สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
เศรษฐศาสตร์จากมุมมองสตรีนิยม
ร่มเย็น โกไศยกานนท์
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
กระแสงานวิจัยในประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ในช่วงก่อนหน้านี้
งานวิจัยส่วนมากมุ่งศึกษาในสาขาวิชาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขาใดสาขาหนึ่งในเชิงลึก
เช่น งานศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์ ที่แยกย่อยเป็นงานวิจัยเศรษฐศาสตร์การคลัง
ที่แยกย่อยไปศึกษาเฉพาะการจัดเก็บรายได้ของรัฐผ่านภาษีเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง
เป็นต้น แต่แนวโน้มงานวิจัยในยุคใหม่พยายามที่จะผสมผสานแนวคิดและความรู้แขนงต่างๆ
ไว้ในงานวิจัยให้เป็นเนื้อเดียว การปรากฎตัวของคำศัพท์ทางวิชาการใหม่ๆ
งานวิจัยแบบสหสาขาวิชา (Interdisciplinary Research) และ งานวิจัยแบบบูรณาการ
(Integrative Research)
เหล่านี้น่าจะเป็นข้อยืนยันถึงความตื่นตัวในการรวมความรู้ในสาขาต่างๆ
ในขณะที่ความตื่นตัวในการศึกษาวิจัยในลักษณะที่เป็นสหสาขาวิชามีให้เห็นมากขึ้น
ทว่าหากตั้งข้อสังเกตแล้วจะพบว่าวิชาที่มีลักษณะเป็นสหสาขานั้น
ส่วนมากแล้วจะกระจุกตัวอยู่ในสาขาสังคมศาสตร์
มานุษยวิทยาและมนุษยศาสตร์หรือกลุ่มวิชาที่รู้จักกันว่าเป็นวิทยาศาสตร์อย่างอ่อน
(Soft Sciences) วิชากลุ่มนี้เป็นวิชาที่มุ่งศึกษาคนและพฤติกรรมของคนในแง่มุมต่างๆ
ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วเป็นการยากที่จะศึกษามนุษย์แยกจากประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม
การเมืองและเศรษฐกิจออกจากกัน แต่ถ้าจะพิจารณากันให้ลึกอีกชั้นหนึ่ง
เราก็จะพบว่าการผสมผสานการวิจัยในศาสตร์ต่างๆ
ในกลุ่มวิชาเหล่านี้ก็มีความเนียนต่างกัน
บางศาสตร์ก็ไม่ค่อยจะยินยอมพร้อมใจที่จะผนวกรวมสาขาอื่นๆ
ไปเพื่อเกิดการบูรณาการที่แท้จริง
ในบทความนี้ ผู้เขียนเลือกที่จะวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์จากมุมมองสตรีนิยม
ทั้งนี้แม้ว่าสตรีศึกษาจะมีลักษณะเป็นสหสาขาวิชาโดยตัวของมันเองและมีประวัติในการวิเคราะห์วิพากษ์เศรษฐศาสตร์อยู่ไม่น้อยและเป็นเวลายาวนาน
แต่ดูเหมือนการพินิจวิพากษ์ต่างๆ
จะวนเวียนอยู่ในวงผู้ที่ศึกษาและสนใจสตรีศึกษาเท่านั้น เช่น ในการประชุม Asia
Pacific NGO Forum Beijing +10 ระหว่าง 30 มิถุนายน 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2547
ที่ผ่านมาที่จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยมหิดล
ได้มีการวิพากษ์อย่างรุนแรงในเรื่องนโยบายเศรษฐศาสตร์ที่มีความเป็นอคติทางเพศ เช่น
การวิพากษ์ขององค์กรเอกชนนานาชาติ DAWN (Development Alternatives with Women for a
New Era)
ต่อความมืดบอดทางเพศภาวะในการวางนโยบายการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจโดยการสนับสนุนทางการเงินและทางวิชาการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
(International Monetary Fund หรือ IMF) และธนาคารโลก (World Bank)
ที่ส่งกระทบทางลบที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้หญิงและเด็ก (DAWN, 2000 และ 2003)
แม้ว่าการวิพากษ์เหล่านั้นจะมีมานานหรือรุนแรงเพียงใด
ผลกระทบที่มีต่อวิชาเศรษฐศาสตร์ก็มีอย่างจำกัด
ไม่เพียงพอที่จะสร้างความสนใจของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักให้ผนวกรวมองค์ความรู้ทางสตรีศึกษาเข้าไว้ในงานศึกษาวิจัยของพวกเขาได้
จุดมุ่งหมายหลักสำหรับบทความนี้
ผู้เขียนจะเสนอถึงเหตุจำเป็นที่ควรบูรณาการวิชาเศรษฐศาสตร์ร่วมกับสตรีศึกษา
เพื่อท้ายที่สุดแล้วหวังที่จะก่อให้เกิดการบูรณาการเศรษฐศาสตร์และสตรีศึกษาได้เนียนอย่างแท้จริง
โดยที่บทความนี้แบ่งได้เป็น 4 ตอน
ในตอนแรกจะเป็นการกล่าวถึงเศรษฐศาสตร์ในฐานะที่เป็นสาขาวิชา โดยครอบคลุมความหมาย
กำเนิดและวิธีการศึกษาเศรษฐศาสตร์อย่างย่อ
ตอนที่สองของบทความจะกล่าวถึงความมืดบอดทางด้านประเด็นสตรีในทฤษฏีเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก
ตอนที่สามเป็นการวิเคราะห์กระแสการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจซึ่งเป็นรากฐานความเข้าใจเบื้องต้นของระบบเศรษฐกิจมหภาค
โดยใช้มุมมองสตรีนิยมวิเคราะห์ 3 ภาคเศรษฐกิจหลักอันได้แก่ ภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ
และภาครัฐบาล
ตอนที่สี่จะเป็นการสรุปถึงความจำเป็นและประโยชน์ของการบูรณาการสตรีศึกษาเข้าไว้ในการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์
เศรษฐศาสตร์คืออะไร
เศรษฐศาสตร์กระแสหลักจากมุมมองสตรีนิยม
กระแสการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ:
กระแสที่มืดบอดต่อประเด็นเพศภาวะ
ความจำเป็นในการบูรณาการสตรีศึกษาเข้ากับการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์
บรรณานุกรม