สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์

การเมืองการปกครองเปรียบเทียบ

การปกครองประเทศอังกฤษ : ระบบรัฐสภา
หลักการปกครองโดยกฎหมาย (Rule of Law)
หลักอำนาจสูงสุดของรัฐสภา (Supremacy of Parliament)
การขยายสิทธิการเลือกตั้งให้แก่ประชาชนทั่วไป
ความสัมพันธ์ระหว่างสภาขุนนาง และสภาสามัญ
ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
การปกครองประเทศสหรัฐอเมริกา : ระบบประธานาธิบดี
หลักการของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา
การปกครองฝรั่งเศส : ระบบสาธารณรัฐที่ 5

หลักการของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา

1)รัฐธรรมนูญสร้างระบบการปกครองแบบสมาพันธรัฐ (Federation) เป็นรูปแบบที่มีทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลของมลรัฐต่างๆ ประเด็นคือ จะแบบอำนาจกันอย่างไรระหว่างสองระดับนี้

มาตรา 1 ส่วนที่ 8 ได้กำหนดอำนาจของสภาคองเกรสไว้อย่างชัดเจน เช่น อำนาจที่จะจัดเก็บภาษีอากร ใช้หนี้รัฐบาล จัดการป้องกันประเทศ การกู้ยืมหนี้สิน การออกระเบียบกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการค้ากับต่างประเทศและระหว่างมลรัฐต่างๆ อำนาจที่จะผลิตเงินตราและกำหนดค่าของเงินตรา จัดตั้งกองทัพ ประกาศสงคราม และออกพระราชบัญญัติ “ที่จำเป็นและเหมาะสม” เพื่อดำเนินการตามนโยบายและอำนาจหน้าที่ดังกล่าว

ในขณะเดียวกันใน มาตรา 1 ส่วนที่ 10 ก็ได้จำกัดอำนาจของมลรัฐในหลายๆ เรื่อง เช่น ห้ามมิให้มลรัฐทำสัญญากับต่างประเทศ ห้ามผลิตเงินตรา เป็นต้น

ต่อมาได้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 10 กำหนดว่า อำนาจที่มิได้กำหนดให้เป็นของสหรัฐ และยังมิได้เป็นข้อห้ามสำหรับมลรัฐให้เป็นอำนาจของมลรัฐ นี่คือหลักที่เรียกกันว่า “อำนาจที่ยังคงเหลือ” ของรัฐ (Residual Power)

ขณะเดียวกันในมาตรา 6 ส่วนที่ 2 ของรัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้อีกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้และกฎหมายของรัฐที่จะออกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะมีความเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ผู้พิพากษาในทุกๆ มลรัฐจะต้องยึดถือกฎหมายเหล่านี้เป็นแนวปฏิบัติ เรียกกันว่า หลักของกฎหมายสูงสุด (Supremacy Clause)

นอกจากนั้น ยังมีการประนีประนอมที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งระหว่างมลรัฐด้วยกันอง โดยกำหนดให้สภาคองเกรสประกอบด้วย 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา สำหรับสภาผู้แทนราษฎรจะใช้หลักการเลือกตั้งโดยตรง บนพื้นฐานของจำนวนประชากรผู้มีสิทธิ ส่วนวุฒิสภากำหนดให้แต่ละรัฐส่งสมาชิกให้รัฐละ 2 คน

2)รัฐธรรมนูญสร้างระบบการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Powers) ผู้ร่างรัฐธรรมนูญยังไม่พอใจเพียงการแบ่งอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลมลรัฐเท่านั้น ยังต้องแยกอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยกำหนดให้สภาคองเกรสมีอำนาจนิติบัญญัติ ประธานาธิบดีอำนาจบริหาร และศาลมีอำนาจตุลาการ ตามหลักของมองเตสกิเออร์

ในการแบ่งแยกอำนาจนี้ยังได้แยกสถาบันฝ่ายบริหารออกจากสภานิติบัญญัติค่อนข้างจะเด็ดขาด กล่าวคือ ทั้งสองสถาบันมีฐานอำนาจแยกกัน ประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน มีวาระสมัย 4 ปี แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีของท่านเอง สภาคองเกรสไม่มีอำนาจจะล้มรัฐบาล ส่วนสภาคองเกรสก็เช่นกัน ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีวาระสมัย 2 ปี และ สำหรับวุฒิสภามีวาระสมัย 6 ปี ประธานาธิบดีไม่สามารถยุบสภาคองเกรสได้

3)รัฐธรรมนูญสร้างระบบตรวจสอบและคานอำนาจ (Checks and Balance) นอกจากจะแบ่งแยกอำนาจแล้ว ผู้ร่างรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้มีการตรวจสอบหรือคนอำนาจซึ่งกันและกันได้ เช่น สภาคองเกรสมีอำนาจในการออกพระราชบัญญัติ แต่ประธานาธิบดีมีสิทธิที่จะยับยั้งได้ (Veto)

อย่างไรก็ตาม เมื่อประธานาธิบดีได้ใช้สิทธิยับยั้งแล้ว หากร่างพระราชบัญญัตินั้นได้ผ่านการพิจารณาของสภาคองเกรสเป็นครั้งที่สอง โดยได้รับเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ก็จะออกเป็นกฎหมายได้

ในทางกลับกันประธานาธิบดีเป็นผู้มีอำนาจ แต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลสูงสุดและรัฐมนตรี แต่การเสนอเพื่อแต่งตั้งนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาเสียก่อน ผู้พิพากษานั้นเมื่อได้รับแต่งตั้งแล้ว แต่สภาคองเกรสก็สามารถที่จะกล่าวโทษผู้พิพากษาได้เมื่อมีเหตุหรือมลทินมัวหมอง ในทำนองเดียวกันว่าศาลสูงสุดมีอำนาจที่จะประกาศว่ากฎหมายใดขัดกับรัฐธรรมนูญ

4)รัฐธรรมนูญยึดหลักของการจัดตั้งรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน หลักการที่เป็นแม่บทการปกครองของรัฐธรรมนูญสหรัฐ คือ หลักของการปกครองโดยความยินยอมเห็นชอบของประชาชน หลักการนี้จะบรรลุเป้าหมายได้ต่อเมื่อจัดให้มีระบบการเลือกตั้งในทุกตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับอำนาจการปกครอง

ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งโดยคณะผู้เลือกตั้ง ซึ่งได้รับอาณัติจากประชาชนให้มาเลือกประธานาธิบดี ส่วนผู้แทนราษฎรในสภาล่างและวุฒิสมาชิกได้รับการเลือกตั้งเช่นกัน ผู้พิพากษาอาจจะไม่ได้รับการเลือกตั้ง แต่ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งโดยความเห็นชอบของวุฒิสภา

ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีศรัทธาต่อระบบการเลือกตั้งมาก และเชื่อมั่นว่า รัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชนนี้จะเป็นรัฐบาลที่เลวน้อยที่สุด เพราะทุกคนที่ได้รับการเลือกตั้งย่อมต้องมารับผิดชอบต่อผู้เลือกตนในสมัยการเลือกตั้งครั้งต่อไป

5)หลักของสิทธิเสรีภาพของมนุษยชน หลักของสิทธิเสรีภาพเป็นหลักขั้นมูลฐานที่จะอำนวยให้ระบบการปกครองแบบเลือกตั้งได้เป็นประชาธิปไตยได้สมบูรณ์แบบ

โดยสรุป รูปแบบการปกครองของสหรัฐ อาจจะเรียกได้ว่า ประชาธิปไตยพหุนิยม (Pluralist Democracy) คือ อำนาจการปกครองกระจัดกระจายอยู่หลายขั้วหลายศูนย์ นอกจากนั้นยังมีรูปแบบของระบบประธานาธิบดีซึ่งรวมบทบาทของประมุขและของนายกรัฐมนตรีไว้ในคนๆ เดียวกัน จุดเด่นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีคุณสมบัติตรงที่มีความเรียบง่าย (Simplicity) ไม่กำหนดรายละเอียดมากมาย แต่เปิดทางกว้างๆ ไว้เพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย