ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

ประวัติและความสำคัญของพระพุทธศาสนา

โครงสร้างหลักของพระพุทธศาสนาและความสำคัญของพระพุทธศาสนา

องค์ประกอบของพระพุทธศาสนา คือ พระศาสดา หลักคำสอน สาวก พิธีกรรม และศาสนสถาน มีองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด อันเป็นโครงสร้างสำคัญของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรียกว่า พระรัตนตรัย อันเป็นสิ่งพึ่งที่ระลึกของพุทธศาสนิกชน

แผนภูมิแสดงโครงสร้างหลักของพระพุทธศาสนา


ปัจจุบันสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ของสังคมไทย ได้เปลี่ยนแปลงไป ความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพของประชากรให้มีคุณภาพ ทั้งด้านกาย ปัญญา จิตใจนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำพาประเทศ ชาติไปสู่ความมั่งคั่งและสันติสุขที่แท้จริง ได้ตามวัตถุประสงค์ ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ซึ่งเป็นปัญหาที่ซับซ้อนขึ้น บทเรียนที่มุ่งการพัฒนาด้านวัตถุอย่างเดียวคงไม่ได้ต้องร่วมมือกันพัฒนาคนโดยเฉพาะเรื่องจิตใจ พัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งบทบาทวิธีการในการพัฒนาคงให้ความสำคัญที่วัด พระสงฆ์ หรือพระพุทธศาสนา หรือกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนามี ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือต่อการพัฒนาบุคคลมีลักษณะสำคัญ 2 ประการคือ ครบรอบ และครอบคลุม

ครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน เรียกว่า ภาวนา (ฝึกอบรม เจริญ หรือพัฒนา) 4 ได้แก่

  1. กายภาวนา แปลว่า พัฒนากาย ให้มีสุขภาพอนามัยดี แสวงหาความรู้
  2. ศีลภาวนา แปลว่า พัฒนาศีล ประพฤติปฏิบัติตนเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อผู้อื่น มี ระเบียบวินัย
  3. จิตภาวนา แปลว่า พัฒนาจิต การพัฒนาจิตแบ่งออกได้ 3 ด้าน ดังนี้

    ก. คุณภาพจิต คือ ให้มีคุณธรรม เสริมสร้างจิตใจให้ดีงาม มีจิตใจสูง ประณีต เช่น มีเมตตา มีความรัก ความเป็นมิตร มีกรุณา ต้องการช่วยเหลือผู้อื่น ปลดเปลื้องทุกข์ของผู้อื่น มีจาคะ มีความกตัญญู
    ข. สมรรถภาพจิต คือ จิตที่มีความสามารถ มีสติดี มีวิริยะ มีความเพียร มีขันติ มีสัจจะ มีอธิษฐาน มีปัญญา
    ค. สุขภาพจิต คือ ให้เน้นจิตที่มีสุขภาพดี มีความสุขสดชื่นร่าเริงเบิกบาน ปลอดโปร่ง สงบ ผ่องใส ไม่เครียด ไม่คับข้องกระวนกระวาย ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง
  4. ปัญญาภาวนา แปลว่า พัฒนาปัญญา คือ พัฒนาความรู้ความเข้าใจให้เกิดความรู้แจ้ง เห็นจริง ใช้ความรู้แก้ปัญหาทำให้เกิดประโยชน์สุขได้ รู้เหตุปัจจัย ทำจิตใจเป็นอิสระหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์โดยสิ้นเชิง

ในแง่ของครบรอบ คือ ตรวจสอบพัฒนาทุกด้านไม่ทำครึ่ง ๆ กลาง ๆ ต้องได้ผลสมบูรณ์ ถ้าศึกษาพระพุทธศาสนาให้ชัดเจนรู้จักเลือกรู้จักจับธรรมให้ถูกหลัก นำมาใช้อย่างฉลาดปฏิบัติให้รอบด้านและตลอดวงจร การพัฒนาก็มีทางที่จะสัมฤทธิ์ผลดีโดยสมบูรณ์ เป็นการพัฒนาทางวัตถุและทางจิตใจเป็นการพัฒนาทั้งตัวบุคคลและสิ่งที่บุคคลไปพัฒนาดำรง ในอัปปมาทธรรมเอาใจใส่ ขวนขวายที่จะแก้ไขและสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา การพัฒนาก็ยากที่จะล้มเหลวหรือผิดพลาดพระ พุทธศาสนาเป็นแกนนำมีความสำคัญต่อการพัฒนาสังคมก่อให้เกิดความสุขสมบูรณ์ สันติสุข และอิสรภาพมาสู่ประชาชนอย่างแท้จริง (พระธรรมปิฎก. 2539 : 73-84)



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงมีพระบรมราโชวาท พระราช ทานแก่ผู้แทนพุทธสมาคม ณ ศาลาดุสิตดาลัย ความตอนหนึ่งว่า “การศึกษาพระพุทธศาสนา ก็คือ การศึกษาว่าทุกข์นี้มาจากไหน ทำไมเราไม่ชอบความทุกข์ เราเป็นทุกข์ในทุกข์ เราก็จะต้องดูทุกข์นี้เป็นอะไรให้เข้าใจว่าเป็นอะไร แล้วเราก็จะต้องเห็นว่าทุกข์นี้มีเหตุผลมีต้นเหตุ เมื่อมีต้นเหตุแล้วต้องดูว่าเราระงับทุกข์ได้ตรงไหน บอกว่ามีทุกข์ ต้องบรรเทาทุกข์ ความจริงทุกข์นั้นบรรเทาไม่ได้ ต้องปล่อยให้ไปตามเรื่องของมัน แล้วก็เสร็จแล้วมันก็หายไป เพราะว่ามีทุกข์มันก็ไม่มีมันก็หมดไปได้

สุขมีสุขก็หมดไปได้ ฉะนั้นการที่พระพุทธศาสนาหรือพระพุทธเจ้าให้เราศึกษา ก็คือศึกษาให้เห็นว่าทุกข์นั้นมันมาจากไหน ให้รู้ว่าทุกข์เป็นอย่างไร เป็นอะไรแล้วก็ทุกข์มาจากไหนจะเห็นว่าทุกข์ก็ต้องต้องมีการไม่ทุกข์ก็ได้ เมื่อมีการไม่ทุกข์ก็มีการหมดทุกข์ได้ มีการหมดทุกข์ได้แล้ว ก็เห็นได้ว่ามีทางจะหมดทุกข์ อันนั้นท่านก็เรียกว่าอริยสัจ ฉะนั้นการศึกษาพุทธศาสนาก็คือการศึกษาอริยสัจนั่นเอง” (2530 : 31 – 32)

ปัจจุบันได้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าการที่จะพัฒนาประเทศให้สำเร็จผลดี บรรลุจุดหมายที่ต้องการได้อย่างแท้จริงนั้น จะพัฒนาเพียงด้านวัตถุอย่างเดียวเท่านั้นคงไม่เพียงพอ แม้จะระดมทุนระดมแรงลงไปแล้วอย่างมากมาย ก็ไม่ทำให้สังคมบรรลุความมั่งคั่งรุ่งเรือง และสันติสุขที่แท้จริงได้ตามวัตถุประสงค์แม้ว่ามองดูผิวเผินจะพบเห็นว่าบ้านเมืองได้เจริญก้าวหน้าไปมาก แต่เมื่อตรวจสอบ ดูกับเกณฑ์เป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ การพัฒนายังห่างจากผลสำเร็จที่ต้องการ ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมืองเกิดปัญหาต่าง ๆ ที่ซับซ้อนขึ้น ความยากจนได้แผ่ขยายทั่วไปทั้งในเมืองและในชนบท การกระจายรายได้ของประชากรไม่ดำเนินไปด้วยดี ฐานะทางเศรษฐกิจของคนกลับห่างไกลกันมากขึ้น ในด้านสาธารณสุขมูลฐานก็ยังขาดแคลนและไม่เฉพาะด้านสุขภาพกายเท่านั้น สุขภาพจิตก็เสื่อมโทรมลง ชีวิตคนในถิ่นที่เรียกว่าเจริญมีลักษณะสับสนวุ่นวาย คนมีทุกข์ใจมากขึ้น เป็นโรคจิตโรคประสาทมากขึ้น ความเสมอภาคในโอกาสของการศึกษาก็ยังอยู่ในภาวะสัมฤทธิ์ผลได้ยาก สถิติคนว่างงานมีเพิ่มมากขึ้นการพัฒนาประชาธิปไตยก้าวหน้าไปได้ไม่มากกว่าที่ถอยหลังไม่มีความซื่อตรงท่วมท้นในกระบวนการ นักการเมืองถูกอายัดทรัพย์เพราะร่ำรวยผิดปกติ แม้ว่าถนนจะมีเพิ่มมากขึ้นแต่การจราจรไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้ใช้ยานพาหนะที่สัญจร ไปมาบนท้องถนนจำนวนไม่น้อย ที่ขาดระเบียบวินัย อุบัติเหตุมีสถิติสูงขึ้น ความไม่ปลอดภัยในร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินเป็นปัญหาหนักยิ่งขึ้น ประชาชนจำนวนมากมีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัว อาชญากรรมยังแพร่หลาย คดีปล้น ฆ่า ข่มขืนที่ร้ายแรงปรากฏขึ้นหลายครั้ง เกิดขบวนการโจรแบ่งแยกดินแดน มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงพบเห็นอยู่เสมอ ความเสื่อมโทรมทางด้านวัฒนธรรมมีกระแสรุนแรงจนกลายเป็นของสามัญ ค่านิยมที่ไม่พึงปรารถนาและไม่เอื้อต่อการพัฒนา เช่นค่านิยมบริโภคและความนิยมฟุ้งเฟื้อแผ่กระจายไปทั่ว ปัญหาทางเพศเพิ่มสูง อบายมุขระบาดทั่วไปทั้งในเมืองและชนบท ชาวบ้านฝากความหวังในชีวิตไว้กับการพนันในรูปแบบต่าง ๆ และหมกมุ่นจนยากที่จะแก้ไข เยาวชนจำนวนมากทำลายอนาคตของตนเองและก่อปัญหาแก่สังคม โดยเป็นผลสืบเนื่องจากการเสพสิ่งเสพติด ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทวีสูงขึ้น ป่าไม้ถูกทำลาย ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ผืนแผ่นดินแห้งแล้ง ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ เกษตรกรก็มีรายได้ลดลงถึงแม้จะผลิตพืชผลได้มากก็ประสบกับ

ปัญหาด้านการตลาด ในขณะเดียวกันมลภาวะก็กำลังแพร่กระจายกว้างขวางออกไปทั้งในน้ำ ในดิน ในอากาศ เกิดภาวะโลกร้อน คุกคามต่อชีวิตและสุขภาพของประชากรทั่วไป การพัฒนาประเทศยังไม่สามารถก้าวพ้นภาวะที่เป็นประเทศที่กำลังพัฒนา การพัฒนาจะต้องดำเนินไปอย่างรอบด้านทั่วถึง ไม่ใช่มุ่งพัฒนาแต่เพียงด้านวัตถุอย่างเดียว ต้องหันมาเน้นด้านการพัฒนาคน คือการพัฒนาที่จิตใจ ให้มีคุณธรรม จริยธรรม รวมไปถึงด้านของสุขภาพจิต ซึ่งเป็นงานหลักของพระพุทธศาสนา ที่จะได้รื้อฟื้นบทบาทในการพัฒนาขึ้นใหม่โดยปรับวิธีการและปรับบทบาทให้เข้ากับสภาพแวดล้อม หรือสถานการณ์ในปัจจุบัน พระสงฆ์ และวัดจะต้องนำหลักการแห่งพระพุทธศาสนานำทางเป็นไปอย่างมีทิศทาง และเมื่อกล่าวโดยระบบในการพัฒนาคนโดยสาระก็คือ การศึกษา ซึ่งเรียกว่า “สิกขา” และเนื่องจากมีองค์รวม 3 จึงมีชื่อว่าไตรสิกขา เป็นองค์รวมของการพัฒนาชีวิตที่ดี (พระพรหมคุณาภรณ์. 2548 : 107-108) คือ

ประการแรก การพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ(ธรรมชาติ วัตถุสิ่งของ เทคโนโลยี) และสิ่งแวดล้อมทางสังคม คือ เพื่อนมนุษย์ เรียกรวมว่า ศีล ได้แก่

  • อินทรียสังวร คือรู้จักใช้อินทรีย์ เช่น ตา หู ให้ดูฟังเป็น เพื่อให้ได้ประโยชน์ โดยมุ่ง เน้นเพื่อการศึกษา ไม่หลงในการเสพ
  • ปัจจัยปฏิเสวนา คือกินใช้เสพบริโภคด้วยปัญญา โดยรู้จักประมาณ ให้กินเสพพอดี ที่จะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนการพัฒนาชีวิต
  • สัมมาอาชีวะ คือประกอบอาชีพที่สุจริต ซึ่งไม่เบียดเบียนใคร แต่เป็นงานสร้างสรรค์ เกื้อกูล ซื่อตรง เพื่อเป็นโอกาสในการพัฒนาชีวิตของตน
  • วินัยบัญญัติ คือรักษากติกาของชุมชนหรือสังคม โดยถือเป็นข้อปฏิบัติในการฝึกตน เพื่อให้วิถีชีวิตร่วมกันเป็นเครื่องเอื้อโอกาสในการก้าวสู่จุดหมายของการพัฒนาชีวิต

ประการที่สอง การพัฒนาภาวะจิต ทั้งด้านคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพ ให้เป็นจิตใจ ที่ดีงาม เข้มแข็ง มีความสุข และมีสภาพเอื้อพร้อมต่อการใช้งานทางปัญญา เรียกสั้น ๆ ว่า สมาธิ

ประการที่สาม การพัฒนาปัญญา ให้รู้เข้าใจมองเห็นตามเป็นจริง ที่จะทำให้ปฏิบัติจัดการ แก้ไขปรับปรุงทุกอย่างทุกด้านอย่างถูกต้องได้ผล จนหลุดพ้นจากปัญหา ดับทุกข์ได้ ทำให้เป็นอิสระ สดใสเบิกบาน สุขสงบอย่างแท้จริง เรียกว่า ปัญญา

กล่าวโดยสรุป พระพุทธศาสนามีความสำคัญต่อการสร้างสรรค์อารยะธรรมของมนุษยชาติเพราะสามารถชี้นำบอกทางที่จะทำให้การพัฒนาอารยะธรรมดำเนินไปอย่างถูกต้องสมบูรณ์ ส่งผลให้มวลมนุษย์ประสบสันติสุข และอิสรภาพได้ตามความมุ่งหมาย

พระรัตนตรัย
ประวัติพระพุทธศาสนาโดยสังเขป
โครงสร้างหลักของพระพุทธศาสนาและความสำคัญของพระพุทธศาสนา
ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย