ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>

ผีตาโขน


ประวัติและความเป็นมา
พัฒนาการของผีตาโขน
ประเพณีผีตาโขนกับวิถีชุมชน
องค์ประกอบของผีตาโขน
หน้ากากผีตาโขน

หน้ากากผีตาโขน

หน้ากากผีตาโขนเล็ก ทำจากส่วนที่เป็นโคนของก้านมะพร้าวและหวดนึ่งข้าวเหนียว โดยนำมาเย็บติดกันแล้วเขียนหน้าตา ทำจมูกเหมือนผี ส่วนชุดแต่งกายของผีมักมีสีฉูดฉาดบาดตา โดยอาจเย็บเศษผ้าเป็นเสื้อตัวกางเกงตัวหรือเย็บเป็นชุดติดกันตลอดตัวก็ได้ ข้อสำคัญคือต้องคลุมร่างกายให้มิดชิด หน้ากากผีตาโขนสมัยดั้งเดิมจะทำจากหวดเก่าที่ใช้แล้ว ในส่วนที่ครอบศีรษะจะเย็บติดกับโคนของก้านมะพร้าว ส่วนที่เป็นใบหน้าจะใช้ไม้นุ่นทำจมูกสั้นคล้ายจมูกคน ใช้สีที่ได้จากธรรมชาติ จะไม่ปรากฏลวดลายที่เด่นชัดเพราะเน้นให้หน้ากากมีความลึกลับน่ากลัว ส่วนหน้ากากผีตาโขนสมัยกลางนับตั้งแต่หน่วยงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้การสนับสนุนในปี พ.ศ.2531มีความเปลี่ยนแปลงจากสมัยดั้งเดิม โดยนอกเหนือจากการนำหน้ากากผีตาโขนมาเล่นตามจุดประสงค์หลักดังที่กล่าวมาแล้ว ยังได้มุ่งการทำหน้ากากผีตาโขนเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และดึงดูดความสนใจ

ตลอดจนเน้นผลทางธุรกิจจากนักท่องเที่ยว หน้ากากผีตาโขนในสมัยนี้จึงมีความสวยสดงดงามละเอียดและประณีตขึ้นจากเดิมหวดที่ใช้ครอบศีรษะจะใช้หวดใหม่ ส่วนใบหน้ากากผีตาโขนมีความยาวขึ้น รวมทั้งจมูกที่โค้งงอคล้ายงวงช้าง สีที่ใช้จะมีทั้งสีน้ำพลาสติก สีน้ำมันซึ่งให้ความมันวาวและคงทนด้านความสัมพันธ์ของหน้ากากผีตาโขนกับวิถีชุมชนอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย พบว่าหน้ากากผีตาโขนจะมีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก เพราะมีความเชื่อว่าการจัดทำหน้ากากผีตาโขนเข้าร่วมแสดงในงานของทุกปีเมื่อเสร็จแล้วจะเป็นการปล่อยผีสาง และยังปล่อยทุกข์โศกให้ไหลไปตามแม่น้ำด้วย ด้านระบบรัฐศาสตร์จะมีความสัมพันธ์ที่คนในท้องถิ่นแต่ละคน แต่ละหน่วยงานจะเข้าใจและทราบบทบาทหน้าที่ของตนเองหรือของกลุ่มที่มีการแบ่งงานและหน้าที่กันทำหน้ากากผีตาโขนเพื่อเข้าร่วมแสดง โดยไม่มีการขัดแย้งกันในทางปฏิบัติก่อให้เกิดความสามัคคีของชุมชนด้านระบบวิทยาศาสตร์จะมีความสัมพันธ์ในลักษณะของการแสดงออกถึงภูมิปัญญาชาวบ้านที่รู้จักการนำเอาธรรมชาติมาจัดสร้างเป็นผลงาน

 

พร้อมการปรับธรรมชาติให้มีความคงอยู่ในเชิงนิเวศน์ตลอดจนการดำเนินการทำ และผลิตหน้ากากผีตาโขนรูปแบบของจริงและรูปแบบของที่ระลึกนอกจากนี้หน้ากากผีตาโขนยังส่งอิทธิพลต่อความคิด ความรู้สึกของชาวจังหวัดเลย โดยส่วนรวมที่มีการใช้เป็นสื่อสัญลักษณ์อันแสดงออกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด ในการรับรู้ของคนทั่วไปจะเข้าใจว่า หน้ากากผีตาโขน คือ สื่อศิลป์ที่แสดงออกทางความเชื่อเกี่ยวกับผี เกี่ยวกับความลึกลับน่ากลัวหรือสิ่งไม่ดี แต่อีกด้านหนึ่งหน้ากากผีตาโขนจัดทำว่าเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมใจ ความพร้อมเพรียง ความสมัครสมานสามัคคีและความภาคภูมิใจ และการสืบสานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชุมชนให้ปรากฏแก่ชาวโลกสืบไป

หมากกะแหล่ง
คือเครื่องดนตรีรูปร่างคล้ายกระดิ่งหรือกระดึงแขวนคอวัว ผีตาโขนจะใช้หมากกะแหล่งแขวนติดบั้นเอวเมื่อเดินโยกตัวหรือเต้นเป็นจังหวะ ขย่มตัวสายสะโพกเสียงหมากกะแหล่งก็จะดังเสียงน่าฟังและน่าสนุกสนาน

ดาบไม้
เป็นอาวุธประจำกายผีตาโขนไม่ได้เอาไว้รบกัน แต่เอาไว้ควงหลอกล่อและไล่หยอกล้อสาวๆ และเด็กๆ จนต้องวิ่งหนีกันจ้าละหวั่น ทั้งอายทั้งขำ บางรายร้องไห้แต่ไม่มีใครถือสา เพราะเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมา เหตุที่วิ่งหนีเพราะปลายดาบนั้นแกะสลักเป็นรูปอวัยวะเพศชายแถมทาสีแดงให้เห็นอย่างเด่นชัด การเล่นแบบนี้ไม่ถือเป็นเรื่องหยาบ หรือลามกเพราะมีความเชื่อกันว่าหากเล่นตลกและนำอวัยวะเพศชายหญิงมาเล่นมาโชว์ในพิธีแห่และงานบุญบั้งไฟจะทำให้พญาแถนพอใจ ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์

ข้อมูลอ้างอิง

  • กาญจนา สวนประดิษฐ. ผีตาโขน : ศึกษาเฉพาะกรณีอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม,พ.ศ.2533.

  • จุลดิษฐ อุปฮาต. ประเพณีผีตาโขนกับการพัฒนาอาชีพศิลปหัตถกรรมของชุมชนท้องถิ่น จังหวัดเลย. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

  • พงศธร พินิจวัฒน์. ศิลปกรรมท้องถิ่น : กรณีศึกษาหน้ากากผีตาโขน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

  • พรพิทักษ์ แม้นศิริ. เทศกาลงานกาชาดดอกฝ้ายบานมะขามหวานเมืองเลย : กับวิถีไทเลย. วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต สาขาไทยศึกษาเพื่อการพัฒนา สถาบันราชภัฎเลย, พ.ศ. 2545.

  • สนอง อุปลา,รัชกาลที่ต.อ. พัฒนาการประเพณีผีตาโขน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย. วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต สาขาไทยศึกษาเพื่อการพัฒนา สถาบันราชภัฎเลย, พ.ศ. 2546

  • สยุมพร กาษรสุวรรณ. ประติมากรรมเครื่องปั้นดินเผาเรื่องภาพสะท้อนจากประเพณีผีตาโขน มหาวิทยาลัยศิลปากร, พ.ศ. 2544.

  • ถาวร เชื้อบุญมี. สัมภาษณ์, 3 พฤษภาคม พ.ศ.2552.

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย