ ปฏิบัติช้าๆ และไม่กระแทกขึ้นลง แต่เคลื่อนให้ไกลออกไปอีกประมาณ 1 นิ้ว จนกระทั่งรู้สึกตึงพอสมควรและพักหรือค้างในท่านั้นประมาณ 10-30 วินาที
- ขณะปฏิบัติการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ควรหายใจช้าๆ และเป็นจังหวะ ไม่ควรกลั้นหายใจ
- ในช่วงแรกๆ เมื่อปฏิบัติการยืดเหยียดกล้ามเนื้อแต่ละท่าให้นับอยู่ในใจ หลังจากนั้นให้ปฏิบัติการยืดเหยียดกล้ามเนื้อตามวิถีทางของตนเองโดยไม่ต้องสนใจการนับ
วิธีปฏิบัติการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
- ท่าที่ 1 ยืดเหยียดกล้ามเนื้อเท้าและข้อเท้า (Feet and Ankles)
วิธีปฏิบัติ นั่งบนส้นเท้า วางมือทั้งสองไว้ข้างหน้าเพื่อความสมดุล หายใจออกและเอนตัวไปข้างหลังช้าๆ ทำค้างไว้ 15 วินาที - ท่าที่ 2 ยืดเหยียดกล้ามเนื้อขาส่วนล่าง (Lower Legs)
วิธีปฏิบัติ นั่งบนพื้น เหยียดขาซ้ายให้ตรง งอขาขวาให้ฝ่าเท้าของขวาหันเข้าต้นขาซ้าย (ไม่ควรให้หัวเข่าของเท้าทั้งสองอยู่ในลักษณะบิด) ตำแหน่งที่ควรจะเป็น คือ เท้าเหยียดตรง ขาอีกข้างหนึ่งอยู่ในลักษณะงอหัวเข่า หายใจออก แล้วค่อยๆ ก้มตัวไปข้างหน้าใช้มือข้างเดียวกับเท้าที่เหยียดจับที่ปลายเท้าแล้วดึงหาลำตัว พยายามให้ยาเหยียดตรง ทำประมาณ 25 วินาที แล้วเปลี่ยนข้าง ถ้าไม่สามารถจับปลายเท้าได้ อาจจะใช้ผ้าเช็ดตัวคล้องปลายเท้า เพื่อดึงปลายเท้าเข้ามายังลำตัว - ท่าที่ 3 ยืดเหยียดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (Hamstrings)
วิธีปฏิบัติ นั่งบนพื้น เหยียดขาขวาให้ตรง งอขาซ้ายให้ฝ่าเท้าของขาซ้ายหันเข้าต้นขาขวา (ไม่ควรให้หัวเข่าของเท้าทั้งสองอยู่ในลักษณะบิด) ตำแหน่งที่ควรจะเป็น คือ เข่าเหยียดตรง ขาอีกข้างหนึ่งอยู่ในลักษณะงอหัวเข่า หายใจออกแล้วค่อยๆ ก้มตัวไปข้างหน้าจากสะโพกไปยังขาที่เหยียดตรง ใช้มือทั้งสองข้างจับที่ขาข้างที่เหยียดตรง พยายามให้ขาเหยียดตรง ทำประมาณ 25 วินาที แล้วเปลี่ยนข้าง - ท่าที่ 4 ยืดเหยียดกล้ามหุบ (Adductors)
วิธีปฏิบัติ นั่งบนพื้นให้ฝ่าเท้าประกบกันและดึงปลายเท้าเข้าหากัน หายใจออกแล้วก้มตัวให้ต่ำไปข้างหน้าอย่างช้าๆ ก้มตั้งแต่สะโพกจนรู้สึกได้บริเวณขาหนีบและบริเวณหลังลำตัวตรง ค้างไว้ 40 วินาที - ท่าที่ 5 ยืดเหยียดกล้ามต้นขาด้านหน้า (Quadriceps)
วิธีปฏิบัติ ยืนเอามือขวาดันกำแพงหรือฝาผนัง หายใจเข้าเละใช้มือซ้ายจับปลายเท้าซ้ายและดึงเข้าหาสะโพกให้มากที่สุด หัวเข่างอทำมุมตามปกติ ทำค้างไว้ 30 วินาที แล้วเปลี่ยนข้าง - ท่าที่ 6 ยืดเหยียดกล้ามสะโพกและก้น (Hips and Gluteals)
วิธีปฏิบัติ นั่งให้หลังพิงผนัง งอขาข้างขวาและเลื่อนส้นเท้าเข้าหากัน จับด้านนอกของข้อเท้าขวาด้วยมือข้างซ้าย และใช้แขนขวาคือแขนท่อนล่างคล้องรอบๆ หัวเข่าขวา หายใจออกแล้วดึงขาเข้าหาหัวไหล่ข้างตรงกันข้ามกับขาที่ดึง จนรู้สึกว่ามีการยืดบริเวณส่วนหลังของขาท่อนบน ค้างไว้ 20 วินาที ทำทั้งสองข้าง - ท่าที่ 7 ยืดเหยียดกล้ามลำตัวส่วนล่าง (Lower Torso)
วิธีปฏิบัติ นอนหงายเข่างอ ศีรษะวางบนพื้น ให้มือทั้งสองข้างจับด้านหลังของขาหายใจออกแล้วดึงขาแต่ละข้างเข้าหน้าอก ขณะที่ปฏิบัติให้ศีรษะวางอยู่กับพื้นแต่อย่ากดค้างไว้ 30 วินาที - ท่าที่ 8 ยืดเหยียดกล้ามเนื้อหลังส่วนบน (Upper Back)
วิธีปฏิบัติ ยืนด้วยเท่าทั้งสองข้าง ห่างจากฝาผนังหรือรั้วที่มีความสูงเกือบเท่าสะโพกถึงหัวไหล่ ประมาณ 3 ฟุต (1 เมตร) และแขนทั้งสองข้างข้ามศีรษะ โดยให้แขนและขาเหยียดตรง งอสะโพก หลังตรง และจับผนังหรือรั้วด้วยมือทั้งสองข้าง หายใจออกแล้วปล่อยให้ร่างกายส่วนบนลดต่ำลง ค้างไว้ 30 วินาที - ท่าที่ 9 ยืดเหยียดกล้ามเนื้อคอ (Neck)
วิธีปฏิบัติ นอนหลังแนบกับพื้นและตั้งเข่าทั้งสองขึ้น ขณะเดียวกันวางเท้าราบกับพื้น ประสานนิ้วมือหลังศีรษะระดับเดียวกับหู หายใจออกแล้วใช้กำลังของแขนดึงศีรษะไปข้างหน้าอย่างช้าๆ จนกระทั่งรู้สึกว่ามีการยืดบริเวณส่วนคอ ค้างไว้ 5-10 วินาที แล้วกลับสู่ท่าเริ่มต้น ให้ทำซ้ำ 3-4 ครั้ง ค่อยๆ ผ่อนกระดูกสันหลังส่วนบนและคน - ท่าที่ 10 ยืดเหยียดกล้ามเนื้ออก (Pectorals)
วิธีปฏิบัติ นั่งคุกเข่าลงกับพื้นหน้าเก้าอี้ ผสานปลายแขนทั้งสองข้างเหนือศีรษะและวางแขนทั้งสองข้างลงบนเก้าอี้ ปล่อยศีรษะลงหน้ามองพื้น หายใจออกและกดศีรษะและหน้าอกลงพื้น ค้างไว้ 15 วินาที - ท่าที่ 11 ยืดเหยียดกล้ามเนื้อหัวไหล่ (Shoulders)
วิธีปฏิบัติ เหยียดแขนทั้งสองข้างขึ้นเหนือศีรษะ ฝ่ามือประกบกัน ยืดแขนขึ้นข้างบนและไปข้างหลังเล็กน้อย หายใจเข้าขณะเหยียดแขนขึ้นข้างบน ค้างไว้ 5-8 วินาที - ท่าที่ 12 ยืดเหยียดกล้ามเนื้อแขนท่อนล่างและข้อมือ (Arms and Wrists)
วิธีปฏิบัติ ใช้ผ้าเช็ดตัวและพยายามดึงให้ถึงปลายของผ้าอีกข้างหนึ่ง ค่อยๆ เคลื่อนมือไปตามผ้า หายใจเข้าแล้วดึงแขนท่อนบนลงด้านล่าง จนกระทั่งมือทั้งสองสัมผัสกันค้างไว้ 15 วินาที
ประวัติว่ายน้ำในต่างประเทศ
ประวัติว่ายน้ำในประเทศไทย
สระว่ายน้ำและอุปกรณ์ว่ายน้ำ
หลักความปลอดภัยในการว่ายน้ำ
ประโยชน์ของการว่ายน้ำ
การอบอุ่นร่างกาย (Warm Up)
การลดสภาวะร่างกาย (Cool Down)
ทักษะพื้นฐานการว่ายน้ำ