สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

วิวัฒนาการของกฎหมายว่าด้วยป่าไม้

2

เมื่อมีการควบคุมการทำไม้สัก และผลประโยชน์ของรัฐบาลมากขึ้น ได้มีโอกาสทราบและศึกษาปัญหาต่าง ๆ สมควรที่จะคุ้มครองควบคุมให้รัดกุมยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. 2430 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้กฎหมาย 2 ฉบับ คือ

1. ประกาศพระบรมราชโองการฯ เรื่อง ไม้ขอนสัก ประกาศ ณ วัน 1 เดือน 7 ขึ้นค่ำ 1 ปีกุน นพศก ศักราช 1249 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการรักษาการค้าไม้ขอนสัก โดยเป็นการควบคุมดวงตราประทับต้นไม้ การเก็บไม้ลอยน้ำ การเลื่อยไม้เหนือด่านภาษี การเลื่อยไม้สำหรับใช้สอยทำบ้านเรือน และการเก็บไม้ได้

2. ประกาศพระบรมราชโองการฯ เพิ่มเติมเรื่อง ไม้ขอนสัก ประกาศ ณ วันจันทร์ เดือน 11 แรม 1 ค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช 1249 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศพระบรมราชโองการฯ เรื่อง ไม้ขอนสัก โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับดวงตราประทับต้นไม้ การพบเห็นไม้หาย การให้รางวัลผู้พบเห็นไม้หายและการขายทอดตลาดไม้หาย และการประทับตราไม้กรณีที่เจ้าหนี้เก็บไม้ของผู้ทำไม้ซึ่งเป็นลูกหนี้ ในการเก็บภาษีไม้ ได้มีการตราพระราชบัญญัติพิกัดภาษีภายใน รัตนโกสินทร์ ศก 111 บัญญัติให้มีการเก็บภาษีเสา ภาษีไม้รอด ตง แล ตอ-ม่อ ที่นำไม้เต็งรัง ไม้น่า และไม้ท่อนมาทำภาษีไม้สักที่นำมาเลื่อยหรือต้นซุง ภาษีไม้หลักแพซึ่งเป็นไม้สักขนาดเล็ก ภาษีไม้กระยาเลยซึ่งเป็นไม้ตะแบก ไม้เสลา ไม้อุโลก ไม้ตาลหก ไม้ยาง และไม้เบญจพรรณต่าง ๆ ที่มีการเลื่อยหรือเป็นต้นซุง ภาษีไม้ดำ ภาษีไม้แดง ภาษีเปลือกโปร่ง ภาษีกระดานไม้ประดู่ ภาษีมาดเรือโกลน และภาษีไม้รวกไม้ไผ่ และได้มีประกาศกระทรวงพระคลังมหาสมบัติแก้พระราชบัญญัติพิกัดภาษีภายใน รัตนโกสินทร์ ศก 111 แก้ไขปรับปรุงอัตราภาษีไม้ประดู่เสียใหม่



เมื่อมีบริษัทต่างประเทศเข้ามาทำป่าไม้สักเพิ่มมากขึ้น จึงเกิดปัญหาการแก่งแย่งกันขอเข้าทำป่าไม้ และมีการเสนอเงินกินเปล่าแก่เจ้านายเจ้าของป่าเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการเข้าทำป่าไม้ จึงมีการ ร้องเรียนไปยังกระทรวงมหาดไทย รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทร์มหาจุฬาลงกรณ์ฯ ได้พิจารณาเห็นสมควรที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเข้าไปจัดการควบคุมป่าไม้และให้ความคุ้มครองให้เกิดความเป็นธรรม จึงได้มีการมอบหมายให้ชาวต่างประเทศทำการสำรวจสถานการณ์ทำไม้สักทางมณฑลพายัพ และในที่สุดได้ขอความร่วมมือจากรัฐบาลอินเดียของอังกฤษส่งผู้เชี่ยวชาญให้เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งต่อมาผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวได้จัดทำรายงานกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย โดยรายงานดังกล่าวได้ชี้แจงข้อบกพร่องและเสนอแนะวิธีการแก้ไขไว้หลายประการ ซึ่งข้อเสนอแนะได้มีการเสนอให้จัดตั้งกรมป่าไม้ การควบคุมบำรุงรักษาไม้ คือ การป้องกันรักษาป่า การจัดวางโครงการป่า และการจัดเก็บผลประโยชน์ซึ่งจำเป็นต้องออกกฎหมายและรวบรวมให้เป็นระเบียบ และให้มีผลบังคับได้ถึงคนในบังคับต่างประเทศด้วย

อ่านต่อหน้า 3

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย