ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

ประวัติการศึกษาไทย

การศึกษาของไทยสมัยโบราณ
การศึกษาของไทยสมัยปฏิรูปการศึกษา
การศึกษาสมัยการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ

การศึกษาของไทยสมัยโบราณ ( พ.ศ. 1781 - พ.ศ. 2411)

การศึกษาสมัยนี้เป็นการศึกษาแบบสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีที่มีมากแต่เดิม จำเป็นที่คนไทยในสมัยนั้นต้องขวนขวายหาความรู้จากผู้รู้ในชุมชนต่างๆ ซึ่งการศึกษาในสมัยนี้มีบ้านและวัดเป็นศูนย์กลางของการศึกษา เช่น บ้านเป็นสถานที่อบรมกล่อมเกลาจิตใจของสมาชิกภายในบ้าน โดยมีพ่อและแม่ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดอาชีพและอบรมลูกๆ วังเป็นสถานที่รวมเอานักปราชญ์สาขาต่างๆ มาเป็นขุนนางรับใช้เบื้องพระยุคลบาท โดยเฉพาะงานช่างศิลปหัตถกรรมเพื่อสร้างพระราชวังและประกอบพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ถ่ายทอดความรู้ต่าง ๆ จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง

ส่วนวัดเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา พระจะทำหน้าที่ในการอบรมสั่งสอนธรรมะแก่พุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะผู้ชายไทยมีโอกาสได้ศึกษาธรรมะและบวชเรียน ในสังคมไทยจึงนิยมให้ผู้ชายบวชเรียนก่อนแต่งงานทำให้มีคุณธรรมและจิตใจมั่นคงสามารถครองเรือนได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้ผู้ที่มาบวชเรียนนอกจากมาแสวงหาความรู้เรื่องธรรมะในวัดแล้ว ยังสามารถแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ในด้านศิลปวิทยาการต่าง ๆ ที่เคยได้อบรมจาu3585 ครอบครัวมา จะเห็นได้ว่าสถาบันทั้งสามนี้ล้วนแต่มี บทบาทในการศึกษาอบรมสำหรับคนไทยในสมัยนั้น ในการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง นอกจากนี้ในชุมชนต่าง ๆ ก็มีภูมิปัญญามากมายซึ่งมีปราชญ์แต่ละสาขาวิชา เช่น ด้านการก่อสร้าง หัตถกรรม ศิลปกรรม ประติมากรรม และแพทย์แผนโบราณเป็นต้นส่วนพระมหากษัตริย์ในสมัยนี้มีพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาในสมัยนั้นและมีอิทธิพลต่อมา

กล่าวคือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชและพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระเจ้าลิไท) ซึ่งพระราชกรณียกิจที่สำคัญ เช่น การประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นครั้งแรก โดยทรงดัดแปลงมาจากตัวหนังสือขอมและมอญ อันเป็นรากฐานด้านอักษรศาสตร์จนนำมาสู่การพัฒนาปรับปรุงเป็นอักษรไทยในปัจจุบัน ศิลาจารึกหลักที่ 1 จึงเป็นศิลาจารึกที่จารึกเป็นอักษรไทยให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสุโขทัยในด้านประวัติศาสตร์ส่วนการบำรุงพุทธศาสนาในรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ 1 ( พระเจ้าลิไท) ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าพระองค์ทรงสละราชย์สมบัติออกบวชเป็นพระภิกษุชั่วระยะหนึ่ง นับเป็นแบบอย่างของการบวชเรียนในสมัยต่อมา

การที่พระองค์ทรงจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์โดยกำหนดให้การปกครองสงฆ์ออกเป็นสองคณะ กล่าวคือ คณะอรัญวาสีและคณะคามวาสี และการที่พระองค์ทรงพระนิพนธ์หนังสือไตรภูมิพระร่วง ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่มุ่งเน้นการสอนศีลธรรมให้ราษฎรประพฤติแต่สิ่งที่ดีงามละเว้นความชั่ว ผู้ประพฤติดีจะได้ขึ้นสวรรค์ผู้ประพฤติชั่วจะต้องตกนรก ซึ่งพระองค์ทรงบรรยายไว้อันน่าสะพึงกลัวนับเป็น วรรณคดีร้อยแก้วที่มีความสำคัญที่สุดในสมัยสุโขทัย โดยกล่าวถึงโลกมนุษย์ สวรรค์และนรกเป็นวรรณคดีที่ได้รับการกล่าวอ้างถึงในวรรณกรรมต่างๆ และเป็น วรรณคดีที่มีความสำคัญต่อคำสอนในพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบันนี้

การศึกษาในสมัยสุโขทัย

(พ.ศ. 1781 – พ.ศ. 1921) มีลักษณะการจัด ดังนี้

  1. รูปแบบการจัดการศึกษา แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย กล่าวคือ ฝ่าย
    อาณาจักรแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่หนึ่งเป็นการจัดการศึกษาสำหรับผู้ชายที่เป็นทหาร เช่น มวย กระบี่ กระบองและอาวุธต่างๆ ตลอดจนวิธีการบังคับม้า ช้าง ตำราพิชัยยุทธซึ่งเป็นวิชาชั้นสูงของผู้ที่จะเป็นแม่ทัพนายกอง และส่วนที่สอง พลเรือน เป็นการจัดการศึกษาให้แก่พลเรือนผู้ชายเรียนคัมภีร์ไตรเวทโหราศาสตร์ เวชกรรม ฯลฯ ส่วนพลเรือนผู้หญิงให้เรียนวิชาช่างสตรี การปัก การย้อม การเย็บ การถักทอ นอกจากนั้นมีการอบรมบ่มนิสัย กิริยามารยาท การทำอาหารการกินเพื่อเตรียมตัวเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดีu3605 ่อไป ฝ่ายศาสนาจักร เป็นการศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาการจัดการศึกษาในสมัยสุโขทัย จึงเป็นการจัดการศึกษาที่เน้นพระพุทธศาสนาและศิลปศาสตร์ สมัยนี้พ่อขุนรามคำแหงได้นำช่างชาวจีนเข้ามาเผยแพร่การทำถ้วยชามสังคโลกให้แก่คนไทย และหลังจากที่ทรงคิดประดิษฐ์อักษรไทยแล้วงานด้านอักษรศาสตร์เจริญขึ้น มีการสอนภาษาไทยในพระบรมมหาราชวัง มีวรรณคดีที่สำคัญ คือ หนังสือไตรภูมิพระร่วงและตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์
  2. สถานศึกษา สำหรับสถานศึกษาในสมัยนี้ ประกอบด้วย
    - บ้าน เป็นสถาบันสังคมพื้นฐานที่ช่วยทำหน้าที่ในการ ถ่ายทอดความรู้ด้านอาชีพตามบรรพบุรุษ การก่อสร้างบ้านเรือนศิลปการป้องกันตัวสำหรับลูกผู้ชายและการบ้านการเรือน เช่น การจีบพลู การทำอาหารและการทอผ้าสำหรับลูกผู้หญิง เป็นต้น
    - สำนักสงฆ์ เป็นสถานศึกษาที่สำคัญของราษฎรทั่วไป เพื่อหน้าที่ขัดเกลาจิตใจ และแสวงหาธรรมะต่างๆ
    - สำนักราชบัณฑิต เป็นบ้านของบุคคลที่ประชาชนยกย่องว่ามี ความรู้สูง บางคนก็เป็นขุนนางมียศถาบรรดาศักดิ์ บางคนก็เคยบวชเรียนแล้วจึงมีความรู้ แตกฉานในแขนงต่างๆ
    - พระราชสำนัก เป็นสถานศึกษาของพระราชวงศ์และบุตรหลาน ของขุนนางในราชสำนักมีพราหมณ์หรือราชบัณฑิตเป็นครูสอน
  3. วิชาที่สอน ไม่ได้กำหนดตายตัว พอแบ่งออกได้ดังนี้
    - วิชาความรู้สามัญ สันนิษฐานว่าในช่วงต้นสุโขทัยใช้ภาษาบาลี และสันสกฤตในการศึกษา ต่อมาในสมัยหลังจากที่พ่อขุนรามคำแหงได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เมื่อ พ.ศ. 1826 จึงมีการเรียนภาษาไทยกัน
    - วิชาชีพ เรียนกันตามแบบอย่างบรรพบุรุษ ตระกูลใดมีความ ชำนาญด้านใดลูกหลานจะมีความถนัดและประกอบอาชีพตามแบบอย่างกันมา เช่น ตระกูลใดเป็นแพทย์ก็จะสอนบุตรหลานให้เป็นแพทย์
    - วิชาจริยศึกษา สอนให้เคารพนับถือบรรพบุรุษ การรู้จัก กตัญญูรู้คุณการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม และการรู้จักทำบุญให้ทาน ถือศีลในระหว่างเข้าพรรษา เป็นต้น
    - วิชาศิลปะป้องกันตัว เป็นการสอนให้รู้จักการใช้อาวุธ การ บังคับสัตว์ที่ใช้เป็นพาหนะในการออกศึกและตำราพิชัยยุทธ

การศึกษาในสมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1893 - พ.ศ. 2310)

กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นราชธานีอันยาวนาน 417 ปี ซึ่งมีความเจริญทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนับเกิดจากมีชนชาติต่าง ๆ ในเอเชียเข้ามาติดต่อค้าขายและเข้ามาเพื่อตั้งหลักแหล่งหากินในดินแดนไทย เช่น จีน มอญ ญวน เขมร อินเดียและอาหรับ และตั้งแต่รัชสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 ชาติตะวันตกได้เริ่มเข้ามาติดต่อค้าขาย เช่น ชาติโปรตุเกสเข้ามาเป็นชาติแรก และมีชนชาติอื่น ๆ ติดตามมา เช่น ฮอลันดา ฝรั่งเศส อังกฤษ เป็นต้น มีผลให้การศึกษาไทยมีความเจริญขึ้น โดยเฉพาะใน รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองและสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ลักษณะการจัดการศึกษาสมัยกรุงศรีอยุธยา มีดังนี้

1. รูปแบบการจัดการศึกษา มีดังนี้

  • การศึกษาวิชาสามัญ เน้นการอ่าน เขียน เรียนเลข อันเป็นวิชาพื้นฐานสำหรับการประกอบสัมมาอาชีพของคนไทย พระโหราธิบดีได้แต่งแบบเรียนภาษาไทย ชื่อ จินดามณี ถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชซึ่งใช้เป็นแบบเรียนสืบมาเป็นเวลานาน
  • การศึกษาทางด้านศาสนา วัดยังมีบทบาทมากในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บรมโกศ พระองค์ทรงส่งเสริมพุทธศาสนาโดยทรงวางกฎเกณฑ์ไว้ว่าประชาชนคนใดไม่เคยบวช เรียนเขียนอ่านมาก่อน จะไม่ทรงแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการและในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นต้นมา มีนักสอนศาสนาหรือมิชชันนารีได้จัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือและวิชาอื่น ๆ ขึ้นเรียกโรงเรียนมิชชันนารีนี้ว่า โรงเรียนสามเณร เพื่อชักจูงให้ชาวไทยหันไปนับถือศาสนาคริสต์
  • การศึกษาทางด้านภาษาศาสตร์และวรรณคดี ปรากฎว่ามีการสอนทั้งภาษาไทย บาลี สันสกฤต ฝรั่งเศส เขมร พม่า มอญ และภาษาจีน ในรัชสมัยสมเด็จ พระนารายณ์มหาราชมีวรรณคดีหลายเล่ม เช่น เสือโคคำฉันท์ สมุทรโฆษคำฉันท์ อนิรุทธ์คำฉันท์ และกำสรวลศรีปราชญ์ เป็นต้น
  • การศึกษาของผู้หญิง มีการเรียนวิชาชีพ การเรือนการครัว ทอผ้า ตลอดจนกิริยามารยาท เพื่อป้องกันไม่ให้เขียนเพลงยาวโต้ตอบกับผู้ชาย แต่ผู้หญิงที่อยู่ใน ราชตระกูลเริ่มเรียนภาษาไทยตลอดทั้งการประพันธ์ด้วย ในสมัยนี้โปรตุเกสเป็นชาติแรกที่นำวิธีการทำขนมหวานที่ใช้ไข่มาเป็นส่วนผสม เช่น ทองหยิบ ฝอยทอง มาเผยแพร่จนขนมเหล่านี้เป็นเอกลักษณ์ขนมหวานของไทยในปัจจุบัน
  • การศึกษาวิชาการด้านทหาร มีการจัดระเบียบการปกครองในแผ่นดิน สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงแยกราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนออกจากกัน หัวหน้าฝ่ายทหารเรียกว่า สมุหกลาโหม ฝ่ายพลเรือนเรียกว่า สมุหนายก ในรัชสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงจัดวางระเบียบทางด้านการทหาร มีการทำบัญชี คือ การเกณฑ์คนเข้ารับราชการทหาร ผู้ชายอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไปถึง 60 ปี เรียกว่าไพร่หลวง เชื่อว่าต้องมีการศึกษาวิชาการทหาu3619 เป็นการศึกษาด้านพลศึกษาสำหรับผู้ชาย ฝึกระเบียบวินัยเพื่อฝึกอบรมให้เป็นกำลังสำคัญของชาติ

2. สถานศึกษา ในสมัยกรุงศรีอยุธยานี้ยังคงเหมือนกับสมัยสุโขทัยที่ต่างออกไป คือ มีโรงเรียนมิชชันนารี เป็นโรงเรียนที่ชาวตะวันตกได้เข้ามาสร้างเพื่อเผยแพร่ศาสนาและขณะ เดียวกันก็สอนวิชาสามัญด้วย

3. เนื้อหาวิชาที่สอน มีสอนทั้งวิชาชีพและวิชาสามัญ กล่าวคือ

  1. วิชาสามัญ มีการเรียนวิชาการอ่าน เขียน เลข ใช้แบบเรียนภาษาไทยจินดามณี
  2. วิชาชีพเรียนรู้กันในวงศ์ตระกูล สำหรับเด็กผู้ชายได้เรียนวิชาวาดเขียน แกะสลัก และช่างฝีมือต่าง ๆ ที่พระสงฆ์เป็นผู้สอนให้ ส่วนเด็กผู้หญิงเรียนรู้การบ้านการเรือนจากพ่อแม่สมัยต่อมาหลังชาติตะวันตกเข้ามาแล้วมีการเรียนวิชาชีพชั้นสูงด้วย เช่น ดาราศาสตร์ การทำน้ำประปา การทำปืน การพาณิชย์ แพทยศาสตร์ ตำรายา การก่อสร้าง ตำราอาหาร เป็นต้น
  3. ด้านอักษรศาสตร์ มีการศึกษาด้านอักษรศาสตร์ มีวรรณคดีหลายเล่มที่เกิดขึ้น เช่น สมุทรโฆษคำฉันท์ และกำศรวลศรีปราชญ์ เป็นต้น อีกทั้งมีการสอนภาษาไทย บาลี สันสกฤต ฝรั่งเศส เขมร พม่า มอญ และจีน
  4. วิชาจริยศึกษา เน้นการศึกษาด้านพระพุทธศาสนามากขึ้น เช่นในสมัย พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงกวดขันในเรื่องการศึกษาหลักธรรมของพระพุทธศาสนามาก มีการกำหนดให้ผู้ชายที่เข้ารับราชการทุกคนจะต้องเคยบวชเรียนมาแล้ว เกิดประเพณีการอุปสมบทเมื่ออายุครบ 20 ปี นอกจากนี้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ทรงให้เสรีภาพไม่กีดกันศาสนา ทรงอุปถัมภ์พวกสอนศาสนา เพราะทรงเห็นว่าศาสนาทุกศาสนาต่างสอนให้คนเป็นคนดี
  5. วิชาพลศึกษายังคงเหมือนสมัยสุโขทัย

การศึกษาในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2311 –พ.ศ. 2411)

การศึกษาในสมัยนี้เช่นเดียวกับสมัยอยุธยา บ้านและวัดยังคงมีบทบาทเหมือนเดิม การจัดการศึกษาในช่วงนี้ มีดังนี้

  1. สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นระยะเก็บรวบรวมสรรพตำราจากแหล่งต่าง ๆ ที่รอดพ้นจากการทำลายของพม่า เน้นการทำนุบำรุงตำราทางศาสนา ศิลปะและวรรณคดี
  2. สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงฟื้นฟูการศึกษาด้านอักษรศาสตร์ วรรณคดี มีการแต่งรามเกียรติได้เค้าโครงเรื่องมาจากอินเดียเรื่อง รามายณะ ศิลปะ กฎหมาย เช่น กฎหมายตรา3ดวง และหลักธรรมทางศาสนา มีการสังคายนาพระไตรปิฎก
  3. สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เริ่มมีชาวยุโรป เช่น ชาติโปรตุเกสเข้ามาติดต่อทางการค้ากับไทยใหม่ หลังจากเลิกราไปเมื่อประมาณปลายสมัยอยุธยา และชาติอื่น ๆ ตามเข้ามาอีกมากมาย เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา เป็นต้น เนื่องจากยุโรปมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เปลี่ยนระบบการผลิตจากการใช้มือมาใช้เครื่องจักร พลังงานจากไอน้ำสามารถผลิตสินค้าได้มากขึ้นจึงต้องหาแหล่งระบายสินค้า ในสมัยนี้ได้ส่งเสริมการศึกษาทั้งวิชาสามัญ โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ จริยศาสตร์ มีการตั้งโรงทานหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวังเป็นที่ให้การศึกษา
  4. สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
  5. สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในสมัยนี้ชาวยุโรป และอเมริกันเริ่มเข้ามาติดต่อค้าขายและสอนศาสนา มีการนำวิทยาการสมัยใหม่ ๆ เข้ามาปรับใช้ในเมืองไทยเพิ่มขึ้น และพระองค์ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาจึงทรงจ้างนางแอนนา เอช เลียวโนเวนส์ มาสอนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เมื่อ พ.ศ. 2405 จนรอบรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี ลักษณะการจัดการศึกษาเป็นแบบเดิมทั้งวัดและบ้าน ในส่วนวิชาชีพและวิชาสามัญ มีอักษรศาสตร์ ธรรมชาติวิทยาหรือวิทยาศาสตร์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย