สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
สถานภาพและบทบาทของสตรีอินเดียในสมัยก่อนพุทธกาล
เสรีภาพและความเสมอภาคของสตรีในสังคมอินเดีย
เสรีภาพและความเสมอภาคของสตรีในสังคมอินเดีย จากการศึกษาพบว่า
การหย่ากับการแต่งงานใหม่ในอรรถศาสตร์ถือเป็นคนละเรื่อง
เพราะในอรรถศาสตร์ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องแต่งงานใหม่ แม้อยู่ในบ้านสามี
และการแต่งงานใหม่ก็อาจได้มาจากการหย่า
อาจมาจากเหตุอื่นเช่นกรณีสามีเป็นบุคคลสาบสูญก็ได้
การขาดจากความเป็นสามีภรรยาอาจเกิดจากการที่ภรรยาเป็นฝ่ายทอดทิ้งสามีก็ได้
อรรถศาสตร์ให้สิทธิ์แก่ผู้หญิงเรื่องนี้ค่อนข้างมาก เช่น
หากสามีมีลักษณะร้าย หรือจากไปต่างเมืองเป็นเวลานาน
หรือเป็นคนทรยศต่อบ้านเกิดเมืองนอน ต่อพระราชา มีท่าว่าจะทำอันตรายภรรยาถึงชีวิต
ตกจากวรรณะเดิม สูญเสียสมรรถภาพ ภรรยาทอดทิ้งเขาได้
หากชายใดปฏิเสธที่จะร่วมรักกับภรรยา หรือไปร่วมกับคนวรรณะเดียวกัน
หากแม้พิสูจน์ได้ด้วยสักขีพยานหรือนักสืบ จะต้องจ่ายค่าปรับ 12 ปณะ
หญิงเกลียดสามีจะเลิกร้างกับสามีโดยสามีไม่ยินยอมมิได้
ชายเองก็เลิกร้างกับภรรยาโดยเธอไม่ยินยอมมิได้เช่นกัน
หากต่างฝ่ายต่างเกลียดกันให้หย่าได้ ชายใดเห็นความผิดของภรรยา
หากปรารถนาจักหย่าให้คืนสิ่งที่เธอได้ในการแต่งงานแก่เธอจงสิ้น
หากหญิงใดเห็นความผิดของสามีปรารถนาจักหย่า
พึงยอมละเว้นการเรียกร้องทรัพย์สินของเธอ
การแต่งงานตามประเพณีทั้งสี่ประเภทแรกจักหย่าร้างมิได้
สิทธิในการแต่งงานใหม่ของหญิงตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์อรรถศาสตร์แบ่งออกเป็นสองประเภท
คือ สิทธิของหญิงซึ่งเพิ่งแต่งงานใหม่กับสิทธิของหญิง
ซึ่งแต่งงานอยู่กินเป็นสามีภรรยากันเรียบร้อยแล้ว
ทั้งสองกรณีเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจากไปของสามี
ส่วนการแต่งงานใหม่ในกรณีที่หย่าขาดจากสามีเดิมนั้นหากหญิงต้องการก็ทำได้โดยไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับเวลา
และแต่งงานได้ตามเงื่อนไขอื่นที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เช่น
สามารถแต่งงานได้แม้กับคนเป็นโรคเรื้อน หรือเป็นบ้า หากเธอต้องการบุตรชาย เป็นต้น
กรณีที่สามีเป็นพราหมณ์ และต้องไปเล่าเรียนต่างเมือง
ระยะเวลาในการรอจะนานขึ้น เพราะการเรียนอาจไม่สำเร็จ จึงให้รอถึงสิบปี
แต่ถ้ามีบุตรต้องรอสิบสองปีเพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหาแก่เด็ก
แต่ถ้าเป็นข้าราชสำนักแล้วเธอต้องรอตลอดชีวิต
ข้อนี้คงเป็นการให้ความสำคัญแก่ราชการของพระเจ้าแผ่นดินคือ
เมื่อสามีไปราชการรัฐก็ต้องรักษาภรรยาไว้เพื่อสามีจะได้ทำราชการโดยไม่ห่วง
แต่ถึงกระนั้นก็ยังเห็นแก่ผู้หญิงที่ต้องรอสามี คือ
ให้มีลูกกับชายวรรณะเดียวกับสามีเพื่อสืบเชื้อสายของเธอไว้ได้
แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังขึ้นกับความสามารถที่จะครองชีพของเธอเป็นหลักคือ
ถ้าการทำเช่นนั้นทำให้เธอลำบากและไม่มีญาติพี่น้องของสามีดูแล
รัฐก็อนุญาตให้เธอแต่งงานใหม่ได้
สิทธิในการแต่งงานใหม่ของหญิงซึ่งเพิ่งแต่งงาน
การที่ภรรยาต้องรอสามีเป็นเวลานานดังกล่าวข้างต้น อาจจะทำให้หญิงลำบาก
โดยเฉพาะผู้ที่แต่งงานสี่แบบแรก ซึ่งมีข้อกำหนดว่าหย่าไม่ได้
จะทำให้ผู้หญิงไม่มีโอกาสมีลูกไปจนตลอดชีวิตได้
จึงมีข้อกำหนดสำหรับผู้หญิงที่เพิ่งแต่งงานไปจากกรณีทั่วไปดังนี้
ภรรยาสาวซึ่งแต่งงานโดยการแต่งงานสี่ประเภทแรก สามีไปต่างเมือง
และมีข่าวพึงรอเจ็ดรอบของการมีประจำเดือน เนื่องจากเขามิได้ประกาศว่าจะจากไป
แต่ถ้าเขาประกาศต้องรอปีหนึ่ง เมื่อสามีไปต่างเมืองแต่ไม่มีข่าวคราว
ภรรยาเขาพึงรอเป็นเวลาห้ารอบของการมีประจำเดือน แต่ถ้าสามีที่จากไปมีข่าวคราว
ภรรยาพึงรอเขาเป็นเวลาสิบรอบเดือน เมื่อสามีไปต่างเมืองและไม่มีข่าวคราว
ภรรยาพึงคอยเขาสามรอบเดือน หากได้รับเงินค่าตัวแล้วบางส่วน
แต่ถ้ามีขาวคราวเธอต้องคอยเขาเจ็ดรอบเดือน
ภรรยาสาวซึ่งได้รับเงินค่าตัวเต็มจำนวนต้องรอสามีผู้จากไปและไม่มีข่าวคราวเป็นเวลาห้ารอบเดือน
แต่ถ้าเขามีข่าวคราว เธอต้องรอสิบรอบเดือน
หลังจากนั้นเธออาจแต่งงานกับใครก็ได้ที่เธอชอบด้วยการอนุญาตของผู้พิพากษา
เพราะการละการร่วมประเวณีกับภรรยาหลังความสะอาดของเดือนแล้วนับเป็นการละเมิดหน้าที่ของตน
ในกรณีที่สามีจากไปต่างเมืองไปหนทางไกล ไปบำเพ็ญตนเป็นฤาษี หรือตายจากไป
ภรรยาไม่มีบุตรจักรอเขาเป็นเวลาเจ็ดรอบเดือนหากมีบุตรให้รอปีหนึ่ง
หลังจากนั้นอาจแต่งงานกับน้องชายสามี ถ้าสามีเดิมมีพี่ชายน้องชายหลายคน
เธอจักแต่งงานกับคนที่มีอายุถัดไปจากสามีเดิม หรือมีคุณธรรมและสามารถคุ้มครองเธอ
หรือไม่ก็คนที่อายุน้อยที่สุดและยังไม่ได้แต่งงาน
หากสามีที่เธอเสียไปไม่มีพี่ชายน้องชาย
เธออาจแต่งงานกับใครสักคนหนึ่งที่มีโคตรเดียวกับสามีหรือญาติ
เป็นต้นว่าครอบครัวเดียวกัน
แต่ถ้ามีคนเช่นนั้นหลายคนให้เลือกแต่งงานเธอจักเลือกผู้ที่ใกล้ที่สุดกับสามีที่เธอเสียไป
หากหญิงละเมิดกฎดังกล่าวข้างต้นโดยแต่งงานใหม่กับคนที่ไม่ใช่ญาติพี่น้องของสามีเธอ
หญิงและชายผู้แต่งงานกัน ผู้ที่ยกเธอให้แต่งงานใหม่
และคนที่ยินยอมทั้งหลายจักต้องรับโทษฐานหนีตามชู้
เราจะเห็นได้ว่าแม้มีข้อห้ามการหย่าสำหรับผู้ที่แต่งงานสี่แบบแรก
ซึ่งถือเป็นการแต่งงานที่ถูกหลักศาสนา
แต่ก็เปิดโอกาสให้แก่ผู้หญิงที่เพิ่งแต่งงานได้แต่งงานใหม่ได้โดยการขออนุญาตจากผู้พิพากษา
โดยเหตุผลที่สามีมิได้ทำหน้าที่ของตนเป็นเวลานานเกินสมควร
ผิดวิสัยของผู้เป็นสามีภรรยากันใหม่ ๆ
ความไม่เท่าเทียมกันนี้เป็นความไม่เท่าเทียมกันโดยกฎหมายรับรอง
แม้มีข้อที่แสดงว่ารัฐไม่สนับสนุนคือ มีการปรับฐานละเมิด
และรัฐมีความห่วงใยภรรยาเดิม
เรื่องนี้ถ้ามองในแง่ภรรยาเดิมจะรู้สึกว่าตกอยู่ในภาวะจำยอม
แต่ถ้ามองในแง่ภรรยาใหม่ก็เห็นได้ว่าในระบบซึ่งผู้หญิงไม่ได้ทำงานหาเลี้ยงชีพเองนั้น
หากไม่ให้ชายมีภรรยาใหม่ได้ผู้หญิงจำนวนมากจะเดือดร้อนเรื่องความเป็นอยู่
การมีการเลี้ยงดูในฐานะภรรยาทำให้ฐานะของผู้หญิงดีขึ้นอย่างน้อยก็ไม่ต้องขายตัว
หรือถูกรังแก
ในสังคมฮินดู ผู้หญิงแต่งงานเมื่ออายุน้อย ขาดการศึกษา
และต้องไปอยู่ในบ้านผู้ชาย ผิดกับสังคมที่ผู้ชายไปอยู่บ้านผู้หญิง
หรือทั้งคู่แยกไปอยู่ต่างหาก ซึ่งผู้หญิงจะมีโอกาสที่จะเป็นอิสระได้มากกว่า
เกาฏิลียะ แม้จะให้สิทธิแก่ผู้หญิงมากขึ้น
ก็ไม่อาจแก้การแต่งงานใหม่ของผู้ชายด้วยเหตุผลเรื่องการมีลูกชายได้
ส่วนผู้หญิงเรื่องนี้นำมาอ้างไม่ได้
นอกจากนั้นเกาฏิลียะยังเปิดทางให้ผู้ชายมีภรรยาใหม่ได้โดยเพียงแต่จ่ายค่าทดแทนและค่าปรับอีกด้วย
สภาพดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่าเมืองเป็นที่ปลอดภัยที่สุด
หมู่บ้านปลอดภัยรองลงมาเพราะยังมีคนมาก ในบ้านก็ปลอดภัยกว่านอกบ้าน
เหตุที่คนจะออกนอกบ้านก็เพื่อทำงานเป็นสำคัญ
การอยู่นอกบ้านจึงเป็นเวลาที่ผู้คนลำบากตรากตรำทำไร่นาหรือค้าขาย ที่ที่สบายคือบ้าน
ผิดกับปัจจุบันที่กิจกรรมนอกบ้านมีมากมาย จนกระทั่งบ้านกลายเป็นเพียงที่อาศัยนอน
ความสุขในบ้านเป็นอย่างไรแทบจะไม่มีใครรู้จัก กิจกรรมในบ้าน เช่น การทำอาหาร
ทำความสะอาด หรือแม้แต่การเลี้ยงลูก ก็กลายเป็นกิจกรรมที่จ้างผู้อื่นทำ
จนในที่สุดเห็นเป็นความลำบากยิ่งกว่าที่จะเป็นกิจกรรมที่ภรรยาทำเพื่อความรักสามีและลูก
ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องการให้คนใกล้ตัวได้รับสิ่งที่ดีที่สุดด้วยความเต็มอกเต็มใจที่สุด
และเงินทองที่สามีหามาได้ ได้ใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด
สภาพที่สมัยโบราณนอกบ้านไม่มีอะไร กับสภาพปัจจุบันที่ในบ้านไม่มีอะไร
ทำให้คนปัจจุบันมองคนโบราณว่ากักขังผู้หญิงและมองการได้ออกไปนอกบ้านว่าอิสระและได้ทำสิ่งที่มีคุณค่า
แต่ถ้าเป็นสมัยโบราณแล้วการอยู่ในบ้านเป็นโอกาสให้ไม่ทำสิ่งที่มีคุณค่าส่วนการออกนอกบ้านมีแต่ความเสียหาย
ไม่ว่าจะเป็นจากภัยต่าง ๆ จากการแทะโลมของผู้ชายอื่น
ไปจนกระทั่งการใช้เวลาไปในทางนินทาหรือเอาเรื่องในบ้านไปพูดนอกบ้าน
เอาเรื่องนอกบ้านเข้ามาทำให้เกิดความยุ่งยากในบ้าน สุภาษิตโบราณ เช่น
ไปเรือนท่านอย่านั่งนาน การเรือนตนเร่งคิด หรือ ไฟในอย่าเอาออก ไฟนอกอย่านำเข้า
จึงเป็นคำสอนเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตนของคนดี การอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน
ไม่ใช่การถูกกักขัง แต่เป็นชีวิตที่มีประโยชน์สูงสุด
การที่ผู้หญิงแต่งงานตั้งแต่อายุน้อย
การออกนอกบ้านจะเป็นเหตุให้ถูกล่อลวงหรือบังคับไปในทางที่เสียหายได้
บ้านเมืองก็คงไม่สามารถดูแลหรือให้ความปลอดภัยได้มากนัก
แม้สมัยนี้คนหายก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกวัน
หากผู้หญิงไปถูกทำร้ายนอกบ้านหรือหลงทางไป หรือไปประสบอันตรายต่าง ๆ
โอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือนั้นแทบจะไม่มี
แม้ในอรรถศาสตร์เองก็สะท้อนภาวะดังกล่าว
จนถึงกับมีข้อกำหนดที่คล้ายเป็นรางวัลสำหรับผู้ช่วยเหลือผู้หญิงที่ตกทุกข์ได้ยาก
เช่น
ชายช่วยหญิงจากข้าศึก หลงป่า น้ำท่วม หรือถูกทอดทิ้งไว้ในป่า อดอยาก
หรือถูกทิ้งขว้างเหมือนตายแล้ว
ในระหว่างที่ช่วยนั้นร่วมประเวณีกับเธอได้โดยถือว่าเป็นความยินยอม
หากเป็นหญิงวรรณะสูงมีลูกและไม่เต็มใจ เธอจะได้รับการปลดปล่อยเมื่อเสียค่าไถ่ตัว
หญิงได้รับความช่วยเหลือให้พ้นภัยโจร น้ำท่วม ความอดอยากหรือความหายนะของบ้านเมือง
หรือพ้นจากการถูกทอดทิ้ง หลงทางทิ้งขว้างไว้ในป่าดังคนตายแล้ว
เมื่อถูกนำมาบ้านผู้ช่วยเหลือร่วมประเวณีกับเธอได้โดยถือว่าเธอยินยอม
หญิงถูกทางการเนรเทศหรือครอบครัวเนรเทศ หญิงชั้นสูงหญิงที่ไม่ปรารถนาให้ช่วย
หรือหญิงมีบุตร ชายจะช่วยเพื่อค่าไถ่ตัวหรือเพื่อร่างกายเธอมิได้
ข้อห้ามเกี่ยวกับการออกนอกบ้านที่มีการกำหนดโทษมักจะเป็นการออกนอกบ้านไปในระยะทางไกล
ๆ โดยไม่มีเหตุผล ไปในเวลาวิกาล หรือไปทำสิ่งที่เป็นสัญญาณทางเพศให้แก่ชายอื่น
รวมทั้งการรับเอาของคนภายนอกเข้ามาในบ้าน ซึ่งอาจเป็นของกำนัลจากชายอื่นก็ได้
กรณีหลังนี้แม้เป็นของของคนที่มีอาชีพขอทานก็ต้องห้ามเพราะหญิงนั้นอาจมีมลทินด้วยคำนินทาของชาวบ้านได้
การห้ามดังกล่าวมิใช่ห้ามเฉพาะฝ่ายภรรยาตนเท่านั้น
หากภรรยาตนไปทำภรรยาผู้อื่นเข้าบ้างก็มีความผิดด้วย
เพราะทำให้ผู้ที่เป็นภรรยาผู้อื่นนั้นเกิดมลทิน
อรรถศาสตร์กล่าวถึงหญิงที่ขายตัวไว้ 2 ประเภท คือ นางคณิกา (Courtesan)
ซึ่งในภาษาไทยบางครั้งแปลว่าหญิงนครโสเภณี คือ
เป็นหญิงขายตัวที่รัฐแต่งตั้งและดูแลกับหญิงโสเภณี (Prostitute)
ซึ่งในอรรถศาสตร์เรียกว่า รูปาซิวา นางคณิกานั้นมีรายได้จากเงินที่รัฐจ่ายให้
ส่วนหญิงโสเภณีต้องจ่ายเงินให้แก่รัฐ ดังที่อรรถศาสตร์กำหนดไว้ว่า
หญิงโสเภณีต้องจ่ายเงินเป็นสองเท่าของค่าตัวเธอให้แก่รัฐเป็นประจำทุกเดือน
การคุ้มครองลูกสาวของหญิงโสเภณี
เพราะธรรมดาผู้ชายที่เที่ยวโสเภณีมักเป็นผู้มักมากในกามคุณ
หญิงโสเภณีอาจไม่มีกำลังพอที่จะคุ้มครองลูกสาวของตนได้
ซึ่งอาจจะมีอาชีพโสเภณีตามแม่ไปด้วย รัฐจึงกำหนดโทษในเรื่องนี้ไว้คือ
ชายใดทำลายพรหมจรรย์ลูกสาวหญิงโสเภณีนอกจากเสียค่าปรับ 54 ปณะแล้ว
ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่มารดาหญิงนั้นสิบหกเท่าของรายได้แต่ละครั้งของเธอ
โทษดังกล่าวนี้เป็นโทษปรับในอัตราปกติของการทำลายพรหมจรรย์หญิงโดยหญิงเต็มใจและเป็นกรณีที่ได้ระบุวรรณะ
ซึ่งนอกจากเสียค่าปรับแล้วต้องจ่ายค่าเสียหายแก่บิดามารดาหญิงด้วย
กรณีของหญิงที่เป็นโสเภณีคิดค่าเสียหายจากค่าตัวของเธอในการให้บริการแต่ละครั้งเป็นเกณฑ์
นอกจากหญิงโสเภณีแล้วหญิงทาส และลูกสาวของทาสก็ได้รับความคุ้มครองเช่นกัน
และยังได้รับความคุ้มครองยิ่งกว่า ดังบทบัญญัติต่อไปนี้
ชายใดทำลายพรหมจรรย์ลูกสาวทาสชายทาสหญิงของตนต้องเสียค่าปรับ 24 ปณะ
แล้วจึงต้องจ่ายค่าตัวกับทั้งเครื่องเพชรนิลจินดาแก่หญิงนั้นจนพอด้วย
ชายใดร่วมประเวณีกับหญิงที่ตกเป็นทาสเพื่อหักค่าไถ่ตัว ถูกปรับ 12 ปณะ
ทั้งต้องให้เสื้อผ้าอาภรณ์และค่าเลี้ยงดูแก่เธอ
หญิงโสเภณีที่ได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ คือ นางคณิกา
นางคณิกาได้มาอย่างไรไม่ทราบที่มาชัดเจน
แต่ในข้อความที่กล่าวถึงการคุ้มครองนางคณิกากล่าวไว้ว่า
ผู้ดูแลนางคณิกาพึงแต่งตัวเด็กหญิงให้เป็นนางคณิกาด้วยเงิน 1,000 ปณะ
นางนั้นอาจมาจากครอบครัวนางคณิกาหรือไม่ก็ได้ โดยพิจารณาความงาม ความสาว
และศิลปะของเธอ การให้ความคุ้มครองดูแลนางคณิกานี้
เป็นการดูแลเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของรัฐ
อีกทั้งอาชีพดังกล่าวเป็นอาชีพขายผู้หญิงไม่มีเกียรติแต่อย่างใด
ถ้าเรามองอย่างคนปัจจุบัน
ตัดสินเกียรติและความยกย่องอย่างสังคมปัจจุบันข้อนี้ก็เป็นจริง
แต่ถ้าเกียรติเป็นเรื่องของสังคมแต่ละสังคม แต่ละยุคสมัย
และเป็นความรู้สึกของคนในสังคมนั้นอาชีพนางคณิกาก็เป็นอาชีพที่มีเกียรติทั้งในสายตาของรัฐ
และของคนทั่วไป
เป็นอาชีพด้านความบันเทิงอย่างหนึ่งเช่นเดียวกันนี้ได้ใช้เป็นมาตรฐานสำหรับผู้หญิงในอาชีพประเภทเดียวกัน
และผู้หญิงที่ไม่บริสุทธิ์ด้วย ดังบทบัญญัติว่า
กฎอย่างเดียวกันนี้ใช้กับนักแสดง คนรำ คนร้อง นักดนตรี ตลก นักล้อ
นักระบำเชือก นักเล่นโยนของ นักขับลำ คนจัดการค้าประเวณี และหญิงไม่บริสุทธิ์
แม้ว่าเกาฏิลียะจะมีใจกว้างและกำหนดฐานะของผู้หญิงฮินดูให้ดีขึ้น
โดยเฉพาะผู้หญิงทั่วไปและผู้หญิงที่อยู่ในฐานะภรรยา
แต่โดยส่วนรวมข้อจำกัดของผู้หญิงก็ยังมีอยู่มากโดยเฉพาะการพัฒนาทางสติปัญญา
ซึ่งจะทำให้ผู้หญิงมีส่วนเข้าไปมีบทบาทในสังคมนั้นไม่อาจจะเปรียบเทียบกับพระพุทธเจ้าซึ่งทรงยอมรับว่าผู้ชายกับผู้หญิงมีสติปัญญาเท่าเทียมกันได้เลย
ผู้หญิงในฐานะอื่นเช่นฐานะแม่ เกาฏิลียะ
ไม่ได้นำมากล่าวเป็นเรื่องสำคัญเข้าใจว่าน่าจะไม่มีอะไรต่างจากความคิดเดิม
เพราะในฐานะดังกล่าวผู้หญิงได้รับความยกย่องสูงอยู่แล้ว
ฉัตรสุมาลย์ กลิบสิงห์ ได้กล่าวว่า ตามประเพณีอินเดีย
เมื่อแต่งงานแล้วผู้หญิงต้องไปอยู่บ้านผู้ชาย และทำงานบ้าน ดูแลคนในครอบครัวของสามี
ถ้าครอบครัวผู้ชายมีฐานะดีผู้หญิงก็ไม่ต้องทำงาน
ซึ่งถือว่าสามีนั้นได้เลี้ยงดูภรรยาอย่างดี คือ ไม่ให้ลำบาก
สามีเช่นนี้เป็นที่พึงปรารถนาของหญิงทั้งหลาย และคงมีไม่มากนัก
ดังนั้นแทนที่ฝ่ายชายจะไปสู่ขอฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงก็อาจส่งแม่สื่อมาติดต่อ
เพราะผู้หญิงแต่งงานเมื่ออายุน้อย พ่อแม่จึงเป็นห่วงมาก และ
ต้องพยายามให้ลูกสาวได้ผู้ชายที่ดี เพื่อจะดูแลลูกแทนตัว
ดังนั้นแม้ฝ่ายตัวแทนจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และเสียเงินในการแต่งงานก็คงยอม
อาจมีข้อเสนอว่าถ้าเลือกลูกสาวตนแล้วจะรับภาระในเรื่องดังกล่าว
ฝ่ายผู้ชายเองก็คงเลือกดูฐานะของผู้หญิงด้วยเช่นกัน
ดังนั้นฝ่ายชายจึงเป็นฝ่ายเลือกรับการทาบทามของผู้หญิง
ธรรมเนียมเช่นนี้อาจนำไปสู่การที่ผู้หญิงสู่ขอผู้ชายในที่สุด
ข้อสังเกตประการหนึ่งก็คือผู้หญิงที่ขอผู้ชายซึ่งฐานะดีนั้นเมื่อได้สามีแล้วก็ไม่ต้องทำอะไรทั้งยังได้เกียรติว่ามีสามีดี
หรือสามีรักจนไม่ต้องทำงาน มีข้าทาสบริวารให้ใช้สอย
แม้ในคัมภีร์ไม่มีเรื่องผู้หญิงสู่ขอผู้ชาย
แต่กลับมีในทางปฏิบัติก็ด้วยเหตุที่เป็นวิธีการซึ่งผู้หญิงมั่นใจได้ว่าตัวเองจะมีชีวิตที่สุขสบาย
และครอบครัวฝ่ายชายก็คงยินดีว่าผู้หญิงมีฐานะมีหน้ามีตา
และไม่ต้องพึ่งทรัพย์สมบัติของฝ่ายชาย
ย่อมจะยอมรับได้มากกว่าการที่ผู้ชายไปสู่ขอผู้หญิงธรรมดา ๆ มาเป็นภรรยา
เป็นที่ยอมรับกันว่า ผู้หญิงมีพลังทางเสริมสร้างและมีบทบาทสำคัญ
แต่ก็ยังมีข้อจำกัดทางสังคมบางประการ เช่น การแต่งงาน จำกัดในชั้นวรรณะ
ความรับผิดชอบต่อชีวิตภายในบ้านเป็นต้น
คำว่า สตี มาจาก อส แปลว่า เป็น คำว่า สต เป็นคำนามเพศชาย หมายถึงความจริง
ความซื่อสัตว์ สตี เป็นคำนามเพศหญิง หมายถึง หญิงดี หญิงผู้ซื่อสัตย์
เมื่อเป็นชื่อเฉพาะเป็นชื่อธิดาองค์หนึ่งของพระทักษะ มีคำอธิบายเกี่ยวกับคำว่า สตี
ดังนี้
สตี ความจริง ธิดาองค์หนึ่งของพระทักษะ
ภรรยาของพระภววิษณุปุราณกล่าวว่าเธอละร่างกายเสียเพราะไม่พอใจพระทักษะ
และหลังจากนั้นได้กลายเป็นธิดาของหิมวัน และเมนา และในรูปดังกล่าวคือ เป็นอุมา
พระภวได้แต่งงานกับเธอใหม่ พระมเหศวรได้แนะให้เธอไปบวงสรวงพระทักษะ
คัมภีร์ปุราณะอื่นเล่าต่างกันไป
สตี ธิดาของพระทักษะ มเหสีของรุทธะ (คือศิวะ) คัมภีร์วิษณุปุราณะ เล่าว่า
เธอละร่างกายเพราะโกรธพระทักษะ แล้วกลายเป็นธิดาของพระหิมวัตและเมนา
พระภวก็ได้แต่งงานกับอุมาซึ่งก็คือองค์เดียวกับมเหสีของพระองค์ (ศิวะ) มาแต่เดิม
นางตายหรือฆ่าตัวตายเนื่องจากทะเลาะกับสามีและบิดา ในหนังสือเรื่อง กาลีขัณฑะ
ซึ่งเป็นงานรุ่นใหม่ เล่าว่าเธอเข้ากองไฟและกลายเป็นนางสตี
แนวคิดจากรเองดังกล่าวอาจเป็นที่มาของพิธีสตีก็ได้
คำอธิบายอีกตอนหนึ่งซึ่งปรากฏในศัพท์ ปีฐะ-สถานะ (Pitha-Sthana) กล่าวว่า ปีฐะสถาน
ที่นั่ง
ที่ห้าสิบเอ็ดแห่งซึ่งตามคัมภีร์ตันตระว่าพระศิวะแบกชิ้นส่วนแขนขาที่กระจัดกระจายของสตีมเหสีซึ่งตายและถูกฉีกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยหลังจากเธอฆ่าตัวตายในพิธีบวงสรวงพระทักษะ
ในงานเขียนของมอร์แกนได้เล่าถึงความเชื่อของลัทธิศักติเกี่ยวกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของลัทธิดังกล่าว
ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของนางสตี คือ ปีฐสถาน 51 แห่ง ต่างไปจากดอว์สัน คือ
ชาวฮินดูโดยเฉพาะพวก ศากฺตสฺ
เชื่อในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นของสิทธิศักติ นิยมกันว่ามี 51 แห่ง
กระจัดกระจายอยู่ในแถบอินเดียภาคเหนือสถานที่ 51
แห่งนี้เกี่ยวโยงกับเรื่องของนางสตี
ซึ่งเลือกพระศิวะเป็นสวามีโดยที่บิดาไม่เห็นด้วย เนื่องจากพระศิวะมีนิสัยแปลก
และไม่เหมือนเทพอื่น คือ
ชอบเดินรอบสถานที่ทำศพหรือใช้เวลาฝึกโยคะกายของพระองค์เปื้อนด้วยฝุ่นและขี้เถ้า
เมื่อบิดานางสตีทำพิธีบูชาจึงไม่เชิญพระศิวะ และนางสตี
นางก็ไปเข้าพิธีจึงถูกบิดาฆ่าเสียทันที
เมื่อพระศิวะทราบจึงยกพวกมาทำลายพิธีและลงโทษบิดาของเธอ
พระศิวะทรงเสียพระทัยและท่องไปทั่วจักรวาล ทรงลืมหน้าที่ของเทวดาเสียสิ้น
ทรงแบกร่างของชายาไว้บนบ่า พระวิษณุต้องการให้พระองค์คืนสู่สภาพปกติ
จึงทรงใช้จักรตัดร่างของงานสตีกระจัดกระจายไปทั่วอินเดีย
สถานที่ซึ่งชิ้นส่วนร่างของนางสตีไปตกจึงกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของนิกายศักติ
พระศิวะจึงกลับมาทำหน้าที่สวรรค์ต่อไป ต่อมาทรงถูกเทพกามะรบกวนการทำสมาธิ
และทำให้รักนางอุมา ธิดาของเทพหิมาลยะ และได้แต่งงานกับเธอ
ลัทธิศักติไม่แพร่หลายเท่านิกาย ไวษณวสฺ และ ไศวสฺ
ศาสนสถานสำคัญอยู่ภาคเหนือในรัฐเบงกอล ราชปุตะนะ และแหลมกถิอวารฺ นอกจากนั้นมีที่
กาลิฆาต ใกล้กัลกัตตา กามาขยาใกล้เคาหติ ในแคว้นอัสสัม
ชวาลามุขีในแคว้นปัญจาบตะวันออก วิรชาในโอริสสา วินธยวาสินีใกล้มิรชาปูร
ในอุตตรประเทศ
พิธีสตีไม่ปรากฏว่าปฏิบัติกันในสมัยฤคเวทราวศตวรรษที่ 1611 ก่อนคริสต์ศักราช
ในสมัยดังกล่าวนักประวัติศาสตร์กล่าวตรงกันว่าผู้หญิงมีฐานะทางสังคมดีแม้ว่าครอบครัวจะสืบสายทางฝ่ายชาย
แต่ผู้หญิงก็สามารถเป็นหัวหน้าครอบครัวได้ ทำพิธีกรรมร่วมกับผู้ชายได้
และมีการศึกษาดี กล่าวคือ
ครอบครัวเป็นแบบสืบสายทางฝ่ายชาย ผู้คนสวดขอมีบุตรชายมาก ๆ
ไม่ชอบให้มีบุตรหญิง แต่ถ้าเกิดมาแล้วก็ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีเหมือน ๆ กัน
ผู้หญิงได้รับการศึกษา บางคนแต่งคำประพันธ์ได้และได้ฐานะสูงถึงเป็นนักปราชญ์เช่น
วิศววาร โฆษะ และอปาลาหญิงแต่งงาน เมื่อโตแล้ว
มีทั้งแต่งด้วยความรักและแต่งเพราะเงิน โดยปกติผู้ชายมีภรรยาคนเดียว
การมีภรรยาหลายคนมีบ้าง แต่ไม่นิยมการมีสามีหลายคน หญิงหม้ายมีสามีใหม่ได้
ในสายตากฎหมายผู้หญิงไม่ต้องขึ้นกับผู้ชายหรือญาติที่เป็นผู้ชาย คำว่า ทมฺปติ
ใช้หมายถึงหัวหน้าครอบครัวจะเป็นชายหรือหญิงก็ได้
ภรรยาร่วมทำพิธีศาสนากับสามีและมีฐานะเป็นใหญ่ในบ้าน ไม่มีการกีดกันผู้หญิง
พิธีสตีเริ่มแพร่หลายขึ้นหลังสมัยฤคเวทราวศตวรรษที่ 11-7 ก่อนคริสต์ศักราช
ซึ่งสอดคล้องกับสภาพที่ผู้หญิงได้รับการศึกษาน้อยลงเรื่อย ๆ
จนในที่สุดผู้หญิงทั่วไปไม่ได้รับการศึกษาและฐานะของผู้หญิงก็ตกต่ำลง
แต่งงานตั้งแต่ยังเด็ก
สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงด้อยค่าลงจนถึงขั้นที่ต้องรับเคราะห์กรรมด้วยการเผาตัวเมื่อเป็นหม้ายแต่การเผาตัวนี้คงไม่ได้ทำกันในหมู่คนส่วนใหญ่
เพราะหากเป็นเช่นนั้นกฎหมายเกี่ยวกับหญิงหม้ายซึ่งระบุไว้ในคัมภีร์ต่าง ๆ
ย่อมจะไม่จำเป็น
การที่มีกฎหมายในเรื่องดังกล่าวค่อนข้างละเอียดแสดงว่าคนทั่วไปไม่ได้ปฏิบัติกันเป็นปกติ
แม้ในสมัยหลังฤคเวทหรือสมัยพระเวทตอนปลาย
ซึ่งมีพิธีสตีแล้วก็ปรากฏว่าผู้หญิงที่มีฐานะทางสังคมดีและได้รับการศึกษาดียังมีปรากฏอยู่แต่ก็อาจจำกัดเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงเพราะในระยะเดียวกันนี้นักประวัติศาสตร์ก็ได้กล่าวถึงความตกต่ำของผู้หญิงด้วยดังที่อัคระเล่าไว้ว่า
ฐานะของผู้หญิงตกต่ำลง
จนถึงขนาดที่กำหนดฐานะและศักดิ์ศรีของหญิงไว้ในกลุ่มเดียวกับลูกเต๋าและเหล้า
ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งชั่วที่สำคัญ 3 ประการ (ไมตระยานิสํหิตา) 3,6.3)
รับมรดกก็ไม่ได้
การกินอยู่ต้องพึ่งบิดาหรือสามีการได้ลูกสาวถือเป็นที่มาของความทุกข์ร้อน
ส่วนลูกชายเป็นที่ปรารถนา เป็นผู้มาช่วยครอบครัว
ผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในที่ประชุมของเผ่า (สภา)
ไม่มีส่วนร่วมในการปกครองเกิดความนิยมการมีภรรยาหลายคนและหญิงชั้นสูงที่แต่งงานแล้วมักจะต้องเดือดร้อนเพราะมีภรรยาอื่น
ๆ มาเป็นคู่แข่ง การมีพระราชินีหลาย ๆ องค์ เป็นสิ่งที่ไม่น่าอิจฉา ก็เพราะเหตุนี้
มหิษีหรือภรรยาหลวงซึ่งเป็นภรรยาทางการกับ
ววาตะ (vavata) คือ ภรรยาที่ทรงโปรด จะเป็นที่รักและยกย่อง ส่วนภรรยาอื่น ๆ
เช่น ปริวฤกฺติ (parivrikti) จะถูกทอดทิ้ง
ศีลธรรมเกี่ยวกับสามีภรรยาอยู่ในระดับสูงผู้หญิงยังเข้าร่วมทำพิธีทางศาสนาได้
บางคนก็ได้รับการศึกษาสูงจนได้มีส่วนสำคัญในการสนทนาทางปรัชญาในราชสำนักในเกาศิติกิพรหมณะนางปฤยสฺวตี
(pathyasvati) ได้รับฉายาว่าสรัสวตี เทพแห่งความรู้ นางการฺกี
นางพรหมวาทินีผู้มีชื่อก็ได้สนทนาธรรมและปรัชญากับฤษี ยาญาวลฺกฺยะ
ซึ่งเป็นผู้เยี่ยมยอดทางปัญญา ของสมัยนั้น เด็กผู้หญิงเรียนฟ้อนรำและดนตรี
เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งผู้หญิงก็ไม่ได้รับการศึกษา
มีแนวโน้มที่การมีส่วนร่วมในพิธีศาสนาและสิทธิพิเศษของหญิงธรรมดาจะสิ้นสุดลงด้วย
หน้าที่ในการทำพลีบูชาซึ่งภรรยาเคยทำได้ตามลำพังก็กำหนดให้ผู้ชายทำแทน
กฎการแต่งงานเข้มงวดขึ้น
คนที่สืบสายมาจากญาติข้างพ่อหรือข้างแม่เดียวกันแต่งงานกันไม่ได้
แม้ว่าการแต่งงานระหว่างคนในตระกูลเดียวกันจะไม่ได้ห้ามอย่างเปิดเผย
แต่การแต่งงานระหว่างคนต่างตระกูลก็นิยมมากว่า การแต่งงานมักจะทำกันตั้งแต่วัยรุ่น
การแต่งงานตั้งแต่วัยเด็กและเรื่องพิธีสตีมีปรากฏบ้าง
ในสมัยก่อนราชวงศ์เมารยะคือราวศตวรรษที่ 7-4 ก่อนคริสต์ศักราช ปรากฏว่า
ฐานะของผู้หญิงตกต่ำลงมาก
แม้วาพิธีสตีจะไม่เป็นที่ยอมรับของนักกฎหมายแต่ว่าปฏิบัติกันในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ
นักเขียนกรีกได้เล่าเรื่องภรรยาหม้ายของแม่ทัพอินเดียผู้หญิงได้เข้ากองไฟตายตามสามีโดยเธอแต่งตัวสวยหรูราวกับว่ากำลังจะเข้าพิธีแต่งงาน
ในสมัยเมารยะราวศตวรรษที่ 4-1 ก่อนคริสต์ศักราช
แม้พิธีนี้จะนิยมทำกันในท้องที่บางแห่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แต่ก็ยังไม่นิยมแพร่หลายในท้องที่ส่วนใหญ่ เกาฏิลียะเองก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้เลย
ในสมัยคุปตะราวคริสต์ศตวรรษที่ 4-6
พิธีสตีได้รับความนิยมแม้ว่าจะจำกัดอยู่ในหมู่ชนชั้นสูงและทำกันในท้องที่ไม่กี่แห่ง
ในสมัยพระเจ้าหรฺษวรฺธนราวคริสต์ศตวรรษที่ 7
พิธีสตีเป็นเรื่องที่สนับสนุนให้ทำในสังคมของชนชั้นสูง
ในสมัยจักวรรดิวิชัยนครราวคริสต์ศตวรรษที่ 16
พิธีสตีเป็นประเพณีที่ทำกันเป็นปกติ
พิธีนี้ยังทำสืบต่อกันมาแม้ในสมัยที่มุสลิมเข้าปกครองอินเดีย
และแม้ในสมัยนี้ผู้หญิงชั้นสูงจะได้รับการศึกษาดี
แต่พิธีสตีก็ปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย ตามคำบอกเล่าของอิบน์บาตูตะห์
(ฝรั่งเรียกอาวีเซนนา)
การเผาแม่หม้ายต้องได้รับอนุญาตจากสุลต่านแห่งเดลฮีและในสมัยโอรังเซฟมีการห้ามทำพิธีสตีไว้ในหนังสือ
คู่มือ (ธันวาคม 1663)
แต่ชาวยุโรปที่เดินทางไปอินเดียสมัยนั้นก็เล่าว่าข้อห้ามของราชสำนักไม่ค่อยมีใครสนใจพิธีสตีคงปฏิบัติกันเรื่อยมา
บุคคลสำคัญที่ได้เสนอให้ยกเลิกพิธีสตีคือ ราม โมฮัน รอย (Ram Mohun Roy
1772-1883) ผู้ก่อตั้งพราหโมสมาชต่อต้านนักศาสนาฮินดูหัวเก่า
และมิชชันนารีคริสเตียนในสมัยนั้น
พิธีสตีอาจเป็นพิธีที่ผู้หญิงส่วนหนึ่งของอินเดียยินดีปฏิบัติ
แต่พิธีดังกล่าวก็ไม่ได้รับการยอมรับจากทางการและจากนักกฎหมายอินเดียโบราณ
ทั้งนักปราชญ์อินเดีย และคนชาติอื่น ๆ ไม่เห็นด้วยกับประเพณีดังกล่าว
และเรื่องนี้ได้ทำให้เกิดการโจมตีว่าชาวฮินดูกดขี่ผู้หญิงและทำให้มองข้ามความคิดที่แท้ของฮินดู
ซึ่งไม่ได้ยอมรับประเพณีของคนบางกลุ่มดังกล่าว เนื่องจากความจริงที่ปรากฏว่า
มีผู้ปฏิบัติตามประเพณีเช่นนั้นได้ก่อความรู้สึกและอารมณ์ที่รุนแรงจนปิดกั้นมิให้ยอมรับความคิดของคนส่วนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับประเพณีดังกล่าวไปด้วย
สถานภาพและบทบาทของสตรีอินเดีย
สิทธิ
หน้าที่ของสตรีอินเดีย
กฎเกณฑ์ทางสังคมที่มีผลกระทบต่อสตรีอินเดีย
การยอมรับศักยภาพของสตรีอินเดีย
เสรีภาพและความเสมอภาคของสตรีในสังคมอินเดีย
การคุ้มครองสตรีในสังคมอินเดีย