ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>
ชนชาติไทยมาจากไหน
ถิ่นเดิมของชนชาติไทย
การตั้งถิ่นฐานของชนชาติไทย
หลักฐานที่ใช้ในการศึกษาเรื่องราวของชนชาติไทย
แนวความคิดเกี่ยวกับคนไทยมาจากไหน
ไท และไทยสยาม
แนวคิดเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดคนไทย
การจัดระดับชั้นของสังคมไทย
แนวคิดเรื่องถิ่นกำเนิดของชนชาติไทย
แนวความคิดเกี่ยวกับคนไทยมาจากไหน
การศึกษาเกี่ยวกับที่มาของชนชาติไทยยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่และหาข้อยุติแน่นอนไม่ได้
แต่ข้อสันนิษฐานหรือแนวคิดต่าง ๆ ที่มีหลักฐานน่าเชื่อถือ
มีผลให้การศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชนชาติไทยมีความชัดเจนมากขึ้น
สรุปได้เป็น 5 แนวทาง ดังนี้
1. แนวคิดที่เชื่อว่าชนชาติไทยอยู่บริเวณเอเชียกลาง
แนวคิดนี้เกิดขึ้นหลัง พ.ศ. 2450 เป็นต้นมา
โดยนักประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นต่างมีความเชื่อ
กันว่าแหล่งกำเนิดอารยธรรมของโลก
มีจุดกำเนิดอยู่ทางแถบเอเชียกลางใกล้ทะเลแคสเปียน ก่อนที่กระจายไปยังทิศทางต่าง ๆ
ดร.วิลเลียม คลิฟตัน ดอดดื หมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน
ได้นำความเชื่อนี้ไปกล่าวไว้ในงานเขียนเกี่ยวกับชนชาติไทยของเขาว่า
พวกมุงซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบรรพบุรุษของคนไทยได้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาจากถิ่นกำเนิดของตนในเอเชียกลางมายังชายแดนด้านตะวันตกของจีน
ขุนวิจิตรมาตรา ( สง่า กาญจนาคพันธ์ )
ได้แสดงความคิดเห็นไว้ในหนังสือหลักไท ( พ.ศ. 2471 ) เชื่อว่า
แหล่งกำเนิดของชนชาติไทยอยู่บริเวณเทือกเขาอัลไตของเอเชียกลาง
ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของพวกมองโกลด้วยกัน
ภายหลังจึงได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานแถบบริเวณลุ่มแม่น้ำเหลือง
และแม่น้ำแยงซีต่อมาเมื่อถูกรุกรานจึงค่อย ๆ อพยพลงมาสู่สุวรรณภูมิ
ต่อมาภายหลัง เมื่อมีการศึกษาทางด้านโบราณคดีและด้านภูมิศาสตร์
ทำให้แนวความคิดนี้ไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป
เพราะทางแถบบริเวณเทือกเขาอัลไตของเอเชียกลางนั้นเป็นเขตแห้งแล้ง
อากาศมีความหนาวเย็น
และถ้าอพยพโยกย้ายลงมาก็ต้องผ่านทะเลทรายที่กว้างใหญ่และทุรกันดารมาก
จึงไม่เหมาะสำหรับจะเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์
2. แนวคิดที่เชื่อว่าชนชาติไทยอยู่บริเวณมณฑลเสฉวน
เทเรียน
เดอ ลา คูเปอรี ศาสตราจารย์ชาวฝรั่งเศส เจ้าของแนวความคิดที่เชื่อว่าความเป็น
มาของคนไทยอยู่บริเวณมณฑลเสฉวนของจีน ได้แสดงความเห็นไว้ว่า
คนเชื้อชาติไทยตั้งถิ่นฐานเป็นอาณาจักรอยู่ในดินแดนจีนมาก่อน เมื่อประมาณ 2,208
ปีก่อนคริสตกาล ชนชาติ " ไท"
ได้ถูกระบุไว้ในรายงานสำรวจภูมิประเทศจีนในสมัยพระเจ้ายู้ จีนเรียกชนชาติไทยว่า
"มุง" หรือ "ต้ามุง"
ถิ่นที่อยู่ของคนไทยซึ่งปรากฏในจดหมายเหตุจีนนี้อยู่ในเขตที่เป็นมณฑลเสฉวนปัจจุบัน
สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเสนอความเห็นไว้ว่า
คนไทยน่าจะอยู่แถบดินแดนทิเบตต่อกับจีน ( มณฑลเสฉวนปัจจุบัน ) ราว พ.ศ. 500
ถูกจีนรุกรานจึงอพยพมาอยู่ที่ยูนนานทางตอนใต้ของจีน
แล้วกระจายไปตั้งถิ่นฐานบริเวณเงี้ยว ฉาน สิบสองจุไท ล้านนา ล้านช้าง
หลวงวิจิตรวาทการ ได้กล่าวถึงถิ่นกำเนิดของคนไทยไว้ว่า
คนไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในดินแดนซึ่งเป็นมณฑลเสฉวน ฮูเป อันฮุย และเกียงซี
ตอนกลางของประเทศจีนปัจจุบัน ก่อนที่จีนจะอพยพเข้ามา แล้วค่อย ๆ อพยพสู่มณฑลยูนนาน
และแหลมอินโดจีนต่อมาภายหลังเมื่อมีการศึกษาค้นคว้าทางด้านมานุษยวิทยาและภาษาศาสตร์รวมทั้งการตรวจสอบหลักฐานจดหมายเหตุของจีนเป็นจำนวนมาก
ปรากฏว่าสมมติฐานดังกล่าวไม่น่าจะเป็นไปได้
ทำให้แนวความคิดที่ว่าคนไทยมีถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณมณฑลเสฉวนของจีน
ไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป
3. แนวคิดที่เชื่อว่าชนชาติไทยอยู่บริเวณทางใต้ของจีน
และทางตอนเหนือของภาคพื้น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนบริเวณรัฐอัสสัมของอินเดีย
อาร์ซิบอล อาร์ โคลฮูน นักสำรวจชาวอังกฤษ ได้เขียนรายงานการสำรวจที่ปรากฏอยู่
ในหนังสือชื่อ ไครเซ ซึ่งตีพิมพ์ในประเทศอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2428
ได้พบคนเชื้อชาติไทยในบริเวณภาคใต้ของจีนตั้งแต่กวางตุ้งไปจนถึงมัณฑะเลย์ในพม่า
วูลแฟรม อีเบอร์ฮาด นักสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา
ชาวเยอรมันได้กล่าวว่า เผ่าไทยอยู่บริเวณมณฑลกวางตุ้ง
ต่อมาชนเผ่าไทยได้อพยพเข้าสู่ยูนานและดินแดนในอ่าวตังเกี๋ย
และได้มาสร้างอาณาจักรเทียนหรือแถน ที่ยูนนานซึ่งตรงกับสมัยราชวงศ์ฮั่นของจีน
เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ถังเผ่าไทยก็สถาปนาอาณาจักรน่านเจ้าขึ้นที่ยูนนาน
วิลเลียม เจ. เก็ตนีย์
นักภาษาศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับภาษาไทยในเวียดนามตอนเหนือ ลาว
และจีนตอนใต้ ได้เสนอความเห็นไว้เมื่อ พ.ศ. 2508 ว่า
ถิ่นกำเนิดของภาษาไทยมิได้อยู่ทางมณฑลยูนนาน
แต่อยู่ที่มณฑลทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีนแถวเส้นเขตแดนระหว่างมณฑลกวางสีของจีนกับเมืองเดียนเบียนฟูของเวียดนามตอนเหนือ
เฟรเดอริค โมต
ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีนได้ให้ทัศนะไว้นบทความที่เขียนขึ้นใน พ.ศ. 2507 ว่า
หลักฐานประวัติศาสตร์จีนแม้จะไม่ระบุไว้อย่างชัดเจน
เกี่ยวกับกำเนิดของชนชาติไทยว่าอยู่บริเวณใด
แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจีนใด ๆ ที่จะคัดค้านสมมติฐานที่ว่า
ถิ่นกำเนิดของชนชาติไทยอยู่ในบริเวณตอนใต้ของจีนและบริเวณต่อเนื่องกับเขตแดนของเวียดนาม
เจมส์ อาร์ แชมเบอร์เลน นักภาษาศาสตร์ กล่าวว่า
"ถิ่นกำเนิดเริ่มแรกของชนชาติไทยนั้นน่าจะอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลเหนือปากแม่น้ำแยงซีตอนล่าง
เพราะเป็นวิถีชีวิตของกลุ่มคนที่พูดภาษาไทยที่เพราะปลูกข้าวนาลุ่มมาแต่แรก
ข้อมูลเกี่ยวกับคำศัพท์ของกล้าข้าว ประเภทต่าง ๆ
ในภาษาไทยสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มคนที่พูดภาษาไทยอาจเป็นคนกลุ่มแรกที่รู้จักเพาะปลูกข้าวนาลุ่ม
พอล เบเนดิกต์ นักภาษาศาสตร์และมนุษยวิทยาชาวอเมริกันได้เสนอว่า
ถิ่นกำเนิดของกลุ่มคนที่พูดภาษาไทยนั้นอยู่บริเวณทางตอนใต้ของจีน
ศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช
กล่าวว่าคนไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของจีนแถบมณฑลกวางตุ้ง กวางสี ต่อมาประมาณ
1,000 ปีก่อนคริสตกาล ชนเผ่าไทยจึงได้อพยพมาทางตะวันตก ตั้งแต่มณฑลเสฉวน
เมืองเชียงตู ลงล่างเรื่อยมาจนเข้าเขตยูนนาน
และลงมาทางใต้ผ่านสิบสองจุไทลงสู่ประเทศลาว
จิตร ภูมิศักดิ์ เสนอทัศนะไว้ว่า
คนเผ่าไทยอาศัยอยู่กระจัดกระจายในบริเวณทางตอนใต้ของจีน และบริเวณภาคเหนือของไทย
ลาว เขมร พม่า และรัฐอัสสัมของอินเดีย แนวความเชื่อนี้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง
เนื่องจากมีหลักฐานในสาขาวิชาการต่าง ๆ ทั้งทางด้านภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์
โบราณคดี มานุษยวิทยา และอื่น ๆ มาสนับสนุนเป็นจำนวนมาก
4.
แนวความคิดที่เชื่อว่าชนชาติไทยตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่เป็นประเทศไทยใน
ปัจจุบัน
คอริช เวลส์ เป็นนักวิชาการตะวันตกคนแรกที่เสนอสมมติฐานว่า
ถิ่นเดิมของชนชาติไทย อยู่บริเวณประเทศไทยปัจจุบัน
โดยอาศัยหลักฐานจากกะโหลกศรีษะที่ขุดได้จากตำบลพงตึก
จังหวัดกาญจนบุรีที่มีอายุราวต้นคริสต์ศตวรรษ
ซึ่งเวลส์เห็นว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับกระโหลกศรีษะของคนไทยปัจจุบัน นายแพทย์สุด
แสงวิเชียร ได้ทำการศึกษาโครงกระดูกมนุษย์ยุคหินใหม่ 37 โครง
ซึ่งพบบริเวณสองฝั่งแม่น้ำแควน้อยและแควใหญ่ จังหวัดกาญจนบุรี
พบว่าโครงกระดูกของมนุษย์หินใหม่เหมือนกับโครงกระดูกของคนไทยปัจจุบันเกือบทุกอย่าง
จึงสรุปว่าดินแดนไทยเมื่อครั้งอดีตน่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของบรรพบุรุษของคนไทยปัจจุบันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว
ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโบราณคดี ได้เสนอว่า
มีร่องรอยของผู้คนอาศัยอยู่ตั้งแต่ยุคหินเก่าเรื่อยมาจนกระทั่งยุคหินกลาง หินใหม่
ยุคโลหะ และเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์
โดยแต่ละยุคได้มีการสืบเนื่องทางวัฒนธรรมสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันด้วย
แนวความคิดนี้มีนักวิชาการหลายท่านพยายามนำหลักฐานทางด้านโบราณคดีและเอกสารมาพิสูจน์ให้เห็นจริงว่าคนไทยน่าจะอยู่บริเวณนี้มาก่อน
โดยไม่ได้อพยพมาจากดินแดนอื่นที่อยู่ห่างไกลออกไป
ซึ่งแนวความคิดนี้ในปัจจุบันยังไม่ถือว่าเป็นข้อยุติ
5.
แนวความคิดที่เชื่อว่าถิ่นกำเนิดของชนชาติไทยอยู่บริเวณคาบสมุทรอินโดจีนหรือ
คาบสมุทรมลายูบริเวณหมู่เกาะชวา
นายแพทย์สมศักดิ์ พันธุ์สมบุญ
ได้ทำวิจัยทางด้านพันธุศาสตร์เกี่ยวกับหมู่เลือดลักษณะของจำนวนยีน
พบว่าหมู่เลือดของคนไทยคล้ายคลึงกับชาวเกาะชวา
ที่อยู่ทางใต้มากกว่าคนจีนซึ่งอยู่ทางเหนือ
รวมทั้งลักษณะและจำนวนของยีนระหว่างคนไทยกับคนจีนก็ไม่เหมือนกันด้วย
ดร.ถาวร วัชราภัย ได้ทำวิจัยกลุ่มเลือดที่ทันสมัย
สรุปได้ว่าไทยดำและผู้ไทยมีลักษณะเลือดใกล้เคียงกับชาวจีน
แต่ไม่ใกล้เคียงกับชาวมาเลย์ แต่ชาวมาเลย์มีลักษณะเลือดใกล้เคียงกับชาวเขมร
ขากรรไกรและฟันก็ได้ผลเช่นเดียวกัน ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี
ได้ทำผลงานการวิจัยเรื่องฮีโมโกลบิน อี พบว่า ฮีโมโกลบิน อี
มีมากในผู้คนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ไทย ลาว เขมร พม่า มอญ และอื่น ๆ
คนจีนเกือบไม่มีอยู่เลย แต่ปัจจุบันนี้ได้เลิกใช้ฮีโมโกลบิน อี
เป็นเครื่องพิสูจน์ว่ากลุ่มใดมีบรรพบุรุษร่วมกับกลุ่มใด
เพราะมีการพิสูจน์ได้ว่าดินแดนที่มีฮีโมโกลบิน อี มาก คือดินแดนที่มีไข้มาลาเรียมาก
แนวความคิดนี้ปัจจุบันยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดและยังไม่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางนัก