ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>

จักรวรรดิไศเลนทร์

3

ศาสตราจารย์ ดร.ราชกฤษณัน นักปรัชญาคนสำคัญทางภารตวิทยา ได้แบ่งยุคแห่งความคิดทางปรัชญาและอารยธรรมของอินเดียออกเป็น 3 ยุค คือ

  1. ยุคพระเวท เริ่มตั้งแต่พวกอารยันเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในผืนแผ่นดินของอินเดียเมื่อราว 1000 ปี ก่อนสมัยพุทธกาล ได้พัฒนาความคิดทางศาสนาและปรัชญาของตนให้สอดคล้องกับความเชื่อถือของชนพื้นเมืองดั้งเดิม เกิดเทพเจ้าทางธรรมชาติขึ้นหลายองค์ พัฒนาการต่อเนื่องมาเป็น “ศาสนาพราหมณ์” เมื่อราว 100 ปี ก่อนพุทธกาล
  2. ยุคมหากาพย์ เป็นยุคที่ชาวอารยันจัดระเบียบการเมืองการปกครองขึ้นอย่างมั่นคงแล้ว ได้สร้างสรรค์อารยธรรมขึ้นในประเทศอินเดีย สืบทอดราชวงศ์กษัตริย์เมื่อประมาณ 100 ปีก่อนพุทธกาลจนกระทั่งถึง พุทธศักราช 700 ในยุคนี้มหากวีชาวภารตะได้รจนาประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับบ้านเมืองของตนไว้ในรูปมหากาพย์ที่มีชื่อเสียงบันลือโลก คือ “มหากาพย์ภารตะ” และ “มหากาพย์รามายณะ” ในตอนปลายยุคมหากาพย์ ได้เกิดนักคิดนักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ขึ้นมีนามว่า “เจ้าชายมหาวีระ” ศาสดาของศาสนาเชน และ “เจ้าชายสิทธัตถะ” ศาสดาของศาสนาพุทธ ศาสนาที่สั่งสอนให้มนุษย์แสวงหาทางหลุดพ้นจากโลกด้วยตนเอง ชาวอินเดียนับถืออย่างแพร่หลายกลายเป็นคู่แข่งของศาสนาพราหมณ์
  3. ยุคปรัชญาฮินดูทั้ง 6 ระบบ คือ ปรัชญานยายะ ปรัชญาไวเศษิกะ ปรัชญาสางขยะ ปรัชญาโยคะ ปรัชญามีมามสา ปรัชญาเวทานตะ กล่าวกันว่าภายหลังจาก “พราหมณ์” ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงผู้สวดท่องจำ “คัมภีร์พระเวท” ให้ถูกต้องสืบต่อกันไป นานวันเข้า “คัมภีร์พระเวท” ตกอยู่ในมือของพวกพราหมณ์อย่างสิ้นเชิง พราหมณ์กลายเป็นผู้ที่มีอิทธิพลสูงสุดในสังคม เมื่อสามารถแก้ไขดัดแปลงต่อเติมข้อความใน “คัมภีร์พรเวท” ไว้ใน “คัมภีร์อุปนิษัท” อ้างว่าวรรณะพราหมณ์เกิดมาจากลมหายใจของพระเจ้า ผูกขาดการประกอบพิธียัญการรมอันสลับซับซ้อน นัยว่าเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ยกย่องว่า “พระอิศวร” ซึ่งเป็นเทพเจ้าของพราหมณ์เป็นผู้สร้างโลก มีฤทธาอานุภาพยิ่งใหญ่สามารถช่วยเหลือมนุษย์โดยไม่มีข้อจำกัด พราหมณ์จึงก้าวขึ้นสู่จุดสุดยอดมีอิทธิพลอยู่ในในราชสำนักทั้งหลาย พระราชาใหญ่น้อยต้องเคารพบูชา ศาสนาพราหมณ์จึงได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วประเทศอินเดีย และหลั่งไหลข้ามมหาสมุทรเข้ามายังคาบสมุทรอินโดจีน ต่อมาได้พัฒนาการเป็น “ศาสนาฮินดู” เมื่อราวต้นพุทธศักราช พ.ศ.700 เป็นต้นมา

ประเทศอินเดียบ่อเกิดของอารยธรรมอันรุ่งเรืองมาหลายพันปีแล้ว คัมภีร์ชาดกเก่าแก่มากมายกล่าวถึงพ่อค้า นักเดินเรือ นักผจญภัย นักสอนศาสนาชาวอินเดียในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้เดินเรือฝ่าคลื่นลมเข้าหมาสมุทรหลั่งไหลเข้ามาติดต่อค้าขายกับเมืองท่าตามชายฝั่งทะเลตะวันตกของคาบสมุทรอินโดจีน และตั้งหลักแหล่งรวบรวมสินค้าและรอฤดูลมมรสุมอยู่จนกระทั่งเกิดลมมรสุมใหม่ในปีถัดไปจึงเดินทางกลับ หรือไม่ก็ตั้งหลักปักฐานอยู่กับชนชาวพื้นเมืองในโลกใหม่โดยไม่กลับไปยังบ้านเมืองของตน พวกพราหมณ์ได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาให้แก่ประชาชน และประกอบพิธีกรรมยกย่องผู้นำชาวพื้นเมืองขึ้นเป็น “สมมุติเทพ” โดยอ้างว่าสืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้าเพื่อมาช่วยมนุษย์โลก เรื่องราวของโลกใหม่ดินแดนที่ตั้งอยู่ห่างไกลไปทางทิศตะวันออกของประเทศอินเดีย ปรากฏอยู่ในมหากาพย์เรื่อง “รามายณะ” หรือวรรณคดีเรื่อง “รามเกียรติ์” อันเก่าแก่ของอินเดีย กล่าวถึงดินแดนที่อยู่ไกลแสนไกลดังกล่าวไว้อย่างเลือนราง ส่วนข้อความใน “คัมภีร์มโนรถปูรณี” กล่าวถึงดินแดน “สุวรรณภูมิ” ไว้แต่เพียงสั้น ๆ ว่า ระยะทางเดินเรือจาก เกาะลังกา ไปยัง สุวรรณภูมิ ห่างไกลกันในราว 700 โยชน์ ถ้าลมดีพัดส่งท้ายเรือ อาจแล่นไปถึงได้ภายในเวลา 7 วัน 7 คืน

แม้ว่าคำกล่าวในคัมภีร์มโนรถปูรณีอาจเกินความเป็นจริง เพราะไม่มีเรือสำเภาลำใดสามารถแล่นจาก เกาะลังกามาถึงชายฝั่งทะเลตะวันตกของคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทยได้ภายใน 7 วัน 7 คืนก็ตามแต่เป็นคำอุปมาอุปไมยให้เข้าใจว่า “สุวรรณภูมิ” ไม่ได้อยู่ห่างไกลไปจากลังกามากนัก สอดคล้องกับข้อความในวรรณคดีรามเกียรติ์ที่กล่าวถึงชื่อดินแดนโลกใหม่นั้นว่า

“ยวาทวีป” และ “สุวรรณทวีป”

ดินแดนลับลึกที่ตั้งอยู่ห่างไกลไปทางทิศตะวันออกของประเทศอินเดีย มีมหาสมุทรกว้างใหญ่ขวางกั้นอยู่ เล่าลือกันว่าเป็นดินแดนที่อุดมไปที่ด้วย ทองคำ แร่ธาตุ และสิ่งของมีค่าหายากนานาชนิด แต่ก็เป็นคำกล่าวที่เลื่อนลอยไม่ได้ระบุถึงทิศและระยะทางตลอดจนสิ่งสำคัญทางภูมิศาสตร์ แสดงให้ทราบชัดเจนว่าตั้งอยู่ที่ไหน จนกระทั่งถึงสมัยต้นพุทธกาลเมื่อพระเจ้าอโศก ทรงหันมานับถือพุทธศาสนาในปลายพุทธศตวรรษที่ 2 ศิลาจารึกของพระองค์กล่าวว่าทรงโปรดให้พระเถระผู้มีชื่อเสียงเดินทางไปเผยแพร่พุทธศาสนายังนานาประเทศ จึงทำให้เริ่มทราบชัดเจนขึ้นจากข้อความใน “คัมภีร์สมันตปาสาทิกา” ของพุทธศาสนาจดบันทึกว่า

“พระโสณะเถระ กับ พระอุตรเถระ เดินทางไปยัง สุวรรณภูมิ”

นอกจากนั้นคัมภีร์เก่าแก่สมัยเริ่มต้นประวัติศาสตร์ลังกามีชื่อว่า “คัมภีร์มหาวงศ์พงศาวดารลังกา” ได้จดบันทึกถึงเรื่องราวเมื่อครั้ง “พระมหินทเถระ” เป็นหัวหน้าคณะธรรมทูตจากราชสำนักของพระเจ้าอโศก ซึ่งเดินทางไปเผยแพร่พุทธศาสนาถึง “อาณาจักรสิงหล” ในรัชกาล “พระเจ้าเทวนัมปิยติสสะ” เมื่อ พ.ศ. 296 กล่าวถึงรายละเอียดมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อความที่กล่าวถึง “เจ้าชายสุมิตร” ราชโอรสของ “พระนางสังฆมิตรตาเถรี” และเป็นพระราชนัดดาของ “พระเจ้าอโศก” เสด็จลงเรือจาก “กรุงอนุราธปุระ” ไปยัง กรุงสุวรรณปุระ”

หน้าถัดไป >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย