สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

พฤติกรรมนักท่องเที่ยว

ปัจจัยในการสร้างความแตกต่างของนักท่องเที่ยว

ภูมิหลังของนักท่องเที่ยวที่มีความแตกต่างกันนั้น สามารถศึกษาหาวิธีการที่จะให้บริการได้อย่างเข้าใจนักท่องเที่ยวมากขึ้นโดยดูจากปัจจัย 3 ข้อดังต่อไปนี้

1. วัฒนธรรม (Culture) วัฒนธรรมของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เพราะความคิดความเชื่ออยู่บนพื้นฐานที่แตกต่างกัน โดยวัฒนธรรมมีความสำคัญที่จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมหรือแนวทางปฏิบัติให้คนแต่ละชาติมีความเฉพาะแตกต่างกัน

Singer (1986) ได้ให้คำจำกัดความว่า “วัฒนธรรมประกอบด้วยกระบวนพฤติกรรมทั้งภายในและภายนอก ซึ่งได้รับและถ่ายทอดกันมามีผลทำให้มนุษย์แต่ละชาติแต่ละภาษามีความแตกต่างกัน ในด้านความคิดและพฤติกรรมที่แสดงออก” ซึ่งคล้ายคลึงกับความคิดเห็นของ Sitaram (1972) ที่กล่าวว่า “วัฒนธรรมคือผลรวมของพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ของกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์หนึ่งๆ พฤติกรรมเหล่านี้นับว่าเป็นประเพณีของคนกลุ่มนั้น และยังถูกถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นต่อไป วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อยแต่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ” Porter (1973) สรุปเพิ่มเติมว่า วัฒนธรรมแสดงออกให้ปรากฏในรูปแบบของภาษา ความคิด ในรูปของกิจกรรมและพฤติกรรม

พระยาอนุมานราชธนได้ให้ความหมายของวัฒนธรรมดังนี้ “วัฒนธรรม คือ ปัญหาความรู้สึกนึกคิดและกิริยาอาการ ที่มนุษย์สำแดงออกให้เห็นเป็นสิ่งต่างๆ และเป็นนิสัยความประพฤติในส่วนรวม ซึ่งไม่มีขึ้นเองตามธรรมชาติแต่มีขึ้นเพราะมนุษย์สร้างขึ้นหรือจากการงานของมนุษย์

อาจสรุปได้ว่า “วัฒนธรรม คือรูปแบบหรือแบบแผนในการดำเนินชีวิตของบุคคลส่วนใหญ่ในสังคม” โดยแยกคุณลักษณะของวัฒนธรรมได้ดังนี้

  1. เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น (ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ)
  2. เป็นมรดกของสังคม
  3. มีการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อความเจริญในวิถีชีวิตส่วนรวม
  4. บุคคลส่วนใหญ่ได้เลือกยึดถือปฏิบัติเป็นระยะเวลานานจนมีการถ่ายทอดต่อๆ มา

วัฒนธรรมทางด้านการกินอยู่ ชาติทางตะวันตกบางชาติการกินอยู่ซับซ้อน ยุ่งยาก และใช้เวลานาน อุปกรณ์ประกอบการกินมีมาก มีระเบียบวิธีการมาก เช่น ชาติฝรั่งเศส มีขั้นตอนความสำคัญของการกินมาก ส่วนอเมริกัน การกินไม่สำคัญ อะไรก็ได้ง่ายๆ ออสเตรเลียคล้ายคลึงกับอเมริกัน คือไม่พิถีพิถันหรือระเบียบขั้นตอน ชาติทางตะวันออกไม่มีอุปกรณ์การกินมาก ไม่มีขั้นตอนการกินยุ่งยาก ส่วนมากนิยมกินของร้อนๆ

วัฒนธรรมทางด้านครอบครัว ชาติทางตะวันตกให้เกียรติผู้หญิง มารยาททางสังคมผู้หญิงจะต้องมาก่อนเสมอ เช่น ผู้ชายต้องลุกขึ้นยืนให้เกียรติเวลาผู้หญิงเดินมาที่ที่ผู้ชายนั่งอยู่ การปิดประตูรถให้ การให้ที่นั่งแก่ผู้หญิงก่อน เป็นต้น ความสำพันธ์ระหว่างครอบครัวมีน้อย ส่วนใหญ่แต่งงานแล้วจะแยกย้ายออกไปหาที่อยู่เอง ไม่อยู่รวมกับพ่อแม่ เพื่อจะได้มีความเป็นอิสระในการที่จะทำอะไร เป็นตัวของตัวเอง เพราะฉะนั้นในวัยชรามักจะอยู่ตามลำพัง ไม่มีลูกหลานห้อมล้อมขาดความอบอุ่นในครอบครัว ส่วนในชาติตะวันออกผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง เป็นแม่บ้านทำงานทุกอย่าง โดยเฉพาะผู้หญิงทางชาติตะวันออกกลางจะถูกกดขี่ไม่ให้เกียรติ มีชีวิตความเป็นอยู่คล้ายทาส ชาติทางเอเชียมีความผูกพันระหว่างครอบครัวมาก การให้ความเคารพนับถือ และดูแลเอาใจใส่ให้ความสะดวกสบายแก่ญาติผู้ใหญ่มากกว่าชาติทางตะวันตก



2. ศาสนา (Religion) คำสอนต่างๆ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจของมนุษย์ มีอิทธิพลทางด้านความคิด ความเชื่อมั่น ค่านิยม ในสิ่งต่างๆ บนพื้นฐานที่คล้ายคลึงกัน และเป็นแนวทางแบบอย่างในการแสดงออกด้านพฤติกรรมของแต่ละศาสนา

ศาสนาอิสลาม ไม่กินหมูอาหารทุกชนิดไม่มีส่วนประกอบของหมู ไม่ดื่มเหล้า ไม่เล่นการพนัน ไม่ลักขโมย จะต้องประพฤติปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนาอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในช่วงถือบวช การได้ไปเคารพสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาที่เมกกะถือว่าเป็นการสร้างบุญกุศลเป็นอย่างมาก

  • ศาสนาพุทธ สอนให้คนรู้จักผูกมิตร ให้อภัย มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เคารพที่ความดีของคน
  • ศาสนาคริสต์ สอนให้คนรู้จักช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของศาสนาอย่างเคร่งครัด ถือเลข 13 บางสถานที่จะไม่มีเลข 13 บนเครื่องบินจะไม่มีหมายเลข 13
  • ศาสนายิว การปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาอย่างเคร่งครัดมาก ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตน อาหารการรับประทานอาหาร เช่น อาหารโครเชอร์(Krosher) คนอื่นจะเปิดอาหารก่อนไม่ได้ เจ้าตัวต้องเป็นคนเปิดเอง

3. ภาษา (Language) ความหลากหลายและแตกต่างของภาษาที่มีใช้อยู่ทั่วโลกนั้น ทำให้วงการธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความสามารถใช้ภาษาต่างๆ ได้ ทั้งนี้เพื่อการทำความเข้าใจและรู้จักนักท่องเที่ยว นอกจากภาษาที่หมายถึงคำพูดที่ใช้ในการติดต่อกันแล้วภาษายังรวมถึงการแสดงกริยาอาการหรือท่าทาง (body language) ในการสื่อความหมาย ซึ่งแต่ละชาติมีภาษาท่าทางในการแสดงออกไม่เหมือนกัน เพราะได้รับการถ่ายทอดและปลูกฝังแตกต่างกัน ในกรณีของนักท่องเที่ยว การแสดงออกทาง น้ำเสียง การแสดงออกทางท่าทางต่างๆ ก็เป็นการแสดงออกที่มีความเฉพาะแตกต่างกันซึ่งผู้ให้บริการควรเรียนรู้และศึกษาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการตอบสนองความพึงพอใจต่อผู้ใช้บริการ เช่น ชาวจีนมักพูดจาเสียงดังเหมือนทะเลาะกันแต่อาจเป็นแค่การพูดคุยกันตามปกติ ส่วนชาวญี่ปุ่นแทบแยกน้ำเสียงหรือระดับเสียงไม่ออกเวลาพอใจกับไม่พอใจ แม้แต่ท่าทางในการผงกศีรษะที่แสดงออกถึงการตกลงและไม่ตกลง ก็มีความหมายแตกต่างกันในบางประเทศ การเรียนรู้ถึงท่าทางที่สื่อความหมายของชาติต่างๆนั้น นับว่ามีความสำคัญมากต่อการติดต่อสื่อสารกับนักท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ

ภูมิหลังของนักท่องเที่ยวชาติต่าง ๆ >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย