ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์

ประชาคมอาเซียน

รัฐบรูไนดารุสซาลาม (State of Brunei Darussalam)

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและบรูไน

คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับบรูไน (Joint Commission for Bilateral Cooperation Between Thailand and Brunei Darussalam) จัดตั้งขึ้นเมื่อเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2542 เพื่อเป็นเวทีสำหรับการหารือถึงลู่ทางความเป็นไปได้ในการขยายความร่วมมือ รวมถึงการแก้ไขปัญหาอุปสรรค ข้อขัดแย้งซึ่งอาจเกิดขึ้น

คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีฯ ได้จัดประชุมครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 30 - 31 มีนาคม 2546 โดยมีดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และเจ้าชาย Mohamed Bolkiah รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบรูไน ทรงเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนบรูไนดารุสซาลาม ที่ประชุมเห็นพ้องให้มีการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในสาขาต่างๆ เช่น การส่งเสริมการค้าการลงทุน ความร่วมมือด้านแรงงาน วิชาการ ท่องเที่ยว วัฒนธรรมและข้อมูลข่าวสาร นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับสินค้าอาหารฮาลาล อุตสาหกรรม เหล็ก การประมง และการจัดตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยบรูไนจะจัดส่งคณะทำงานมายังประเทศไทย เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการลงทุนร่วมในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล และแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของบรูไนที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดตั้งธนาคารอิสลามในประเทศไทย

ความร่วมมือด้านการลงทุน ไทยและบรูไนได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ ในวันที่ 27 สิงหาคม 2545 ระหว่างการเสด็จเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ระหว่างวันที่ 26 – 28 สิงหาคม 2545 ได้แก่

  • Memorandum of Understanding between the Brunei Investment Agency and the Government Pension Fund of Thailand
  • Memorandum of Understanding between the Government of His Majesty the Sultan and Yang di-Pertuan of Brunei Darussalam and Chia Meng Group
  • Memorandum of Understanding between the Brunei Investment Agency and the Biz Dimension Co. Ltd.

สืบเนื่องจาก MoU ระหว่าง Brunei Investment Agency (BIA) และ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามในสัญญาจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน (Matching Fund) ในชื่อกองทุนไทยทวีทุน (Thailand Prosperity Fund – TPF) เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2546 โดยมีวงเงิน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ และสามารถเพิ่มวงเงินได้ไม่เกิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ กบข. และ BIA ได้ลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 33 : 67 ของวงเงินทั้งหมด โดยมีเงินลงทุนประมาณ 66 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 134 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

กองทุนทวีไทยมีระยะเวลาลงทุน 8 ปี และต่ออายุได้อีก 2 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อลงทุนทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาด และหลักทรัพย์ที่เสนอขายแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement) โดยกองทุนได้แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ING (ประเทศไทย) ให้เป็นผู้จัดการกองทุน

นอกจากนี้ BIA และ กบข. ยังได้ร่วมลงทุน (Joint Venture) จัดตั้งบริษัท Thai Prosperity Advisory Company Limited (TPA) เพื่อเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางเทคนิคให้กับกองทุนไทยทวีทุน โดย กบข. และ BIA มีสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 59 : 41 ตามลำดับ ทั้งนี้ กองทุนไทยทวีไทยได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2546 และได้ร่วมทุนกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยถือหุ้นร้อยละ 15 เป็นเงินประมาณ 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (และธนาคารอิสลามแห่งบรูไน หรือ Islamic Bank of Brunei Berhad : IBB ถือหุ้นอีกร้อยละ 15) และร่วมทุนกับบริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เป็นเงินประมาณ 19 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมมูลค่าการลงทุนของกองทุน 21.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบัน กองทุนอยู่ระหว่างจัดหาบริษัทอื่นๆเพื่อเข้าลงทุนเพิ่มเติม

ความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสาร ในระหว่างการเยือนบรูไนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีไทย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2544 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยและบรูไนได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีด้านสารสนเทศ และการกระจายเสียงและภาพระหว่างไทย-บรูไน (Memorandum of Understanding between the Government of His Majesty the Sultan and Yang Di-Pertuan of Brunei Darussalam and the Government of the Kingdom of Thailand on Cooperation in the Field of Information and Broadcasting) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยนรายการวิทยุ โทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีสาระ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอันจะส่งผลให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยได้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-บรูไน (Joint Technical Committee on Information and Broadcasting) ไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งล่าสุดระหว่างวันที่ 7 – 9 สิงหาคม 2546 ณ กรุงบันดาร์ เสรี เบกาวัน

|| หน้าถัดไป >>

***สำนักอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ 27 พฤษภาคม 2551

รัฐบรูไนดารุสซาลาม
ข้อมูลทั่วไป
เกร็ดความรู้และวัฒนธรรมบรูไน
มาตรการ/กฏระเบียบทางการค้าบรูไน
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและบรูไน

สาระความรู้ ข้อมูลอาเซียน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย