สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
สมองเสื่อม
อาหารป้องกันโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุ
เป็นวัยที่สมรรถภาพการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายเสื่อมถอย
มีความต้องการอาหารลดน้อยลง แต่มีความต้องการสารอาหารยังคงเท่าเดิม
จึงควรรับประทานอาหารแต่ละวันให้มีปริมาณสารอาหารครบถ้วน สะอาด
และเพียงพอกับความต้องการ ของร่างกาย ครบทั้ง 5 หมู่
หมู่ที่ 1 เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่ว เมล็ดแห้ง
- เนื้อสัตว์ ย่อยง่าย บด/ สับละเอียด ต้มเปื่อย มือละ 4-5 ช้อน
- ไข่ ไข่ทั้งฟอง สัปดาห์ละ 2-3 ฟอง กรณีถ้ามีภาวะไขมันในเลือดสูง
ให้รับประทานเฉพาะไข่ขาว หรือผสมไข่ขาว 2 ฟอง กับไข่แดง 1 ฟอง
- นม นมพร่องมันเนย/นมถั่วเหลือง วันละ 1 - 2 แก้ว
- ถั่ว เป็นอาหารให้โปรตีนสูง ควรต้มให้เปื่อยนุ่ม
หมู่ที่ 2 ข้าว แป้ง น้ำตาล ธัญพืช เผือก มัน
- ปริมาณที่รับประทาน มื้อละ 2 ทัพพี วันละ 6 - 8 ทัพพี
หมู่ที่ 3 ผักประเภทต่างๆ ผักใบเขียว ผักสีหลากหลาย
- เป็นแหล่งวิตามินและแร่ธาตุ มีกากใย ช่วยระบบขับถ่าย ทานวันละ 3-4 ทัพพี
หมู่ที่ 4 ผลไม้ เป็นแหล่งวิตามิน แร่ธาตุ
- ควรเลือกผลไม้เนื้อนุ่ม เคี้ยวง่าย เช่น มะละกอ กล้วย ส้ม วันละ 3-4 ส่วน
หมู่ที่ 5 ไขมันจากพืชและสัตว์ ให้พลังงาน และช่วยดูดซึมวิตามิน
- ควรเลือกไขมันจากพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว ยกเว้น กะทิ น้ำมันมะพร้าว เพราะมีกรดไขมันอิ่มตัวสูง
สารอาหารบำรุงสมอง
- วิตามินบี ช่วยป้องกันสมองเสื่อม เช่น ผลิตภัณฑ์นมพร่องมันเนย
ทั้งเนื้อสัตว์ต่างๆ อาหารทะเล ข้าวกล้อง ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว ผัก ผลไม้
- ธาตุเหล็ก มีความจำเป็นต่อการนำออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล
ไข่แดง
- โคลีน เป็นองค์ประกอบของเยื้อหุ้มเซลล์สมอง และสารเคมีในสมองชื่อว่า อะเซทิลโคลีน
ซึ่งควบคุมความจำ อาหารที่มีโคลีนสูง เช่น ไข่แดง ตับ ถั่วลิสง
- สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันเนื้อเยื่อสมองจากอนุมูลอิสระ
ซึ่งทำให้เซลล์สมองเสื่อม ส่งผลต่อความจำ เช่น วิตามินซี วิตามินอี เบต้าเคโรทีน
พบมากใน ผักผลไม้ต่างๆน้ำมันรำข้าว
- น้ำมันปลา หรือ โอเมก้า 3 ช่วยป้องกันความจำเสื่อม เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาดีน
ปลาแมลคอเรล ปลาช่อน ปลาทู แนะนำให้รับประทานปลา สัปดาห์ 2-3 ครั้ง
ข้อแนะนำการรับประทานอาหารของผู้สูงอายุ
1. รับประทานอาหารแต่ละวันให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
หลากหลาย และให้ครบ 5 หมู่
2. รับประทานอาหารแต่ละมื้อปริมาณไม่มาก แต่บ่อยครั้ง
3. เลือกรับประทานอาหารที่มีลักษณะเปื่อยยุ่ย อ่อนนุ่ม ย่อยง่าย
4. เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกเสร็จใหม่
5. ไม่เลือกรับประทานอาหารที่มีรสจัด และอาหารหมักดอง
6. รับประทานผัก ผลไม้ เป็นประจำ
7. งดเครื่องดื่มชา กาแฟ แอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
8. ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว
9. ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน
เป็นประจำสม่ำเสมอ
ตัวอย่างรายการอาหาร
เช้า ข้าวต้มปลา นมพร่องมันเนย
ว่างเช้า มะละกอ
กลางวัน ข้าวอบสับปะรด แกงจืดผักสามสี กล้วยบวดชี
ว่างบ่าย ช่อม่วงงาดำ ชารางจืด
เย็น แกงส้มผักรวม ปลานิลทอด ผัดถั่วงอกเลือดหมู ส้ม
ที่มา : ฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลศรีธัญญา
โรคสมองเสื่อม(Dementia) คือ การสูญเสียความจำระยะสั้นร่วมกับมีความผิดปกติ
ด้านวุฒิปัญญา การใช้ภาษา การคิดคำนวณ และการสูญเสียทักษะต่างๆ
ทำให้มีผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวันของตนเอง ครอบครัว และสังคม
และไม่ได้มีสาเหตุจากโรคทางกายอื่นๆ และอาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งพบโรคนี้บ่อยในผู้สูงอายุ