ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>
ประวัติและความเป็นมา
พัฒนาการของผีตาโขน
ประเพณีผีตาโขนกับวิถีชุมชน
องค์ประกอบของผีตาโขน
หน้ากากผีตาโขน
ประเพณีผีตาโขนกับวิถีชุมชน
จากพัฒนาการประเพณีผีตาโขนที่กล่าวมา ซึ่งเริ่มต้นจากการละเล่นที่เป็นองค์ประกอบของขนบธรรมเนียม ประเพณี มาบัดนี้การละเล่นผีตาโขน เป็นได้ทั้ง วิถีชีวิต อัตลักษณ์บ่งบอกชาติพันธุ์ สินค้า และกลไกของอำนาจ ที่จะส่งผลกำหนดทิศทางของวิถีชุมชนได้อีกด้วย ดังนี้
-
ประเพณีผีตาโขนกับขนบธรรมเนียมประเพณีและศาสนา จากการที่ชาวอำเภอด่านซ้ายจะต้องกระทำพิธีกรรมเกี่ยวกับองค์พระธาตุศรีสองรัก และพิธีกรรมเกี่ยวกับวิญญาณผี เจ้านาย ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามฮีต 12 อันได้แก่ ฮีตเดือน 4 บุญพระเวส ฮีตเดือน 5 บุญแห่พระวันสงกรานต์ ฮีตเดือน 6 บุญบั้งไฟ และฮีตเดือน 7 บุญซำฮะ การละเล่นผีตาโขนจึงมีส่วนส่งเสริมให้นำฮีตที่ขาดไป มาจัดหลอมรวมเป็นบุญเดียวกันเรียกว่า บุญหลวง โดยอาศัย ความสนุกสนานช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด จึงทำให้บุญที่เกิดจากการรวมกันนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี ส่วนผลที่เกิดกับศาสนา มีส่วนส่งเสริมให้ศาสนาเข้ามามีอิทธิพลต่อชุมชน ในแง่ทางธรรมะและการปฏิบัติทางศาสนา เสริมสร้างให้มีการผสมผสานการนับถือพุทธศาสนากับความเชื่อในวิญญาณของบรรพชนให้เกิดการบูรณาการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้ชุมชนไม่มีความขัดแย้ง ทั้งยังเป็นกลไกอย่างหนึ่งที่ช่วยควบคุมสังคมให้เกิดความสงบเรียบร้อย
-
ประเพณีผีตาโขนกับสังคมวัฒนธรรม จากการละเล่นผีตาโขน ที่เกิดจากความเชื่อในวิญญาณผีเจ้านายอันเป็นความเชื่อโดยการสั่งสมมาแต่สังคมบุพกาล ได้ก่อให้เกิดผลดีแก่สังคมอำเภอด่านซ้ายในทุกๆ ด้าน เช่น ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มกัน ทำให้ชุมชนมีบรรทัดฐานและ ค่านิยมร่วมกัน รู้ว่าคนในสังคมมีสถานภาพและบทบาทที่แตกต่างกัน และมีส่วนในการอบรม ขัดเกลาจิตใจคนในสังคม ส่งผลให้วัฒนธรรมไทด่านซ้าย เช่น ภาษาท้องถิ่น จารีตประเพณี วิถีชีวิต ไม่เปลี่ยนแปลงสูญหายไป ทำให้รู้จักรากเหง้าและวัฒนธรรมของตนเอง และก่อให้เกิดความภูมิใจและผูกพันกับท้องถิ่น
-
ประเพณีผีตาโขนกับเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว หลังจากที่ได้รับการบรรจุให้เข้าในแผนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การละเล่นผีตาโขน ได้ส่งผลทางเศรษฐกิจอย่างสูงต่อชาวอำเภอด่านซ้าย โดยทำให้เกิดรายได้จากการจ้างงาน การบริการอาหารที่พักอาศัย การบริการขนส่ง และการจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมพื้นเมือง แต่ก็มีข้อเสีย คือทำให้สินค้าและบริการต่างๆ ในเวลาต่อมามีราคาสูงขึ้นกว่าเดิม ส่วนในด้านการท่องเที่ยว ได้ส่งผลให้เกิดการท่องเที่ยวแบบ โฮมสเตย์ขึ้น และยังสนับสนุนการท่องเที่ยวในด้านอื่นๆ ทั่วทั้งจังหวัดเลย เช่น ท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ ภูเรือ ภูหลวง ภูกระดึง การท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม เช่น จิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดโพธิ์ชัย พระธาตุดินแทนอำเภอนาแห้ว พระธาตุสัจจะอำเภอท่าลี่ เป็นต้น ประเพณีผีตาโขน เมื่อเป็นการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามแม้จะมีประโยชน์นานัปการ แต่ก็มีผลเสียคือก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นมีความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่นและวัฒนธรรมการท่องเที่ยว ทำให้ ค่านิยมของชาวอำเภอด่านซ้ายเจ้าของประเพณีผีตาโขนเกิดการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย