ศิลปะ หัตถกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม สันทนาการ >>

ภูมิปัญญาไทยกับทัศนศิลป์

สาขาวิชา สังคมศึกษาและศิลปะ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
แนวทางการวิจารณ์ผลงานทัศนศิลป์
หลักที่จะให้คำวิจารณ์แก่ศิลปกรรม
ศิลปะและปรัชญา
สุนทรียศาสตร์ (aesthetics)
ทฤษฎีศิลป์

หลักที่จะให้คำวิจารณ์แก่ศิลปกรรม

มโนภาพ (Conception)

คือ ความคิดเห็นที่สร้างเป็นศิลปกรรมชิ้นนั้น เป็นมโนภาพที่สูงควรคู่กับศิลปะที่สูงหรือไม่ ภาพนิ่ง เช่น ภาพถ้วยชาม ภาพดอกไม้ ภาพในสมุดหนังสือ เป็นต้น จะนับว่าเป็นการประจักษ์ทางศิลปะที่สูงหาได้ไม่ เพราะขาดมโนภาพซึ่งปลุกประสาทอินทรีย์อันสูงของผู้ดู ขอให้พิจารณาเปรียบเทียบบทเพลงของดนตรีลีลา เช่น ฟ้อกสตรอค และแท้งโก้ กับบทเพลงของเบโธเฟน และบทเพลงอุปรากรของว้ากเนอร์จะรู้สึกเห็นได้ว่า บทเพลงอย่าง ฟ้อกสตรอค และ แทงโก้ ถ้าเข้าไปรวมอยู่ด้วยกันกับบทเพลงของเบโธเฟน และว้ากเนอร์ ก็เป็นแต่การประจักษ์ศิลปะอย่างง่ายๆ ผิดกับบทเพลงของเบโธเฟน และว้ากเนอร์ ซึ่งเป็นศิลปะที่สูงส่งและยิ่งใหญ่กว่ากัน และมีความคิดเห็นทางศิลปะอันสูงเลิศ

ความรู้สึกสะเทือนใจ

ศิลปกรรมที่แท้จริงก็คือ ที่ไม่ใช่เป็นเพราะดูงามตา แต่เป็นเพราะมีอำนาจอันแรงกล้าแก่ความรู้สึกทางจิตใจของเราอย่างถาวร เพราะฉะนั้นเราอาจถือได้ว่าคุณสมบัติทางศิลปะของการประจักษ์แห่งศิลปะอยู่ที่ความรู้สึกสะเทือนใจ ซึ่งเราได้รับจากสิ่งนั้น

การแสดงออก

การแสดงออกของศิลปะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ควรจะเข้าใจไว้ ถ้าเราต้องการที่จะวิจารณ์งานศิลปกรรมให้ถ่องแท้ คนทั่วไปมักจะมองเห็นในคุณค่าของศิลปกรรมที่มีการแสดงออกทางศิลปะที่เห็นดูแล้วเหมือนของจริง ยิ่งเหมือนของจริงมากขึ้นเพียงใด ก็มักนิยมชมชอบว่าเป็นศิลปะที่แท้จริง ความคิดเห็นลักษณะนี้ไม่ถูกต้อง การแสดงออกทางศิลปกรรมเป็นสิ่งที่สูงและสุขุมยิ่งกว่าการแสดงออกอย่างที่เหมือนของจริง เพราะเป็นการแสดงความคิดเห็นซึ่งเกิดจากความละเอียดอ่อนของศิลปินที่สร้างสรรค์ออกมาเป็นศิลปกรรม ขอให้พิจารณาดู เศียรของพระพุทธรูปเป็นตัวอย่าง เมื่อดูจะเกิดความรู้สึกคิดเห็นถึงจินตนาการได้หลากหลาย ทำให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจกับเรา เพราะด้วยการแสดงออกซึ่งไม่ใช่เหมือนของจริงได้กี่ประการ เมื่อเราฟังเสียงซอซึ่งไพเราะจับใจ อาจมีอารมณ์เคลิบเคลิ้มทำให้รู้สึกเป็นที่ประโลมประลานใจ ทำให้หลงใหลใฝ่ฝัน หรือทำให้สลดใจหรืออาจทำให้ปลาบปลื้มร่าเริงใจ หรือทำให้รู้เป็นอย่างอื่นก็ได้ ทั้งนี้ก็มาจากการแสดงออกที่ไม่ใช่เหมือนกับของจริง เพราะฉะนั้นในการวิจารณ์ศิลปกรรมเราไม่ควรถือเอาข้อที่ว่า การถ่ายทอดออกมาที่เหมือนจริงเป็นศิลปกรรมที่สูงยิ่งใหญ่ เราควรถือว่าศิลปกรรมที่สูงที่ยิ่งใหญ่และมีคุณค่าก็ต่อเมื่อผลงานศิลปกรรมชิ้นนั้นมีพลังอำนาจในการแสดงออกอันสามารถทำให้เราถึงกับต้องเพ่งใจคิด ที่จะแสวงหาความหมายอันลึกซึ้งที่มีอยู่ในงานศิลปกรรม



องค์ประกอบในการวิจารณ์ศิลปกรรม

เราควรจะศึกษาดูว่าองค์ประกอบของศิลปกรรมนั้นประสานกันหรือไม่ กล่าวคือ ส่วนประกอบนับตั้งแต่ที่เป็นภาคส่วนประธานขององค์ประกอบตลอดลงมาถึงที่เป็นภาคส่วนรอง ประสานกันเข้ากันหรือไม่ ถึงแม้ส่วนประกอบต่างๆนั้นอาจมีความหลากหลายต่างชนิดกัน แต่ก็ทำให้รู้สึกถึงความเป็น Unity อันหนึ่งอันเดียวกัน (มีความเป็นเอกภาพในผลงาน) หรือไม่ เพราะเรารู้อยู่ว่า เอกภาพที่ไม่มีส่วนประกอบหลากหลายแปลกๆ ต่างๆ (Diversities) ก็จะทำให้ดูจืดตาแต่ถ้ามีส่วนประกอบหลากหลายแต่ไม่มีเอกภาพก็จะทำให้ดูยุ่งรกตาไป

ลักษณะการแสดงออกที่มีลักษณะเฉพาะตนของศิลปิน

ศิลปินทุกคนไม่ว่ายุคสมัยใด ย่อมถือแบบอย่างของศิลปะชนิดที่ประชาชนผู้มีพุทธิปัญญาของยุคนั้นนิยมชมชอบและให้การยอมรับ แต่อย่างไรก็ตามศิลปินในยุคนั้นแต่ละคนมักจะมีการแสดงออกของตนเองที่มีลักษณะเฉพาะตนอันเนื่องมาจากลักษณะพิเศษเกี่ยวกับพุทธิปัญญา และความรู้สึกทางจิตใจเป็นเฉพาะตัว เพราะเหตุนี้ลักษณะการแสดงออกของศิลปินแต่ละคน จะเป็นที่ดึงดูดใจได้มากหรือน้อยก็แล้วแต่ความสามารถทางศิลปะของแต่ละคน เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงความบริสุทธิ์ในการแสดงออกทางศิลปกรรมก็ย่อมหมายความว่าเมื่อศิลปกรรมนั้นมีองค์ประกอบคลี่คลายสบายตาสบายใจประดุจกระแสน้ำไหล ไม่ทำให้รู้สึกอึดอัดขัดข้องอะไร

เทคนิค

คำนี้หมายถึง ความสามารถและวิธีทำทางวิชาชีพของศิลปินคนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะ เทคนิคเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ศิลปกรรมมีความสมบูรณ์ แต่อย่าเพิ่งคิดว่าเพียงแค่เทคนิคจะทำให้มีความสมบูรณ์ของงานศิลปะได้ทั้งหมด ความจริงเทคนิคดีแสดงว่าศิลปินผู้สร้างสรรค์มีความชำนาญแก่กล้าในวิชาชีพของตน แต่กระนั้นก็ดีถือได้ว่าไม่ใช่ส่วนที่สำคัญที่สุดแต่เป็นเพียงสิ่งที่รองลงมาเท่านั้น ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนเอาเรื่องผิวพรรณในร่างกายคน เข้าไปเปรียบเทียบกับลักษณะรูปร่างหน้าตาของคน

       ฉะนั้นคนที่มีรูปร่างหน้าตาดีมีส่วนประกอบต่างๆที่ดี ก็จะดูแล้วเป็นคนงามและถ้ายิ่งมีผิวพรรณดีก็จะทำให้ดูแล้วงดง่ามยิ่งขึ้น ถ้าคนเดียวกันนั้นมีผิวพรรณไม่ดี ก็จะดูมีความงามสมบูรณ์น้อยกว่าแต่ก็ยังดูเป็นคนงาม เพราะส่วนต่างๆ ของโครงร่างมีความประสานกัน หากว่าโครงร่างผิดสัดส่วน เช่น แขนขาหรือส่วนต่างๆไม่ได้สัดส่วนถึงแม้จะมีผิวพรรณงาม ก็ไม่ช่วยให้รูปร่างดูงามขึ้นมาได้ เหตุฉะนั้นในการวิจารณ์ศิลปกรรม เราไม่ควรถือเอาเทคนิคเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการวิจารณ์งานศิลปกรรม เพราะผลงานบางชิ้นที่มีการแสดงออกทางศิลปกรรมแท้ๆ ก็มีอยู่มากซึ่งขาดค่าทางเทคนิค แต่ต้องขอกล่าวย้ำไว้อีกครั้งว่า “เทคนิคเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ศิลปกรรมมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น” เมื่อไม่แน่ใจในคุณค่าของผลงานศิลปกรรมใดก็ควรเอาไปเปรียบเทียบกับผลงานชิ้นอื่น ซึ่งมีลักษณะพิเศษเหมือนกับผลงานที่เราต้องการวิจารณ์แล้วพิจารณาไปตามที่กล่าวมาข้างต้นก็จะได้ข้อยุติได้ตามควร ว่าผลงานชิ้นนั้นมีความเป็นศิลปะอันแท้จริงมีคุณค่ามากน้อยเพียงใด

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย